xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเครือข่ายลงทุนของ“อาบูดาบี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักลงทุนในตลาดหุ้นดูไบ
วอลล์สตรีทเจอร์นัล/เอเยนซีส์ - ปรากฏการณ์ฟองสบู่แตกที่ดูไบ ทำให้นักลงทุนจำนวนมากเฝ้าลุ้นให้อาบูดาบี อีกรัฐหนึ่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) เข้าไปช่วยเหลือ

อันที่จริง แม้อาบูดาบีจะไม่ปรากฏเป็นข่าวเกรียวกราวเท่ากับดูไบ แต่รัฐนี้ก็ได้ออกกว้านซื้อกิจการไปทั่วโลกไม่แพ้กันเลย โดยช่วงหลังๆ มานี้ อาบูดาบีได้เร่งขยายอาณาจักรทางธุรกิจของตนด้วยยุทธศาสตร์ที่กระทำผ่านทางกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign-wealth fund – SWF)

อาบูดาบีจัดตั้งกองทุนประเภทนี้ขึ้นมาหลายกองทุน และเข้าไปลงทุนในพวกบริษัทชั้นนำทั่วโลก, จัดตั้งกิจการร่วมทุนที่เกี่ยวเนื่องกันขึ้นมา, และหาทางมีบทบาทด้านการบริหาร ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะดึงเอาพวกอุตสาหกรรมอย่างเช่น เคมีภัณฑ์ เซมิคอนดักเตอร์ และการบิน ให้เข้าไปทำธุรกิจในรัฐของตน ในปัจจุบัน กองทุน “Abu Dhabi Investment Authority” ซึ่งเป็น SWFขนาดใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของรัฐแห่งนี้ ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น SWF รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยประมาณการกันว่ามีสินทรัพย์กว่า 600,000 ล้านดอลลาร์

มอนิเตอร์ กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาในลอนดอน ซึ่งติดตามการดำเนินการของกองทุนความมั่งคั่งต่างๆ ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2009 พวกบริษัทอาบูดาบีซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้การดูแลของผู้ปกครองรัฐ คือ ราชตระกูลอัล นายัน ได้บรรลุข้อตกลงธุรกิจเป็นมูลค่าราว 18,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการลงทุนรวมของกองทุนความมั่งคั่งทั่วโลกในช่วงเวลาดังกล่าว

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา อาบูดาบียังลงทุนในลักษณะหวือหวาด้วย โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2007 กองทุน “Abu Dhabi Investment Authority” ได้ทุ่มเงินลงทุนในซิตีกรุ๊ป อิงก์ 7,500 ล้านดอลลาร์

แม้การวางเดิมพันคราวนี้จะประสบความล้มเหลว แต่รัฐร่ำรวยด้วยน้ำมันแห่งนี้ก็ยังเดินหน้าทำดีลในภาคการเงินการธนาคารต่อ ในปลายปี 2008 เชค มันซูร์ บิน ซายเอด อัล นายัน เชื้อพระวงศ์ซึ่งเป็นผู้นำของกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่ง ก็เข้าอุ้มกิจการแบงก์บาร์เคลย์ โดยทุ่มเงินราว 8,000 ล้านดอลลาร์ และคราวนี้สามารถทำเงินได้ถึงเกือบเป็นสองเท่าตัว เมื่อขายหุ้นบาร์เคลย์เหล่านั้นออกไปก้อนใหญ่ในปีนี้

อาบูดาบียังสนใจในสินทรัพย์ทางภาคอุตสาหกรรมที่กำลังมีราคาถูก ตลอดจนการเข้าไปเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการของรัฐแห่งนี้ที่จะกระจายสู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่ต้องพึ่งพาแต่เพียงทรัพยากรพลังงาน การลงทุนในปีนี้จึงมีทั้งการร่วมทุนกับบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) ในโครงการมูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์, การซื้อกิจการ ชาร์เตอร์ด เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง แห่งสิงคโปร์มูลค่า 1,800 ล้านดอลลาร์, และซื้อหุ้น 9.1 %ในกิจการเดมเลอร์-เบนซ์ด้วยราคา 2,700 ล้านดอลลาร์

“เรากำลังขยายเข้าไปในธุรกิจต่างๆ อย่างหลากหลายที่สุด” วาลีด อัล มูฮาอิรี ประธานสภาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอาบูดาบีกล่าว มูฮาอิรีเป็นหนึ่งในผู้ดูแลยุทธศาสตร์การลงทุนของพวกกองทุน SWF ของอาบูดาบี และเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทมูบาดาลา ดีเวลลอปเมนต์

เขายังเป็นประธานกรรมการของแอดวานซ์ เทคโนโลยี อินเวสต์เมนต์ คอร์ป (เอติก) ซึ่งได้ร่วมทุนกับกิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ “แอดวานซ์ ไมโคร ดีไวส์” ในสหรัฐฯ และเป็นผู้เข้าซื้อกิจการ“ชาร์เตอร์ด เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง” แห่งสิงคโปร์ด้วย

พร้อมๆ กับที่ภาวะเศรษฐกิจทรุดทั่วโลกส่งผลกระทบกระเทือนย่านอ่าวเปอร์เซียนปลายปีที่แล้ว พวกเจ้าหน้าที่รัฐอาบูดาบีก็เพิ่งเสร็จสิ้นการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 20 ปี และอาบูดาบีได้หันไปใช้เครื่องมือการลงทุนขนาดเล็กลงแต่ดูเฉียบแหลมกว่า เพื่อสร้างฐานทางด้านเคมีภัณฑ์, ไฮเทค, และอุตสาหกรรม โดยมุ่งให้เป็นการแตกแขนงธุรกิจให้พ้นออกจากเรื่องน้ำมัน

เมื่อเดือนมีนาคม “อาบาร์ อินเวสต์เมนต์” กองทุนอายุสี่ปีของอาบูดาบีได้ซื้อหุ้น 9.1 %ของเดมเลอร์-เบนซ์ กลายเป็นนักลงทุนที่ถือหุ้นสูงสุดของบริษัทเมื่อนับกันเป็นทีละราย นอกจากนั้นยังเข้าซื้อหุ้นจำนวน 40 % ซึ่งเดมเลอร์ถืออยู่ในกิจการ “เทสลา มอเตอร์ อิงค์” ผู้ผลิตรถพลังงานไฟฟ้า ทำให้อาบาร์ถือหุ้นในเทสลา 10 เปอร์เซ็นต์
ส่วนมูบาดาลาก็ได้อัดฉีดเงินเข้าไปในกิจการเอเอ็มดีซึ่งกำลังมีปัญหาตั้งแต่ปลายปี 2007 ต่อมาในเดือนมีนาคม 2009 เอเอ็มดียังนำกิจการส่วนการผลิตแยกเป็นบริษัทต่างหากโดยเข้าร่วมทุนกับเอติกในชือ “โกลบอลฟาวน์ดรีส์” และมูบาดาลาได้ซื้อหุ้นของเอเอ็มดีเพิ่มเป็น 18 %

เดือนพฤศจิกายนนี้ มูบาดาลายังประกาศว่าสามารถทำข้อตกลงกับบริษัทโบอิ้ง โดยที่ก่อนหน้านั้นก็ได้ทำข้อตกลงกับทางแอร์บัสไว้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น