xs
xsm
sm
md
lg

‘ความคลุมเครือ’อย่างจงใจใน‘ทะเลจีนใต้’(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ปิเตอร์ เจ บราวน์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Calculated ambiguity in the South China Sea
By Peter J Brown
07/12/2009

เป้าหมายขั้นสุดท้ายของจีนในทะเลจีนใต้ อาจไม่ใช่เพียงแค่การสถาปนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะ (EEZ) อันกว้างใหญ่ไพศาลขึ้นมาเท่านั้น การที่ปักกิ่งมุ่งมั่นขยายตัวเข้าสู่น่านน้ำที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งกับชาติอื่นๆ แห่งนี้ ยังทำท่าจะเป็นเตรียมการสำหรับพลานุภาพทางนาวีในอนาคต ซึ่งจะประกอบด้วยกองเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีป

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ขณะเดียวกันกับที่ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งเดินทางถึงกรุงฮานอยเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ครั้งแรกที่เคยจัดกันขึ้นมา สำหรับชาติต่างๆ ซึ่งล้วนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้จนทับซ้อนเหลื่อมล้ำกันอยู่ ในอีกด้านหนึ่ง เรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ที่สุดของสำนักงานบริหารการประมงของจีน ที่มีชื่อว่า อวี่เจิ้ง 311 (Yuzheng 311) ก็ไปจอดทอดสมอที่เกาะหย่งซิง (Yongxing) ซึ่งเป็นเกาะแห่งหนึ่งในหมู่เกาะที่จีนเรียกขานว่าหมู่เกาะซีซา (Xisha Islands) มันจะเป็นการเริ่มต้นการตรวจการณ์เขตทะเลจีนใต้อย่างยาวนานอีกเที่ยวหนึ่งของแดนมังกร โดยออกเดินทางมาจากฐานทัพเรือซันย่า (Sanya) บนเกาะไห่หนาน (ไหหลำ)

ประเทศจีนประกาศอ้างสิทธิเหนือเกาะ, โขดหิน, แนวปะการัง ต่างๆ เป็นจำนวนมากในเขตทะเลจีนใต้ เป็นต้นว่า ดินแดนที่จีนเรียกชื่อว่า หมู่เกาะหนานซา (Nansha), ซีซา, และ จงซา (Zongsha) ประเทศอื่นๆ เป็นต้นว่า เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, บรูไน, และฟิลิปปินส์ ก็ลงสนามแข่งขันประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือกลุ่มเกาะ หรือเกาะเดี่ยว ต่างๆ ในเขตนี้เช่นเดียวกัน พวกเขาเรียกขานดินแดนที่อ้างเป็นของพวกตนนี้ด้วยชื่อต่างๆ หลากหลาย เป็นต้นว่าหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands), หมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands), สันดอน สคาร์โบโร (Scarborough Shoals), และ แนวตลิ่ง แมคเคิลสฟิลด์ (Macclesfield Bank) เป็นต้น

หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจีนกำลังขยายตัวออกไปสู่ดินแดนเล็กดินแดนน้อยในทะเลจีนใต้มากขึ้นเรื่อยๆ สามารถพบเห็นได้ในพื้นที่หลายๆ แห่งอันไกลโพ้น ซึ่งหากดูในแผนที่จะปรากฏเป็นเพียงจุดเล็กจิ๋วอันพร่ามัว เป็นต้นว่า เกาะวูดดี้ (Woody Island) ในหมู่เกาะพาราเซล ปรากฏว่าจีนกำลังขยายและปรับปรุงลานบินแห่งหนึ่งที่นั่นอย่างไม่หยุดหย่อน ส่วนที่แนวปะการัง มิสชีฟ (Mischief Reef) ซึ่งอยู่ห่างจากฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตกราว 150 ไมล์นั้น จีนก็ได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาหลายๆ แห่ง พวกเพื่อนบ้านของจีนมองกระบวนการเช่นนี้ว่าเป็นการกระทำแบบนักลัทธิขยายดินแดน และกระทั่งรู้สึกว่าเป็นพฤติการณ์แบบศัตรู ถึงแม้จีนกับพวกเพื่อนบ้านผู้อ้างสิทธิทับซ้อนเหลื่อมล้ำกันเหล่านี้ได้ร่วมกันลงนามใน ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) ไปเมื่อปี 2002

ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงบางราย เป้าหมายสุดท้ายของจีนไม่ได้อยู่แค่การก่อตั้งเขตเศรษฐกิจเฉพาะ (exclusive economic zone หรือ EEZ) อันมีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล โดยตามการตีความของบางคนจะแผ่ลึกลงมาทางใต้จนถึงหมู่เกาะนาตูนา (Natuna Islands) อันอุดมด้วยก๊าซธรรมชาติที่อินโดนีเซียอ้างกรรมสิทธิ์อยู่ทีเดียว พวกเขาบอกว่าจีนกำลังมุ่งหาทางควบคุมน่านน้ำแถบนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนเตรียมการมุ่งสถาปนาแสนยานุภาพทางทะเลที่ใหญ่โตมหึมายิ่งขึ้นในอนาคต เป็นต้นว่าจะมีกองเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีป (nuclear ballistic missile submarines หรือ SSBNs) ออกปฏิบัติการตามเส้นทางเดินเรือทะเลต่างๆ ขยายเลยไกลออกไปจากมหาสมุทรแปซิฟิกจนถึงมหาสมุทรอินเดีย ทะเลจีนใต้นั้นถือเป็นเส้นทางเดินเรือทะเลที่พลุกพล่านที่สุดเป็นอันดับสองของโลกอยู่แล้วในเวลานี้ และทำหน้าที่เป็นปากประตูของจีนในการรับเอาน้ำมันนำเข้าจากอ่าวเปอร์เซียและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ จากแอฟริกา

“จีนจะมีกองเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งกองแรกจะตั้งฐานอยู่บนเกาะไหหลำ และพวกเขาก็จะออกตรวจการณ์เส้นทางขนส่งทรัพยากรเหล่านี้ สำหรับคณะผู้นำทางการเมืองของจีนแล้ว การควบคุมทะเลจีนใต้ถือเป็นวัตถุประสงค์อันสำคัญยิ่งยวด เพื่อการสร้างหลักประกันให้แก่ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของระบอบเผด็จการโดยพรรคคอมมิวนิสต์” ริชาร์ด ฟิชเชอร์ (Richard Fisher) ให้ความเห็น เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ศูนย์ประเมินผลและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Assessment and Strategy Center) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, และหลายๆ ประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน ยังคงยืนขวางเส้นทางของจีนอยู่

“(จีนต้องการ) ต้องการทำให้มัน (อาณาเขตทางทะเลเหล่านี้) กลายเป็นเขตพื้นที่ซึ่งได้รับการคุ้มครองป้องกันอย่างเต็มที่ เพื่อใช้ในการปฏิบัติการของกองเรือ SSBNs ทั้งนี้จนกว่าจะถึงเวลาที่จะไต้หวันมา ซึ่งจีนจะสามารถใช้เป็นฐานทัพสำหรับการปฏิบัติการของ SSBN ได้ดียิ่งขึ้นไปอีก” ฟิชเชอร์บอก “จีนอาจจะนำเอาขีปนาวุธนิวเคลียร์ถึงราวครึ่งหนึ่งของตนมาติดตั้งบน SSBNs นั่นจึงหมายความว่าจีนจะรู้สึกพึงพอใจก็ต่อเมื่อสามารถควบคุมบงการระบบต่างๆของเขตทะเลจีนใต้ในอนาคตเอาไว้ได้”

เมื่อจีนเพิ่มการปรากฏตัวตามบริเวณนอกชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น ย่อมหมายถึงว่าสำนักงานแห่งรัฐเพื่อการบริหารมหาสมุทร (State Oceanic Administration หรือ SOA) และสำนักงานตรวจการณ์ทางทะเล (China Maritime Surveillance หรือ CMS) ของจีน ก็จะต้องทำให้แน่ใจว่า บรรดาชาวประมงและเรือสำรวจซึ่งกำลังเข้าๆ ออกๆ ทะเลจีนใต้จากประเทศอื่นๆในภูมิภาคแถบนี้ จะต้องเผชิญหน้ามากยิ่งขึ้นกับเรือจีนที่มีขนาดใหญ่กว่าและติดเครื่องมืออุปกรณ์ตลอดจนอาวุธที่ดีกว่า ทั้งที่เป็นเรือจากกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People's Liberation Army Navy หรือ PLAN) และที่ไม่ใช่ของ PLAN โดยตรง อย่างเช่น เรือ อวี่เจิ้ง 311

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคมแสดงให้เห็นว่า ปักกิ่งกำลังมีเจตนารมณ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะสั่งการให้เรือที่มิได้เป็นของ PLAN เป็นต้นว่ากองเรือของ SOA และ CMS เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมบังคับใช้กฎหมายในแถบหมู่เกาะสแปรตลีย์ ท่ามกลางความเดือดเนื้อร้อนใจของพวกประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ภายหลังจากที่เรือหลายลำของจีนรุมกันเข้าก่อกวนเรือสปายสืบความลับของสหรัฐฯที่ชื่อ ยูเอสเอ็นเอส อิมเพกคะเบิล (USNS Impeccable) เมื่อวันที่ 8 มีนาคมแล้ว จีนก็ได้ส่งสิ่งที่อ้างว่าเป็นเรือตรวจการณ์ด้านการประมง ไม่ใช่เรือรบ ออกมาทำหน้าที่ป้องกันรักษาผลประโยชน์ของตนในทะเลจีนใต้

“จีนนั้นปรารถนาเหลือเกินที่จะทึกทักทำเสมือนกับว่า การเข้าควบคุมเหนือทะเลจีนใต้ของตน คือการทำหน้าที่ตรวจการณ์ซึ่งไม่ได้มีบรรยากาศของการมุ่งร้ายท้าทายอะไร โดยที่เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, และประเทศอื่นๆ โดยพื้นฐานแล้วก็ยินยอมที่จะไม่มายุ่งเกี่ยวด้วย” ฟิชเชอร์บอกและกล่าวต่อไปว่า “เมื่อพิจารณาจากการที่เรือของหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ PLAN เป็นเรือที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีอำนาจการยิงที่เหนือกว่าเรือของประเทศอื่นๆ แล้ว ก็อาจบอกว่านี่เป็นความพยายามที่จะเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ทว่ามันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องส่งผลทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพขึ้นมาอยู่ดี”

เท่าที่ผ่านมาการแข่งขันกันอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้มักบานปลายกลายเป็นการประจันหน้ากันอยู่บ่อยๆ เป็นต้นว่า การปะทะกันระหว่างเรือรบของจีนและของเวียดนามในปี 1988 ที่แนวปะการัง จอห์นสัน (Johnson Reef) ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ การประชุมเชิงปฏิบัติการในเดือนที่แล้วที่กรุงฮานอย ซึ่งทางสถาบันการทูตแห่งเวียดนาม (Diplomatic Academy of Vietnam) และสมาคมนักกฎหมายเวียดนาม (Vietnam Lawyers' Association) ร่วมกันเป็นผู้อุปถัมภ์นั้น มีผลออกมาในรูปของคำมั่นสัญญาที่จะเริ่มการสนทนาระดับพหุภาคีว่เพื่อหาทางจัดการกับการที่ประเทศต่างๆ ประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ดินแดนต่างๆ เป็นจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นการอ้างสิทธิที่ยังมีประเทศอื่นคัดค้าน ตลอดจนเป็นการอ้างที่มีการทับซ้อนเหลื่อมล้ำกัน

“ถึงแม้ในอดีตที่ผ่านมา จีนยืนกรานว่าจะต้องแก้ไขด้วยวิธีการแบบทวิภาคี ทว่าเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้เกิดความคืบหน้าอะไรให้เห็นเลย เนื่องจากข้อพิพาทส่วนใหญ่นั้นจำเป็นต้องมีการผ่อนสั้นผ่อนยาวจากพวกผู้อ้างกรรมสิทธิ์ซึ่งมีอยู่หลายๆ ฝ่ายไม่ใช่เพียงสองฝ่าย เป้าหมายของการประชุมเชิงปฏิบัติการคราวนี้จึงน่าจะเป็นเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจกัน จากที่มีการจัดการหารือถกเถียงกันแบบเป็น 2 ลู่วิ่ง โดยที่การประชุมเชิงปฏิบัติการคราวนี้ก็ถือเป็นการหารือในเบื้องต้นและไม่มีข้อผูกพันอะไร นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีทีเดียวที่พวกนักวิชาการของจีนเข้ามาร่วมการประชุมคราวนี้ด้วย เพราะมันน่าจะสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายจีนมีการยอมรับในบางระดับว่า คงจะต้องใช้วิธีการแบบพหุภาคีในการแก้ไขข้อพิพาทเหล่านี้” รองศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ดัตตัน (Peter Dutton) แห่งสถาบันนาวีจีนศึกษา (China Maritime Studies Institute) ของวิทยาลัยสงครามนาวีสหรัฐฯ (US Naval War College) กล่าวแสดงความคิดเห็น

ตามคำบอกเล่าของผู้เข้าร่วมประชุมคราวนี้ผู้หนึ่ง คือ คาร์ไลล์ เทเยอร์ (Carlyle Thayer) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ณ สถาบันป้องกันประเทศออสเตรเลีย (University of New South Wales at the Australian Defense Force Academy) การพบปะหารือนี้ไม่ได้มีผู้แทนระดับชาติใดๆ ทั้งสิ้น และผู้ร่วมพบปะหารือที่มาจากจีนก็เข้าร่วมในฐานะเป็นตัวแทนจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานศึกษาวิจัยต่างๆ “การพบปะหารือคราวนี้เรียกกันว่าเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ไม่ใช่การประชุม (conference) เพื่อที่จะลดทอนความรู้สึกใดๆ ที่ว่ามันจะมีข้อสรุปออกมาในรูปของหนทางแก้ปัญหาหรือคำแถลงต่างๆ” เทเยอร์บอก

การจัดการหารือคราวนี้ประสบความสำเร็จในแง่ที่มีการหยิบยกพูดถึงความวิตกกังวลในภูมิภาค เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่อุดมด้วยน้ำมันและก๊าซในทะเลจีนใต้ที่ยังเป็นพื้นที่พิพาทกันอยู่ ซึ่ง “ผู้เข้าร่วมต่างระบุว่า (เรื่องนี้) เป็นปัญหาที่กำลังเลวร้ายลง หรือมีศักยภาพที่จะเลวร้ายลง” เทเยอร์กล่าว และเล่าต่อไปว่า “มีความเห็นเป็นฉันทามติออกมาว่า บรรดารัฐที่อ้างกรรมสิทธิ์ควรที่จะรื้อฟื้นพิจารณาข้อเสนอที่ให้ประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการพัฒนา ซึ่งอันที่จริงเป็นข้อเสนอที่มีการเสนอเอาไว้นานแล้ว”

ปีเตอร์ เจ บราวน์ เป็นนักเขียนอิสระซึ่งพำนักอยู่ที่มลรัฐเมน, สหรัฐอเมริกา


(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • ‘ความคลุมเครือ’อย่างจงใจใน‘ทะเลจีนใต้’ (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น