xs
xsm
sm
md
lg

‘ฝ่ายทหารปากีสถาน’แสดงจุดยืนร่วมล่า‘อัลกออิดะห์’

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Pakistan's military makes a stand
By Syed Saleem Shahzad
14/01/2010

คาดหมายกันว่าในเร็วๆ นี้กองทัพบกปากีสถานจะเริ่มเปิดยุทธการในเขตนอร์ทวาซิริสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่ชาวชนเผ่าในบริเวณชายแดนติดกับอัฟกานิสถาน ตามที่สหรัฐฯเรียกร้องรบเร้ามาระยะหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ดี ฝ่ายทหารปากีสถานก็ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนด้วยว่า ปฏิบัติการของตนจะจำกัดเฉพาะเรื่องการไล่ล่าบรรดาเป้าหมายที่เป็นบุคคลระดับสูงของอัลกออิดะห์ ตลอดจนเครือข่ายในสังกัดของคนเหล่านี้เท่านั้น

อิสลามาบัด – หลังจากสหรัฐฯและพวกนายทหารระดับสูงสุดของปากีสถาน ใช้เวลาอยู่หลายเดือนในการเดิมแต้มคูเจรจาต่อรองกันหลังฉาก ภายในนครราวัลปินดี ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของกองทัพปากีสถาน และก็ตั้งอยู่ติดๆ กับเมืองหลวงอิสลามาบัด เวลานี้วอชิงตันก็ได้แสดงออกมาให้เห็นแล้วว่า มีความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างเต็มที่ต่อคณะผู้นำทางทหารของปากีสถาน ตลอดจนกลไกต่างๆ ของกองทัพ อันรวมถึงกรมประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence หรือ ISI) ด้วย ขณะเดียวกัน คณะผู้นำทางทหารปากีสถานก็ตอบสนอง ด้วยการเตรียมการเพื่อเข้าทำการสู้รบ ในระยะต่อไปของสมรภูมิสงครามแห่งภูมิภาคเอเชียใต้

การสู้รบดังกล่าวนี้จะมุ่งเน้นไปที่การไล่ล่าบรรดาเป้าหมายที่เป็นระดับสูงของอัลกออิดะห์ ในพื้นที่ ชาวัล (Shawal) และ ดัตตา เคล (Datta Khel) ของเขตนอร์ทวาซิริสถาน (North Waziristan) อันเป็นพื้นที่ชาวชนเผ่าบริเวณชายแดนติดต่อกับอัฟกานิสถาน พื้นที่เหล่านี้เองซึ่งเชื่อกันว่า น.พ.อัยมาน อัล ซอวาฮิรี (Dr Ayman Al-Zawahiri) ผู้นำอัลกออิดะห์ระดับรองหัวหน้าถัดจากอุซามะห์ บิน ลาดิน ตลอดจนพวกสมาชิก ชูรา (shura สภาชาวชนเผ่า) ของอัลกออิดะห์กำลังหลบซ่อนตัวอยู่ ในระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯก็ได้เพิ่มการใช้เครื่องบินไร้นักบิน (drone) เข้าโจมตีบริเวณนี้เช่นกัน

โจ ลีเบอร์แมน (Joe Lieberman) วุฒิสมาชิกคนสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางมาเยือนปากีสถานเมื่อไม่กี่วันก่อน ได้กล่าวยืนยันในวันอาทิตย์(10)ว่า กองทัพปากีสถาน “กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการ” และว่า “มีความเป็นไปได้” ที่สหรัฐฯจะได้เห็นการเปิดปฏิบัติการในเขตนอร์ทวาซิริสถาน ทั้งนี้ในการเดินทางมาคราวนี้ ลีเบอร์แมนยังได้พบปะหารือกับผู้บัญชาการทหารบกปากีสถาน พล.อ.อัชฟัก ปาร์เวซ คิอานี (Ashfaq Parvez Kiani) อีกด้วย

ในการใช้เครื่องบินไร้นักบินเข้าโจมตีครั้งล่าสุดเมื่อเช้าวันพฤหัสบดี(14) มีรายงานว่าจรวด 2 ลูกที่ยิงออกไปได้สังหารพวกที่ต้องสงสัยเป็นพวกหัวรุนแรงไป 10 คน ภายในบริเวณที่พักแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ปาซัลกอต (Pasalkot) ของนอร์ทวาซิริสถาน ก่อนหน้านั้นหลายวัน สหรัฐฯก็ได้แถลงว่า ได้สังหารผู้คนไป 12 คนในบริเวณที่ต้องสงสัยว่าเป็นศูนย์ฝึกอบรมของพวกตอลิบาน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองมิรันชาห์ (Miranshah) ไปทางตะวันตกประมาณ 30 กิโลเมตร มิรันชาห์คือเมืองใหญ่ที่สุดในนอร์ทวาซิริสถาน

เมื่อช่วงปลายๆ ปีที่แล้ว ฝ่ายทหารปากีสถานได้เคยเปิดยุทธการอยู่นาน 1 เดือน เพื่อเข้าโจมตีรุกไล่พวกตอลิบานปากีสถาน (พวกชาวชนเผ่าที่อยู่ในเขตปากีสถาน ซึ่งเลื่อมใสอุดมการณ์แนวความคิดแบบตอลิบาน และมีการระดมผู้คนไปช่วยเหลือการต่อสู้ของตอลิบานในอัฟกานิสถานด้วย -ผู้แปล) ในเขตเซาท์วาซิริสถาน (South Waziristan) โดยที่ประสบความสำเร็จพอสมควร อย่างไรก็ตาม ยุทธการในนอร์ทวาซิริสถานคราวนี้ เป้าหมายจะรวมศูนย์ไปที่อัลกออิดะห์และเครือข่ายในสังกัดของกลุ่มนี้เท่านั้น

สหรัฐฯและผู้นำทางทหารของปากีสถาน สามารถบรรลุความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ภายหลังการเจรจาต่อรองซึ่งพลิกไปพลิกมาอยู่หลายตลบ ในตอนแรกๆ ทีเดียวสหรัฐฯต้องการให้ปากีสถานเปิดการสู้รบที่มีขนาดใหญ่โตกว่านี้ กระทั่งแสดงท่าทีด้วยซ้ำว่า ถ้าหากฝ่ายปากีสถานไม่ยอมร่วมมือด้วยแล้ว สหรัฐฯก็จะส่งกำลังทหารหน่วยรบพิเศษของตนเข้าทำการโจมตีภาคพื้นดินเอง ตลอดจนจะส่งเครื่องบินไร้นักบินออกโจมตีอย่างหนักทุกวันต่อเป้าหมายภายในเขตนอร์ทวาซิริสถานนี้

ทางฝ่ายปากีสถานโต้แย้งว่า กองทัพของตนอยู่ในสภาพตึงตัวอย่างมากอยู่แล้ว เนื่องจากต้องใช้กำลังทหารทั้งในเขตหุบเขาสวัต (Swat), เซาท์วาซิริสถาน, และเขตโมห์มันด์เอเยนซี (Mohmand agency), บาจาอูร์เอเยนซี (Bajaur agency), และไคเบอร์เอเยนซี (Khyber agency)

เจ้าหน้าที่อาวุโสทางด้านความมั่นคงของปากีสถานผู้หนึ่ง เล่าให้เอเชียไทมส์ออนไลน์ฟังในเงื่อนไขที่ต้องไม่เปิดเผยชื่อของเขา ว่าปากีสถานยังคงมีความลังเลที่จะเปิดยุทธการอย่างทุ่มเทเต็มที่ในนอร์ทวาซิริสถาน เนื่องจากพื้นที่นี้ไม่ได้เป็นแหล่งส้องสุมใหญ่ของพวกตอลิบาน ซึ่งผิดแผกแตกต่างไปจากเซาท์วาซิริสถาน เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้พวกอเมริกันก็เลยบอกว่า เห็นด้วยให้การเข้าร่วมของปากีสถานจำกัดวงเพียงแค่การมุ่งกำจัดอัลกออิดะห์และกลุ่มเครือข่ายในสังกัดเท่านั้น น่าสังเกตด้วยว่าเจ้าหน้าที่ผู้นี้แสดงท่าทีเป็นนัยๆ ว่าปากีสถานอาจจะได้รับบทบาทในการเจรจาเกับพวกตอลิบานอัฟกานิสถานอีกด้วย เพื่อขอให้เปิดทางสะดวกในการเข้าปฏิบัติการคราวนี้

พวกอัลกออิดะห์ที่ซ่อนตัวอยู่ในนอร์ทวาซิริสถานนี้เอง ที่เป็นผู้วางอุบายจนสามารถส่งมือระเบิดฆ่าตัวตาย เข้าโจมตีฐานแห่งหนึ่งของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ในจังหวัดโคสต์ (Khost) ของอัฟกานิสถาน (ดูเรื่อง US spies walked into al-Qaeda's trap Asia Times Online, January 5, 2009.)

ระหว่างการโต้เถียงกันในเรื่องที่ว่าปากีสถานควรจะเข้าเกี่ยวข้องด้วยในระดับไหนเช่นนี้ ถึงขั้นทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อกัน มีอยู่ช่วงหนึ่ง ฝ่ายทหารปากีสถานได้ดำเนินการกดดันพวกบริษัทอเมริกันที่มารับทำงานด้านกลาโหมในปากีสถานหลายต่อหลายแห่ง กระทั่งพวกนักการทูตอเมริกันก็ถูกบังคับให้ต้องทำตามระเบียบราชการอันหยุมหยิมของปากีสถาน จนในที่สุดเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ แอนน์ ดับเบิลยู แพตเทอร์สัน (Anne W Patterson) ต้องออกโรงแสดงการประท้วงอย่างเปิดเผย

อย่างไรก็ดี ลงท้ายแล้วเรื่องนี้ก็เป็นเพียงอีกฉากหนึ่ง ในความสัมพันธ์ที่มีทั้งความรักและความชังระหว่างชาติพันธมิตรทั้งสองนี้ โดยที่แต่ละฝ่ายต่างก็ตระหนักว่าจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ผลลัพธ์จึงออกมาว่าได้เริ่มกลับมีการติดต่อสื่อสารกันใหม่ แหล่งข่าวหลายรายที่ล่วงรู้เรื่องวงในของฝ่ายทหารปากีสถานเป็นอย่างดี กล่าวว่าจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญมากบังเกิดขึ้นเมื่อคราวที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน มาเยือนกรุงอิสลามาบัดตอนปลายปีที่แล้ว

ตั้งแต่นั้นมาวอชิงตันได้ยอมรับว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดานี (Asif Ali Zardari) มี “ความบกพร่องในด้านความน่าเชื่อถือ” และทางเลือกที่เหลืออยู่เพียงทางเดียวก็คือจะต้องหันกลับมาพึ่งพาอาศัยกองทัพปากีสถาน การเดินทางเยือนปากีสถานของ พล.ร.อ.ไมก์ มุลเลน (Mike Mullen) ประธานคณะเสนาธิการทหารผสมของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็ถือเป็นหลักหมายอันสำคัญเช่นเดียวกัน เมื่อเขากลับไปวอชิงตันแล้วก็ได้ดำเนินการล็อบบี้เพื่อให้สหรัฐฯทำการติดต่อโดยตรงกับพล.อ.คิอานี

จากนั้นก็ตามมาด้วยการเยือนปากีสถานของนายทหารและวุฒิสมาชิกอเมริกันหลายๆคน รวมทั้งวุฒิสมาชิกลีเบอร์แมน ผู้ซึ่งยืนยันรับรองว่า กองทัพบกปากีสถานเป็นความหวังเพียงประการเดียวในการจัดการกับความยุ่งยากต่างๆ ในเอเชียใต้

ผลพวงของเรื่องนี้ประการหนึ่งก็คือ วอชิงตันได้แจ้งต่ออิสลามาบัดว่า ควรที่จะต่ออายุการดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไอเอสไอ ของ พล.ท.อาหมัด ชูจา ปาชา (Ahmad Shuja Pasha) ปาชาจะครบวาระดำรงตำแหน่งในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือนก็จะถึงคราวของคิอานีที่ต้องก้าวลงจากตำแหน่ง โดยที่ถ้าไม่มีการแต่งตั้งปาชาให้อยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมประมวลข่าวกลางต่อไปแล้ว เขาผู้นี้แหละจะขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่เมื่อพิจารณาจากความอาวุโสของเขา

ในช่วงแรกๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเช่นนี้ ซาร์ดารีแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนต่อการที่ถูกดูหมิ่นและถูกบงการโดยสหรัฐฯ ซึ่งก็ย่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้อยู่แล้ว คามาล อัซฟาร์ (Kamal Azfar) ทนายความที่เป็นสมาชิกระดับอาวุโสของพรรคปากีสถาน พีเพิลส์ ปาร์ตี้ (Pakistan People's Party หรือ PPP) แกนนำของคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ออกมาแถลงโจมตีทั้งซีไอเอและกองบัญชาการทหารปากีสถานว่า มีจุดมุ่งหมายที่จะทำลายประชาธิปไตยในประเทศนี้ จากนั้นตลอดทั้งเดือนธันวาคมทีเดียว ทั้งซาร์ดารีและรัฐมนตรีอาวุโสหลายคนได้ออกมาพูดจาต่อต้านฝ่ายทหาร

ฝ่ายทหารได้ทำการตอบโต้เอาคืน และจากแรงบีบคั้นของกองทัพ ซาร์ดารีก็ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ทุกๆ ฝ่าย ด้วยการยอมถอนตัวออกจากตำแหน่งประธานของกองบัญชาการแห่งชาติ (National Command Authority) ซึ่งเป็นผู้ควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ ในเวลานี้หน่วยงานแห่งนี้จึงตกมาอยู่ในมือของฝ่ายทหารอย่างมั่นคงทีเดียว

ในวันที่ 29 ธันวาคม อันเป็นวาระครบรอบ 2 ปีแห่งการลอบสังหารเบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto) ผู้เป็นภรรยาของเขาเอง ซาร์ดารีได้กล่าวสุนทรพจน์ซึ่งมีเนื้อหาที่ยั่วโทสะของฝ่ายทหารอย่างรุนแรง จนทำให้กระทั่งพวกสมาชิกในพรรคพีพีพีของเขาเองก็ยังรู้สึกงงงวย

ต่อจากนั้นจึงมีการพบปะหารือกันในบรรยากาศอันกริ้วโกรธ ระหว่างซาร์ดารีกับพวกที่เป็นตัวกลางเจรจากับฝ่ายทหาร ในที่สุดก็บังเกิดผลลัพธ์ในรูปของการทำความเข้าใจกันว่า ท่านประธานาธิบดีจะได้รับการบรรยายสรุปจากผู้บัญชาการทหารบกในประเด็นปัญหาต่างๆ ทุกๆ เรื่อง แล้วท่านประธานาธิบดีก็จะพูดจะแถลงด้วยจุดยืนที่สอดคล้องต้องกัน

ในทางเป็นจริงจึงเท่ากับฝ่ายทหารสามารถสยบให้ซาร์ดารีกลับเข้าที่เข้าทาง เฉกเช่นเดียวกับที่สามารถเรียกร้องจนได้สิ่งที่ต้องประสงค์จากสหรัฐฯในประเด็นเกี่ยวกับนอร์ทวาซิริสถาน ทั้งนี้วอชิงตันและรัฐบาลพลเรือนของปากีสถานดูจะไม่ได้มีทางเลือกอื่นใดอีก นอกจากต้องยอมเล่นเกมไปตามที่ฝ่ายทหารชี้นำ

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็น หัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถติดต่อกับเขาได้ที่ saleem_shahzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น