เอเอฟพี/เอเจนซี - 28 ประเทศซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในที่ประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แทนระดับผู้นำประเทศหารือกันจนถึงช่วงค่ำเมื่อวันพฤหัสบดี เพื่อบรรลุข้อสรุปในการทำข้อตกลงลดภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน ทำให้เชื่อว่าอาจจะไม่มีการบรรลุข้อตกลงเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศในการประชุม ซึ่งจะสิ้นสุดในวันนี้(18)
นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเข้าร่วมการหารือด้วย น่าจะจะยังคงเจรจาต่ออย่างเข้มข้นจนถึงเช้าวันนี้ ซึ่งมีผู้นำประเทศและผู้แทนรัฐบาลกว่า 130 คนจะมาร่วมประชุมในระดับผู้นำ
โดยก่อนหน้านี้ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี นายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ แห่งอังกฤษ ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ผู้นำฝรั่งเศส ประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ ของรัสเซีย และประนาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล ได้หารือต่อเนื่องไปจนเลยเวลา 23.00 น.ของวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 05.00 น.วันนี้(18) ตามเวลาในไทย
นอกจากนั้น ผู้นำเดนมาร์ก สวีเดน เอธิโอเปีย เม็กซิโก และประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ก็ได้ร่วมเข้าหารือด้วย อย่างไรก็ตาม ยังงมีประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ทั้งเรื่องรวมและรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในกลุ่มผู้แทนประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาที่เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย นอร์เวย์ รัสเซีย สเปน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย โปแลนด์ และญี่ปุ่น ส่วนผู้แทนจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รายใหญ่ ได้แก่ จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ ขณะที่การประชุม 12 วันที่กรุงโคเปนเฮเกนซึ่งจะมาถึงจุดสำคัญในวันนี้ ยังคงมีความเห็นแตกต่างกันระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จนหลายฝ่ายคาดว่าอาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้
ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า สหรัฐฯเตรียมประกาศให้เงินช่วยเหลือจำนวน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้รับมือกับปัญหาโลกร้อน ภายในปี 2020 ขณะที่ก่อนหน้านี้ ประเทศพัฒนาแล้วได้บรรลุข้อตกลงกันอย่างกว้างๆ ที่จะให้เงินช่วยเหลือร่วมกัน จำนวน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า