เอเจนซี-ผลการศึกษาของธนาคารโลกบ่งชี้ว่า ร่างกฏหมายว่าด้วยการลดปริมาณการแพร่กระจายของก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภานั้น อาจส่งผลให้ยอดส่งออกสินค้าของจีนหดตัวลงร้อยละ 20
อาทิตยา มาตตู นักเศรษฐศาสตร์ ของธนาคารโลกและเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ระบุว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงผลที่ตามมาเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ เพราะหากสหรัฐฯ ดำเนินการตามคำมั่นสัญญาว่าจะลดการแพร่กระจายของก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 17 ก็จะส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตสินค้าที่ต้องใช้พลังงานเป็นหลักลดลง ซึ่งจะเห็นได้จากยอดส่งออกและผลผลิตที่อาจหดตัวลง โดยคาดว่าผลผลิตของประเทศกลุ่มนี้จะลดลงร้อยละ 4 และยอดส่งออกจะลดลงร้อยละ 12
ธนาคารโลกยังกล่าวด้วยว่าการตั้งกำแพงภาษีสำหรับผลผลิตและสินค้านำเข้าของจีนและอินเดีย ในยุโรปและสหรัฐฯ อาจสูงถึงร้อยละ 20 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะส่งผลให้ยอดส่งออกสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐหดตัวลง ร้อยละ 20 และยอดส่งออกของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาร่วงลงร้อยละ 8 และว่าหากชาติมหาอำนาจใช้วิธีการคำนวณภาษีที่แตกต่างกัน โดยเอาปริมาณการใช้ก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในประเทศตนเองมาเป็นตัวกำหนด ผลกระทบที่ตามมาก็คงไม่มากนัก
พอล สก็อต ประธานสมาคมอุตสาหกรรมแห่งอเมริกา ให้ความเห็นเสริมในเรื่องนี้ว่าผลกระทบต่อการส่งออกจะเป็นประเด็นหนึ่งที่มีการเจรจา ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ 7 - 18 ธ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะหารือกันเกี่ยวกับขอบข่ายของผลกระทบฯ ซึ่งจีนและอินเดียคงจะเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2551 สหรัฐฯ เป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ด้วยมูลค่าราว 3.38 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
อนึ่ง กฎหมาย ว่าด้วยการลดปริมาณการแพร่กระจายของก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านร่างไปเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมานั้น กำหนดว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ดำเนินการตามข้อตกลงการแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์