เอเจนซี/เอเอฟพี/วอลล์สตรีทเจอร์นัล - โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ทำท่าจะต้องเรียกคืนรถยนต์ในทั่วโลกจำนวนกว่า 8 ล้านคัน เพื่อกลับมาซ่อมแซมจุดบกพร่องจากโรงงาน สืบเนื่องจากพรมปูพื้นรถอาจหลุดเข้าไปทำให้คันเร่งเกิดทำงานอย่างไม่ได้ตั้งใจ โดยวานนี้(28) ปัญหาได้ขยายไปถึงรถซึ่งขายในแถบยุโรปและประเทศจีนด้วย หลังจากที่นับถึงวันพุธ(27) บริษัทต้องเรียกคืนรถในตลาดอเมริกาเหนือแล้วรวมประมาณ 6 ล้านคัน ตลอดจนต้องสั่งระงับการจำหน่ายและการผลิตเป็นการชั่วคราว ทางด้านนักวิเคราะห์มองว่า ความเสียหายที่หนักหนาสาหัสที่สุดของโตโยต้าจากกรณีนี้ก็คือ บริษัทผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกรายนี้ต้องเสียประวัติครั้งใหญ่ ทั้งๆ ที่เคยมีชื่อเสียงมายาวนานในแง่ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ
พอล โนลัสโก โฆษกของโตโยต้าแถลงจากกรุงโตเกียววานนี้ว่า บริษัทจะต้องขยายการเรียกคืนรถยนต์กลับมาซ่อมแซมให้ครอบคลุมถึงยุโรปด้วย แต่ยังไม่ทราบแน่นอนว่าจะกระทบรถรุ่นใดบ้างและเป็นจำนวนเท่าใด ขณะที่โฆษกหญิงของโตโยต้ายุโรปกล่าวว่า บริษัทไม่จำเป็นต้องหยุดการผลิตในยุโรป แบบเดียวกับที่กระำทำในอเมริกาเหนือ เนื่องจากโตโยต้าได้เลิกใช้คันเร่งดังกล่าวในยุโรปแล้ว ส่วนทางด้านสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ต่างคาดหมายว่า รถที่จะต้องเรียกคืนในยุโรปน่าจะมีจำนวนราว 2 ล้านคัน
วานนี้เช่นกัน องค์การกำกับดูแลคุณภาพ, การตรวจสอบและการกักกันโรค ของทางการจีน ได้ระบุในคำแถลงซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ขององค์การว่า โตโยต้าจะต้องเรียกคืนรถยนต์ในจีนมาซ่อมแซมข้อบกพร่องเรื่องคันเร่ง เป็นจำนวนกว่า 75,000 คัน โดยเป็นรถยนต์อเนกประสงค์รุ่นราฟ 4
อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดญี่ปุ่นนั้น โฆษกโตโยต้าระบุว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะไม่ได้ใช้คันเร่งแบบเดียวกันนี้
ในอเมริกาเหนือนั้น โตโยต้าได้แถลงในคืนวันพุธว่า ยินดีที่เปลี่ยนพรมปูพื้นรถหรือชุดคันเร่งให้กับรถยนต์ในสหรัฐฯ จำนวนอีก 1.1 ล้านคัน ถ้าหากลูกค้าประสงค์เช่นนั้น มาตรการเรียกรถคืนโดยสมัครใจล่าสุดนี้ เมื่อบวกกับประกาศเรียกคืนหลายระลอกก่อนหน้านี้ ก็ทำให้จำนวนรถในตลาดอเมริกาเหนือที่โตโยต้าต้องซ่อมแซมทั้งหมดอยู่ที่เกือบๆ 6 ล้านคัน
ยิ่งกว่านั้น หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า โตโยต้าได้แจ้งกับพวกดีลเลอร์ในสหรัฐฯและแคนาดาในวันอังคาร(26) ขอให้หยุดการจำหน่ายรถโตโยต้ารุ่น 8 รุ่น สืบเนื่องจากปัญหาข้อบกพร่องของคันเร่งนี้ รถ 8 รุ่นดังกล่าวซึ่งคิดเป็น 57% ของรถโตโยต้าทั้งหมดที่ขายในสหรัฐฯในปี 2009 ได้แก่ คัมรี่ และ โคโรลล่า ที่เป็นรุ่นยอดนิยม นอกจากนั้นยังมี แมทริกซ์, อาแวลอน, ไฮแลนเดอร์, ราฟ 4, เซโกเวีย, และ ทุนดรา
โตโยต้ายังแจ้งด้วยว่า จะหยุดการผลิตรถรุ่นเหล่านี้ในโรงงานที่อยู่ทางอเมริกาเหนือหลายแห่งเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป
ทางด้าน จิม ซีกเลอร์ ที่ปรึกษาด้านการจำหน่ายรถในเมืองแอตแลนตา, สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า โตโยต้านั้นมีทรัพยากรเพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นคราวนี้ ทว่าครั้งนี้ก็ยังคงเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่โตโยต้าเคยเผชิญมาอยู่ดี แถมเกิดขึ้นในขณะที่พวกคู่แข่งอย่างเช่น ฟอร์ด, ฮุนได และบริษัทอื่นๆ กำลังแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมด้วย
ปัญหาหนักหน่วงของโตโยต้า ยังทำให้หุ้นของบริษัทมีราคาทรุดลงมาอีก 4% ในการซื้อขายที่ตลาดโตเกียววานนี้ รวมนับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วราคาหุ้นตัวนี้ได้หดหายไปกว่า 15% และเท่ากับว่ามูลค่าตามราคาในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทแห่งนี้ลดสูญไปราว 25,000 ล้านดอลลาร์
พวกนักวิเคราะห์มองว่า การเรียกคืนรถยนต์ครั้งนี้จะสร้างความเสียหายทางการเงินให้กับโตโยต้าเท่าไรนั้น ที่สำคัญขึ้นอยู่กับว่าบริษัทจะต้องหยุดการผลิตรถรุ่นเหล่านี้นานแค่ไหน รวมทั้งผู้บริโภคว่าจะสูญเสียความเชื่อมั่นในโตโยต้ามากน้อยแค่ไหน โดยจะมีผลสะท้อนทั้งต่อรถยนต์ใหม่และรถมือสอง
“การระงับการจำหน่ายและการผลิตอาจทำให้โตโยต้าสูญเสียผลกำไรจากการดำเนินงานอย่างน้อย 50,000 ล้านเยน (553 ล้านดอลลาร์) ต่อเดือน” โคจิ เอนโด นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์กล่าว
ตั้งแต่ก่อนหน้าจะต้องเรียกคืนรถจำนวนมากมายคราวนี้ ผลประกอบการของโตโยต้าก็มีปัญหาหนักสืบเนื่องจากวิกฤตทางการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจทรุดต่ำทั่วโลกอยู่แล้ว โดยผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ 19 รายจัดทำโดยทอมสัน รอยเตอร์ ไอ/บี/อี/เอส คาดหมายวเอาไว้ว่า ในปีการเงิน 2010 (เม.ย.2009-มี.ค.2010) โตโยต้าจะขาดทุนจากการดำเนินงานราว 47,000 ล้านเยน แต่จะดีดกลับมาทำกำไรได้ราว 599,000 ล้านเยนในปีการเงิน 2011
“ผมเคยคิดว่าบริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงาน 100,000-200,000 ล้านเยนในปีนี้ แต่ตอนนี้คงจะกลายเป็นศูนย์หรือไม่ก็ติดลบจากการระงับการจำหน่ายและการผลิต” เอนโดบอกอีกว่า “โตโยต้าคงเดือดร้อนหนักขึ้นในปีหน้าเพราะภาพลักษณ์ของบริษัทเสียหาย”
ทางด้าน ฟิตซ์ บริษัทเครดิตเรตติ้งรายใหญ่รายหนึ่งของโลก แถลงว่า กำลังจัดให้โตโยต้าอยู่ในบัญชีผู้ที่ถูกจับตามองในแง่ลบ เนื่องจากสิ่งเกิดขึ้นมาเหล่านี้อาจสร้างปัญหาต่อการฟื้นตัวในการจำหน่ายและการกลับมาทำกำไรของโตโยต้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสหรัฐฯ
ด้านคู่แข่งสำคัญของโตโยต้า ไม่ว่าจะเป็นฮอนด้า มอเตอร์, นิสสันมอเตอร์ หรือฮุนได มอเตอร์ ต่างก็ได้ประโยชน์จากข่าวร้ายของโตโยต้า โดยราคาหุ้นที่ซื้อขายในตลาดเอเชียของบริษัททั้งสามต่างปรับสูงขึ้น 4.9, 4.2 และ 4.2% ตามลำดับ
“ฮอนด้า นิสสัน และฟอร์ด มอเตอร์จะได้รับประโยชน์ห ากโตโยต้าเผชิญกับภาวะยอดขายตกต่ำอย่างยืดเยื้อ” โคตะ ยูซาวา นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งของโกลด์แมนแซคส์ในโตเกียวให้ความเห็น
สำหรับเจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) รีบแถลงในวันพุธว่า ลูกค้ารถโตโยต้า สามารถนำรถมาเปลี่ยนเป็นรถที่จีเอ็มกำลังเสนอขายอยู่ในเวลานี้แทบทุกรุ่น โดยทางจีเอ็มจะให้ราคารถโตโยต้าเก่าเหล่านี้สูงสุด 1,000 ดอลลาร์ หรือไม่ก็จะให้เลือกทำสัญญาไฟแนนซ์รถจีเอ็มด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% เป็นเวลานานถึง 5 ปี