xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพจีนอวดแสนยานุภาพ

เผยแพร่:   โดย: คริสเตียน เซกูรา และ อู่จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China’s military struts its stuff
By Cristian Segura and Wu Zhong
01/10/2009

กองทัพจีนกลายเป็นพระเอกผู้ยึดครองเวทีเมื่อวันพฤหัสบดี(1) ในงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปีแห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือ การสวนสนามครั้งยิ่งใหญ่โอฬารในกรุงปักกิ่งคราวนี้ มีการเผยโฉมอาวุธยุทโธปกรณ์อันก้าวหน้าที่พัฒนาและผลิตในจีนเอง ซึ่งเมื่อก่อนถูกปกปิดเป็นความลับมาตลอด นอกจากนั้นกองทัพปลดแอกประชาชนจีนยังใช้ท่าทีอันเปิดกว้างพอๆ กัน ในการออกมาพูดถึงแผนแม่บทอันทะเยอทะยาน เพื่อปรับปรุงตนเองขึ้นสู่ความสมัย ในระดับที่จะกลายเป็นกองกำลังสู้รบชั้นเยี่ยมที่สุดของโลก

ปักกิ่งและฮ่องกง – การเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกวาระครบรอบ 60 ปีของการต่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ขึ้นสู่จุดไคลแมกซ์ในตอนเช้าวันพฤหัสบดี(1) ด้วยพิธีสวนสนามของเหล่าทหารอันใหญ่โตโอฬาร ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินใจกลางเมืองหลวงปักกิ่ง เพื่อโอ่อวดการก้าวผงาดขึ้นมาของแดนมังกร

ยุทโธปกรณ์บางอย่างที่พัฒนาและผลิตขึ้นในจีนเองและถูกเก็บงำเป็นความลับตลอดมา เป็นต้นว่า เครื่องบินควบคุมและเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศ และ อากาศยานประเภทไร้นักบิน ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ถูกนำออกมาแสดงระหว่างการสวนสนามคราวนี้ ต่อหน้าประธานาธิบดีหูจิ่นเทาและผู้นำจีนคนอื่นๆ

การสวนสนามครั้งมโหฬารครั้งนี้ ใช้กำลังพลเป็นแสนๆ คน (ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัวระบุว่า มีทหารชายและหญิงรวมทั้งพลเรือนเข้าร่วมทั้งสิ้นร่วมๆ 200,000 คน) อีกทั้งยังอวดโอ่ทั้งขบวนรถถัง และขบวนรถบรรทุกบรรจุขีปนาวุธนิวเคลียร์รุ่นต่างๆ ขณะที่ฝูงเครื่องบินขับไล่แผดเสียงกัมปนาทอยู่เหนือศีรษะ และวงโยธวาทิตที่มีผู้เล่นเครื่องดนตรีจำนวนถึง 2,000 คนคอยส่งเสียงทำนองเพลงอันฮึกหาญ

หลังจากปืนใหญ่ยิงสลุต 60 นัด ธงชาติจีนก็ขึ้นสู่ยอดเสาในมหาจัตุรัสที่ซึ่ง เหมาเจ๋อตง ประกาศการสถาปนาสาธารณรัฐแห่งนี้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1949

หู ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง (Central Military Commission) ด้วย ทำพิธีตรวจแถวทหารสวนสนาม โดยยืนอยู่บนรถยนต์ลีมูซีนเปิดหลังคา เขาสวมชุดเสื้อนอกสไตล์เหมาเจ๋อตงสีดำ ซึ่งทำให้พวกนักวิเคราะห์มองว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการที่เขาสามารถควบคุมฝ่ายทหารเอาไว้ได้

ในการกล่าวปราศรัยจากสถานที่เดียวกับที่เหมาเคยประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ 60 ปีก่อน หูบอกว่าจีนนั้นมีอนาคตอันสดใส และว่าจีนประสบความสำเร็จในโลกทางเศรษฐกิจ และประเทศจะผนึกกำลังสามัคคีทุกๆ วัฒนธรรมและทุกๆ ชนชาติในประเทศเข้าด้วยกัน

“วันนี้ จีนแห่งสังคมนิยมกำลังเดินหน้ามุ่งสู่ความทันสมัย, สู่โลกและสู่อนาคต, และยืนตระหง่านอย่างสง่าผ่าเผยในฝ่ายตะวันออก” หูกล่าว

สิ่งที่แปลกใหม่ในการสวนสนามปีนี้ ไม่ได้มีเฉพาะการอวดโฉมบรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เคยเก็บเป็นความลับมาก่อนเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ความโปร่งใสอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย ตลอดจนเกี่ยวกับการจัดการสวนสนามในคราวนี้เอง พวกนักวิเคราะห์บอกว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจซึ่งเพิ่มมากขึ้นของปักกิ่ง ในการเปิดเผยรายละเอียดด้านการทหารของตน เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ในต่างประเทศของกองทัพปลดแอกฯ

ในอดีตที่ผ่านมา อาวุธยุทโธปกรณ์อะไรบ้างที่นำมาอวดในการสวนสนาม รวมทั้งการฝึกซ้อมแถวขบวนทหารที่เข้าร่วมการสวนสนาม จะถือเป็นความลับระดับสุดยอด ทว่าในปีนี้ ปรากฏว่าเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน พวกนายพลของกองทัพปลดแอกฯ ได้เริ่มแพล็มออกมาเป็นระยะว่าจะมีการนำอาวุธยุทโธปกรณ์อะไรออกมาแสดงบ้าง ขณะที่การฝึกซ้อมการสวนสนามช่วงเย็นวันสุดสัปดาห์หลายๆ ครั้งทีเดียวได้เปิดให้สื่อมวลชนเข้าสังเกตการณ์ พวกนักหนังสือพิมพ์จีนยังได้รับเชิญให้ไปถึงค่ายทหารต่างๆ เพื่อรายงานข่าวการฝึกซ้อมขบวนทหารที่เข้าร่วมการสวนสนามจากทั้ง 3 เหล่าทัพ

ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 21 กันยายน พล.ท.ฟางเฟิงฮุ่ย (Fang Fenghui) ผู้บังคับการกองทหารผสมที่เข้าร่วมการสวนสนามคราวนี้ ได้บอกกับสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนว่า จะมีการอวดโฉมระบบอาวุธใหม่ๆ รวมทั้งสิ้น 52 ประเภท ทั้งหมดพัฒนาขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีของจีนเอง

รัฐมนตรีกลาโหม เหลียงกวงเลี่ย ก็แถลงอย่างภาคภูมิใจว่า อุตสาหกรรมด้านกลาโหมของจีนได้ยกระดับขึ้นมาจากการแค่ลอกเลียนแบบอาวุธซึ่งผลิตจากรัสเซียในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 แล้ว โดยที่สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในด้านการออกแบบและการผลิตในโรงงานตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา เขาประกาศด้วยว่า อาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นก้าวหน้าที่สุดของจีนบางรุ่นนั้นกำลังถูกนำออกมาประจำการแล้ว

นายทหารอาวุโสคนหนึ่งของกองทัพปลดแอกฯในเมืองเซินเจิ้น ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของจีน ได้บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า “ความโปร่งใสที่เพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีสูงขึ้นของเราในเรื่องการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยด้วยความพยายามของเราเอง ในอดีตที่ผ่านมา เรามีความละอายที่จะอวดอาวุธยุทโธปกรณ์ของเรา ส่วนใหญ่เป็นเพราะมันยังค่อนข้างล้าหลัง ทว่าเวลานี้เรากำลังไล่ติดตามได้อย่างรวดเร็วแล้ว เรามีความมั่นใจว่าเราสามารถที่จะสร้างสรรค์ระบบอาวุธของเราเองขึ้นมา ชนิดที่สามารถเปรียบเทียบกับระบบอาวุธของพวกประเทศอย่างสหรัฐฯ, รัสเซีย, และยุโรปได้”

หลี่ต้ากวง (Li Daguang) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการทหารที่มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศแห่งกองทัพปลดแอกฯ บอกกับ “โกลบอล ไทมส์” อันเป็นสิ่งพิมพ์ในเครือ “พีเพิลส์ เดลี่” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ว่า “ระบบอาวุธของจีน ซึ่งทั้งใช้งานได้ดี, ราคาถูก, และเหมาะสมสำหรับการป้องกันปิตุภูมิของเรา จะมีออกมาให้ใช้กันในที่สุด”

เขากล่าวต่อไปว่า จีนจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยความพยายามของตนเอง เนื่องจาก “สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศเกิดไม่เป็นใจให้แก่การพัฒนาด้านอาวุธของประเทศจีน” เขากล่าวพร้อมกับยกตัวอย่างการประกาศใช้มาตรการห้ามขายห้ามขนส่งอาวุธให้แก่จีน ของสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯ

ความพยายามของปักกิ่งที่จะเพิ่มความโปร่งใสในด้านการทหาร และปรับปรุงภาพลักษณ์ของตนในต่างประเทศใด้ดีขึ้น โดยที่ขณะเดียวกันก็เป็นการโอ่อวดความก้าวหน้าทันสมัยของอุตสาหกรรมการทหารของแดนมังกรด้วยนั้น สิ่งหนึ่งที่ทางกองทัพปลดแอกฯกระทำก็คือ การเปิดค่ายทหารแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งให้พวกนักหนังสือพิมพ์ต่างชาติได้เข้าชม ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้าวันกองทัพ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.อ.เหลิงเจียซ่ง (Leng Jiesong) ยืนอยู่คนเดียวบนแท่นพิธีในหอประชุมของค่ายกองพลทหารพิทักษ์ (Guard Division) ที่ 3 ของกองทัพปลดแอกฯ ในกรุงปักกิ่ง เขามีท่าทางหงุดหงิดกระวนกระวายขณะที่เหล่านักหนังสือพิมพ์ทยอยเข้าประจำที่ทางของพวกเขา พันเอกผู้นี้เป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่อยู่ในระเบียบวินัยสุดเนี๊ยบ 10,000 คนของค่ายแห่งนี้ และสื่อมวลชนที่หลุกหลิกอยู่ไม่สุขก็ทำให้เขาไม่พอใจอย่างชัดเจน

เลิ่งกล่าวว่า เขารู้สึกยินดีที่ในที่สุดกองทัพปลดแอกฯก็สามารถพบปะกับสื่อมวลชนระหว่างประเทศได้ เรื่องนี้ถือเป็น “ความคืบหน้าก้าวใหญ่ในกระบวนการของการเปิดกว้าง” กองทัพจีน และเขาอวดอย่างภาคภูมิใจว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดที่จะนำออกแสดงในวันที่ 1 ตุลาคม จะทำโดยประเทศจีนทั้งสิ้น

อุตสาหกรรมการทหารเป็นเพียงภาคอุตสาหกรรมเดียวเท่านั้นซึ่งจีนผลักดันเดินหน้าไปโดยปราศจากการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากสหรัฐฯ อียู, และญี่ปุ่น ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมนในปี 1989 สหรัฐฯและอียูก็ยังคงมาตรการคว่ำบาตรห้ามขายห้ามขนส่งอาวุธให้จีนเรื่อยมา ซึ่งกลายเป็นการจำกัดการค้าด้านการทหารระหว่างบริษัทระดับชาติของกันและกัน

แต่ในสภาพเช่นนี้ก็ส่งผลให้เหตุจีนต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพปลดแอกฯมีความทันสมัย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับพวกเพื่อนบ้าน เป็นต้นว่า ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, และแม้กระทั่งอินเดีย ซึ่งในปีนี้ได้สร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ลำแรกของตน โดยร่วมมือกับพวกซัปพลายเออร์หลายๆ รายในโลกตะวันตก

อย่างไรก็ตาม จีนก็ยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก ทั้งนี้ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสต็อกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute หรือ SIPRI) โดยที่กว่า 90% ของการซื้ออาวุธจากต่างประเทศเหล่านี้ เป็นการนำเข้าจากรัสเซีย เมื่อคำนวณกันในแง่การลงทุนต่อกองทหารราบแต่ละหน่วยแล้ว เขี้ยวเล็บของกองทัพจีนยังถือว่าต่ำกว่าของพวกประเทศชั้นนำอื่นๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากกองทัพปลดแอกฯนั้นเป็นกองทัพที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในโลก โดยยังมีกำลังทหารถึง 2.3 ล้านคน ถึงแม้จะลดต่ำลงมามากแล้วจากที่เคยมีทหารประจำการถึง 6 ล้านคนเมื่อ 25 ปีก่อน

อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของสหรัฐฯ เดนนิส เจ บลาสโก (Dennis J Blasko) เขียนเอาไว้ในหนังสือปี 2006 เรื่อง “The Chinese Army Today” (กองทัพจีนวันนี้) ของเขาว่า อาวุธยุทโธปกรณ์นำเข้าส่วนใหญ่นั้นจะให้แก่กองทัพเรือและกองทัพอากาศ ขณะที่ “อาวุธยุทโธปกรณ์ในกองกำลังภาคพื้นดินของกองทัพปลดแอกฯ ส่วนใหญ่แล้วผลิตโดยอุตสาหกรรมกลาโหมของจีนเอง อาวุธยุทโธปกรณ์ภาคพื้นดินจำนวนมากทีเดียว ยังคงพึ่งพาอาศัยดีไซน์ของโซเวียตในยุคทศวรรษ 1950 และ 1960 โดยที่มีการดัดแปลงแก้ไขและยกระดับให้สูงขึ้น เพื่อให้เหมาะสมแก่การใช้สอยในปัจจุบัน”

รัฐบาลสหรัฐฯนั้นกระทำตามพันธะผูกพันในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามขายอาวุธแก่จีนอย่างเคร่งครัด ขณะที่อียูไม่ได้เข้มถึงขนาดนั้น สถาบัน SIPRI ชี้ว่าเมื่อปี 2008 พวกบริษัทฝรั่งเศสได้ขายยุทโธปกรณ์ทางทหารให้แก่จีนเป็นมูลค่า 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 4% ของยอดการส่งออกด้านสินค้าทางทหารของฝรั่งเศส สำหรับสหราชอาณาจักรนั้นขายเป็นมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ และเยอรมนี 5 ล้านดอลลาร์

กุดรุน วักเกอร์ (Gudrun Wacker) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนแห่งสถาบันเยอรมันเพื่อกิจการระหว่างประเทศและกิจการความมั่นคง (German Institute for International and Security Affairs) กล่าวให้ความเห็นว่า การขายดังกล่าวนี้สามารถที่จะทำได้เนื่องจาก “มาตรการคว่ำบาตรไม่ได้มีผลบังคับทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสประกาศในทศวรรษ 1990 แล้วว่า พวกเขามีการตีความของพวกเขาเองเกี่ยวกับเนื้อหาของมาตรการห้ามขายห้ามขนส่งอาวุธนี้”

การส่งออกจากยุโรป “ส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกเครื่องยนต์สำหรับเฮลิคอปเตอร์ หรือเรดาร์ แต่ไม่มีพวกที่สามารถใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาอาวุธรุ่นใหม่ๆ และไม่มี ‘อาวุธสังหาร’ ด้วย” วักเกอร์บอก อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหญิงผู้นี้เชื่อว่า สิ่งที่ทรงความสำคัญที่สุดสำหรับกองทัพปลดแอกฯนั้น คือเรื่องการปรับปรุงยกระดับความเป็นมืออาชีพ โดยจุดอ่อนสำคัญที่สุดประการหนึ่งของกองทัพปลดแอกฯก็คือ การขาดประสบการณ์ในการสู้รบ สงครามสู้รบขนาดใหญ่ครั้งสุดท้ายของจีนเกิดขึ้นในปี 1978 เมื่อจีนประสบความล้มเหลวในการรุกรานเวียดนาม ภายหลังที่เวียดนามเข้ายึดครองกัมพูชาด้วยความสนับสนุนของสหภาพโซเวียต “การขาดประสบการณ์คือเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้จีนกำลังทำการซ้อมรบบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ รวมการการซ้อมรบร่วมกับประเทศอื่นๆ” วักเกอร์กล่าว

ในหนังสือของเขา บลาสโกสาธยายถึงตำราสงครามสมัยโบราณเล่มต่างๆ ที่ทรงความสำคัญสำหรับกองทัพปลดแอกฯ “ตำราโบราณและหนังสือสมัยใหม่เหล่านี้เป็นการถ่ายทอดมรดกทางการทหารให้แก่กองทัพปลดแอกฯ กลายเป็นรอยประทับลงบนตัวเหล่าทหารทั้งหลายตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะเข้าประจำการเสียอีก ทั้งนี้โดยผ่านมาทางรากเหง้าสังคมของพวกเขา และจากนั้นก็ผ่านมาทางประสบการณ์การศึกษาด้านการทหารเพื่อความเป็นมืออาชีพของพวกเขา” จุดมุ่งหมายของพรรคคอมมิวนิสต์ก็คือการทำให้กองทัพปลดแอกฯมีความทันสมัยในวิถีทางที่จะสามารถผสมผสานความรู้จากโบราณกาลนี้กับทรัพยากรระดับไฮเทค

หลี่เซ่าถิง (Li Shaoting) นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาอีกคนหนึ่งของกองพลทหารพิทักษ์ที่ 3 กล่าวยืนยันว่ากองทัพปลดแอกฯไม่มีอะไรที่จะต้องอิจฉาสหรัฐฯหรือมหาอำนาจใหญ่อื่นใดเลย เมื่อพูดกันถึงเรื่องคุณภาพของอาวุธเบาและทักษะความชำนาญของกองทหารราบ เขายืนยันว่า ช่วงเวลาที่จีนต้องเข้าสู่สงครามด้วยกำลังทหารเป็นล้านๆ คน เพื่อชดเชยสภาพการขาดแคลนเทคโนโลยีทางทหารนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว

หลี่ยังอ้างข้อความจาก “สมุดปกขาวด้านกลาโหม” (Defense White Book) ที่รัฐบาลจีนนำออกเผยแพร่ในปี 2008 ซึ่งมุ่งป่าวประกาศว่ากองทัพปลดแอกฯเวลานี้คือ “กองทัพปลดแอกฯใหม่” แล้ว “สิ่งสำคัญลำดับแรกๆ คือการปฏิวัติทางเทคโนโลยี เพื่อเคลื่อนจากกระบวนการแปรเข้าสู่เครื่องจักรกล (mechanization) มาเป็นกระบวนการแปรเข้าสู่ข้อมูลข่าวสาร (informationalization) ” วิวัฒนาการดังกล่าวนี้บรรลุผลในกองทัพเรือและกองทัพอากาศก่อน เนื่องจากเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้จีนสามารถควบคุมช่องทางการค้าทางทะเล และครองความเหนือกว่าทางอากาศ

เมื่อ 10 ปีก่อน การสวนสนามในวาระครบรอบ 50 ปีเคยถูกใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ทิศทางที่กองทัพปลดแอกฯกำลังมุ่งหน้าไป รวมทั้งเป็นส่งสัญญาณให้ทราบว่ามีด้านการทหารด้านใดบ้างที่จำเป็นจะต้องทำการลงทุนอย่างขนานใหญ่ ดังนั้น ทั้งรัฐบาลต่างประเทศและพวกบริษัทด้านกลาโหมทั้งหลายจึงให้ความสนใจจับตาการสวนสนามในวันพฤหัสบดี(1)อย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน

รัฐมนตรีกลาโหมเหลียงเคยบอกกับสำนักข่าวซินหัวเมื่อไม่นานมานี้ว่า จีนได้จัดร่างยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยภายในปี 2050 โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ทั้งนี้ตามพิมพ์เขียวที่จัดทำขึ้นมาดังกล่าวนี้ กองทัพบกจะให้ความสำคัญลำดับแรกแก่สมรรถนะในการเคลื่อนที่ในขอบเขตทั่วทั้งประเทศ แทนที่จะมุ่งไปที่การป้องกันในระดับภาค ส่วนกองทัพเรือจะพัฒนาสมรรถนะอันเข้มแข็งในการป้องกันชายฝั่ง ตลอดจนหนทางต่างๆ ที่จะทำให้สามารถสู้รบในท้องทะเลอันไกลโพ้นออกไปอีก สำหรับกองทัพอากาศจะยกระดับจากเพียงแค่การป้องกันดินแดน ไปสู่การผสมผสานกันระหว่างการบุกโจมตีและการป้องกัน และท้ายที่สุด ระบบขีปนาวุธของจีนจะต้องสามารถใช้ได้ทั้งการยิงหัวรบตามแบบแผน และหัวรบนิวเคลียร์

ตอนที่ขึ้นรถออกตรวจแถวทหารในจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันพฤหัสบดี(1) ประธานาธิบดีหูตะโกนผ่านเครื่องขยายเสียงบนรถว่า “สวัสดี สหายทั้งหลาย” และ “สหายทั้งหลาย พวกท่านกำลังบากบั่นทำงานหนัก” ขณะที่เหล่าทหารก็ตะโกนตอบกลับอย่างพร้อมเพรียงว่า “สวัสดี สหายนำ” และ “เรารับใช้ประชาชน”

เห็นได้ชัดเจนว่า ปักกิ่งตัดสินใจแล้วว่ากองทัพจะต้องมีอาวุธและยุทโธปกรณ์อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อประกอบหน้าที่การงานของพวกเขาให้บรรลุผล

คริสเตียน เซกูรา เป็นผู้สื่อข่าวประจำปักกิ่งของ “AVUI” หนังสือพิมพ์รายวันภาษาสเปน อู่จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น