xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพแดนมังกรอวดแสนยานุภาพ-เฉลิมฉลอง60ปีสาธารณรัฐประชาชนจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกวาระครบรอบ 60 ปีของการต่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ขึ้นสู่จุดไคลแมกซ์ในตอนเช้าวันพฤหัสบดี(1) ด้วยพิธีเดินสวนสนามของเหล่าทหารอันใหญ่โตโอฬาร ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในเมืองหลวงปักกิ่ง เพื่อโอ่อวดการก้าวผงาดขึ้นมาของแดนมังกร

ยุทโธปกรณ์บางอย่างที่พัฒนาและผลิตขึ้นในจีนเองและถูกเก็บงำเป็นความลับตลอดมา เป็นต้นว่า เครื่องบินควบคุมและเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศ และ อากาศยานประเภทไร้นักบิน ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ถูกนำออกมาแสดงระหว่างการสวนสนามคราวนี้ ต่อหน้าประธานาธิบดีหูจิ่นเทาและผู้นำจีนคนอื่นๆ

สิ่งที่แปลกใหม่ในการสวนสนามปีนี้ ไม่ได้มีเฉพาะการอวดโฉมบรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เคยเก็บเป็นความลับเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ความโปร่งใสอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย ตลอดจนเกี่ยวกับการจัดการสวนสนามในคราวนี้เอง พวกนักวิเคราะห์บอกว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจซึ่งเพิ่มมากขึ้นของปักกิ่ง ในการเปิดเผยรายละเอียดด้านการทหารของตน เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ในต่างแดนของกองทัพปลดแอกฯ

ในอดีตที่ผ่านมา อาวุธยุทโธปกรณ์อะไรบ้างที่นำมาอวดในการสวนสนาม รวมทั้งการฝึกซ้อมแถวขบวนทหารที่เข้าร่วมการสวนสนาม จะถือเป็นความลับระดับสุดยอด ทว่าในปีนี้ ปรากฏว่าเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน พวกนายพลของกองทัพปลดแอกฯ ได้เริ่มแพล็มออกมาเป็นระยะว่าจะมีการนำอาวุธยุทโธปกรณ์อะไรออกมาแสดงบ้าง ขณะที่การฝึกซ้อมการสวนสนามช่วงเย็นวันสุดสัปดาห์หลายๆ ครั้งทีเดียวได้เปิดให้สื่อมวลชนเข้าสังเกตการณ์ พวกนักหนังสือพิมพ์จีนยังได้รับเชิญให้ไปถึงค่ายทหารต่างๆ เพื่อรายงานข่าวการฝึกซ้อมขบวนทหารที่เข้าร่วมการสวนสนามจากทั้ง 3 เหล่าทัพ

รัฐมนตรีกลาโหม เหลียงกวงเลี่ย ก็แถลงอย่างภาคภูมิใจว่า อุตสาหกรรมด้านกลาโหมของจีนได้ยกระดับขึ้นมาจากการแค่ลอกเลียนแบบอาวุธซึ่งผลิตจากรัสเซียในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 แล้ว โดยที่สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในด้านการออกแบบและการผลิตในโรงงานตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา เขาประกาศด้วยว่า อาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นก้าวหน้าที่สุดของจีนบางรุ่นนั้นกำลังถูกนำออกมาประจำการแล้ว

อุตสาหกรรมการทหารเป็นเพียงภาคอุตสาหกรรมเดียวเท่านั้น ซึ่งจีนผลักดันเดินหน้าไปโดยปราศจากการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากสหรัฐฯ อียู, และญี่ปุ่น ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 สหรัฐฯและอียูก็ยังคงมาตรการขายห้ามส่งอาวุธให้แก่จีนเรื่อยมา ซึ่งเป็นการจำกัดการค้าด้านการทหารระหว่างบริษัทระดับชาติของกันและกัน

แต่ในสภาพเช่นนี้ ก็เป็นเหตุให้จีนต้องดิ้นรนอย่างหนัก เพื่อทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพปลดแอกฯมีความทันสมัย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับพวกเพื่อนบ้าน เป็นต้นว่า ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, และแม้กระทั่งอินเดีย ซึ่งในปีนี้ได้สร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ลำแรกของตน โดยร่วมมือกับพวกซัปพลายเออร์หลายๆ รายในโลกตะวันตก

อย่างไรก็ตาม จีนก็ยังคงเป็นผู้นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นนำของโลก ทั้งนี้ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสต็อกโฮล์ม (SIPRI) โดยที่กว่า 90% ของการซื้ออาวุธจากต่างประเทศนั้นเป็นการนำเข้าจากรัสเซีย

รัฐบาลสหรัฐฯนั้นกระทำตามพันธะผูกพันในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามขายอาวุธแก่จีนอย่างเคร่งครัด ขณะที่อียูไม่ได้เข้มถึงขนาดนั้น

กุดรุน วักเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนแห่งสถาบันเยอรมันเพื่อกิจการระหว่างประเทศและกิจการความมั่นคง กล่าวให้ความเห็นว่า การขายดังกล่าวนี้สามารถที่จะทำได้เนื่องจาก "มาตรการคว่ำบาตรไม่ได้มีผลบังคับทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสประกาศในทศวรรษ 1990 แล้วว่า พวกเขามีการตีความของพวกเขาเองเกี่ยวกับเนื้อหาของมาตรการห้ามขายห้ามส่งอาวุธนี้"

เมื่อ 10 ปีก่อน การสวนสนามในวาระครบรอบ 50 ปีเคยถูกใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ทิศทางที่กองทัพปลดแอกฯกำลังมุ่งหน้าไป และเป็นการส่งสัญญาณว่ามีด้านการทหารด้านใดบ้างที่จำเป็นจะต้องทำการลงทุนอย่างขนานใหญ่ ดังนั้น ทั้งรัฐบาลต่างประเทศและพวกบริษัทด้านกลาโหมทั้งหลายจึงให้ความสนใจจับตาการสวนสนามในวันพฤหัสบดี(1)อย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน

รัฐมนตรีกลาโหมเหลียงเคยบอกกับสำนักข่าวซินหัวเมื่อไม่นานมานี้ว่า จีนได้จัดร่างยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยภายในปี 2050 โดยที่แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ทั้งนี้ตามพิมพ์เขียวที่จัดทำขึ้นมาดังกล่าวนี้ กองทัพบกจะให้ความสำคัญลำดับแรกแก่สมรรถนะในการเคลื่อนที่ในทั่วทั้งประเทศ แทนที่จะมุ่งการป้องกันในระดับภาค ส่วนกองทัพเรือจะพัฒนาสมรรถนะอันเข้มแข็งในการป้องกันชายฝั่ง ตลอดจนหนทางต่างๆ ที่จะทำให้สามารถสู้รบในท้องทะเลได้ไกลโพ้นออกไปอีก สำหรับกองทัพอากาศจะยกระดับจากเพียงแค่การป้องกันดินแดน ไปสู่การผสมผสานกันระหว่างการบุกโจมตีและการป้องกัน และท้ายที่สุด ระบบขีปนาวุธของจีนจะต้องสามารถใช้ได้ทั้งการยิงหัวรบตามแบบแผน และหัวรบนิวเคลียร์

(เก็บความและตัดตอนจากเรื่อง China's military struts its stuff เขียนโดย Cristian Segura ผู้สื่อข่าวประจำปักกิ่งของ "AVUI" หนังสือพิมพ์รายวันภาษาสเปน และ Wu Zhong บรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์)
กำลังโหลดความคิดเห็น