xs
xsm
sm
md
lg

ทูตอังกฤษยันเมืองไทย “อะเมซิ่ง” ไม่เหมือนที่ทูตคนก่อนกล่าวหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ควินตัน เควลย์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน
เอเอฟพี – ทูตควินตัน เควลย์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยคนปัจจุบันออกตัวแทนคนไทย หลังอดีตทูตคนก่อน ตั้งแต่สมัยปี 1960 ออกมาเปิดเผยกับสื่อแดนผู้ดีโจมตีว่า คนไทยไม่มีวัฒนธรรม และทุกอย่างถูกผลักดันด้วยเซ็กซ์

“มุมมองของผมแตกต่างจากท่านทูตคนก่อน เมื่อ 42 ปีที่แล้ว” ท่านทูตเควลย์กล่าวเป็นภาษาไทย หลังดำรงตำแหน่งปัจจุบันมานาน 2 ปี พร้อมยกย่องประเทศไทยว่าเป็น “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์”

ในสาส์นจากทูตอังกฤษถึงสื่อมวลชนไทยวานนี้ (20) ระบุว่า “ผมเคยมาทำงานที่สถานทูตอังกฤษเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมยังคงหวังที่จะกลับมาเป็นทูตที่ประเทศไทย เพราะรู้สึกประทับใจในประวัติศาสตร์อันยาวนาน และวัฒนธรรมไทยซึ่งมีคุณค่ามาก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของศิลปกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ดนตรี และการฟ้อนรำ”

“อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก ทูตทุกคนที่ประจำในประเทศไทยต่างรู้สึกดีใจเมื่อเห็นความสวยงามของประเทศไทย เสน่ห์ และอัธยาศัยไมตรีอันดีงามของคนไทยทุกคน” เขาเสริม

ขณะที่ นางสาววิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า รัฐบาลจะไม่ตอบโต้การแสดงความคิดเห็นอย่างเสียดสีของเซอร์แอนโธนี รัมโบลด์ อดีตทูตคนก่อน ซึ่งเปิดเผยกับสถานีวิทยุบีบีซี เมื่อวันอังคาร (20) ที่ผ่านมา โดยเธอระบุว่า นั่นเป็นเพียงแค่ความคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งขึ้นอยู่กับอคติของตัวเขาเอง ไม่ได้เป็นคำพูดของทางการ

สำหรับรายการของทางวิทยุบีบีซีได้เปิดเผยคำพูดของรัมโบลด์ ที่เคยรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 1965-1967 เป็นสาส์นครั้งสุดท้ายในกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ ก่อนเขาจะออกจากตำแหน่ง

รัมโบล์ดระบุไว้ในสาส์นดังกล่าวว่า “พวกเขาไม่มีวรรณกรรม ไม่มีภาพเขียน และมีแต่ดนตรีประเภทที่เก่ามากๆ ประติมากรรม เซรามิก หรือการร่ายรำของพวกเขาก็ยืมมาจากประเทศอื่น และสถาปัตยกรรมของพวกเขาก็ราบเรียบ และมีการตกแต่งภายในที่น่าเกลียด”

“ไม่มีใครปฏิเสธว่าการพนัน และการเล่นกอล์ฟเป็นความเพลิดเพลินใจสูงสุดของคนรวย และความมักมากในกามก็เป็นความเพลิดเพลินใจของพวกเขาส่วนใหญ่”

รัมโบล์ดยังเสริมว่า ระดับสติปัญญาโดยทั่วไปของคนไทยนั้นค่อนข้างต่ำ, ต่ำกว่าของคนในประเทศเราเยอะทีเดียว และก็ต่ำกว่าของคนจีนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น