เอเอฟพี/เอเจนซี - นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลังของกรีซ ออกมาแถลงวันพุธ(9) ยอมรับว่าประเทศประสบวิกฤตการเงินที่คุกคามความอยู่รอดของชาติ และกำลังจัดทำมาตรการอันเข้มงวดรุนแรง เพื่อนำตัวเองให้หลุดพ้นจากวิกฤตทางการเงินการคลังซึ่งถลำจมลึกลงไปทุกที ทั้งนี้ภายหลังถูกบริษัทเครดิตเรตติ้งชั้นนำตัดลดอันดับความน่าเชื่อถือ และถูกพวกผู้นำในสหภาพยุโรป(อียู)และยูโรโซนซึ่งกรีซเป็นสมาชิกอยู่ด้วย วิจารณ์ติเตียนความย่อหย่อนด้านวินัยการคลังของประเทศนี้ ตลอดจนทำให้นักลงทุนยิ่งพากันหวาดผวาพวกตลาดเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่
ตลาดหลักทรัพย์ของกรีซร่วงอย่างแรงเป็นวันที่สองเมื่อวานนี้ และปัญหาในกรีซยังถูกจับจ้องมากขึ้นอีกสืบเนื่องจากดูไบก็ทำท่าทรุดลง แล้ววิกฤตในทั้งสองจุดนี้ยังทำให้พวกนักลงทุนหวั่นผวารู้สึกสูญเสียความเชื่อมั่นในบรรดาตลาดเฟื่องฟูใหม่ที่มีฐานะอ่อนแอ โดยในรัสเซียนั้นได้ทำให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนยวบ
ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีของกรีซที่มีการถ่ายทอดทางทีวีเมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรี จอร์จ ปาปันเดรอู บอกว่า “ถ้าเราไม่กำจัดลบล้างหนี้สิน หนี้สินก็จะกำจัดลบล้างประเทศเรา” ซึ่งเป็นการใช้ถ้อยคำที่เคยใช้โดยบิดาของเขา อันเดรียส ปาปันเดรอู ผู้เคยเป็นนายกรัฐมนตรีของกรีซเช่นกันเมื่อสิบกว่าปีก่อน
เขายังเตือนคณะรัฐมนตรีของเขาโดยอ้างอิงถึงปีที่มีการฟื้นฟูการปกครองแบบประชาธิปไตยในกรีซ ภายหลังถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลา 7 ปี “เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1974 การเงินภาคสาธารณะของประเทศตกอยู่ในภาวะตีบตัน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยแห่งชาติของเรา”
เขาประกาศว่า “เรามุ่งมั่นที่จะทำทุกๆ อย่างที่จำเป็นเพื่อหยุดยั้งการขาดดุลจำนวนมหึมา เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพในการเงินภาคสาธารณะ และเพื่อส่งเสริมการพัฒนา” และกล่าวต่อไปว่า “มันเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า กรีซจะไม่ต้องสูญเสียสิทธิแห่งอำนาจอธิปไตยของตนไป”
ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีคลัง จอร์จ ปาปาคอนสแตนตินู ก็กล่าวว่า รัฐบาลจะทำทุกๆ อย่างที่ต้องทำ เพื่อกอบกู้ความน่าเชื่อถือซึ่งสูญเสียไปแล้วให้กลับคืนมา พร้อมกับย้ำคำมั่นสัญญาของเขาอีกครั้ง ที่จะตัดลดยอดขาดดุลงบประมาณจากระดับที่คาดหมายไว้ว่าจะสูงเท่ากับ 12.7% ของจีดีพีในปีนี้ ให้เหลือ 9.1% ในปี 2010
ไม่นานนักก่อนที่นายกรัฐมนตรีกรีซจะออกมาพูดอย่างขึงขังดังกล่าวข้างต้น ฟิตซ์ บริษัทเครดิตเรตติ้งรายยักษ์รายหนึ่งของโลก ได้ประกาศให้ตราสารทางการเงินแบบปรับโครงสร้าง (structured financial deal) ทุกชนิดในกรีซซึ่งทางฟิตช์เป็นผู้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ อยู่ในภาวะถูกจับตามองโดยที่มีแนวโน้มจะถูกลดอันดับ (negative watch) โดยที่ในวันอังคาร(8) ฟิตซ์ก็ได้ลดเรตติ้งตราสารหนี้ระยะยาวของรัฐบาลกรีซลงสู่ระดับ BBB+ อันเป็นระดับที่จัดว่ามีความเสี่ยงสูงเกินกว่าจะเข้าไปลงทุน รวมทั้งลดอันดับความน่าเชื่อถือของพวกธนาคารของกรีซ เพราะรัฐบาลมีความสามารถต่ำลงที่จะเข้าไปสนับสนุนแบงก์เหล่านี้ซึ่งถือครองพันธบัตรภาครัฐเอาไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) บริษัทเครดิตเรตติ้งยักษ์ใหญ่อีกรายหนึ่งก็เตือนว่า อาจจะลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซเช่นกัน
เนื่องจากกรีซเป็นสมาชิกทั้งในอียู และในยูโรโซน (พวกประเทศอียูที่ใช้สกุลเงินยูโร) ทำให้เกิดความกังวลกันว่า วิกฤตการเงินการคลังของกรีซจะสร้างความเสียหายให้แก่ความสามัคคีของอียูและยูโรโซน ทั้งนี้ชาติสมาชิกหลายรายพากันตำหนิวิจารณ์กรีซ เนื่องจากที่ผ่านมากรีซดำเนินนโยบายที่ตรงกันข้ามกับการปฏิบัติการของพวกประเทศสมาชิกที่มีภาระหนี้สินหนักหน่วงเช่นกันรายอื่นๆ เป็นต้นว่า อังกฤษ และไอร์แลนด์ ต่างกำลังประกาศการตัดลดการขาดดุลกันอย่างมหึมาในวันพุธ(9)
ฌอง-โคลด ตริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) กล่าววิจารณ์รุนแรงในวันจันทร์(7)ว่า สถานการณ์ในกรีซ “ยากลำบากอย่างยิ่ง” และจำเป็นจะต้องมีการปฏิบัติการ “ด้วยความกล้าหาญ” ต่อมารัฐมนตรีคลัง แอนเดอร์ส บอร์ก ของสวีเดน ก็พูดสำทับว่า พวกชาติยุโรปยังไม่คิดที่จะเข้าไปช่วยเหลือกรีซให้หลุดพ้นจากวิกฤตทางการคลัง และเรียกร้องให้กรีซ “นำเอานโยบายงบประมาณที่เข้มงวดจริงจังมาใช้”
นักวิเคราะห์จำนวนมากตีความเสียงวิจารณ์จากเจ้าหน้าที่ของยุโรปเหล่านี้ว่า เป็นคำเตือนกรีซว่าอย่าหวังจะได้รับความช่วยเหลือให้หลุดจากวิกฤต หากไม่ลงมือดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเสียก่อน