xs
xsm
sm
md
lg

โสมขาว-โสมแดง ฟุตบอล-การเมือง คนละเรื่องเดียวกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขณะที่โลกกำลังระทึกต่อวิกฤตการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี เนื่องจาก คิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือเกิดบ้าเลือดเดินหน้าทดลองอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธโดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ขนาดลูกพี่จีนกับรัสเซียแสดงทีท่าไม่พอใจ เกาหลีเหนือก็ไม่สน แถมยังขู่ด้วยว่าจะยิงถล่มรัฐฮาวาย จน บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องออกมาประกาศว่าประเทศไอก็พร้อมรับมือเหมือนกัน

ในช่วงใกล้เคียงกัน โซนเอเชียเราก็ได้ตัวแทน 4 ประเทศไปฟาดแข้งฟุตบอลโลกปี 2010 ที่แอฟริกาใต้ อันประกอบด้วย ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ

งานนี้จะไม่มีอะไรเป็นพิเศษ (เพราะบอลไทยก็ยังไม่ได้ไปบอลโลกตามเคย) ถ้าไม่ใช่เพราะเกาหลีเหนือเกิดเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกพร้อมกับเกาหลีใต้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยการบุกไปเสมอถึงบ้านซาอุดิอาระเบีย เราต่างก็รู้กันอยู่ว่าคนเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้อันที่จริงก็เป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน แต่เพราะความยึดมั่นทางการเมืองแบบหน้ามืดและความกระหายอำนาจแบบตามัว จึงทำให้คนแผ่นดินเดียวกันต้องถูกแยกขาดจากกันที่เส้นขนานที่ 38

ในอดีตฟุตบอลเคยเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเกาหลีเหนือ แต่ถูกแบนโดยผู้นำเกาหลีเหนือ เมื่อทีมเกาหลีเหนือไปแพ้ให้กับทีมคู่แข่งคู่อาฆาตอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกปี 1994 เกาหลีเหนือกลับมาแข่งขันฟุตบอลนานาชาติอีกครั้งในกีฬาเอเชียนเกมส์ที่กรุงเทพฯ ในปลายปี 1999 แต่ไม่ได้มีคุณสมบัติในการแข่งฟุตบอลโลกปี 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศส และปี 2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นร่วมกันเป็นเจ้าภาพ

อย่าทำเป็นเล่นไป เห็นเกาหลีเหนือเป็นแบบนี้ แต่เมื่อปี 1966 เกาหลีเหนือเคยผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกที่อังกฤษมาแล้ว แถมเชือดมหาอำนาจลูกหนังอย่างอัสซูรี-ทีมชาติอิตาลี 1-0 เข้าไปเจอกับโปรตุเกสในรอบควอเตอร์ไฟนอล

ลองมาดูกันว่าการเมืองเรื่องฟุตบอลหนนี้จะเกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างไรบ้างต่อวิกฤตการณ์และความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลี แล้วตัวแทนเอเชีย 2 ประเทศนี้จะไปได้ไกลแค่ไหนในสมรภูมิบอลโลก

เกาหลีเหนือ–เกาหลีใต้ ในสายตาคนกีฬา

ก่อนอื่นใด เราไปสำรวจฝีแข้งของสองเกาหลีกันดูก่อนว่าจะมีแววกันสักแค่ไหน ผ่านการวิเคราะห์ของ ธีรพัฒน์ อัครเศรณี บรรณาธิการข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ที่อธิบายถึงสาเหตุของการที่เกาหลีเหนือทะลุเข้าไปสู่รอบสุดท้ายในปี 1966 ว่า

“เป็นเพราะมาตรฐานของฟุตบอลสมัยนั้นมันไม่แข็งเหมือนในสมัยนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศที่มีลีกแข้มแข็งก็สามารถเข้าไปรอบสุดท้ายได้ เพียงแค่มีการเตรียมทีมดีๆ ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ

“แต่ในปัจจุบันคงไม่ได้แล้วเพราะมาตรฐานสูงขึ้นมาก และการที่ทีมจะไปได้ดีไหม มันเป็นเรื่องของเจนเนอเรชั่นด้วย คือในยุคหนึ่งๆ ถ้ามีผู้เล่นดีๆ เกิดมาพร้อมๆ กันในทีมสักสามสี่คนก็สามารถเป็นแกนหลักในทีมได้ สามารถเป็นเป็นกระดูกสันหลัง แต่ถ้าในทีมมีคนเก่งแค่คนเดียวหรือสองคนนั้นก็ไม่เพียงพอ จะต้องมีมากกว่านั้น และต้องเล่นด้วยกันได้ ผู้เล่นที่เหลืออาจเป็นแค่ตัวประกอบ ซึ่งถ้ามีฝีมือก็จะยิ่งดีเข้าไปใหญ่

“ฟุตบอลไม่ใช่การปั้นนักแตะที่เก่งทั้ง 11 คน แต่มีสามสี่คนที่เก่งและเพื่อนร่วมทีมที่ฟิตพร้อมวิ่ง สู้ ฟัดก็พอแล้ว ทั้งยังต้องมีผู้จัดการทีมที่ดีที่มาดูแลเรื่องกลยุทธ์ ซึ่งถึงแม้ว่าเป็นรอง แต่เราก็เล่นอย่างเป็นรอง”

ดังนั้น การที่ทีมเกาหลีเหนือทะลุเข้าสู่รอบสุดท้ายในฟุตบอลโลกครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน

“ทุกวันนี้ที่เกาหลีเหนือมีทีมที่ดี เพราะว่ามีนักเตะส่วนหนึ่งไปค้าแข้งที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ในเชิงกีฬานั้นเป็นไปได้ แล้วเขาก็กลับมาเล่นให้ทีมชาติตัวเอง

“มาตรฐานฟุตบอลของเกาหลีเหนือสูงขึ้นเร็วมาก มีแววมาตั้งแต่สี่ปีที่แล้ว ในตอนนั้นเกาหลีเหนือเข้ารอบลึกในการแตะฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก แต่มาพีคในช่วงปีนี้ มันเป็นเรื่องจังหวะด้วย ถ้าทีมเราดีขึ้นในขณะที่ทีมอื่นๆ อ่อนแรงลง ก็มีโอกาสได้เข้ารอบสูง ส่วนสไตล์การเล่นของเกาหลีเหนือจะคล้ายกับเกาหลีใต้ คือเล่นด้วยทีมเวิร์คและพละกำลัง ทุกคนขยันหมด เล่นลูกสั้นเป็นส่วนมาก และมันก็ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นทีมเป็นอย่างไรด้วย ผู้จัดการต้องมองขาดด้วยว่าทีมจะต้องเล่นแบบไหน วัฒนธรรมอาจจะมีส่วน อย่างบราซิลเขาเล่นบอลจังหวะ สวยงาม เพราะคนบ้านเขาเป็นอย่างนั้น ส่วนเกาหลีทั้งเหนือและใต้นั้น เป็นพวกมุ่งมั่นจริงจัง

“อีกอย่างก็ต้องขอบคุณเกาหลีใต้ที่เขาไปยันเสมอกับอิหร่านนัดสุดท้าย เลยจูงมือกันเข้ารอบไปกับเกาหลีเหนือซึ่งเสมอกับซาอุดิอาระเบีย เพราะเกาหลีใต้เล่นแพ้ชนะอย่างไรก็เข้ารอบไปแล้ว แต่นี่เขามีสปิริต เล่นเต็มที่”

แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า การเดินทางออกนอกประเทศของประชากรเกาหลีเหนือนั้น เป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด เมื่อทีมชาติของตัวเองได้เข้าไปแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย แล้วใครล่ะจะสามารถออกนอกประเทศตามไปเชียร์?

“คนที่จะมาเชียร์เกาหลีเหนือในบอลโลกก็น่าจะมีแต่คนเกาหลีใต้ เพราะคนเกาหลีเหนือนั้นออกนอกประเทศลำบาก คนเกาหลีใต้ก็จะนึกว่าอย่างน้อยก็ยังเป็นคนเกาหลีด้วยกัน คนเกาหลีเขาก็รู้สึกว่าเป็นเกาหลีเดียวกันแหละ แต่ระบบการเมืองการปกครองต่างหากที่แยกพวกเขาออกจากกัน สมัยก่อนก็มีเยอรมันตะวันออก กับเยอรมันตะวันตก แต่สุดท้ายแล้วก็มารวมประเทศกัน ในปี 1974 เยอรมันตะวันตกและตะวันออกก็เข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเหมือนกันทั้งคู่ ตอนนั้นก็น่าจะคล้ายๆ กันกับในกรณีนี้ ในสำนึกของคน เขาก็รู้สึกว่าเป็นประเทศเดียวกัน เรื่องพรรค์นี้มีจุดจบอยู่สองแบบ อย่างแรกคือจะมารวมประเทศกันในที่สุด และอีกอย่างก็คือแยกประเทศกันไปเลย”

ถ้าถามถึงในแง่ของฝีไม้ลายมือ แม้ไม่ใช่คอบอลพันธุ์แท้ ก็สามารถตอบได้ว่าระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ ใครมีภาษีดีกว่ากัน

“ด้านฝีมือและประสบการณ์นั้นเกาหลีใต้จัดเจนกว่าเยอะ มีนักเตะเก่งๆ ในจำนวนที่เยอะกว่าเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้มีโอกาสได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ จากโค้ชต่างชาติ ดังนั้น จึงเทียบกันไม่ค่อยได้ แต่ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ เกาหลีเหนืออยู่ในฐานะม้ามืด เพราะไม่ได้เข้ารอบบอลโลกมานานแล้ว คนจะจับตามองว่ามาได้อย่างไร? เป็นใคร? เสื้อทีมชาติสีอะไร? ถ้ามองจากมุมของพวกยุโรปก็ยิ่งไม่รู้จักฟุตบอลของประเทศนี้เข้าไปใหญ่”

ส่วนชะตากรรมของม้ามืดตัวนี้จะไปได้ไกลขนาดไหน คนรักกีฬาอย่างธีรพัฒน์ให้ความเห็นว่า คนเอเชียต้องเอาใจช่วยกันอย่างสุดแรง ถ้ามีปาฏิหาริย์ทีมเล็กๆ จากเอเชียก็อาจจะทำได้ดีกว่าที่คิด

“สำหรับเกาหลีเหนือ นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่ได้เข้ามาถึงรอบสุดท้าย แต่ก็ต้องลุ้นว่าจะเก็บแต้มได้หรือไม่ ได้สักคะแนนก็เก่งแล้ว ส่วนเกาหลีใต้ก็มีโอกาสลุ้นเข้ารอบสอง”

ในเวทีฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีโอกาสมาเจอกันน้อยมาก แต่ถ้ามันเกิดขึ้น ก็ไม่มีใครรู้ว่าทั้งสองทีมจะพกพาความคิดแบบใดลงสนาม แต่ในสายตาของคนกีฬาแล้ว การเมืองก็คือเรื่องการเมือง กีฬาก็เป็นเรื่องกีฬาไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

ถ้าทั้งสองทีมมาเจอกันบนเวทีบอลโลก เกาหลีใต้เขาไม่คิดอะไรหรอก เพราะว่าเขาผ่านมาเยอะแล้ว เจอใครก็เหมือนกัน แต่เกาหลีเหนืออาจจะมีบ้างที่อยากจะโค่นเกาหลีใต้ลง

“แต่สุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องของกีฬา มันอยู่ในสนามฟุตบอลที่ถือปืนลงไปไม่ได้ ผู้นำลงไปเล่นด้วยไม่ได้ นักกีฬาก็คือนักกีฬา”

เชียร์ไม่แบ่งสี-เสียงสะท้อนจากคนเกาหลี (ใต้)

ในความรู้สึกของคนเกาหลีเอง การเข้ารอบพร้อมกันครั้งนี้ก็เป็นที่น่าจับตาไม่น้อยว่ากีฬาจะสามารถเชื่อมรอยร้าวของสองประเทศที่เคยเป็นชาติเดียวกันมาก่อนได้หรือไม่?

เราจะพาไปฟังเสียงสะท้อนจากคนเกาหลีแท้ๆ ที่แม้จะอยู่คนละประเทศ แต่ก็สามารถส่งใจเชียร์ (ฟุตบอล) ร่วมกันได้

จี วอน ชอล ชาวเกาหลีใต้ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยผู้หนึ่งแสดงความเห็นว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ค่อยดี กีฬาอาจจะมีส่วนช่วยลดความขัดแย้งได้ ถึงแม้ว่าโดยมุมมองของคนเกาหลีใต้อย่างเช่นตัวเขาเอง จะมองว่าเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้เป็นคนละประเทศ คนละสัญชาติกันแล้ว แต่ถ้าให้เลือกให้ความช่วยเหลือประเทศไหนในเอเชีย เขาก็จะเลือกช่วยเกาหลีเหนือก่อน

“คนเกาหลีใต้ทั้งหมดส่วนใหญ่จะดีใจกับการที่ได้ไปฟุตบอลโลกครั้งนี้ด้วยกัน เพราะเป็นการเข้ารอบสุดท้ายไปแข่งด้วยกันเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน เกาหลีเหนือเคยผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาครั้งหนึ่ง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ไปแข่งพร้อมกัน อย่างน้อยเกาหลีเหนือก็น่าจะรู้สึกดีกับประเทศเกาหลีใต้มากขึ้น เพราะเกาหลีใต้เอาชนะอิหร่าน เกาหลีเหนือจึงได้ผ่านเข้ารอบคัดเลือกรอบสุดท้ายไปแข่งฟุตบอลโลก ในฐานะที่เป็นคนเกาหลีใต้ ผมก็เชียร์ทั้งสองทีม และหวังว่าเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้จะชนะด้วยกันทั้งคู่” จี วอน ชอล กล่าว

ทางด้าน ฮุน ชิก ชิม ชาวเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้บริหารศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี-เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เป็นปัญหาระหว่างประเทศ แต่สำหรับคนเกาหลีทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเกาหลีเหนือหรือเกาหลีใต้ ก็ยังเป็นคนเกาหลีเหมือนกัน ไม่ว่าใครจะได้เข้าไปชิงแชมป์ฟุตบอลโลกเขาก็เชียร์ทั้งนั้น

“ต่อให้ประเทศทะเลาะกัน แต่เราก็ยังเป็นคนเกาหลีเหมือนกัน กีฬาไม่ได้เป็นตัวแปรที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีขึ้นได้ เพราะนั่นต้องขึ้นอยู่กับผู้นำและรัฐบาลของประเทศเกาหลีเหนือ”

ฮุน ชิก ชิม กล่าวต่อไปว่า การที่เกาหลีเหนือปิดประเทศทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ ของเกาหลีเหนือ ดังนั้น การที่เกาหลีเหนือสามารถผ่านการคัดเลือกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งนี้ได้ เขายอมรับว่าทีมฟุตบอลของเกาหลีเหนือนั้นเก่งมาก เพราะโอกาสที่ทีมฟุตบอลเกาหลีเหนือจะได้พัฒนาเทคนิคการเล่นหรือมีโค้ชฝึกสอนจากต่างประเทศนั้นมีน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลีใต้

แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังตอบแบบไว้ลายชาวเกาหลีใต้ว่า โอกาสที่ทั้งสองทีมจะมาเจอกันในการแข่งขันนั้นคงยาก แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาเชื่อว่าเกาหลีเหนือคงแพ้ตกรอบไปก่อนเกาหลีใต้แน่นอน

พี่น้องสำคัญกว่าการเมือง

มาถึงมุมมองแบบเครียดในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งกำลังตึงเครียดขนาดหนักอยู่ในตอนนี้ ในมุมมองของ ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออก มองว่าถึงที่สุดแล้ว วิกฤตการณ์ครั้งนี้น่าจะคลี่คลายได้ เพราะเกาหลีเหนือเองคงไม่กล้าที่จะรุกรานใคร

เขาอธิบายถึงปัญหาระหว่าง 2 เกาหลีว่า จริงๆ แล้วไม่มีอะไรเลย เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกผูกพันกันอยู่ แต่ที่เกิดปัญหาขึ้นมาก็เนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่มีต่อเกาหลีเหนือนั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยรัฐบาลที่นำโดยนายลี เมียง บัค ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงและความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ทำให้ที่ผ่านมา เกิดกระแสการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนที่มีอคติกับเกาหลีเหนือออกมาต่อต้านเกาหลีเหนือในประเด็นต่างๆ เช่น การประท้วงเรื่องที่เกาหลีเหนือจะทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้วพวกหัวรุนแรงเหล่านี้มีจำนวนน้อยมาก และถ้าจะให้เทียบจริงๆ คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่กลัวการรุกรานของสหรัฐอเมริกามากกว่าเกาหลีเหนือเสียอีก

“ถ้าเทียบกับสมัยประธานาธิบดีโนห์ มู เฮียน หรือ คิม แด จุง นโยบายจะผ่อนปรนกว่ามาก เพราะเขาเข้าใจเกาหลีเหนือ เขาเห็นใจ และไม่คิดว่าเกาหลีเหนือจะเป็นภัยคุกคาม”

แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า คนเกาหลีใต้จะไม่กลัวเกาหลีเหนือสักทีเดียว เรื่องบางเรื่อง อย่างขีปนาวุธเอง คนเกาหลีใต้หลายๆ คนก็รู้สึกหวั่นอยู่เหมือนกัน อย่างจะเห็นได้ว่าล่าสุดเกาหลีใต้ได้ลงนามในสัญญาเพื่อให้สหรัฐอเมริกาคุ้มครองอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะอาวุธที่เกาหลีเหนือผลิตขึ้นนั้นมีความรุนแรงสูง สามารถยิงได้ไกลถึงอลาสกาเลยทีเดียว

“ที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคง สหประชาชาติก็พยายามจะให้เกาหลีเหนือยุติการทดลองอาวุธ แต่ไม่ได้ผล เพราะเกาหลีเหนือก็มองว่าตัวเองสามารถทำได้ เหมือนกับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา อินเดีย ปากีสถาน ที่สะสมอาวุธเต็มไปหมด และถ้าจะให้พูดกันจริงๆ ที่ผ่านมาชาติตะวันตกก็ไม่เคยช่วยเหลือเขาอย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้นถ้ามองในแง่นี้เขาก็มีสิทธิ์จะป้องกันตัวเองจากประเทศอื่น มีสิทธิ์ที่จะกลัวประเทศอื่นจะมารุกรานเหมือนกัน คือเขาก็กลัวว่าตัวเองจะเป็นเหมือนอิรักที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้เลย และที่สำคัญโดยส่วนตัวแล้วผมก็เชื่อว่า เกาหลีเหนือเองก็ไม่กล้าที่จะรุกรานประเทศอื่นก่อน โดยเฉพาะเกาหลีใต้ เพราะถ้าเขารุกรานก็จะถูกตอบโต้จากนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาแน่นอน”

สำหรับในประเด็นที่ทั้ง 2 เกาหลีได้ผ่านการคัดเลือกเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก 2010 ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ก็มองว่าคงไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นแน่นอน เพราะอย่างน้อยๆ ทั้ง 2 ประเทศก็ถือเป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน เหมือนเป็นพี่น้องกัน เคยผ่านประสบการณ์สงครามร่วมกัน เพราะฉะนั้นความเป็นคู่แข่งหรือคู่อาฆาตเหมือนที่เกิดขึ้นระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่นคงไม่มี แล้วในช่วงที่ผ่านมา หากสังเกตจะพบว่าเวลามีการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ อย่างกีฬาโอลิมปิคหรือเอเชี่ยนเกมส์ ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ก็มักจะเดินพาเหรดในพิธีเปิด-ปิดร่วมกันเสมอ

“คนสอง ประเทศ เขาไม่ขัดแย้งกันหรอก มีแต่ระดับผู้นำเท่านั้นที่จะทำให้เกิดความตึงเครียด คือทุกคนเขาก็มองว่าพวกเราเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน เขาถือว่าเลือดนั้นข้นกว่าน้ำ แล้วเดี๋ยวนี้คนเกาหลีใต้ที่เห็นอกเห็นนใจเกาหลีเหนือก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเรื่องคนที่ปลุกระดมหรือพวกบ้าคลั่งชาตินิยมก็จะมีบ้าง คือเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ มีทุกประเทศ ประเทศเราก็มี แต่ก็คงทำอะไรไม่ได้หรอก”

ถามต่อไปว่าเป็นไปได้มั้ยที่เกาหลีเหนืออาจจะถูกกีดกันไม่ให้เข้าแข่งขันฟุตบอลโลก ศ.ดร.ไชยวัฒน์บอกว่าโดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วกีฬากับการเมืองนั้นถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจน เนื่องจากการแข่งกีฬาโดยทั่วไปไม่สนใจเรื่องอุดมการณ์หรือการปกครอง แต่ถ้าจะมีก็คงจะเป็นประเทศตะวันตกบางประเทศเท่านั้น ที่ชอบเอาสองเรื่องมาปะปนกัน
………..

ต้องติดตามว่าฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ เกาหลีเหนือจะแสดงแสนยานุภาพของ 'ผู้ทรงอิทธิพลทางนิวเคลียร์ที่น่าภาคภูมิใจ' (เขาชมตัวเองว่าอย่างนั้น) ให้เป็นที่ประจักษ์ได้หรือไม่ เพราะการเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านนิวเคลียร์ ไม่ได้เกี่ยวกันเลยกับเกมลูกหนังในสนาม
 

**********

สงครามเกาหลียังไม่จบ

ว่าไปแล้วสงครามเกาหลีก็เปรียบเสมือนสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น ที่แต่ละฝ่ายต่างถือหางกันคนละฝ่าย โดยสหรัฐอเมริกายืนข้างเกาหลีใต้ซึ่งเป็นฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย ขณะที่เกาหลีเหนือเป็นคอมมิวนิสต์และถูกหนุนหลังโดยจีนและสหภาพโซเวียต

สงครามเกาหลีเกิดขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายน 2493 เมื่อกองทัพเกาหลีเหนือภายใต้การนำของ จอมพล โช ยอง กุน เคลื่อนกำลังพล 60,000 นาย บุกข้ามเส้นขนานที่ 38 และเข้ายึดกรุงโซลได้ภายใน 2 วัน แต่พอถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2498 กองกำลังผสม 15 ชาติ นำโดยสหรัฐอเมริกาและนายพลดักลาส แม็คอาเธอร์ก็ตีโต้กลับและผลักดันกองกำลังของเกาหลีเหนือออกไปได้ในที่สุด ผลของสงครามในแง่ชีวิตคนนั้น มีผู้เสียชีวิตไปถึง 2 ล้านกว่าคน เพื่อยืนยันว่าสงครามยังคงเป็นประดิษฐกรรมที่งี่เง่าของมนุษย์อยู่เช่นเดิม

แต่อย่าเข้าใจผิดว่าสงครามเกาหลีจบไปแล้ว อันที่จริง สงครามเกาหลีไม่เคยจบ ไม่มีการประกาศยุติสงครามอย่างเป็นทางการใดๆ มีเพียงการประกาศข้อตกลงพักรบในปี 2496 เท่านั้น และมันก็ถูกยกเลิกเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยเกาหลีเหนือเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีคุกรุ่นขึ้นมาอีกรอบ

***********
เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์


ลี เมียง บัค ประธานาธิบดีเกาหลีใต้
คิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือ






ปาร์ค จี ซุง นักฟุตบอลชาวเกาหลีใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น