xs
xsm
sm
md
lg

“หูจิ่นเทา”กับ“โอบามา”ทำความตกลงครั้งสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Hu and Obama seal real deals
By Francesco Sisci
19/11/2009

คำแถลงร่วมของประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ของจีน และประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ มีเนื้อหาที่ดูจะเป็นการอ้าแขนต้อนรับการมีความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวระหว่างประเทศทั้งสอง คำมั่นสัญญาที่ว่าจะร่วมมือกันทั้งในเรื่องอิหร่าน, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก อาจจะฟังดูเหมือนถ้อยคำโวหารเชิงหลักการเท่านั้น ทว่าถ้อยคำเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ส่อแสดงให้เห็นว่า ในระดับของการหารือเป็นการภายใน กำลังมีการทำความตกลงกันอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาจริงๆ

ปักกิ่ง – ผู้นำทั้งสองต่างผูกไทสีแดง สวมสูทสีเข้ม และใส่เชิร์ตสีขาว ขณะที่ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาของจีนมีท่าทางเย็นเฉยไม่มีหลุกหลิกใดๆ อยู่บนเวที ราวกับไม่ได้นึกถึงใครอยู่ในหัวเลย ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯกลับหันศีรษะไปข้างหนึ่ง คอยจับจ้องมองคู่เจรจาของเขาที่กำลังพูดอยู่ ด้วยสายตาที่ดูเหมือนแสดงความอบอุ่นและความใส่ใจ

ดังนี้เอง ด้วยบุคลิกส่วนตัวที่แตกต่างกันไปคนละขั้ว ทว่าด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่แทบจะเหมือนๆ กัน เมื่อวันอังคาร(17)ที่ผ่านมา ผู้นำของประเทศทั้งสองก็ได้ประกาศสิ่งที่หากไม่เรียกว่าเป็นการแต่งงาน อย่างน้อยก็น่าจะพูดได้ว่าเป็นการหมั้นหมาย สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของการหมั้นหมายนี้ ก็คือคำแถลงร่วมของบุคคลทั้งสองที่มีความยาว 9 หน้า และเต็มไปด้วยคำมั่นสัญญาในลักษณะพูดเป็นหลักการ ขาดแคลนการระบุถึงการปฏิบัติการอย่างเจาะจงชัดเจน

นี่คือการหมั้นหมายตามหลักทฤษฎี แบบที่ฝ่ายจีนปรารถนามานาน เน้นที่การพูดแจกแจงรายละเอียดของความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวระหว่างประเทศทั้งสอง สำหรับฝ่ายจีนแล้ว ข้อตกลงหมั้นหมายเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทรงความสำคัญยิ่งเสียกว่าข้อตกลงทางธุรกิจเดี่ยวๆ ใดๆ หรือยุทธวิธีประสานร่วมมือกันแบบระยะสั้นๆ ใดๆ

ในเอกสารฉบับนี้ ปักกิ่งไม่ได้รับฐานะ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” (strategic partnership ซึ่งเกือบๆ จะไปถึงขั้นการเป็นพันธมิตรกัน –an alliance) ดังที่มุ่งมาตรปรารถนาจะได้จากวอชิงตัน ทว่าก็ได้รับ “ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระดับทวิภาคีในเชิงยุทธศาสตร์” (strategic bilateral trust) ทั้งนี้ นี่อาจจะเป็นวิธีปิดบังซ่อนเร้นเจตนารมณ์ของสหรัฐฯก็เป็นไปได้ เนื่องจากบัดนี้ย่อมเป็นที่กระจ่างชัดเจนแล้วว่า สหรัฐฯนั้นยินดีต้อนรับประเทศจีนที่เข้มแข็งและมั่งคั่งรุ่งเรือง สำหรับปักกิ่งนั้น “ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระดับทวิภาคีในเชิงยุทธศาสตร์”คือหลักประกันว่าสหรัฐฯจะไม่พยายามหยุดยั้งการเจริญเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของจีน ทั้งด้วยการปฏิบัติการแบบบ่อนทำลายภายในประเทศจีน หรือด้วยวิธีปิดล้อมจากภายนอก

เพื่อตอบแทนสิ่งนี้ จีนก็ให้การยอมรับผลประโยชน์เชิงภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯในเอเชีย โดยที่รับรู้ว่าสหรัฐฯนั้นมีฐานะเป็นมหาอำนาจรายหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สิ่งนี้ยังมีความหมายต่อเนื่องไปอีกว่า จีนอาจจะพรักพร้อมให้การสนับสนุนหรือกระทั่งช่วยเหลือการที่อเมริกันจะดำเนินการแทรกแซงต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ นี่เป็นเรื่องที่ทรงความสำคัญมากๆ ในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความเสื่อมถอยทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองอย่างต่อเนื่องของญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นหนึ่งในมหาอำนาจระดับภูมิภาค

กรอบโครงคราวนี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งที่สหรัฐฯกับจีนได้เคยทำกันไว้ ในยุคของเหมาเจ๋อตงและต่อมาก็ในสมัยของเติ้งเสี่ยวผิงในทศวรรษ 1970 ย้อนกลับไปในตอนนั้น จีนตกลงที่จะร่วมมือกับอเมริกันในการปิดล้อมต่อต้านสหภาพโซเวียต และเพื่อเป็นการตอบแทน วอชิงตันก็ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้เงินลงทุนจากโลกตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศจีน ซึ่งตอนแรกเป็นเสมือนการจุดชนวน และต่อมาก็กลายเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเสริมส่งขับดันการเจริญเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของจีนตลอดเวลายี่สิบสามสิบปีหลังจากนั้น

ในคราวนี้ สหรัฐฯสัญญาที่จะให้ความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศ, การบิน, และสิ่งแวดล้อม อันล้วนแต่เป็นเทคโนโลยีประเภทที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งเพื่อกิจการทางพลเรือนและกิจการทางทหาร กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ วอชิงตันกำลังตระเตรียมที่จะยกเลิก (หรือในทางเป็นจริงแล้วก็คือกำลังยกเลิก) มาตรการห้ามส่งห้ามขายอาวุธให้แก่จีน ซึ่งได้ประกาศใช้กันมาภายหลังเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 การส่งออกเทคโนโลยีดังกล่าวเหล่านี้ไปยังจีน สามารถกลายเป็นจุดเริ่มต้นช่วงเวลาแห่งการขยายตัวครั้งใหม่สำหรับอุตสาหกรรมประเภทเหล่านี้ของอเมริกา ซึ่งอาจจะส่งผลพวงต่อเนื่องไปในการฉุดลากสหรัฐฯให้หลุดพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ทั้งนี้ตามแนวทางที่ เดวิด โกลด์แมน และผม ได้เคยเสนอแนะเอาไว้เมื่อ 1 ปีที่แล้วพอดี (ดูเรื่อง US's road to recovery runs through Beijing, Asia Times Online, November 15, 2008)

มองกันในทางยุทธศาสตร์ การให้คำมั่นสัญญาในเชิงหลักการของสหรัฐฯคราวนี้ ดูเหมือนกำลังทำให้จีนเริ่มโหมโรงปรับเปลี่ยนท่าทีในประเด็นปัญหาที่ทางวอชิงตันถือว่าสำคัญมากๆ สำหรับฝ่ายตนรวม 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ อิหร่านและอัฟกานิสถาน

เกี่ยวกับอิหร่าน หูพูดออกมาอย่างเปิดเผยมากเป็นครั้งแรกว่า จีนนั้นคัดค้านการที่อิหร่านกำลังแพร่ขยายทางด้านนิวเคลียร์ นี่อาจจะเป็นการปลดล็อกเปิดประตูสู่การที่ปักกิ่งจะใช้แรงกดดันระลอกใหม่อย่างลับๆ หลังฉากต่อทางการเตหะราน กระนั้นก็ตาม ลักษณะเค้าโครงของการปฏิบัติการนี้ยังคงไม่มีความชัดเจน ขณะที่สิ่งซึ่งจีนสัญญาที่จะกระทำในอัฟกานิสถานนั้นมีความชัดเจนมากกว่านิดหน่อย ทั้งนี้ในอัฟกานิสถานนี่เองที่อเมริกันกำลังติดหล่มจมปลักอยู่ในสงครามอันยากลำบากแสนสาหัส

ปักกิ่งนั้นให้คำมั่นสัญญาที่จะดำเนิน “ปฏิบัติการต่อต้านผู้ก่อการร้าย” ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ เหอย่าเฟย (He Yafei) ของจีนกล่าวในการประชุมแถลงข่าวว่า ปักกิ่งไม่ต้องการที่จะอธิบายแจกแจงรายละเอียดของการให้คำมั่นในเรื่องนี้ แต่มีแหล่งข่าวอื่นๆ หลายรายอ้างว่า จนถึงเวลานี้วอชิงตันกับปักกิ่งยังไม่ถึงกับพูดจากันในเรื่องการส่งทหารจีนเข้าไปในอัฟกานิสถาน แต่ก็กำลังดำเนินการในเรื่องความร่วมมือทางด้านข่าวกรอง ความร่วมมือเช่นนี้อาจจะได้รับการยินยอมเห็นชอบจากปากีสถานแล้วด้วยซ้ำ

ในอัฟกานิสถานนั้น อย่างแรกเลยฝ่ายจีนต้องการให้มีการทำความตกลงทางการเมืองระหว่างผู้เล่นฝ่ายต่างๆ ในระดับท้องถิ่นเสียก่อน จากนั้นจึงจะมาพูดเรื่องการเข้าแทรกแซงทางการทหาร เพื่อให้บรรลุผลตามนี้ ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือการต้องทำให้กลุ่มชาวชนเผ่าที่มีอยู่มากมายหลากหลายกลุ่ม เกิดความมั่นอกมั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับทรัพยากรทางเศรษฐกิจอื่นๆ นอกเหนือจากฝิ่น ซึ่งเวลานี้มีฐานะแป็นแหล่งรายได้หลักของพวกเขา

เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงและการเป็นศัตรูกันระหว่างชาวชนเผ่าหลายหลากกลุ่มเหล่านี้ ขณะที่จะต้องพยายามปิดล้อมจำกัดอิทธิพลพวกตอลิบานส่วนที่เป็นแกนกลางของกลุ่มสุดโต่งต่อต้านตะวันตก ซึ่งก็คือพวกที่มุ่งมั่นเอาเป็นเอาตายกับการก่อการร้าย ทั้งนี้ตามการประเมินของบางฝ่าย พวกหัวรุนแรงระดับเหนียวแน่นไม่มีทางกลับใจ น่าจะมีจำนวนเพียงแค่ราว 6,000 – 7,000 คน ทว่ามีชาวอัฟกัน 11 ล้านคนซึ่งสุดทนกับการที่คนต่างชาติเข้ามาอยู่ในดินแดนของพวกเขา และคนเหล่านี้อาจจะหันอาวุธเข้าสนับสนุนหรือเข้าคัดค้านรัฐบาลที่กรุงคาบูลก็ได้ทั้งนั้น

ถ้าความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯและจีนในประเด็นปัญหาอัฟกานิสถานบังเกิดดอกผล นี่ก็อาจจะนำไปสู่การถอนทหารสหรัฐฯออกไปจากประเทศนั้นในเวลาต่อไป

ทำนองเดียวกับในยุคทศวรรษ 1970 จากการที่จีนและสหรัฐฯสามารถทำข้อตกลงเพื่อความเข้าใจระหว่างกันอย่างไม่เป็นทางการฉบับใหม่ได้ในคราวนี้ เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่จะต้องเป็นผู้สูญเสียก็คือ “สิทธิมนุษยชน” ในประเด็นนี้ คำแถลงร่วมหู-โอบามากล่าวว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนควรจะหาทางแก้ไขกันโดยผ่านการสนทนากัน แต่ขณะเดียวกันก็ควรต้องยอมรับถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างให้การรับรองอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันเมื่อเป็นเรื่อง “ผลประโยชน์ที่เป็นหัวใจ” ของแต่ละฝ่าย

นี่หมายความว่าไม่มีอีกแล้วที่วอชิงตันจะหยิบยกเอาประเด็นสิทธิมนุษยชนมาใช้เป็นเสมือนไม้กระบองทางการเมือง เพื่อเพ่นกระบาลปักกิ่งทุกๆ ครั้งที่นึกอยากจะทำ และที่สำคัญมากคือจะต้องไม่มีการทำเช่นนี้ต่อหน้าสาธารณชน และเนื่องจากการให้คำมั่นในเรื่องนี้เป็นการโอนอ่อนอย่างสำคัญให้แก่จีน ทางปักกิ่งจึงจะต้องมีอะไรตอบแทนสนองคืนอย่างสมน้ำสมเนื้อ

การแถลงหลักการต่างๆ จำนวนมากในคำแถลงร่วมคราวนี้ อยู่ในลักษณะที่กลับกลายเปลี่ยนแปลงไปจากท่าทีร่วมที่ทั้งสองประเทศได้เคยประกาศกันออกมา ในทางเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้ว คุณมีการตกลงกันในเชิงหลักการ แต่ในทางปิดลับหลังฉาก คุณก็เดินหน้าทำความตกลงกันอย่างเป็นรูปธรรม พยายามประคับประคองการเจรจาให้มีความยืดหยุ่นเพื่อที่จะรักษาหน้ากันเอาไว้

ฟรานเซสโก ซิสซี เป็นบรรณาธิการด้านเอเชีย ของหนังสือพิมพ์ ลา สตัมปา ในประเทศอิตาลี
กำลังโหลดความคิดเห็น