เอเอฟพี/ เอเจนซี - หนุ่มเยอรมันใจเหี้ยม ซึ่งก่อเหตุกระหน่ำแทงหญิงตั้งครรภ์ชาวอียิปต์จนเสียชีวิตคาห้องพิจารณาคดี ต่อหน้าสามีและลูกชายวัย 3 ขวบของเหยื่อ ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแล้วเมื่อวานนี้ (11) ถือเป็นคดีฆาตกรรมที่สร้างความโกรธแค้นอย่างหนักในโลกมุสลิม
อเล็กซ์ เวนส์ ผู้ก่อเหตุวัย 28 ปี ซึ่งยอมรับว่า มีทัศนะต่อต้านศาสนาอิสลามและหวาดกลัวชาวต่างชาติ นั่งลงด้วยสีหน้านิ่งเฉย ขณะที่ศาลในเมืองเดรสเดน ทางตะวันออกของเยอรมนี พิพากษาว่า เวนส์ มีความผิดจริง ฐานฆาตกรรมมัรวา อัล เชอร์บินี ซึ่งได้รับการยกย่องในภายหลังว่า “ผู้ยอมพลีชีพเพื่อผ้าคลุมศีรษะ”
รัฐบาลอียิปต์ตอบรับคำตัดสินลงโทษดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นความยุติธรรมมที่สาสมแล้ว
เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคมที่ผ่านมา ณ อาคารศาลแห่งเดียวกัน เวนส์ คว้ามีดทำครัวขนาด 18 เซ็นติเมตร กระหน่ำแทงมัรวาวัย 31 ปี อย่างน้อย 16 ครั้ง โดยขณะนั้นเหยื่อตั้งครรภ์ได้สามเดือน
มุสตาฟา ลูกชายวัย 3 ขวบ มองเห็นมารดาของตัวเองเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา
เอลวี โอกัซ นักพันธุศาสตร์ชาวอียิปต์ สามีของเหยื่อ รีบเข้าไปช่วยภรรยา แต่ถูกแทงเช่นเดียวกัน ซ้ำร้ายยังถูกตำรวจยิงที่ขา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่แน่ใจว่าใครคือผู้ก่อเหตุ
เวนส์ ถูกตัดสินด้วยว่า พยายามฆาตกรรมและทำร้ายร่างกายสามีของมัรวา
“จำเลยเข่นฆ่ามัรวาไม่ใช่เพราะความกลัว แต่เป็นเพราะต้องการแค้นแค้น” ผู้พิพากษากล่าว
ทั้งนี้ตลอดการพิจารณคดี เวนส์ ดื้อดึงไม่ให้ความร่วมมือ โดยไม่ยอมถอดแว่นตาดำ, เอาศีรษะโขกโต๊ะเสียงดัง และกระทืบเท้าตลอดการพิจารณาคดี
ภายหลังการพิพากษา เวนส์ถูกใส่กุญแจมือและนำตัวออกห้องพิจารณาคดี โดยไม่ได้กล่าวอะไร
สำหรับสาเหตุที่ทำให้มัรวาและเวนส์เผชิญหน้ากันในชั้นศาลเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2008 ที่สนามเด็กเล่นแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นมัรวาขอร้องให้เวนส์ลงจากชิงช้า เพื่อให้ลูกของเธอเล่นบ้าง แต่คำขอร้องอย่างไม่เป็นพิษเป็นภัยของเธอกลับถูกตอบโต้ด้วยคำพูดเหยียดหยามดูหมิ่นเป็นชุด ๆ
เวนส์ด่าเธอว่า “พวกก่อการร้าย”, “อิสลามิสต์” และ “โสเภณี” เธอจึงฟ้องร้องเขาในคดีหมิ่นประมาททางวาจา ศาลชั้นต้นตัดสินปรับเวนส์เป็นเงินราว 1,168 ดอลลาร์สหรัฐ
จากเขาจึงยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน ส่งผลให้ทั้งคู่เผชิญหน้ากันอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ
นอกห้องพิจารณาคดี ผู้ชุมนุมราว 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม จัดสำแดงพลัง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรมากกว่านี้ เพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ เฉพาะอย่างยิ่งทางอินเทอร์เน็ต