xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำ APEC หยุดหวังทำข้อตกลงแก้ “โลกร้อน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ที่จัดขึ้นในสิงคโปร์
เอเอฟพี/เอเจนซี/ASTV ผู้จัดการ - บรรดาผู้นำกลุ่ม “เอเปก” ให้คำมั่นในการประชุมซัมมิตเมื่อวานนี้ (15) จะร่วมมือกันขจัดลัทธิกีดกันการค้าทุกรูปแบบ และประกาศผลักดันยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อการเติบโต หลังต่างต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี พร้อมกันนั้นก็เห็นพ้องให้ที่ประชุมสุดยอดยูเอ็นว่าด้วย “โลกร้อน” ที่โคเปนเฮเกนในเดือนหน้า ควรมีถ้อยแถลงที่แสดงเจตจำนงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาก่อน ขณะที่รายละเอียดทางกฎหมายค่อยไปดำเนินการกันต่อในภายหลัง

การประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ซึ่งจัดเป็นเวลา 2 วันที่สิงคโปร์ได้ปิดฉากลงแล้ววานนี้ โดยสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ที่มีขนาดจีดีพีรวมกันสูงกว่าร้อยละ 54 ของโลก ต่างเห็นพ้องที่สมาชิกจะยังคงไว้ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของตนต่อไป จนกว่าจะเป็นที่ประจักษ์ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้เกิดขึ้นแล้ว โดยบรรดาผู้นำเอเปกยอมรับว่า การใช้มาตรการกระตุ้นเหล่านี้ในระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้าง “ฐานรากแห่งการฟื้นตัว” ให้กับเศรษฐกิจโลก

ระหว่างการประชุม ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯได้พยายามกดดันเหล่าผู้นำจากชาติเอเชียให้แสดงการมีส่วนร่วมในการปรับสมดุลเศรษฐกิจโลกใหม่ ด้วยการเลิกนโยบายที่มุ่งเน้นสร้างรายได้จากการส่งออกเป็นหลักเพียงอย่างเดียวดังเช่นที่ผ่านมา แต่ในทางกลับกันโอบามาเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเวทีซัมมิตคราวนี้เช่นกัน โดยหลายชาติระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯไม่ใส่ใจและเพิกเฉยต่อการค้าเสรี หลังจากพรรคเดโมแครตของโอบามาที่เป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในรัฐสภาอเมริกัน แสดงท่าทีชัดเจนว่า มุ่งหมายแต่จะปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานของคนอเมริกันที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ

ขณะที่ในคำแถลงร่วมที่ประกาศภายหลังการประชุม เหล่าผู้นำเอเปกระบุว่า พวกเขามีจุดยืนร่วมกันที่จะไม่ยอมรับลัทธิกีดกันการค้าในทุกรูปแบบ และจะงดเว้นจากการสร้างมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่ขัดขวางการลงทุนและการค้าในสินค้าและบริการต่างๆ โดยจะมุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อรักษาตลาดการค้าในภูมิภาคให้เปิดกว้างและมีเสรีต่อไป พร้อมประกาศจะเดินหน้าผลักดันการเจรจาเปิดเสรีการค้ารอบโดฮาให้บรรลุผลภายในปี 2010

เนื้อหาตอนหนึ่งในคำแถลงร่วมบอกว่า “เราไม่สามารถหวนกลับไปสู่แนวทางการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมๆ ที่เคยเป็นมาได้อีกต่อไป เราจำเป็นต้องมีแนวทางและยุทธศาสตร์ใหม่ รวมทั้งต้องมีรูปแบบใหม่ของการบูรณาการทางเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันการเติบโตที่มีความสมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน”

ความคืบหน้าเล็กๆ ทางด้านการค้าอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ คือ การที่โอบามาระบุต่อที่ประชุมว่า สหรัฐฯ สนใจการรวมกลุ่ม “หุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก” (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ที่เวลานี้มีสมาชิกอยู่ 4 ราย ได้แก่ บรูไน, ชิลี, นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ ทำให้ผู้นำอีกหลายรายเกิดความหวังว่า วอชิงตันจะลงนามเข้าทีพีพี และดึงให้ชาติอื่นๆ มาร่วมด้วย อันจะทำให้กลุ่มนี้กลายเป็นแกนกลางของการก่อกำเนิดของเขตการค้าเสรีแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่ครอบคลุมประชากร 2,600 ล้านคนต่อไป ถึงแม้จะเป็นการยอมรับกันว่าเขตการค้าเช่นนี้ คงจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีหรือกระทั่งหลายสิบปีกว่าจะเป็นจริงขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ประชุมซึ่งมีทั้งประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดีหูจินเทา ผู้นำจีนที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้นำ 2 ชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดเข้าร่วม มีข้อสรุปว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่จะสามารถจัดทำข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์ได้ภายในการประชุมที่จะจัดขึ้นในกรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์กในเดือนหน้า และดังนั้น ประเทศต่างๆ ควรมีถ้อยแถลงที่แสดงเจตจำนงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาก่อน ขณะที่รายละเอียดทางกฎหมายค่อยไปดำเนินการกันต่อในภายหลัง

ความเคลื่อนไหวคราวนี้มีขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีลาร์ส ล็อกเก ราสมุสเซน แห่งเดนมาร์ก ลงทุนเดินทางมาที่สิงคโปร์พร้อมข้อเสนอแบบรักษาหน้าดังกล่าวเมื่อตอนเช้าวานนี้ เนื่องจากเห็นว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่แทนที่พิธีสารเกียวโตที่กำลังจะหมดอายุลงในปี 2012 ในระหว่างการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกน 7-18 ธันวาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น