xs
xsm
sm
md
lg

สุดเซอร์ไพรซ์ประมูลสิทธิน้ำมัน‘อิรัก’ได้เงินมหาศาล

เผยแพร่:   โดย: รอเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Surprises aplenty in selloff
By Robert M Cutler
15/12/2009

ความฝันฝังอกฝังใจที่ว่าฝ่ายตะวันตกจะต้องกลับเข้ามาครอบงำอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันอิรักกันอีกรอบหนึ่ง มีอันต้องแหลกสลายไปเลยจากผลของการประมูลสิทธิขุดน้ำมันรอบล่าสุด ซึ่งปรากฏว่าบริษัทลุคออยล์ของรัสเซียเป็นผู้ที่ชนะได้อะไรๆ ไปมากกว่าเพื่อน นอกจากนั้น ฝ่ายที่ประสบความสำเร็จรายอื่นๆ ยังมีพวกบริษัทที่มาจากสถานที่ไกลโพ้นอย่างมาเลเซียและอังโกลา

มอนทรีล, แคนาดา – สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนเตะตามากจากการประมูลสิทธิขุดเจาะน้ำมันดิบของอิรักเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คือ การที่พวกบริษัทอเมริกันค่อนข้างจะหายหน้าหายตาไป สภาพเช่นนี้นับว่าตรงกันข้ามกับเมื่อ 5 สัปดาห์ก่อน ตอนที่ เอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) ยักษ์ใหญ่อเมริกัน และ เชลล์ ยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษ-ดัชต์ ลงนามในข้อตกลงเข้าพัฒนาขุดเจาะแหล่งน้ำมัน เวสต์ กูรนา เฟส 1 (West Qurna Phase 1)

การเซ็นสัญญาดังกล่าวบังเกิดขึ้น 2 วันหลังจากบริษัท บีพี ของอังกฤษ และ CNPC (China National Petroleum Corporation บรรษัทน้ำมันปิโตรเลียมแห่งประเทศจีน) ลงนามในข้อตกลงเพื่อพัฒนาขุดเจาะแหล่งน้ำมัน รุไมลา (Rumaila) อันใหญ่โตมหึมา โดยแหล่งนี้มีปริมาณน้ำมันดิบที่พิสูจน์แล้วว่าจะสามารถสูบขึ้นมาได้แน่ๆ ถึง 17,800 ล้านบาร์เรล หรือเป็นกว่า 2 เท่าตัวของ เวสต์ กูรนา 1 ที่มีอยู่อย่างน้อยที่สุด 7,000 ล้านบาร์เรล นอกจากนั้น การลงนามในสัญญาของเอ็กซอนโมบิล-เชลล์ ยังบังเกิดขึ้นเพียง 3วันหลังจากบริษัท อีนิ (Eni) ของอิตาลี เซ็นข้อตกลงเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำมัน ซูไบร์ (Zubair) ที่มีปริมาณน้ำมันดิบซึ่งอาจสูบขึ้นมาได้ราว 4,100 ล้านบาร์เรล โดยที่อีนิจับมือเป็นหุ้นส่วนกับ โคเรีย แก๊ส (Korea Gas) แห่งเกาหลีใต้ และ ออคซิเดนทัล ปิโตรเลียม (Occidental Petroleum) ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกัน

สภาพการณ์ในตอนนั้น ชวนให้เข้าใจไปว่า ความได้เปรียบนิดๆ ตกเป็นของพวกบริษัทอเมริกันและบริษัทอังกฤษ ซึ่งในประวัติศาสตร์ช่วงศตวรรษที่แล้ว คือพวกที่มีอิทธิพลใหญ่โตมหาศาลที่สุด ในการดำเนินการพัฒนาทรัพยากรพลังงานไฮโดรคาร์บอนของอิรัก

แต่แล้วผลการเสนอราคารอบล่าสุด ซึ่งทางการอิรักเปิดให้ประมูลแหล่งน้ำมันกว่า 10 แหล่งด้วยกัน กลับแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวชนิดที่เป็นหนังคนละม้วน ในจำนวนบริษัทต่างๆ มากกว่า 40 แห่งที่จับมือรวบตัวกันเป็นกลุ่มหุ้นส่วนร่วมค้า (consortium) ต่างๆ หลายหลากนั้น บริษัทอเมริกันที่ปรากฏตัวอยู่ในการประมูลรอบนี้มีเพียง 7 แห่ง และที่กระโดดเข้าร่วมการประมูลด้วยจริงๆ มีเพียงรายเดียว

แหล่งน้ำมัน เวสต์ กูรนา เฟส 2 (West Qurna Phase 2) นั้น ปรากฏว่ามีกลุ่มหุ้นส่วนร่วมค้าที่ยื่นประมูลทั้งสิ้นรวม 4 ราย และผู้ชนะคือกลุ่มของบริษัท ลุคออยล์ (Lukoil) แห่งรัสเซีย และ สเตตออยล์ (Statoil) ของนอร์เวย์ โดยที่จะแบ่งหุ้นกันฝ่ายละ 63.75% และ 11.25% ตามลำดับ ทั้งนี้หลังจากที่มีบริษัทแห่งรัฐของทางอิรักเข้ามาร่วมวงเป็นหุ้นส่วนด้วยอีกรายหนึ่ง โดยกำหนดว่าจะถือหุ้น 25% ที่เหลือ แหล่งน้ำมัน เวสต์ กูรนา มีประวัติศาสตร์ผูกพันกับพวกรัสเซียมายาวนาน ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 พวกรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันของสหภาพโซเวียตได้วางแผนที่จะเข้าพัฒนาขุดเจาะแหล่งน้ำมันนี้ และหลังจากนั้น ลุคออยล์ คือผู้สืบทอดถือสิทธิตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับรัฐบาลอิรัก อย่างไรก็ตาม สิทธิดังกล่าวมีอันถูกยกเลิกไป เฉกเช่นเดียวกับสัญญาอื่นๆ ทั้งหลายที่ทำกันไว้กับ ซัดดัม ฮุสเซน ภายหลังจากที่เขาถูกโค่นล้ม

เวสต์ กูรนา 1 ตกเป็นของ เอ็กซอนโมบิล กับ รอยัล ดัตช์ เชลล์ ไปเสียแล้วตั้งแต่การประมูลในเดือนพฤศจิกายน ถึงแม้ลุคออยล์ได้พยายามต่อสู้ลงแข่งขันด้วย โดยจับมือเป็นกลุ่มหุ้นส่วนร่วมค้ากับ โคโนโคฟิลลิปส์ (ConocoPhillips) บริษัทสัญชาติอเมริกันอีกรายหนึ่ง แล้วยังมีรายที่สามซึ่งลงแข่งแบบเดี่ยวๆ คือ CNPC ของประเทศจีน แต่ลุคออยล์ก็มาสมหวังกับแหล่ง เวสต์ กูรนา 2 ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งน้ำมันที่ใหญ่โตกว่าเสียอีก โดยคาดการณ์กันว่ามีปริมาณน้ำมันสำรองที่อาจจะขุดเจาะได้อยู่กว่า 12,000 ล้านบาร์เรล

เรื่องราวยังไม่ได้หมดเพียงเท่านี้ แหล่งน้ำมันใหญ่ที่สุดที่นำออกให้เสนอราคาในรอบล่าสุดนี้ คือ มัจนูน (Majnoon) ซึ่งคาดการณ์ว่ามีน้ำมันสำรองอยู่ 12,800 ล้านบาร์เรล ตกเป็นของกลุ่มหุ้นส่วนร่วมค้าที่เป็นการจับมือกันระหว่าง เชลล์ กับ เปโตรนาส (Petronas) รัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันของมาเลเซีย กลุ่มนี้สามารถเอาชนะกลุ่มหุ้นส่วนระหว่าง CNPC กับ โททาล ของฝรั่งเศส โดยที่เชลล์จะได้ส่วนแบ่งไป 45% และเปโตรนาส 30% อีก 25% จะตกเป็นของบริษัทแห่งรัฐของอิรัก

สำหรับ ฮัลฟาญะ (Halfaya) แหล่งน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 3 ของทั้งหมดที่นำมาให้เสนอราคาในคราวนี้ ด้วยปริมาณที่คาดว่าสามารถสูบขึ้นมาใช้ได้ 4,100 ล้านบาร์เรล ผู้ชนะคือกลุ่มหุ้นส่วนร่วมค้าที่นำโดย CNPC (ได้ส่วนแบ่งไป 50%) และที่เหลือ โททาล กับ เปโตรนาส แบ่งกันไปฝ่ายละ 25%

เวลานี้ยังไม่มีกรอบโครงแม่บททางกฎหมายอันละเอียดถี่ถ้วน สำหรับใช้กับการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ ในด้านการพัฒนาทรัพยากรพลังงานในอิรัก ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากความล้มเหลวไม่สามารถจัดการลงประชามติเกี่ยวกับฐานะของพื้นที่หลายพื้นที่ของชาวเคิร์ดภายใน 4 จังหวัดของอิรัก ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่มีการตัดสินอย่างเด็ดขาดชัดเจนว่า พื้นที่ชาวเคิร์ดเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานของอิรัก (Iraqi Kurdistan) หรือไม่ (ทั้งนี้ตามมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญของอิรัก กำหนดไว้ว่าจะต้องจัดการลงประชามติดังกล่าว ทว่าในทางเป็นจริงได้มีการประกาศเลื่อนออกไปเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว)

เนื่องจากเมืองเคอร์คุก (Kirkuk) เมืองศูนย์กลางน้ำมันทางภาคเหนือของประเทศ ตลอดจนพื้นที่รอบๆ เมืองนี้ ก็เป็นบริเวณที่เข้าข่ายจะต้องรอการลงประชามติดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นจึงเกิดเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรพลังงาน ตลอดจนวิธีการแบ่งสรรรายได้ระหว่างหน่วยบริหารเขตภูมิภาคเหล่านี้กับรัฐบาลกลางในกรุงแบกแดด นอกจากนั้น ในเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลกลางของอิรักยังประสบความล้มเหลว ไม่สามารถผลักดันให้รัฐสภาอนุมัติกฎหมายที่จะจัดระเบียบการพัฒนาขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้กรอบโครงทางกฎหมายสำหรับรองรับการลงทุนจากการประมูลรอบล่าสุดนี้ จึงจัดทำกันในรูปแบบที่ผู้ชนะประมูลทำสัญญาเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันแก่ทางการอิรัก

กระนั้นก็ตาม พัฒนาการที่คลี่คลายอยู่ในปัจจุบัน พึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับเสถียรภาพทางการเมืองในอิรัก ทั้งนี้ถ้าหากเงื่อนไขที่จักต้องบังเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือ สถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัย ก็อยู่ในภาวะมีเสถียรภาพแล้วด้วย เราน่าจะกล่าวได้ว่ายิ่งมีรายรับสำหรับนำมาแบ่งสรรระหว่างศูนย์กลางกับส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเป็นการง่ายสำหรับการแบ่งปันรายรับดังกล่าวมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งการแบ่งปันรายรับมีความง่ายดายมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นโอกาสอันราบรื่นที่จะแก้ไขประเด็นปัญหาทางการเมืองต่างๆ ซึ่งเรื้อรังยืดเยื้อมานาน กระนั้นก็ดี ความเป็นจริงยังคงมีอยู่ว่า แหล่งน้ำมันที่จัดประมูลกันไปในช่วงหลังๆ นี้ ส่วนใหญ่แล้วอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ มากกว่าที่จะอยู่ในเขตพื้นที่ของชาวเคิร์ด

มีข้อยกเว้นที่ออกจะน่าสนใจทีเดียวคือ กรณีของแหล่งน้ำมัน กอยญะเราะห์ (Qaiyarah) และแหล่งน้ำมัน นัจมาห์ (Najmah) ซึ่งอยู่ติดกันในจังหวัดนิเนเวห์ (Nineveh) ทางภาคเหนือของอิรัก โดยที่ โซนันโกล (Sonangol) บริษัทน้ำมันของประเทศอังโกลา เป็นผู้ชนะการประมูลหลังจากที่มีการเสนอปรับเปลี่ยนราคากันใหม่แล้ว เรื่องนี้น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีของความร่วมมือกันระหว่างเขตพื้นที่ชาวเคิร์ดกับศูนย์กลางทางการเมืองในแบกแดด ทั้งในเรื่องการสำรวจและการพัฒนาขุดเจาะพลังงานในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานของอิรักในอนาคต และในการใช้หนทางแก้ไขทางการเมืองเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ ที่สร้างความเจ็บช้ำกันมายาวนาน เป็นต้นว่า การแก้ไขทบทวนนโยบายที่มุ่งเปลี่ยนแปลงภาคเหนือของประเทศให้กลายเป็นอาหรับ (Arabization) ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้มาตั้งแต่ยุคซัดดัม ฮุสเซนแล้ว และมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนสมดุลระหว่างคนชนชาติต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าว จนส่งผลทำให้เกิดการบิดเบือนในเรื่องจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในปัจจุบัน

เพื่อให้ข้อเขียนชิ้นนี้บันทึกข้อมูลผลการประมูลคราวนี้เอาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จึงสมควรรายงานด้วยว่า แหล่งน้ำมัน กอรอฟ (Gharaf) ที่มีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่ราว 900 ล้านบาร์เรล ผู้ชนะคือกลุ่มหุ้นส่วนร่วมค้า เปโตรนาส – เจเปกซ์ (Japex ซึ่งก็คือ Japan Petroleum Exploration Co บริษัทสำรวจน้ำมันปิโตรเลียมญี่ปุ่น) ส่วนแหล่ง บัดเราะห์ (Badrah) ที่มีน้ำมันที่น่าจะสูบขึ้นมาได้ 100 ล้านบาร์เรล ตกเป็นของ กาซปรอม (Gazprom) ของรัสเซีย และหุ้นส่วนร่วมค้าอีกหลายราย แหล่งน้ำมันอื่นๆ นอกจากนี้ (ได้แก่ อีสต์ แบกแดด-East Baghdad, “แหล่งน้ำมันตะวันออก” ทั้ง 4 –the four “Eastern fields”, และกลุ่มแหล่งน้ำมัน มิดเดิล ฟูรัต ทั้ง 3 –the three Middle Furat cluster) ไม่มีผู้เสนอประมูลเลย โดยเหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่เหล่านี้ที่ยังผันผวนยิ่ง

ถ้าหากเป็นสมัยเมื่อสัก 30-40 ปีก่อน บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่เรียกขานกันเป็นตำนานว่า “พี่สาวน้องสาวทั้ง 7” (Seven Sisters) แห่งอุตสาหกรรมน้ำมันโลก จะต้องเป็นผู้ครอบครองแหล่งน้ำมันเหล่านี้ทั้งหมดอย่างแน่นอน ทว่าหลังจากนั้นมาความเชี่ยวชาญและโนว์-ฮาวต่างๆ ได้มีการกระจายออกไปสู่บริษัทอื่นๆ อย่างมากมายมหาศาลแล้ว พวกบริษัทที่มีเทคโนโลยีเพียงพอแค่การพัฒนาที่ไม่สลับซับซ้อนมากนัก ถ้าหากจำเป็นก็สามารถจับกลุ่มเป็นหุ้นส่วนกันเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น และก็สามารถที่จะเข้าสนามแข่งขันด้วยข้อเด่นในเรื่องราคาได้ด้วย

ดังนั้น ถึงแม้ในช่วงแรกๆ พวกบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่คือผู้ที่ได้รางวัลงามๆ ในอิรักอย่างเช่น เวสต์ กูรนา 1 ทว่าเมื่อมาถึงเวลานี้มันกลับกลายเป็นว่า ขุมทรัพย์ล้ำค่าทางด้านพลังงานในอิรักกลายเป็นของแทบทุกคนยกเว้นพวกอเมริกัน ถึงแม้มีเรื่องเล่าขานกันอย่างกว้างขวางว่า ดิ๊ก เชนีย์ รองประธานาธิบดีในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นผู้หนึ่งที่ผลักดันให้ส่งทหารเข้ารุกรานและยึดครองอิรัก ภายหลังจากมีการประชุมหารือทางด้านพลังงานแบบเฉพาะกิจกับพวกบริษัทพลังงานสหรัฐฯ โดยที่มีการพิจารณาตรวจสอบแผนที่ว่าด้วยพื้นที่ซึ่งมีน้ำมันดิบในอิรักอย่างละเอียดลออ

ในอีกด้านหนึ่ง อิรักยังมีแหล่งก๊าซธรรมชาติอันมหาศาล โดยปริมาณสำรองที่นำขึ้นมาใช้ได้แน่ๆ แล้วอยู่ในระดับสูงกว่า 100,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเล็กน้อย และปริมาณสำรองที่คาดว่าน่าจะนำขึ้นมาใช้ได้มีอยู่เกือบเป็น 3 เท่าตัวของตัวเลขดังกล่าวทีเดียว เมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตุรกีได้เซ็นข้อตกลงขนถ่ายก๊าซ 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จากแหล่งก๊าซในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานของอิรัก เพื่อเป็นแรงหนุนให้สามารถเดินหน้าโครงการท่อส่งก๊าซสาย “นาบุคโก” (Nabucco) ที่กำลังอยู่ระหว่างเจรจาจัดสร้างกันอยู่ โดยที่ท่อส่งสายนี้ด้านหลักเลยจะอยู่ที่การลำเลียงก๊าซจากพื้นที่แถบทะเลสาบแคสเปียนไปยังยุโรป

ด้วยเหตุนี้ เรื่องนี้จึงยังไม่ใช่จะปิดฉากจบลงอย่างง่ายๆ

ดร.รอเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ (www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมหาวิทยาลัยมิชิแกน และได้ทำงานวิจัยตลอดจนสอนอยู่ตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐฯ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, และรัสเซีย เวลานี้เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ สถาบันเพื่อยุโรป, รัสเซีย, และยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน (Carleton University) ประเทศแคนาดา เขายังรับเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในกิจการต่างๆ หลายหลาก
กำลังโหลดความคิดเห็น