xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’เล่นงาน‘อิหร่าน’โดยมุ่งกระทบถึง‘จีน’(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China feels US-Iran fallout
By Peter Lee
12/02/2010

นอกจากอิหร่านเองแล้ว จีนนั่นแหละที่จะเป็นผู้สูญเสียรายใหญ่ที่สุด ถ้าหาก “มาตรการลงโทษคว่ำบาตรกันให้เด็ดขาด” ซึ่งสหรัฐฯต้องการให้ประชาคมระหว่างประเทศนำมาบังคับใช้ต่อกรุงเตหะราน บังเกิดผลเป็นการปิดก๊อกไม่ให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันได้ เมื่อมองจากสายตาของปักกิ่ง ในโลกตะวันตกเวลานี้ดูเหมือนกำลังมีความเห็นพ้องต้องกันเป็นฉันทามติว่า จะต้องพยายามลดการพึ่งพาอาศัยจีน ในการเป็นปัจจัยสร้างเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพในทางการเงิน, เศรษฐกิจ, หรือในทางภูมิรัฐศาสตร์

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

คำถามใหญ่ประจำวันที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งปุจฉากถกเถียงกันในวอชิงตันเวลานี้ ได้แก่คำถามที่ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจะออกเสียงคัดค้าน (ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้สิทธิยับยั้ง) หรือไม่ ถ้าหากมีการเสนอญัตติในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ให้เพิ่มมาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านรุนแรงขึ้นอีก สืบเนื่องจากการที่ทางการเตหะรานยังคงเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์

ความคิดเห็นของผู้ที่ทราบข้อมูลข่าวสารเป็นอย่างดี ให้คำคอบว่า “ไม่” หรอก จีนจะไม่ถึงกับวีโต้ญัตติดังกล่าวนี้

ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนนั่งเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง ได้เคยใช้สิทธิยับยั้งเพียง 6 ครั้งเท่านั้น ทั้งนี้ในเรื่องที่ถือเป็นประเด็นแกนกลางในการจัดลำดับความสำคัญของชาติ ปักกิ่งก็พร้อมที่จะเดินหน้าไปคนเดียว เป็นต้นว่า การลงโทษพวกประเทศอย่างกัวเตมาลา และ มาซีโดเนีย ที่ไปผูกสัมพันธ์กับสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และการคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของปากีสถาน

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นเรื่องวงกว้างออกไป ช่วงปีหลังๆ มานี้ จีนจะใช้สิทธิยับยั้ง ก็ต่อเมื่อมีสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงรายอื่นๆ อีกอย่างน้อย 1 รายเอาด้วยเท่านั้น

พิจารณาจากสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงรายอื่นๆ ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรนั้นเข้าแถวยืนต่อท้ายสหรัฐฯอย่างเหนียวแน่น เมื่อพูดถึงประเด็นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โครงการดังกล่าวนี้พวกโลกตะวันตกบอกว่ากำลังเดินหน้าไปสู่การสร้างระเบิดนิวเคลียร์ แต่กรุงเตหะรานยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้เรื่อยมา

สำหรับรัสเซีย น่าสังเกตว่าในปีนี้มีความสนอกสนใจที่จะปรับปรุงสายสัมพันธ์กับสหรัฐฯและยุโรป และแสดงท่าทีในทางสนับสนุนการออกมติลงโทษคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่ออิหร่าน ถ้าหากขบคิดด้วยภูมิปัญญาตามกรอบปกติธรรมดาแล้ว เมื่อรัสเซียไม่ใช้สิทธิยับยั้ง จีนก็น่าจะไม่วีโต้เช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่ง โอกาสที่จีนจะถึงกับออกเสียงสนับสนุนมาตรการลงโทษ ดูจะมีอยู่น้อยนิดมาก

พาดหัวของรายงานข่าวที่พูดเรื่องการไปเยือนกรุงปารีสเมื่อตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ของรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หยางเจี๋ยฉือ บอกให้เห็นถึงท่าทีดังกล่าวนี้อย่างชัดเจนยิ่ง นั่นคือ “จีนระบุลงโทษ ‘อิหร่าน’ขวางวิธีแก้ไขด้วยการทูต”

ด้วยเหตุนี้ เส้นทางที่จีนน่าจะเลือกเดินมากที่สุด ได้แก่การงดออกเสียง

อาจจะคาดหมายกันว่า ปฏิกิริยาจากปักกิ่งจะเป็นไปในทางไม่ค่อยแยแสให้ความสำคัญอะไรนักหนา โดยน่าจะมองเห็นว่า นี่เป็นเพียงการออกเสียงในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เป็นมาตรการลงโทษคว่ำบาตรที่ไร้น้ำยาอีกรอบหนึ่ง เป็นแค่ละครคาบูกิทางการเมือง แล้วในที่สุดอะไรๆ ก็กลับมาเหมือนเดิมอีก

อย่างไรก็ตาม การงดออกเสียงตามที่คาดหมายกันในคราวนี้ของจีน ยังจะสมทบด้วยความรู้สึกใหม่ๆ แห่งความกังวลและความโกรธกริ้ว ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนถึงความระแวงสงสัยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของปักกิ่ง ความสงสัยข้องใจดังกล่าวก็คือ เรื่องการคว่ำบาตรลงโทษอิหร่าน และการที่ความตึงเครียดเกี่ยวกับอิหร่านกำลังเพิ่มระดับขึ้นทุกทีนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นความปรารถนาของวอชิงตันที่จะอาศัยประเด็นปัญหานี้ มาเป็นลิ่มคอยทิ่มแทงต่อต้านจีน

ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา จีนย่อมสามารถที่จะค่อนข้างดูเบาการใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรระบอบปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จทั้งหลายของสหรัฐฯ เนื่องจากวิธีเล่นบทโหดของคณะรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช นั้น เป็นสิ่งที่สร้างความท้อแท้ผิดหวังและแบ่งแยกเหล่าพันธมิตรโดยธรรมชาติของสหรัฐฯ ขณะที่กลับผลักไสพวกที่ตกเป้าหมายเล่นงานของอเมริกันให้เข้ามาอยู่ในอ้อมกอดของจีนอย่างล้ำลึกยิ่งขึ้น

ทว่า คณะรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาตัดสินใจที่จะใช้ “อำนาจฉลาด” (smart power) มาเป็นส่วนเพิ่มเติมขึ้นจากอำนาจโหดอีกด้วย จนเวลานี้ดูเหมือนว่าวอชิงตันจะส่งเสริมผลักดันความริเริ่มระหว่างประเทศใหม่ๆ ที่เป็นการสร้างความแตกแยก ก็ต่อเมื่อคาดหมายว่าความร้าวฉานในหมู่พันธมิตรและความคิดเห็นระหว่างประเทศที่บังเกิดขึ้น จะเข้าทางเป็นประโยชน์แก่อเมริกาเท่านั้น

จีนได้ลิ้มรสชาดวิธีการแบบ “อำนาจฉลาด” ดังกล่าวนี้เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยสหรัฐฯสัญญาจะให้เงินทองหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือพวกประเทศกำลังพัฒนาที่อ่อนแอทั้งหลายในการปรับตัวรับมือกับปัญหาภูมิอากาศ ทว่าผูกคำมั่นสัญญานี้เอาไว้กับเงื่อนไขที่ว่า จีนก็จะต้องยอมตกลงให้มีการใช้ระบบการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสอย่างน่าพึงพอใจด้วย พวกผู้แทนของสหรัฐฯได้ไปบอกกล่าวกับบรรดาชาติเล็กๆ ว่า การแข็งขืนของจีนนั่นแหละกำลังเป็นตัวขวางกั้นไม่ให้ชาติเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการกันเหลือเกินจำนวนหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์

ถึงแม้ในที่สุดการทำสนธิสัญญาความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในที่ประชุมโคเปนเฮเกนก็เป็นอันล้มครืนไม่มีความคืบหน้า แต่สำหรับคณะรัฐบาลโอบามาแล้ว ผลลัพธ์ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์กลับออกมาในทางบวก สหภาพยุโรป(อียู) นั้นยืนอยู่ข้างเดียวกับสหรัฐฯอย่างชัดเจน ยิ่งกว่านั้นตามรายงานที่เผยแพร่เป็นการภายในของจีนฉบับหนึ่งระบุว่า ในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาที่รวมกลุ่มกันอยู่ใน “กลุ่ม 77” นั้น จำนวนมากทีเดียวได้รับอิทธิพลจากจุดยืนของอเมริกัน แม้ยังไม่ถึงกับออกมาประจันหน้ากับจีนอย่างเปิดเผย จีนต้องหาทางอุดรอยรั่วรีบซ่อมแซมความเป็นพันธมิตรกับพวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่รายใหญ่ๆ อย่าง บราซิล และ อินเดีย จนกระทั่งแม้สหรัฐฯกับสหราชอาณาจักรพยายามที่จะประสานกันก่อกระแส “ประณามจีน” ปักกิ่งก็ยังคงสามารถขีดกั้นความเสียหายทางการเมืองให้อยู่ในวงจำกัด

อย่างไรก็ดี มันก็เป็นประสบการณ์สำหรับใช้เตือนสติพวกนักการทูตจีน รายงานฉบับนี้สรุปเอาไว้ว่า “การสมคบกันวางกโลบายของพวกชาติพัฒนาแล้วเพื่อสร้างความแตกแยกขึ้นในค่ายชาติกำลังพัฒนานั้น ประสบความสำเร็จ” ทีเดียว

เวลานี้คณะรัฐบาลโอบามากำลังเลือกหยิบเอารัฐบาลอิหร่านซึ่งไม่เป็นที่นิยมชมชื่นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกขึ้นมาเป็นเป้า ดังนั้นก็จะสามารถเปิดโปงให้เห็นชัดว่าจีนกำลังกลายเป็นผู้สนับสนุนระดับระหว่างประเทศเพียงรายเดียวของระบอบปกครองซึ่งเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์รายนี้

สหรัฐฯได้ดำเนินการจนนำเอาอียูและรัสเซียมาอยู่ข้างตนได้แล้ว อียูในเวลานี้อย่างน้อยที่สุดก็เป็นพันธมิตรผู้กระตือรือร้น ด้วยความโล่งอกโล่งใจที่ได้ทำงานร่วมกับประธานาธิบดีอเมริกันผู้ฉลาดสุขุมและคอยปรึกษาหารือไม่ใช่เอาแต่ทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว สหภาพยุโรปจึงมองไม่เห็นความจำเป็นอีกต่อไป ที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้จีนแสดงบทบาทใหญ่โตเพิ่มมากขึ้นในเวทีโลก

ทางด้านรัสเซียเข้าร่วมอยู่ในทีมของอเมริกัน (แบบมีข้อสงวนหลายๆ ประการ) โดยมีรายงานว่าเพื่อเป็นการตอบแทนคณะรัฐบาลโอบามาที่ยินยอมอ่อนข้อให้ ด้วยการพับแผนการโล่ป้องกันขีปนาวุธในยุโรปตะวันออกเอาไว้ก่อน

นอกจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯยังกำลังพยายามหารือกับพวกรัฐแถบอ่าวเปอร์เซีย เพื่อดึงเสียงสนับสนุนให้พวกเขารับรองนโยบายที่จะขีดวงล้อมกรอบอิหร่าน

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีน สิ่งที่อเมริกากระทำในลักษณะของการชักชวนเกลี้ยกล่อมจีนโดยตรงเพื่อให้ร่วมการออกเสียงสนับสนุนญัตติในคณะมนตรีความมั่นคง ได้แก่การที่โอบามาบอกกล่าวกับประธานาธิบดีหูจิ่นเทาว่า ผลประโยชน์ของจีนจะได้รับความเสียหาย ถ้าหากแรงกดดันทางการทูตต่ออิหร่านมีอันประสบความล้มเหลว ทั้งนี้อิสราเอลจะต้องเข้าโจมตีบรรดาสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน และราคาน้ำมันก็จะต้องพุ่งพรวดพราด

เรื่องการโจมตีของอิสราเอล ไม่น่าจะเป็นไพ่ใบที่สามารถชักจูงให้คณะผู้นำจีนบังเกิดความเชื่อถือ และดูจะรังแต่ทำให้พวกเขายิ่งมั่นใจว่า วอชิงตันกำลังใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การขยายอิทธิพลของสหรัฐฯในตะวันออกกลางเท่านั้นเอง

การที่อิสราเอลจะเปิดการรุกโจมตีก่อน เพื่อที่จะทำลายความทะเยอทะยานทางนิวเคลียร์ของอิหร่านกันตั้งแต่ยังเป็นหน่ออ่อน ดูเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น

ถึงแม้ทางการเทลอาวีฟพูดจาองอาจโอ่อวดเกี่ยวกับความสามารถและความเด็ดเดี่ยวของตนที่จะเปิดการรุกโจมตีโดยไม่รอขออนุญาตจากสหรัฐฯ หรือกระทั่งเราสมมุติว่าอิสราเอลลงมือทำการโจมตีได้อย่างประสบความสำเร็จงดงามก็ตามที ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็น่าจะเพียงแค่ทำให้โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านชะลอล่าช้าไปสักสองสามปี ขณะที่กลับทำให้ประชาชนชาวอิหร่านและโลกมุสลิมเกิดความรู้สึกเป็นศัตรูอย่างไม่จบไม่สิ้นกับอิสราเอล ... และกับสหรัฐฯด้วย เนื่องจากอิสราเอลจะทำการโจมตีได้นั้น วอชิงตันคงจะต้องยอมเปิดให้เทลอาวีฟได้อภิสิทธิ์บินผ่าน่านฟ้าอิรัก

สำหรับข้อวินิจฉัยของอเมริกันที่ว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านจะเป็นชนวนทำให้เกิดการแข่งขันด้านกำลังอาวุธที่นำไปสู่ความพินาศย่อยยับในอ่าวเปอร์เซียนั้น แน่นอนทีเดียวว่าก็ทำให้จีนบังเกิดความสงสัยข้องใจในทำนองเดียวกัน ถึงแม้มิได้เอ่ยปากตั้งข้อสังเกตอะไรออกมา ทั้งนี้เนื่องจากอาวุธที่จะนำมาสั่งสมแข่งขันส่วนใหญ่แล้วย่อมจะต้องซื้อหามาจากสหรัฐฯและอียูนั่นเอง ดังนั้นหน้าที่ความรับผิดชอบ (และในการทำกำไร) เกี่ยวกับการช่วงชิงแข่งดีด้านกำลังรบในภูมิภาคแถบนี้ จึงน่าจะตกอยู่กับฝ่ายตะวันตกนั่นแหละว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ขณะที่เรื่องความพยายามของอเมริกันที่จะตอกลิ่มแยกเหล่ารัฐอาหรับให้ห่างเหินจากจีน ดูจะได้รับความสนใจและความห่วงใยจากปักกิ่งมากกว่า

เจมส์ ฟิลลิปส์ (James Phillips) แห่งมูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) สถาบันคลังสมองของพวกอนุรักษนิยมในอเมริกา แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภารกิจการเดินทางไปยังตะวันออกกลางในเวลานี้ของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน เอาไว้อย่างน่าฟังว่า คลินตันจะต้องมองหาช่องทางให้บรรดารัฐอาหรับ “ลงมือกระทำการเพื่อให้จีนรู้สึกเหมือนพวกเขาเป็นตัวคอยถ่วงน้ำหนัก (เพื่อคานกับน้ำหนักความสำคัญของอิหร่าน) และนั่นก็จะช่วยปลดล็อกการออกเสียงในคณะมนตรีความมั่นคงของจีนอีกด้วย”

“สหรัฐฯกำลังหวังที่จะใช้การหารือกับรัฐอาหรับเหล่านี้ เป็นหนทางในการกระตุ้นให้จีนต้องขบคิดพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวของตน” ฟิลลิปส์กล่าวต่อ “เหล่ารัฐอาหรับสามารถทำให้จีนทราบว่า ถ้าหากจีนยังคงยึดอยู่กับจุดยืนโปรอิหร่านเช่นนี้ต่อไปแล้ว มันก็จะสร้างความเสียหายต่อสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่จีนมีอยู่กับประเทศอาหรับเหล่านี้ในระยะยาว”

ปีเตอร์ ลี เป็นผู้เขียนเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนความสัมพันธ์ของภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • ‘สหรัฐฯ’เล่นงาน‘อิหร่าน’โดยมุ่งกระทบถึง‘จีน’(ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น