เอเอฟพี - ชาวสวิตเซอร์แลนด์ลงมติเห็นชอบการห้ามก่อสร้างมินาเรต์ หรือหอคอยยอดแหลมที่สร้างบนมัสยิดของชาวมุสลิมในทั่วประเทศ ซึ่งได้แรงหนุนจากนักการเมืองขวาจัด ขณะที่องค์กรทั้งอิสลามออกมาแสดงความไม่พอใจ
ผู้มิสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ หรือร้อยละ 57.7 ในเขตการปกครองระดับจังหวัด 22 จากทั้งหมด 26 แห่ง เห็นชอบในการลงประชามติห้ามการก่อสร้างหอคอยยอดแหลมที่ชาวอิสลามใช้เรียกมาทำละหมาด เมื่อวานนี้(29)
พรรคสวิสพีเพิลสปาร์ตี้ พรรคการเมืองใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ จัดทำประชามติขึ้นหลังจากรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้อย่างน้อย 1000,000 คนภายใน 18 เดือนตามกฏเกณฑ์ โดยล่ารายชื่อผู้สนับสนุนได้มากถึงสองเท่า โดยจากนี้ต่อไป มติดังกล่าวจะถูกเขียนลงในรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งเป็นการกำหนดชัดเจนว่า ต่อไปนับจากนี้จะไม่อนุญาตให้สร้างมินาเรต์ขึ้นอีก
อีฟลีน วิดเมอร์ ชัมป์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ผลประชามติสะท้อนถึงความหวาดกลัวแนวโน้วของมุสลิมแบบสุดโต่ง แต่ก็ไม่ใช่วิถีต่อต้านพวกสุดโต่งพวกนี้ นอกจากนี้ ยังไม่ใช่การแสดงออกถึงการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับชุมชน ศาสนา หรือวัฒนธรรมมุสลิมด้วย
อย่างไรก็ตาม ชุมชนมุสลิมซึ่งมีถึง 400,000 คนจากประชากร 7.5 ล้านคนของสวิตเซอร์แลนด์ แสดงความผิดหวังต่อผลประชามตินี้
ฟาร์ฮัด อาฟชาร์ ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมืออิสลามในสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดไม่ใช่การห้ามสร้างมินาเรต์ แต่เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกส่งออกมาจากการมตินี้
"ชาวมุสลิมจะไม่รู้สึกได้รับการยอมรับในฐานะเป็นชุมชนศาสนา" เขากล่าว ขณะที่ชุมชนชาวคริสต์ก็แสดงความผิดหวังเช่นกัน โดยชี้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ว่า ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาจะต้องได้รับการเลือกปภิบัติที่ไร้ความเสมอภาค
ด้านองค์กรนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า คำสั่งห้ามสร้างยอดหอคอยอิสลามเป็นการละเมิดหลักเสรีภาพในการนับถือศาสนา และขัดต่ออนุสัญญาที่สวิตเซอร์แลนด์ได้ลงนาม และมีความเป็นไปได้ที่ผลการลงประชามติดังกล่าวจะถูกทำให้เป็นโมฆะโดยคำตัดสินของศาลฎีกาสวิตเซอร์แลนด์หรือศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป
ล่าสุด สำนักวาติกันของศาสนาจักรโรมันคาทอลิกก็ออกแถลงการณ์ว่า การห้ามดังกล่าวเป็นการละเมิดเสรีภาพทางศาสนาเช่นกัน
ทั้งนี้ พรรคพีเพิลปาร์ตี้ ซึ่งมีที่นั่งมากที่สุดในสภา เห็นว่า "หอสูงยอดแหลมบนสุเหร่า"ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของกระแสการแพร่ขยายตัวของศาสนาอิสลาม หรือ อิสลามานุวัตร และระบบกฎหมายแบบอิสลามที่เรียกว่า "กฎหมายชาเรีย" ไม่สอดคล้องลงรอยกันกับประชาธิปไตยแบบสวิสด้วย