xs
xsm
sm
md
lg

การเลือกตั้งกำลังทำให้‘ศรีลังกา’แตกเป็นเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: อมันตา เปเรรา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Sri Lanka cracking in heat of polls
By Amantha Perera
11/01/2010

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งประธานาธิบดีศรีลังกาในวันที่ 26 มกราคมนี้มากเท่าใด ก็ยิ่งมีความหวาดกลัวกันว่า จะเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นระหว่างพวกผู้สนับสนุนของประธานาธิบดี มหินทา ราชปักษา และของ พล.ท.สารัต ฟอนเซกา อดีตผู้บัญชาการทหารบกที่หันมาเป็นผู้สมัครฝ่ายค้าน ขณะที่การรณรงค์หาเสียงของตัวเก็งทั้งสองคนนี้ ก็กำลังทำให้เกิดการแตกแยกทั้งในหมู่พระสงฆ์พุทธ และในระหว่างกลุ่มผู้นำชาวทมิฬที่เป็นชนส่วนน้อยของประเทศ

โคลัมโบ – เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา นอกเหนือจากคำอวยพรปีใหม่จากเพื่อนฝูงญาติมิตรที่พรั่งพรูท่วมท้นอยู่ตามปกติแล้ว ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 1 ล้านคนในศรีลังกา ยังได้รับข้อความที่ออกจะผิดธรรมดาข้อความหนึ่ง ผู้ส่งข้อความรายนี้ลงชื่อเพียงว่า “ประธานาธิบดี” นี่ไม่ใช่การเล่นตลกของพวกชอบทำอะไรพิเรนๆ หากแต่เป็นข้อความจากประธานาธิบดีมหินทา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) จริงๆ นอกเหนือจากอวยพรปีใหม่ให้ชาวศรีลังกานับล้านๆ แล้ว ข้อความนี้ไม่ลืมที่จะเตือนให้ระลึกว่า เขาได้ทำตามสัญญาต่างๆ ที่ให้ไว้แก่ประเทศชาติ

ประธานาธิบดีราชปักษากำลังเดินหน้าเข้าสู่ช่วงระยะเวลา 3 สัปดาห์ที่อาจจะสำคัญที่สุดในอาชีพการเป็นนักการเมืองยาวนาน 40 ปีของเขาทีเดียว โดยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีศรีลังกาที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 26 มกราคมนี้ เขาจะต้องทำศึกกับ สารัต ฟอนเซกา (Sarath Fonseka) นายพลเกษียณอายุที่เคยเป็นผู้บัญชาการทหารบกของเขาเอง

ทั้งสองคนเคยเป็นสหายร่วมรบกันมาก่อน โดยเพียงเมื่อ 8 เดือนที่แล้ว ทั้งคู่ต่างก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ยังความปราชัยให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวทมิฬ ที่ใช้ชื่อว่า พยัคฆ์ปลดแอกแห่งทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam หรือ LTTE) บัดนี้พวกเขากลายมาเป็นศัตรูทางการเมืองชนิดสุดแสนขมขื่น จนทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงกลายเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดและคู่คี่มากที่สุด นับตั้งแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชเมื่อปี 1947

ราชปักษากำลังมุ่งหวังที่จะได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง โดยอาศัยผลงานอันดีเยี่ยมในวาระแรกของเขาเป็นฐานส่ง ทั้งนี้เขาอวดโอ่ว่าเขาคือผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการทำให้การก่อความไม่สงบของ LTTE สิ้นสุดลง และหากได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองแล้วแล้ว เขาก็จะมุ่งเน้นทำงานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

สำหรับฟอนเซกา เขาหวังที่จะกลายเป็นนายทหารคนแรกซึ่งก้าวขึ้นครองตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งตำแหน่งสูงสุดของประเทศ ด้วยการพึ่งพาเกียรติประวัติทางการทหารอันแข็งแกร่งของเขา เขายังวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีราชปักษาอย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่าภายใต้การปกครองของผู้นำประเทศผู้นี้ ศรีลังกากำลังตกต่ำเสื่อมโทรมลงสู่ลัทธิเล่นพรรคเล่นพวก

ถ้าหากช่วงวันหยุดยาวๆ ในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่ผ่านมา อาจจะสร้างความรู้สึกแห่งความสงบสุขอันจอมปลอมขึ้นมาแล้ว ภายในเวลาไม่กี่วันหลังปีใหม่ผันผ่านไป สิ่งต่างๆ ก็กลับคืนเข้าสู่ร่องรอยเดิมอย่างรวดเร็ว การรณรงค์หาเสียงอย่างเป็นทางการที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมได้ทวีความร้อนแรงขึ้น เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ กำลังเคลื่อนไปสู่ความกึกก้องกัมปนาท

ในวันที่ 3 มกราคม มีรายงานว่าได้เกิดการปะทะกันระหว่างพวกผู้สนับสนุนของผู้สมัครสำคัญทั้งสองคนนี้ ณ ตำบลคิรีภัทโกตตา (Kiribathgodda) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงโคลัมโบไปทางเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร และที่ตำบลนวลาพิทิยะ (Nawalapitiya) ซึ่งอยู่แถบทิวเขาทางภาคกลาง ห่างจากเมืองหลวงราว 120 กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมีรายงานเหตุการณ์ทำนองเดียวกันแต่มีขนาดเล็กกว่า ที่ เนกอมโบ (Negombo) ซึ่งอยู่ห่างกรุงโคลัมโบไปทางเหนือ 40 กิโลเมตร และในตำบลเอราวุร์ (Eravur) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออก

พวกกลุ่มติดตามสังเกตการณ์การเลือกตั้งต่างแถลงว่า พวกเขาหวั่นเกรงว่ายิ่งใกล้วันเลือกตั้งก็จะยิ่งเกิดความรุนแรง กลุ่มปฏิบัติการประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม (People's Action for Free and Fair Elections หรือ PAFFREL) ซึ่งเป็นองค์การติดตามสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดของประเทศ บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) ว่า มีเครื่องบ่งชี้หลายประการว่า การรณรงค์ซึ่งเพิ่มความเข้มข้นขึ้นอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนามากยิ่งขึ้น

“ความตึงเครียดในภาคสนามน่าที่จะทวีขึ้นอีกเมื่อวันเลือกตั้งใกล้เข้ามา” โรหะนา เหตตีอัชชี (Rohana Hettiarchchi) ผู้อำนวยการบริหาร PAFFREL ให้ความเห็น ขณะที่ศูนย์กลางเพื่อการเฝ้าระวังความรุนแรงจากการเลือกตั้ง (Center for Monitoring Election Violence หรือ CMEV) ก็ระบุว่ามีข้อมูลสนับสนุนว่า ความรุนแรงได้พุ่งขึ้นในระยะ 3 วันแรกของปีใหม่นี้

“CMEV ขอตั้งข้อสังเกตด้วยความเป็นห่วงในเรื่องที่เกิดความรุนแรงเพิ่มระดับขึ้นไปมากในการเลือกตั้งประธานาธิบดี” ศูนย์แห่งนี้กล่าวในแถลงการณ์ลงวันที่ 4 มกราคม และระบุว่าได้รับรายงานหลายกระแสว่า เกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่เป็นความรุนแรงอันสืบเนื่องจากการเลือกตั้งรวม 4 ครั้งด้วยกันเมื่อวันที่ 3 มกราคม ขณะที่ “จำนวนกรณีที่มีการใช้อาวุธปืนก็สูงขึ้น”

พวกผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองบอกว่า การชิงชัยกันระหว่างผู้สมัครที่เป็นตัวเก็งทั้ง 2 คน นั่นคือ ราชปักษา และฟอนเซกา มีความคู่คี่กันเหลือเกินจนกระทั่งบรรดาผู้สนับสนุนไม่น่าที่จะยอมถอยให้แก่กันอย่างง่ายๆ “ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนต่างเตรียมเผชิญกับความรุนแรงอย่างชนิดพร้อมสู้แหลก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อันตรายมาก” กีรตี ตีนัคคอน (Keerthi Thenakkon) โฆษกของกลุ่มรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม (Campaign for Free and Fair Elections) กล่าว

อย่างไรก็ดี ทางการตำรวจกลับบอกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมาในปี 2005 แล้ว ระยะเวลา 3 สัปดาห์แรกตั้งแต่มีการยื่นใบสมัครอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 ธันวาคม ต้องถือว่าคราวนี้เงียบสงบกว่าเล็กน้อยด้วยซ้ำ รองผู้บังคับการ กามินี นวะรัตนี (Deputy inspector general Gamini Navarathne) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยตำรวจดูแลการเลือกตั้ง แถลงว่า ในการเลือกตั้งคราวนี้มีการรายงานเหตุรุนแรงเพียง 250 ครั้ง เปรียบเทียบกับ 280 ครั้งในปี 2005 “เหตุการณ์(รุนแรง) ลดลงประมาณ 30% ด้วยซ้ำ” เขาบอก

ทว่าเนื่องจากการรณรงค์หาเสียงจะยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งถึงวันที่ 24 มกราคม เหตุการณ์รุนแรงจึงยังน่าจะเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนั้นยังมีความวิตกกันมากขึ้นด้วยเกี่ยวกับการนำเอาทรัพยากรสาธารณะไปใช้ในงานโฆษณาหาเสียงอย่างมิชอบและโจ๋งครึ่ม “แนวโน้มที่กำลังเห็นได้ในขณะนี้ดูเป็นเค้าลางที่ไม่ดีเลยสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวนี้” องค์การเพื่อความโปร่งใส่สากล ประเทศศรีลังกา (Transparency International’s Sri Lanka chapter) ระบุเอาไว้ในรายงานว่าด้วยการใช้ทรัพยากรสาธารณะไปในทางมิชอบ ซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ธันวาคมปีที่แล้ว

“เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่สาธารณชนจักต้องต่อต้านการนำเอาทรัพยากรสาธารณะไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากสาธารณชนเองกลายเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายของการใช้ทรัพยากรสาธารณะไปในทางมิชอบเช่นนี้” รายงานของกลุ่มต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งนี้กล่าวในตอนหนึ่ง

พวกผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า การที่ฟอนเซกากระโดดเข้ารับสมัครชิงตำแหน่งในครั้งนี้ด้วย เป็นการกระตุ้นฝ่ายค้านให้กลับเพิ่มพลังขึ้นมาใหม่ และเวลานี้อยู่ในสภาพที่กลายเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งดูจะถ่วงดึงคะแนนนิยมของราชปักษาไว้ได้

“ผมคิดว่าเขา (ฟอนเซกา) เสนอตัวเข้ามาเป็นผู้ที่คอยถ่วงดึงความนิยมในตัวท่านประธานาธิบดีเอาไว้ได้เป็นอย่างดีทีเดียว โดยเฉพาะความนิยมในหมู่ผู้ออกเสียงชาวสิงหลที่เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ” เยฮัน เปเรรา (Jehan Perera) ผู้อำนวยการบริหารของ สภาสันติภาพแห่งชาติ (National Peace Council) อันเป็นกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในศรีลังกา แสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ชาวสิงหลมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 70% ของผู้มีสิทธิออกเสียงในศรีลังกาทั้งประเทศ

พรรคการเมืองชาวสิงหลที่เป็นฝ่ายค้าน 2 พรรคสำคัญ ได้แก่ พรรคยูไนเต็ด เนชั่นแนล ปาร์ตี้ (United National Party) และ พรรคพีเพิลส์ ลิเบอเรชั่น ฟรอนต์ (People’s Liberation Front) ได้จับมือกันประกาศสนับสนุนฟอนเซกา ให้เสมือนเป็นผู้สมัครของพรรคทั้งสอง การกระโดดเข้าสู่เวทีของอดีตผู้บัญชาการทหารบกผู้นี้ ยังเป็นเหตุทำให้พระสงฆ์องค์เจ้าในพุทธศาสนา ซึ่งที่ผ่านมามีบทบาททางการเมือง ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของแกนกลางสนับสนุนพวกพรรคการเมืองชาตินิยมสิงหลมาโดยตลอด ได้เกิดการแบ่งกลุ่มแตกแยกกันจัดการชุมนุมประท้วงในกรุงโคลัมโบ โดยมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านรัฐบาล

ระหว่างสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งจัดการชุมนุมในเมืองหลวงของประเทศ เพื่อประท้วงฟอนเซกาในกรณีที่กล่าวหากันว่าเขาได้ออกมาแถลงชี้ชวนให้เห็นไปว่า รัฐมนตรีกลาโหม โกตาบายา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) ผู้เป็นน้องชายของประธานาธิบดี น่าจะมีพฤติการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในระหว่างช่วงระยะสุดท้ายของสงครามปราบปรามพวก LTTE

“มันเป็นการแถลงอย่างชนิดไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่งของบุคคลผู้ซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบกมาก่อน เราจึงต้องการให้มีการบันทึกเอาไว้ว่าพวกเราประท้วงคัดค้านการแถลงเช่นนี้ของเขา” พระภิกษุ เบงกามุเว นาลากา ติโร (Bengamuwe Nalaka Thero) หนึ่งในพระสงฆ์ที่ทำการประท้วงคราวนี้แถลง เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พระสงฆ์กลุ่มนี้ก็ได้เคยไปยื่นหนังสือถึงสหประชาชาติ เรียกร้องยูเอ็นตลอดจนประเทศอื่นๆ อย่าได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของศรีลังกา

แต่ขณะที่พระสงฆ์กลุ่มนี้ชุมนุมเดินขบวนอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของกรุงโคลัมโบนั้นเอง ก็มีพระสงฆ์อีกกลุ่มหนึ่งจัดการประท้วงในบริเวณใจกลางเมือง เพื่อแสดงความไม่พอใจที่มีการจับกุมพระรูปหนึ่งที่เข้าข้างสนับสนุนฟอนเซกา “ท่านถูกจับตัวไปด้วยข้อหาที่ปั้นแต่งกันขึ้นมา นี่เป็นการกระทำเพื่อการแก้แค้นทางการเมืองชัดๆ” เป็นการแถลงของพระภิกษุ ปูชิตา ติโร (Pujitha Thiro) ซึ่งเข้าร่วมการประท้วง

ความดุเดือดเข้มข้นของการรณรงค์หาเสียงยังได้ทำให้พรรคการเมืองหลักของชาวทมิฬ ได้แก่ ทมิฬ เนชั่นแนล อะไลแอนซ์ (Tamil National Alliance หรือ TNA) เกิดการแตกแยกด้วยเช่นกัน ส.ส.คนหนึ่งของพรรค คือ เอ็ม เค ศิวะชีลิงกัม (M K Sivajilingam) ถึงกับแยกตัวออกมาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในแบบผู้สมัครอิสระ สืบเนื่องจากความขัดแย้งไม่ลงรอยกันภายในพรรค

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พรรค TNA แถลงว่าให้ความสนับสนุนฟอนเซกาในการเลือกตั้งคราวนี้ อาร์ สัมพันธัน (R Sampanthan) ผู้เป็นหัวหน้าพรรคกล่าวว่า พวกเขาได้เปิดการพูดคุยหารือกับผู้สมัครที่เป็นตัวเก็งทั้งสองคนแล้ว และปรากฏว่าฟอนเซการับปากรับคำที่จะแก้ไขปัญหาตอบสนองความจำเป็นของพวกที่ต้องลำบากเดือดร้อนเนื่องจากภาวะสงครามกลางเมืองที่เพิ่งสิ้นสุดลงได้ดีกว่า “เขาเข้าใจดีว่าควรที่จะต้องใช้หนทางแก้ไขทางการเมืองเพื่อให้เกิดสันติภาพที่ถาวรในประเทศนี้” สัมพันธันบอก

“พรรค TNA มีความเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ท่านประธานาธิบดีคนปัจจุบันไม่ควรได้รับอาณัติให้ปกครองประเทศต่อเป็นสมัยที่สอง เมื่อพิจารณาจากผลงานที่ผ่านมา” สื่อมวลชนท้องถิ่นอ้างอิงคำแถลงของหัวหน้าพรรค TNA เมื่อต้นเดือนที่แล้ว “เราได้พูดคุยหารือกับท่านในเรื่องการแก้ปัญหาโดยใช้หนทางการเมือง และเรารู้สึกผิดหวังเป็นที่สุดกับท่าทีของท่านต่อประเด็นปัญหานี้”

ในวันที่ 26 มกราคมที่กำลังขยับใกล้เข้ามาทุกขณะ ทั่วทั้งประเทศศรีลังกาจะลงมติพิพากษาว่า พึงพอใจผลงานของราชปักษามากน้อยเพียงใด

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น