เอเอฟพี - นักวิเคราะห์ชี้ปัญหา “ดูไบ เวิลด์” ขอพักชำระหนี้ราว 59,000 ล้านดอลลาร์เป็นเวลา 6 เดือน นอกจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศในกลุ่มอาหรับแล้วยังสะเทือนต่อเนื่องถึงรัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะพวกประเทศร่ำรวยที่พากันก่อหนี้สาธารณะและทุ่มใช้จ่ายอย่างหนักเพื่อแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย และขณะนี้ก็ใกล้ถึงเวลาต้องเริ่มชำระหนี้มหาศาลเหล่านั้นแล้ว
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เตือนว่าประเทศอุตสาหกรรมของโลกทั้ง 30 ประเทศ กำลังจะได้เห็นภาระหนี้สินของพวกตนเพิ่มทวีขึ้นจนเท่ากับ 100% ของยอดส่งออกในปี 2010 ซึ่งเกือบเป็นสองเท่าตัวของเมื่อ 20 ปีก่อน
คาดการณ์กันว่า หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นจะแตะระดับ 200 %ของยอดส่งออกในปีหน้า ขณะที่อิตาลีและกรีซจะอยู่ในราว 127.3 และ 111.8 %ตามลำดับ
ทางด้าน มูดีส์ บริษัทเครดิตเรตติ้งระดับโลก ก็เผยรายงานพยากรณ์เมื่อวันพุธ (25) ว่าอัตราส่วนหนี้สินต่องบประมาณประเทศของทั่วทั้งโลกจะเพิ่มขึ้นราว 45 % ในช่วงระหว่างปี 2007-2010 หรือคิดเป็นตัวเลขของยอดหนี้รวมที่เพิ่มขึ้น ก็จะอยู่ที่ประมาณ 15.3 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้ยอดหนี้สาธารณะรวมทั่วโลกในปี 2010 จะอยู่ในระดับสูงกว่า 49 ล้านล้านดอลลาร์
โดยในยอดหนี้รวมที่เพิ่มขึ้น 45% ดังกล่าวนี้ กว่าสามในสี่จะเป็นของกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (จี 7) เนื่องจากดุลบัญชีการคลังของชาติเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกหนักที่สุด
“เนื่องจากในปี 2009 ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอัตราการเจริญเติบโตติดลบ ดังนั้น ภาระหนี้สินโดยเปรียบเทียบ จึงกำลังเป็นภาระที่ต้องแบกรับด้วยความยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ” ไฮเม รอยเชอร์ นักวิเคราะห์ของมูดีส์ชี้
ขณะที่ ซินเซีย อัลซิดี นักเศรษฐศาสตร์แห่งศูนย์นโยบายศึกษาของยุโรปในกรุงบรัสเซลส์กล่าวว่า การที่ประเทศใดมีหนี้สาธารณะเป็นสัดส่วน 100% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ก็แปลว่าผลผลิตทั้งหมดที่ผลิตได้ตลอดทั้งปีนั้นจะเป็นส่วนที่ต้องนำไปชำระหนี้
คำถามก็คือว่า “รัฐบาลทั้งหลายอยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนั้นได้หรือไม่”
สิ่งที่น่าหวาดหวั่นก็คือ หากตลาดการเงินเริ่มสงสัยถึงศักยภาพของประเทศต่างๆ ในการชำระหนี้ขึ้นมา พวกนักลงทุนก็จะพากันเทขายตราสารหนี้ภาครัฐทิ้ง เช่น พวกพันธบัตรรัฐบาลต่างๆ และนั่นจะทำให้รัฐบาลไม่มีเงินสดสำหรับใช้จ่าย
นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งเตือนว่า รัฐบาลที่มีหนี้สินสูงมากจะมีปัญหาเรื่องอันดับความน่าเชื่อถือตามมา ซึ่งทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินต้องเพิ่มสูงขึ้นอีก
สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีความโน้มเอียงที่จะยอมขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้แก่พวกเจ้าหนี้ของประเทศ และนั่นก็ยิ่งทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลยิ่งสูงขึ้นไปอีก
“นี่ก็คือวิธีการในการทำระเบิดหนี้สิน” มิเชล อะกลิเอตตา แห่งกลุ่มวิจัย เซปิอี กล่าว
แดเนียล เฟอร์มอน นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโซซิเยเต เจเนราล เตือนว่า “ในกรณีร้ายแรงที่สุดนั้น” ระเบิดหนี้สินจะจุดชนวนให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบใหม่ขึ้นมา
ดังนั้น โดยหลักการแล้ว การกลับไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งจึงจะต้องลดการกู้ยืมภาครัฐลง ถึงแม้พวกนักเศรษฐศาสตร์ต่างเตือนว่าในสภาพการณ์ปัจจุบันจะยังทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะอ่อนแอก็ตาม
ภาระหนี้สินอาจบรรเทาลงได้บ้าง ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย ทว่า หากปล่อยให้เกิดเงินเฟ้อสูงมากก็จะบั่นทอนการใช้จ่ายของผู้บริโภค และส่งผลให้ “ทุนภาคเอกชนหนีไปอยู่ในมือของประเทศที่มีภาวะเงินเฟ้อต่ำกว่า” ทางแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ “เพิ่มภาษีหรือลดการใช้จ่ายภาครัฐลง”
แต่ทั้งโออีซีดีและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต่างก็ย้ำว่าหากภาครัฐหยุดการใช้จ่ายเร็วเกินไป ก็จะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีปัญหาเช่นกัน