xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’เล่นงาน‘อิหร่าน’โดยมุ่งกระทบถึง‘จีน’(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China feels US-Iran fallout
By Peter Lee
12/02/2010

นอกจากอิหร่านเองแล้ว จีนนั่นแหละที่จะเป็นผู้สูญเสียรายใหญ่ที่สุด ถ้าหาก “มาตรการลงโทษคว่ำบาตรกันให้เด็ดขาด” ซึ่งสหรัฐฯต้องการให้ประชาคมระหว่างประเทศนำมาบังคับใช้ต่อกรุงเตหะราน บังเกิดผลเป็นการปิดก๊อกไม่ให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันได้ เมื่อมองจากสายตาของปักกิ่ง ในโลกตะวันตกเวลานี้ดูเหมือนกำลังมีความเห็นพ้องต้องกันเป็นฉันทามติว่า จะต้องพยายามลดการพึ่งพาอาศัยจีน ในการเป็นปัจจัยสร้างเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพในทางการเงิน, เศรษฐกิจ, หรือในทางภูมิรัฐศาสตร์

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

สหรัฐฯประกาศยืนกรานว่า การดำเนินกโลบายทางการทูตต่างๆ นานาที่มุ่งเอาจีนเป็นเป้าหมายในการเล่นงาน ล้วนเป็นเรื่องที่ชอบธรรม เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงให้เห็นว่านานาชาติมีความสามัคคีเป็นเอกภาพกันในการคัดค้านโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน อย่างไรก็ดี เอาเข้าจริงแล้วสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงการเสแสร้งที่ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

ถึงแม้จะพยายามปลุกผีสร้างกระแสเรื่องการโจมตีของอิสราเอล หรือหยิบยกข้ออ้างเรื่องการแข่งขันสั่งสมกำลังรบของเหล่ารัฐในอ่าวเปอร์เซีย แต่เหตุผลข้อสำคัญที่สุดซึ่งทำให้เกิดเป็นอาการห่วงกังวลเกี่ยวกับกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ที่ยังเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นเตาะแตะของอิหร่านอยู่ในปัจจุบัน แท้ที่จริงก็คือ “การขาดความอดกลั้น” อย่างรุนแรงของฝ่ายตะวันตกนั่นเอง อาการในเวลานี้ดูช่างคล้ายคลึงกันมากกับการขาดความอดกลั้นอันถูกประดิษฐ์ขึ้นมา และมีบทบาทเป็นตัวหนุนส่งให้กองกำลังทหารพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ เปิดฉากบุกเข้ารุกรานและยึดครองอิรักในปี 2003

วิธีการบำบัดเยียวยาการขาดความอดกลั้นเช่นนี้อย่างที่เสนอกันไว้ ซึ่งก็คือด้วยการออกมติของสหประชาชาติฉบับแล้วฉบับเล่านั้น ไม่น่าที่จะได้ผลอะไร

น่าสังเกตด้วยว่ารัสเซียมีความใส่ใจต่อความสัมพันธ์ที่ตนมีอยู่กับกรุงเตหะราน จนกล้าที่จะประกาศจุดยืนให้ชัดเจนว่า ญัตติอะไรก็ตามที่ผ่านออกมาจากคณะมนตรีความมั่นคง จะต้องไม่เกิดผลลัพธ์ในทางสร้างความหายนะ

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ อังเดรย์ เรียบคอฟ (Andrey Ryabkov) ได้ออกคำแถลงที่มีเนื้อหาสะดุดใจว่า “เราไม่คิดว่าการคว่ำบาตรลงโทษจะได้ผลอะไร แต่เราก็เข้าใจดีว่าในบางสภาพการณ์แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะเดินหน้าไปโดยไม่ออกมาตรการดังกล่าว”

ขณะเดียวกันรายงานข่าวที่ระบุว่า ในการชุมนุมเดินขบวนเนื่องในวาระวันครบรอบการปฏิวัติอิหร่านปี 1979 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ มีพวกที่สนับสนุนรัฐบาลออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมากมายมหาศาลกว่าพวกฝ่ายค้านที่เรียกขานกันในนาม “ขบวนการสีเขียว” (Green Movement) สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมหมายความว่าหนทางที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในอิหร่านนั้น คงจะไม่อาจประสบความสำเร็จเช่นกัน

แม้กระทั่งสมมุติว่าเกิดมีระบอบปกครองใหม่ก้าวขึ้นสู่อำนาจได้สำเร็จ เจตนารมณ์ความมุ่งมั่นในระดับชาติของอิหร่านที่จะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ (และนั่นย่อมหมายถึงสภาพการณ์ที่ฝ่ายตะวันตกมองว่าเป็นภัยคุกคามด้านอาวุธนิวเคลียร์ต่อภูมิภาคแถบนี้) ก็น่าจะยังดำรงคงอยู่อย่างไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

หากใช้หลักเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ตามแบบแผนมาขบคิดพิจารณาแล้ว จีนก็ดูจะเป็นฝ่ายที่มีแนวความคิดอันถูกต้อง เมื่อพยายามเสนอว่าควรหาวิธีแก้ปัญหาทางการทูตอย่างสันติและแก้ปัญหาด้วยการเกี่ยวข้องมีปฏิสัมพันธ์กับอิหร่าน หรือดังที่ในบทบรรณาธิการเมื่อเร็วๆ นี้ของหนังสือพิมพ์ของทางการจีนฉบับหนึ่งเรียกร้องเอาไว้ว่า “ใช้ความอดกลั้น, อดกลั้น, และอดกลั้นให้มากขึ้น”

ทว่านโยบายของสหรัฐฯดูเหมือนจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยกำลังโหมกระพือวิกฤตแทนที่จะลดทอนความร้อนแรง

แล้วจีนจะได้อะไรเมื่อเกิดวิกฤตอิหร่านขึ้นมา?

ในสภาพที่ยังไม่มีเหตุอันพึงเชื่อถือว่ากำลังจะเกิดอันตรายจากการเข้าโจมตีอิหร่านของอิสราเอล สิ่งที่สหรัฐฯกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ก็คือการเร่งรัดประชาคมระหว่างประเทศ ให้เดินหน้าใช้ “มาตรการลงโทษคว่ำบาตรกันให้เด็ดขาด” เอากับเตหะราน ซึ่งหากมีการปฏิบัติการดังกล่าวจริงๆ ย่อมจะส่งผลในทางรบกวนขัดขวางการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน

ถ้าหากเรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้นมา ผู้สูญเสียรายใหญ่ในวิกฤตอิหร่านก็จะกลายเป็นจีนนั่นเอง

ดังที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานความเห็นของนักวิเคราะห์ชาวจีนผู้หนึ่งเอาไว้ว่า “การเดินตามให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับฝ่ายตะวันตกที่มุ่งขยายการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่าน จนกระทั่งถึงขั้นเป็นการจำกัดขีดวงการส่งออกพลังงานของอิหร่านนั้น จะมีความหมายเท่ากับการลงโทษคว่ำบาตรจีนอย่างซ่อนเร้นนั่นเอง และแน่นอนทีเดียวว่าจีนจะต้องไม่เห็นด้วย” หวางเฟิง (Wang Feng) นักวิจัยแห่งบัณฑิตยสถานทางสังคมศาสตร์ของจีน บอกกับ “โกลบอลไทมส์” หนังสือพิมพ์ของทางการจีนในฉบับตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี(11)

มีรายงานว่าสหรัฐฯได้แจ้งให้จีนทราบว่า จะส่งฮิลลารี คลินตัน ไปตระเวนเยือนพวกศัตรูของอิหร่านในแถบอ่าวเปอร์เซีย และจะมุ่งหาคำรับรองให้บังเกิดความมั่นใจว่า ถ้าหากมาตรการลงโทษคว่ำบาตรจะรบกวนขัดขวางซัปพลายน้ำมันจากอิหร่านแล้ว ซาอุดีอาระเบียและรัฐอาหรับอื่นๆ จะค้ำประกันว่า จีนจะยังคงมีน้ำมันปิโตรเลียมตามที่ต้องการใช้อย่างต่อเนื่องต่อไป

ทว่าไม่น่าเป็นไปได้หรอกที่วิสัยทัศน์ด้านความมั่นคงทางพลังงานของจีน จะหมายถึงการที่ต้องพึ่งพิงอาศัยความช่วยเหลือเจือจานจากสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับผลสืบเนื่องจากนโยบายที่สหรัฐฯเป็นผู้นำออกมาบังคับใช้ โดยที่จีนเองได้ปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว อีกทั้งไม่ได้มีส่วนมีเสียงในการกำหนดนโยบายเช่นนั้นขึ้นมาเลย

แต่จะเป็นอย่างไรก็ตามที ลู่ทางโอกาสที่จะเกิดภาวะโลกาวินาศของราคาน้ำมันขึ้นมานั้น เอาเข้าจริงก็มีความเป็นไปได้น้อยมาก เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงต่างๆ ของภาวะตลาดเสรี ตลอดจนความโลภโมโทสันของพวกผู้ผลิตน้ำมันทั้งภายในและภายนอกอ่าวเปอร์เซียแล้ว หากน้ำมันดิบอิหร่านหายวับไปจากตลาด ทั่วทั้งโลกก็น่าจะบาดเจ็บพอๆ กันกับจีน

สำหรับปักกิ่งแล้ว เรื่องที่น่ากังวลใจที่สุดน่าจะเป็นเรื่องที่ว่า พวกเขาเข้าใจว่าทั้งยุโรป, รัสเซีย, และพวกรัฐในอ่าวเปอร์เซีย กำลังส่งสัญญาณเข้าร่วมขบวนการริเริ่มต่อต้านอิหร่าน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ใหญ่ๆ ของจีน โดยที่มิได้มีการคำนึงใส่ใจกับสิ่งที่จีนจัดลำดับให้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเอาเสียเลย

จากมุมมองของปักกิ่งแล้ว จีนมีฐานะเป็นมหาอำนาจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวหลักทีเดียวในวิกฤตอิหร่าน

ดังนั้นจีนจึงกำลังตั้งคำถามว่า ทำไมฝ่ายอื่นๆ จึงไม่มาปรึกษาหารือกับตนก่อน ทำไมฝ่ายอื่นๆ จึงไม่ให้ความสำคัญแก่สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ระดับเป็นตายของปักกิ่ง แทนที่จะไปอิงอยู่กับเหตุผลเหลวไหลเรื่องการโจมตีของอิสราเอล, การแข่งขันด้านอาวุธในอ่าวเปอร์เซีย, ตลอดจนการมาเที่ยวสั่งสอนเรื่อยเจื้อยว่าผลประโยชน์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ของจีนคืออะไร

จีนนั้นไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อระเบียบระหว่างประเทศในปัจจุบัน แต่ก็เป็นส่วนประกอบที่เป็นอิสระมากที่สุดและควบคุมยากที่สุดของระเบียบดังกล่าวนี้ มีสัญญาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ในโลกตะวันตกกำลังมีฉันทามติร่วมกันว่า ควรที่จะต้องลดทอนการพึ่งพาจีนให้เป็นปัจจัยสร้างเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพในทางการเงิน, เศรษฐกิจ, หรือภูมิรัฐศาสตร์

ระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับพวกคู่แข่งของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย และเป็นช่วงเวลาอันย่ำแย่สำหรับเหล่าพันธมิตรของจีน เป็นต้นว่า ปากีสถาน และอิหร่าน

ไม่ว่าจะเป็นไปโดยอุบัติเหตุหรือเป็นการจัดวางตระเตรียมขึ้นมาอย่างจงใจก็ตามที การตัดสินใจของคณะรัฐบาลโอบามาที่จะโหมความร้อนแรงของเรื่องขัดแย้งเกี่ยวกับอิหร่าน ได้ส่งผลกลายเป็นการตอกลิ่มอีกอันหนึ่งเข้ามาแยกถ่างให้จีนอยู่เหินห่างจากสหรัฐฯ, อียู, พวกรัฐในอ่าวเปอร์เซีย, และแม้กระทั่งรัสเซีย

ประเด็นปัญหาสำหรับจีนจึงกลายเป็นเรื่องที่ว่า วัตถุประสงค์ของการรณรงค์คัดค้านอิหร่านของอเมริกา คือการมุ่งโดดเดี่ยวอิหร่าน ... หรือคือการมุ่งโดดเดี่ยวจีน? นี่คือผลต่อเนื่องจากการที่จีนเข้าร่วมในแผนการริเริ่มด้านความมั่นคง ซึ่งสหรัฐฯเลือกที่จะจัดทำขึ้นมาเพื่อมุ่งพิทักษ์คุ้มครองและส่งเสริมผลประโยชน์ของตนเองและของเหล่าพันธมิตรผู้ภักดีต่ออเมริกา

จีนตอบโต้การไต่ระดับความรุนแรงของวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน ด้วยบทบรรณาธิการอันโดดเด่นในหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ ซึ่งเป็นสื่อที่เน้นเรื่องกิจการระหว่างประเทศของ เหรินหมินรึเป้า ที่เป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

บทบรรณาธิการดังกล่าวซึ่งใช้ชื่อเรื่องเตะตาว่า “อิหร่านและฝ่ายตะวันตก: ทั้งสองข้างไม่ควรคิดที่จะจับเอาจีนเป็นเชลย” ได้วาดภาพจีนว่าเป็นเหยื่อของการประจันหน้ากันระหว่างฝ่ายทั้งสอง ในความพยายามที่จะแสดงท่าทีไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทั้งอิหร่านและฝ่ายตะวันตกจึงต่างล้วนถูกบทบรรณาธิการนี้วิพากษ์วิจารณ์ว่าดื้อรั้นไม่ยอมประนีประนอมรอมชอม

“กระนั้นก็ตามที ในคราวนี้ทั้งฝ่ายตะวันตกและอิหร่านต่างก็กำลังขาดความรอบคอบระมัดระวัง ทั้งคู่ต่างเชื่อว่าเพียงแต่พวกเขาไม่ยอมถอย แล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็จะยินยอมหลบฉากไป นี่เป็นท่าทีที่ไม่ทรงภูมิปัญญาเอาเสียเลย แถมยังนำเอาความคิดแบบนี้มาขยายใช้ในการแสดงท่าทีต่อจีนอีกด้วย ทั้งสองข้างต่างเชื่อว่าทั้งหมดที่จำเป็นจะต้องทำก็คือการกดดันบีบคั้นจีน จากนั้นจีนก็จะ ... ค้อมศีรษะของตนให้แก่พวกเขา ... โดยที่ไม่มีการคำนึงถึงผลประโยชน์ของจีนเองเลย มันช่างเป็นการขบคิดที่ไม่มีความสอดคล้องกับความเป็นจริง”

การใช้วลีที่ต้องถือว่าให้ความรู้สึกแรงๆ อย่างเช่น “ค้อมศีรษะของตน” ซึ่งชวนให้นึกถึงภาพการคุกเข่าคำนับอย่างไร้เกียรติ แทนที่จะใช้วลีที่มีความเป็นกลางๆ มากกว่า อย่างเช่น “สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” คือการบ่งบอกให้เห็นว่า จีนกำลังขีดเส้นสีแดงที่ห้ามล่วงละเมิดออกมาแล้ว

ข้อเท้จจริงที่ว่าความกังวลสำคัญที่สุดของจีนอยู่ที่ฝ่ายตะวันตก หาใช่อิหร่านไม่ ถูกนำเสนอเอาไว้อย่างไม่มีความกำกวมเคลือบคลุมเลย ในช่วงสรุปของบทบรรณาธิการดังกล่าว

“เมื่อเร็วๆ นี้ประชามติของฝ่ายตะวันตกได้เกิดเสียงเรียกร้องให้ใช้ประเด็นเรื่องอิหร่านมาโดดเดี่ยวจีน นี่เป็นความคิดแบบตื้นเขินสุดขั้ว ... จีนนั้นเป็นประเทศใหญ่และผลประโยชน์ของจีนก็จักต้องได้รับความเคารพ อาการอิหลักอิเหลื่อของจีนจักต้องได้รับความเห็นอกเห็นใจ ข้อเสนอของจีนที่คัดค้านการลงโทษคว่ำบาตรจักต้องได้รับการรับรู้ทำความเข้าใจ มหาอำนาจใหญ่ทั้งหลายจักต้องร่วมมือกันและเจรจากันในประเด็นเรื่องอิหร่าน”

จีนเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ ถ้าใครคิดที่จะหาทางบังคับจีน ที่จะทำให้จีนต้องบาดเจ็บแล้ว แน่นอนที่สุดว่าพวกเขาจะต้องถูกตอบโต้เอาคืนอย่างสาสม นี่ช่างเป็นถ้อยคำที่แรงจริงๆ

บทบรรณาธิการนี้เป็นเครื่องบ่งชี้อันชัดเจนว่า จีนถือว่าตนเองตกเป็นเป้าหมาย (หรืออย่างน้อยที่สุดก็ถูกบีบคั้นอย่างจงใจให้ต้องโดนลูกหลง) ในการรณรงค์ต่อต้านอิหร่านของอเมริกา มันเป็นการบรรยายให้เห็นว่า ถ้าหากคณะรัฐบาลโอบามามีความจริงจังที่จะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับจีนแล้ว วอชิงตันก็ควรที่จะหยุดยั้งการรณรงค์มุ่งคว่ำบาตรลงโทษอิหร่านนี้เสีย แล้วเปิดทางให้ดำเนินการเจรจากันต่อไป

ทว่านี่ดูจะไม่ใช่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเอาเสียเลย

การลงโทษคว่ำบาตรน่าที่จะเดินหน้าต่อไป โดยที่จีนอาจจะงดออกเสียงหรือไม่ก็ยอมโหวต “รับรอง” ในทางยุทธวิธี เพื่อที่จะชะลอการแตกหักกันอย่างโจ่งแจ้ง และวอชิงตันก็จะได้แต้มเพิ่มขึ้นจากการแสดงให้เห็นถึงความเหนือชั้นกว่าจนเล่นงานจีนได้ในแถบอ่าวเปอร์เซีย

ถ้าหากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงเ ป็นไปตามที่กล่าวมานี้ จีนก็คงจะต้องขบคิดถึงการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ของโลก โดยเป็นโลกซึ่งฝ่ายตะวันตกดูจะมีความสนใจลดน้อยลง ที่จะดำเนินการต่อรองเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนจากปักกิ่ง หรือแสดงการเคารพยอมรับผลประโยชน์ของปักกิ่ง

ปีเตอร์ ลี เป็นผู้เขียนเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนความสัมพันธ์ของภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ

  • ‘สหรัฐฯ’เล่นงาน‘อิหร่าน’โดยมุ่งกระทบถึง‘จีน’(ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น