(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)
Great expectations
By Chris Cook
14/10/2009
ปฏิกิริยาอันหลากหลายที่มีต่อการที่บารัค โอบามา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ อันเป็นเครื่องสะท้อนถึงความหวังที่ผู้คนมีต่อศักยภาพที่เขาอาจมีอยู่ในตัว ตลอดจนความเคลือบแคลงใจต่อสิ่งที่เขาได้ทำผ่านมา ทั้งนี้ ในอันที่จะสร้างความชอบธรรมแก่ความเชื่อมั่นที่สถาบันโนเบลให้แก่เขานั้น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต้องเริ่มดำเนินการแก้ปัญหาระบบการเงินโลก กับการดำเนินนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างสันติภาพแก่โลก ซึ่งทั้งปวงนี้สามารถเป็นจริงได้ด้วยเครื่องมือสำคัญ นั่นคือ พลังงานนี่เอง
ปฏิกิริยาแรกเมื่อผมอ่านข่าวรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่มอบแก่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเพิ่งได้ปฏิบัติภารกิจเพียง 9 เดือน ก็คือความฉงนฉงาย งวยงง และแม้ในปฏิกิริยาที่สองและสาม ผมก็ยังคงฉงนฉงาย งวยงงอยู่นั่นเอง กระนั้นก็ตาม ของมันอาจเป็นไปได้ว่า รางวัลนี้มิได้มอบเพื่อเชิดชูสิ่งที่ท่านประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้ทำไป หากเป็นเพื่อสิ่งที่คณะกรรมการแห่งนอร์เวย์ตั้งหวังว่าท่านจะทำมันขึ้นมา
โอบามาต้องเผชิญกับสารพัดปัญหาความท้าทายใหญ่หลวง โดยมีสามเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งลงมือ ได้แก่ ในประการแรก ปัญหาวิกฤตการเงินที่แผลงฤทธิ์อยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับคุกคามฐานะความเป็นจ้าวโลกของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นสกุลเงินสำหรับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของชาติต่างๆ ทั่วโลก ประการที่สอง ปัญหาระอุร้อนเกี่ยวกับข้อตกลงที่จะผลักดันออกมาจากเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงโคเปนเฮเกน ในเดือนสองเดือนข้างหน้า ซึ่งเล็งกันว่าจะต้องดำเนินการสร้างข้อตกลงใหม่ให้สำเร็จเพื่อใช้แทนพิธีสารเกียวโต และประการที่สาม ปัญหาว่าด้วยแนวทางการรับมือกับความทะเยอทยานของอิหร่านในด้านพลังงานนิวเคลียร์ ในการนี้ โอบามากำหนดภารกิจของตนเองไว้ว่าจะจัดการปัญหาเหล่านี้ให้ได้ทั้งหมดภายในปลายปีแรกของการเป็นประธานาธิบดี
นับเป็นความกล้าหาญที่จะตั้งฝันโดยแท้ในแบบฉบับเดียวกับที่เจ้าตัวตั้งชื่อหนังสือเล่มที่สองของตนว่า ความกล้าหาญที่จะตั้งฝัน (Audacity of Hope) ในอันที่จะเสนอเจตนารมย์แห่งการสมัครเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในการนี้ อาจมีแนวทางแก้ปัญหาให้เลือกใช้ในรูปแบบที่เรียบๆ ง่ายๆ พร้อมกับเป็นทางแก้ปัญหาที่ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างเอกอุ เพราะจะต้องเอาชนะความท้าทายทั้งสามประการเหล่านี้ให้ได้
**อัสดงแห่งเงินดอลลาร์**
ปฏิกิริยาของตลาดต่อข้อเขียนของโรเบิร์ต ฟิสก์ ที่ตีพิมพ์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ในนสพ.อินดีเพนเดนท์ สะท้อนว่าตลาดเห็นพ้องกับเขาในมุมมองที่ว่า การประชุมระดับสูงหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เป็นไปเพื่อหาของใหม่มาทำหน้าที่แทนเงินดอลลาร์ในการเป็นเงินทุนสำรอง ทั้งนี้ ในพื้นที่อันปลอดจากศีลธรรมจรรยา ทุกคนต่างตระหนักกันมานานแล้วว่าการถือเงินดอลลาร์เพื่อการลงทุนระยะยาวนั้นไม่อาจปลอดภัยได้ และเมื่อตลาดการเงินโลกมีตัวแทนให้เลือกใช้ ตลาดจะปรับตัวได้อย่างราบรื่นเพียงใด
ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งที่ข้อเขียนของฟิสก์บรรลุความสำเร็จ ก็เห็นจะเป็นเรื่องของการเปิดประเด็นอีกครั้งหนึ่งให้แก่ปัญหาที่ดูเสมือนว่าได้รับการแก้ไขจนยุติไปแล้ว ซึ่งก็คือประเด็นที่ว่าด้วยบทบาทและหน้าที่ของเงินดอลลาร์ในการเป็นเงินทุนสำรอง ในการนี้ อันที่จริงแล้วมันเป็นข้อถกเถียงจอมเจ้าปัญหา ในเมื่อมันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของเงินที่ว่าเมื่อนักเศรษฐศาสตร์ 100 นายมาให้ความเห็น เราก็อาจจะได้รับความเห็นสัก 100 ชุดที่ผิดแผกกันไปต่างๆ นานา
ด้วยประสบการณ์ทางการตลาดร่วม 25 ปี ผมอยากจะจัดการกับเรื่องนี้ในทางที่ปฏิบัติได้จริง มากกว่าจะมาพูดกันด้วยทฤษฎี ผมเล็งเห็นว่าสกุลเงินที่ใช้เป็นตัวกลางในธุรกรรมทั้งหลายนั้นค่อนข้างจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นยอมให้ใช้สกุลเงินได้อย่างกว้างขวาง ประเด็นสำคัญสำหรับฝั่งผู้บริโภคคือ ศักยภาพในการชำระเงินได้จริงในอนาคต และสำหรับฝั่งผู้ผลิตคือ สินทรัพย์ประเภทใด สกุลเงินใด สถานที่ใดบ้าง ที่น่าจะนำทรัพย์ของตนเข้าไปร่วมวงไพบูลย์เพื่อรับกำรี้กำไรกลับมาได้มากๆ
ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ในสองสถาน กล่าวคือ ในประการแรก มันทำหน้าที่เป็นหน่วยวัด หรือเป็นตัวอ้างอิงด้านราคา หรือก็คือ การเป็นมาตรการด้านมูลค่า และในประการที่สอง มันเป็นแหล่งสะสมมูลค่า เงินดอลลาร์ในฐานะที่เป็นเสมือนใบกู้ยืม (IOU) ได้รับการหนุนหลังอยู่ด้วยเงินภาษีที่รัฐบาลอเมริกันเก็บภาษีจากประชาชน และจากความเชื่อมั่นที่โลกมีต่อรัฐบาลอเมริกัน มิใช่การหนุนหลังจากสิ่งของทรงมูลค่าประเภทอื่น อาทิ ทองคำ แร่เงิน หรือเกลือ
ปัญหานั้นมีอยู่ว่า ปัจจุบันนี้ ปริมาณเงินภาษีที่รัฐบาลอเมริกันเก็บจากประชาชนนั้นไม่ได้มหาศาลดั่งที่มันเคยเป็นมา ขณะที่ยอดขาดดุลการคลังอันมโหฬารของสหรัฐฯ ได้ถูกผสานเข้ากับความระแวงของโลกว่าสหรัฐฯ ไม่มีทางหลุดจากภาวะขาดดุลร้ายแรงนิรันดร์กาลได้แน่ ดังนั้น ประเด็นว่าด้วยผู้สืบทอดบทบาทแทนดอลลาร์จึงผุดพรวดขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนในเวทีมหาอำนาจทั้งหลาย
**สถานการณ์หลังหมดยุคดอลลาร์**
มีคำแนะนำอยู่มากมายเกี่ยวกับการหาผู้ทำหน้าที่แทนดอลลาร์ บ้างสนับสนุนเงินยูโร บ้างสนับสนุนเงินหยวน ให้มาทำหน้าที่เงินทุนสำรองของโลก แต่เหล่าผู้ที่เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้จะรู้ซึ้งว่า การมาเป็นชาติที่ผลิตสกุลเงินทุนสำรองให้แก่โลก หมายถึงการรับบทเป็นเดอะลูกหนี้แห่งมวลมนุษยชาติ
ที่ผ่านมา ข้อเสนอส่วนใหญ่จัดทำขึ้นในแนวทางของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ที่ให้คำแนะนำไว้ในปี 1944 ณ เวทีการประชุมเบรทตัน วู้ดส์ ซึ่งได้แก่การมีหน่วยงานระดับโลกอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทำหน้าที่ผลิตวัตถุเชิงเครดิตประเภทใบกู้ยืม (IOU) ซึ่งเคนส์เรียกว่า bancor มาทำหน้าที่ทั้งการเป็นหน่วยวัดและการเป็นแหล่งสะสมมูลค่าที่จะใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ทรงคุณค่าต่างๆ ในทุกพื้นที่ทั่วโลก
โรเบิร์ต ฟิสก์เสนอแนะว่าการหารือในเวทีระดับสูงที่เกิดขึ้นระยะนี้มองไปที่การสนับสนุนให้ใช้สกุลเงินดังกล่าวผสานกับการหนุนหลังด้วยทองคำและการใช้ระบบตะกร้าเงินที่ถือปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป ยิ่งกว่านั้น ยังมีข้อเสนอของเบอร์นาร์ด ลีแทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน สนับสนุนให้ใช้ “เทอร์รา” ซึ่งหนุนหลังอยู่ด้วยระบบตะกร้าสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนั้น มีผู้สนับสนุนจำนวนมากให้ใช้ทองคำเป็นตัวหนุนหลังสกุลเงิน และกลับไปใช้ “มาตรฐานทองคำ” ฯลฯ
ผมขอเสนอวิธีที่แตกต่างจากทุกฝ่าย คือการแยกแยะระหว่างมาตรฐานมูลค่าที่เราใช้อยู่ขณะนี้ ออกจากสกุลเงินที่เราซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยมีการสร้างตัวอ้างอิงไว้เป็นมาตรฐาน
ประการแรก คือการสร้างหน่วยวัดพลังงานเป็นจำนวนที่กำหนดแน่นอน – เช่น มูลค่าพลังงานจำนวนหนึ่งลิตรน้ำมัน หรือ ค่าเทียบเท่าในการวัดพลังงานไฟฟ้าเป็นกิโลวัตต์-ชั่วโมง - นี้จะเป็นตัวอ้างอิงราคาได้เป็นอย่างดี คนส่วนใหญ่สามารถเชื่อมโยงกับตัวอ้างอิงนี้ได้ โดยที่ว่าตัวหน่วยจะใช้ชื่อว่าเพตโทร หรืออีเล็กโทร หรือ ดอลลาร์พลังงาน ก็ได้ทั้งสิ้น
ประการที่สอง จำเป็นจะต้องมีหน่วยสกุลเงินที่เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศเพื่อเป็นแหล่งสะสมมูลค่า ในการนี้ หน่วยเงินที่สามารถไถ่ถอนเป็นมูลค่าของค่าเช่าที่ดินอาจเป็นสกุลเงินที่ยอมรับได้ในระดับประเทศ แต่สำหรับหน่วยเงินที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนในระดับระหว่างประเทศควรจะเป็นหน่วยที่อ้างอิงอยู่กับพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานบริสุทธิ์ ตลอดจนหน่วยที่อ้างอิงอยู่กับเชื้อเพลิงจำพวกคาร์บอน เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าซ ฯลฯ
สำหรับในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจบนฐานของพลังงานทดแทน ผมขอเสนอว่าผู้ผลิตพลังงานควรออกหน่วยเงินที่ไถ่ถอนเป็นเชื้อเพลิงอิงบนคาร์บอน และอาจสร้างหน่วยเงินที่ยอมใช้กันทั่วโลกในรูปของหน่วยเงินที่ไถ่ถอนเป็นก๊าซธรรมชาติ และเบนซิน
หน่วยเงินที่ไถ่ถอนเป็นพลังงานไฟฟ้าจะมีราคาที่กำหนดกันเป็นอัตราแน่นอน โดยอิงอยู่กับมาตรฐานพลังงานของโลก สกุลเงินที่อยู่บนฐานของคาร์บอนอาจมีราคาที่ค่อนข้างชัดเจนและมั่นคงในรูปของมูลค่าพลังงาน และเพื่อให้กระจ่างชัด หน่วยเงินเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในรูปของเงินสกุลเพตโทรหรือเงินสกุลดอลลาร์พลังงาน แต่เป็นหน่วยเงินที่มีราคาที่ตราลงเป็นเท่านั้นเท่านี้เพตโทรหรือเท่านั้นเท่านี้ดอลลาร์พลังงาน
ดังนั้น ในตอนแรกเลย เราควรกำหนดราคาของดอลลาร์ ยูโร และหยวนในมูลค่าพลังงาน แทนที่จะเป็นการตีราคาพลังงานลงเป็นดอลลาร์ ยูโร และหยวน แล้วในอันดับที่สอง เราควรกำหนดมูลค่าพลังงานลงไปว่าหน่วยละเท่าไรผ่านการกำหนดมูลค่ากลางอย่างพื้นๆ ธรรมดาๆ ว่าผู้ผลิตพลังงานจะออกหน่วยมูลค่าได้เท่าไรเมื่อเทียบกับพลังงานที่ผลิตออกมา – โดยดำเนินการในกรอบของทรัสต์ที่มีกฎหมายรองรับอย่างเหมาะสม หรือในรูปของสหภาพการชำระบัญชีมูลค่าพลังงาน
**โคเปนเฮเกน**
เมื่อคิดจะใช้พลังงานเป็นตัวอ้างอิงมูลค่า ประเด็นว่าด้วยผลกระทบระหว่างการผลิตพลังงานกับสภาพภูมิอากาศจึงไม่อาจไม่เอ่ยถึง
ผลจากการเจรจาว่าด้วยการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ณ เวทีการประชุมที่กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ไม่สู้จะให้ความหวังอะไรนักแก่ข้อตกลงที่จะทำกันในการประชุมใหญ่ที่โคเปนเฮเกน สงครามจรยุทธ์ที่ดำเนินอยู่ในระหว่างชาติพัฒนาแล้วกับชาติกำลังพัฒนาในประเด็นว่าใครควรแบกภาระนั้น ชวนให้นึกถึงคนขาเดี้ยงสองคนที่ฟาดฟันกันในเรื่องของไม้ค้ำยัน
สิ่งที่ทุกคนมองข้ามคือ การประหยัดการบริโภคพลังงาน ซึ่งรวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ต้องทำกันไม่เฉพาะประเทศที่บริโภคเท่านั้น แต่ยังควรรวมถึงประเทศผู้ผลิตพลังงานด้วย ผู้ใดก็ตามที่อยากจะเห็นผลกระทบจากการที่น้ำมันมีราคาแค่ลิตรละ 10 เซนต์สหรัฐฯ จะต้องไปดูที่กรุงเตหะราน สถานที่ซึ่งแม้แต่นกกาก็ยังตีจากเนื่องจากสภาพอากาศนั้นย่ำแย่มาก อันที่จริงแล้ว ชาติที่ผลิตพลังงานทุกรายมีการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองอย่างมหาศาลสุดๆ เพราะมีพลังงานให้ใช้กันแบบถูกสตางค์เหมือนได้เปล่า โดยที่รัฐบาลก็มีการอุดหนุนเรื่องนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อมคิดเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไม่มีผู้ใดในประเทศนึกถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การสร้างหน่วยวัดมูลค่าให้แก่พลังงานอย่างถูกต้องจะช่วยแก้ปัญหาได้ ผู้ผลิตพลังงานสามารถที่จะค่อยๆ เพิ่มราคาหน่วยพลังงานคาร์บอนภายในประเทศขึ้นสู่ระดับราคาตลาดโลก พร้อมกับหลีกเลี่ยงการปฏิวัตินองเลือดโดยแจกจ่ายหน่วยเงินที่มีมูลค่าที่ไถ่ถอนเป็นพลังงานได้นี้ให้แก่ประชาชน พอถึงตรงนี้ ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยไปตามที่เคยชินและยอมแลกกับการเสียโอกาสที่จะนำหน่วยเงินพลังงานไปใช้ในทรัพย์ประเภทอื่น หรืออาจจะนำหน่วยพลังงานที่มีมูลค่านี้ไปแลกเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย อาหาร หรือกระทั่งทีวีดาวเทียมจอแบนจากไต้หวันที่เห็นข้างบ้านเขามีใช้กันก็ได้
ชาติผู้บริโภคพลังงานก็จะค่อยๆ เพิ่มราคาพลังงานคาร์บอนผ่านการเก็บภาษีศุลกากรคาร์บอน โดยอาจทยอยเพิ่มภาษีไปจนถึงระดับ 10 ดอลลาร์ต่อเบนซินหนึ่งแกลลอน ในเวลาเดียวกันก็อาจจะชดเชยผู้บริโภคด้วยหน่วยมูลค่าที่ไถ่ถอนเป็นพลังงานได้ ส่วนหนึ่งของภาษีศุลกากรจะนำมาตั้งกองทุน Carbon Pool (ผ่านเงินกู้เพื่อพลังงานซึ่งปลอดดอกเบี้ย) เพื่อใช้กับการลงทุนโดยตรงในการสร้างพลังงานทดแทน (megawatts) และในการประหยัดพลังงาน (negawatts) กองทุน Carbon Pool แบบนี้ ในไม่ช้าจะเป็นแหล่งสร้างเงินปันผลพลังงานให้แก่ทุกคน
คุณค่าของการให้ทุนสนับสนุนพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานโดยระบบสร้างหน่วยมูลค่าขึ้นมานี้ อยู่ในจุดที่ว่า มูลค่าที่ได้รับสะสมไว้นั้น เป็นหน่วยพลังงานที่ไม่ต้องเสียต้นทุนในวันนี้เพื่อการไถ่ถอนในวันหน้าเลย มันง่ายและทรงคุณค่าโดยไม่ต้องยุ่งยากเท่ากับการสร้างจรวดสำรวจดวงดาว
**จากโคเปนเฮเกน ถึงเตหะราน**
มันเป็นเรื่องขบขันกันมากในกรุงเตหะรานเมื่อตุลาคมปีที่แล้วที่ว่า การคว่ำบาตรทางการเงินต่ออิหร่านได้ส่งผลเป็นตรงกันข้ามกับเจตนารมย์ดั้งเดิม คือแทนที่จะเป็นการลงโทษอิหร่าน มันกลับเป็นการช่วยป้องกันอิหร่านจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกเสื่อมถอย และในอีกด้านหนึ่งคือการที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านเพื่อมุ่งปิดกั้นข้อมูลสารสนเทศและการติดต่อสื่อสารต่างๆ กลับกลายเป็นการช่วยกางกั้นผู้คนในอิหร่านจากพิษภัยของโลกภายนอก ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้สันทัดกรณีมองว่าเป็นประโยชน์แก่ทุกคน
สำหรับการคว่ำบาตรที่เสนอกันในปัจจุบันในด้านน้ำมันนั้น มันจะเอื้อแก่รัฐบาลอิหร่านในการลดการบริโภคน้ำมันภายในประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลอิหร่านก็เร่งรีบอยากดำเนินการอยู่ นอกจากนั้น มันจะเพิ่มกำไรแก่ผู้ที่มีสิทธิพิเศษที่จะเข้าถึงและควบคุมแหล่งน้ำมันได้ แน่นอนว่า เจ้าซาตานมหาวายร้ายและเหล่าพันธมิตรยุโรปจะตกเป็นเหยื่อถูกตำหนิติเตียน ทั้งนี้ การเล่นมุขชาตินิยมมีแต่จะให้ผลดีในทางการเมือง ซึ่งอิหร่านก็มิใช่ข้อยกเว้น
ในเชิงนโยบายแล้ว มาตรการคว่ำบาตรนับว่าออกจะบื้อทีเดียว และการคว่ำบาตรในประเด็นน้ำมันต่ออิหร่านเป็นเรื่องบื้อมหากาฬ และโอบามาก็มิได้บื้อถึงปานนั้น
นโยบายที่แสดงปัญญาให้ได้เห็นกันคือการช่วยอิหร่านผันตัวจากระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ และจากระบบเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับทรัพยากรคาร์บอน สู่ระบบเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับพลังงานทดแทน แนวทางสำหรับเรื่องแรกก็คือการเร่งขยายระบบการกระจายเสียงกระจายภาพแบบครบเครื่องครบวงจร และการสร้างความแพร่หลายในด้านอินเทอร์เน็ต ส่วนแนวทางสำหรับเรื่องหลังก็คื การสร้างหน่วยเงินที่อิงกับมูลค่าพลังงาน และทำให้สิ่งที่สูญเปล่าอย่างมหาศาลในขณะนี้ เกิดคุณค่าขึ้นมา
แต่ต้องไม่ลืมว่า แม้พลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานสามารถเป็นสิ่งมีมูลค่าเชิงการเงินเมื่อสร้างมาตรวัดพลังงานขึ้นมานั้น แนวทางแบบนี้ไม่เหมาะกับพลังงานนิวเคลียร์ เมื่อคำนึงถึงวงจรชีวิตของตัวเชื้อเพลิง ตั้งแต่การขุดเจาะหาแร่ยูเรเนียม ไปถึงระบบกำจัดกาก และขณะนี้ อิหร่านกำลังเรียนรู้บทเรียนอันสาหัสในเชิงเศรษฐกิจจากพลังงานนิวเคลียร์ ในเรื่องนี้ โลกควรช่วยอิหร่าน
ผมเชื่อว่าโอบามามีโอกาสที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่ตนได้รับมา โดยในสองสามเดือนข้างหน้าโอบามาต้องเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับระบบการเงินโลก กับการดำเนินนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างสันติภาพแก่โลก ซึ่งทั้งปวงนี้สามารถเป็นจริงได้ด้วยเครื่องมือสำคัญ นั่นคือ พลังงานนี่เอง
สหรัฐฯ ควรใช้การทูตผ่านพลังงานและองค์ความรู้ เพื่อเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจบนฐานพลังงานโลก ซึ่งองค์ประกอบสำคัญก็คือ การนำมาตรฐานพลังงานมาใช้นั่นเอง
คริส คุ้ก เป็นอดีตผู้อำนวยการตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า “International Petroleum Exchange” ปัจจุบันนี้ เขาเป็นที่ปรึกษากลยุทธ์ตลาด เป็นผู้ประกอบการ และเป็นนักวิเคราะห์
Great expectations
By Chris Cook
14/10/2009
ปฏิกิริยาอันหลากหลายที่มีต่อการที่บารัค โอบามา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ อันเป็นเครื่องสะท้อนถึงความหวังที่ผู้คนมีต่อศักยภาพที่เขาอาจมีอยู่ในตัว ตลอดจนความเคลือบแคลงใจต่อสิ่งที่เขาได้ทำผ่านมา ทั้งนี้ ในอันที่จะสร้างความชอบธรรมแก่ความเชื่อมั่นที่สถาบันโนเบลให้แก่เขานั้น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต้องเริ่มดำเนินการแก้ปัญหาระบบการเงินโลก กับการดำเนินนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างสันติภาพแก่โลก ซึ่งทั้งปวงนี้สามารถเป็นจริงได้ด้วยเครื่องมือสำคัญ นั่นคือ พลังงานนี่เอง
ปฏิกิริยาแรกเมื่อผมอ่านข่าวรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่มอบแก่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเพิ่งได้ปฏิบัติภารกิจเพียง 9 เดือน ก็คือความฉงนฉงาย งวยงง และแม้ในปฏิกิริยาที่สองและสาม ผมก็ยังคงฉงนฉงาย งวยงงอยู่นั่นเอง กระนั้นก็ตาม ของมันอาจเป็นไปได้ว่า รางวัลนี้มิได้มอบเพื่อเชิดชูสิ่งที่ท่านประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้ทำไป หากเป็นเพื่อสิ่งที่คณะกรรมการแห่งนอร์เวย์ตั้งหวังว่าท่านจะทำมันขึ้นมา
โอบามาต้องเผชิญกับสารพัดปัญหาความท้าทายใหญ่หลวง โดยมีสามเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งลงมือ ได้แก่ ในประการแรก ปัญหาวิกฤตการเงินที่แผลงฤทธิ์อยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับคุกคามฐานะความเป็นจ้าวโลกของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นสกุลเงินสำหรับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของชาติต่างๆ ทั่วโลก ประการที่สอง ปัญหาระอุร้อนเกี่ยวกับข้อตกลงที่จะผลักดันออกมาจากเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงโคเปนเฮเกน ในเดือนสองเดือนข้างหน้า ซึ่งเล็งกันว่าจะต้องดำเนินการสร้างข้อตกลงใหม่ให้สำเร็จเพื่อใช้แทนพิธีสารเกียวโต และประการที่สาม ปัญหาว่าด้วยแนวทางการรับมือกับความทะเยอทยานของอิหร่านในด้านพลังงานนิวเคลียร์ ในการนี้ โอบามากำหนดภารกิจของตนเองไว้ว่าจะจัดการปัญหาเหล่านี้ให้ได้ทั้งหมดภายในปลายปีแรกของการเป็นประธานาธิบดี
นับเป็นความกล้าหาญที่จะตั้งฝันโดยแท้ในแบบฉบับเดียวกับที่เจ้าตัวตั้งชื่อหนังสือเล่มที่สองของตนว่า ความกล้าหาญที่จะตั้งฝัน (Audacity of Hope) ในอันที่จะเสนอเจตนารมย์แห่งการสมัครเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในการนี้ อาจมีแนวทางแก้ปัญหาให้เลือกใช้ในรูปแบบที่เรียบๆ ง่ายๆ พร้อมกับเป็นทางแก้ปัญหาที่ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างเอกอุ เพราะจะต้องเอาชนะความท้าทายทั้งสามประการเหล่านี้ให้ได้
**อัสดงแห่งเงินดอลลาร์**
ปฏิกิริยาของตลาดต่อข้อเขียนของโรเบิร์ต ฟิสก์ ที่ตีพิมพ์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ในนสพ.อินดีเพนเดนท์ สะท้อนว่าตลาดเห็นพ้องกับเขาในมุมมองที่ว่า การประชุมระดับสูงหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เป็นไปเพื่อหาของใหม่มาทำหน้าที่แทนเงินดอลลาร์ในการเป็นเงินทุนสำรอง ทั้งนี้ ในพื้นที่อันปลอดจากศีลธรรมจรรยา ทุกคนต่างตระหนักกันมานานแล้วว่าการถือเงินดอลลาร์เพื่อการลงทุนระยะยาวนั้นไม่อาจปลอดภัยได้ และเมื่อตลาดการเงินโลกมีตัวแทนให้เลือกใช้ ตลาดจะปรับตัวได้อย่างราบรื่นเพียงใด
ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งที่ข้อเขียนของฟิสก์บรรลุความสำเร็จ ก็เห็นจะเป็นเรื่องของการเปิดประเด็นอีกครั้งหนึ่งให้แก่ปัญหาที่ดูเสมือนว่าได้รับการแก้ไขจนยุติไปแล้ว ซึ่งก็คือประเด็นที่ว่าด้วยบทบาทและหน้าที่ของเงินดอลลาร์ในการเป็นเงินทุนสำรอง ในการนี้ อันที่จริงแล้วมันเป็นข้อถกเถียงจอมเจ้าปัญหา ในเมื่อมันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของเงินที่ว่าเมื่อนักเศรษฐศาสตร์ 100 นายมาให้ความเห็น เราก็อาจจะได้รับความเห็นสัก 100 ชุดที่ผิดแผกกันไปต่างๆ นานา
ด้วยประสบการณ์ทางการตลาดร่วม 25 ปี ผมอยากจะจัดการกับเรื่องนี้ในทางที่ปฏิบัติได้จริง มากกว่าจะมาพูดกันด้วยทฤษฎี ผมเล็งเห็นว่าสกุลเงินที่ใช้เป็นตัวกลางในธุรกรรมทั้งหลายนั้นค่อนข้างจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นยอมให้ใช้สกุลเงินได้อย่างกว้างขวาง ประเด็นสำคัญสำหรับฝั่งผู้บริโภคคือ ศักยภาพในการชำระเงินได้จริงในอนาคต และสำหรับฝั่งผู้ผลิตคือ สินทรัพย์ประเภทใด สกุลเงินใด สถานที่ใดบ้าง ที่น่าจะนำทรัพย์ของตนเข้าไปร่วมวงไพบูลย์เพื่อรับกำรี้กำไรกลับมาได้มากๆ
ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ในสองสถาน กล่าวคือ ในประการแรก มันทำหน้าที่เป็นหน่วยวัด หรือเป็นตัวอ้างอิงด้านราคา หรือก็คือ การเป็นมาตรการด้านมูลค่า และในประการที่สอง มันเป็นแหล่งสะสมมูลค่า เงินดอลลาร์ในฐานะที่เป็นเสมือนใบกู้ยืม (IOU) ได้รับการหนุนหลังอยู่ด้วยเงินภาษีที่รัฐบาลอเมริกันเก็บภาษีจากประชาชน และจากความเชื่อมั่นที่โลกมีต่อรัฐบาลอเมริกัน มิใช่การหนุนหลังจากสิ่งของทรงมูลค่าประเภทอื่น อาทิ ทองคำ แร่เงิน หรือเกลือ
ปัญหานั้นมีอยู่ว่า ปัจจุบันนี้ ปริมาณเงินภาษีที่รัฐบาลอเมริกันเก็บจากประชาชนนั้นไม่ได้มหาศาลดั่งที่มันเคยเป็นมา ขณะที่ยอดขาดดุลการคลังอันมโหฬารของสหรัฐฯ ได้ถูกผสานเข้ากับความระแวงของโลกว่าสหรัฐฯ ไม่มีทางหลุดจากภาวะขาดดุลร้ายแรงนิรันดร์กาลได้แน่ ดังนั้น ประเด็นว่าด้วยผู้สืบทอดบทบาทแทนดอลลาร์จึงผุดพรวดขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนในเวทีมหาอำนาจทั้งหลาย
**สถานการณ์หลังหมดยุคดอลลาร์**
มีคำแนะนำอยู่มากมายเกี่ยวกับการหาผู้ทำหน้าที่แทนดอลลาร์ บ้างสนับสนุนเงินยูโร บ้างสนับสนุนเงินหยวน ให้มาทำหน้าที่เงินทุนสำรองของโลก แต่เหล่าผู้ที่เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้จะรู้ซึ้งว่า การมาเป็นชาติที่ผลิตสกุลเงินทุนสำรองให้แก่โลก หมายถึงการรับบทเป็นเดอะลูกหนี้แห่งมวลมนุษยชาติ
ที่ผ่านมา ข้อเสนอส่วนใหญ่จัดทำขึ้นในแนวทางของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ที่ให้คำแนะนำไว้ในปี 1944 ณ เวทีการประชุมเบรทตัน วู้ดส์ ซึ่งได้แก่การมีหน่วยงานระดับโลกอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทำหน้าที่ผลิตวัตถุเชิงเครดิตประเภทใบกู้ยืม (IOU) ซึ่งเคนส์เรียกว่า bancor มาทำหน้าที่ทั้งการเป็นหน่วยวัดและการเป็นแหล่งสะสมมูลค่าที่จะใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ทรงคุณค่าต่างๆ ในทุกพื้นที่ทั่วโลก
โรเบิร์ต ฟิสก์เสนอแนะว่าการหารือในเวทีระดับสูงที่เกิดขึ้นระยะนี้มองไปที่การสนับสนุนให้ใช้สกุลเงินดังกล่าวผสานกับการหนุนหลังด้วยทองคำและการใช้ระบบตะกร้าเงินที่ถือปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป ยิ่งกว่านั้น ยังมีข้อเสนอของเบอร์นาร์ด ลีแทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน สนับสนุนให้ใช้ “เทอร์รา” ซึ่งหนุนหลังอยู่ด้วยระบบตะกร้าสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนั้น มีผู้สนับสนุนจำนวนมากให้ใช้ทองคำเป็นตัวหนุนหลังสกุลเงิน และกลับไปใช้ “มาตรฐานทองคำ” ฯลฯ
ผมขอเสนอวิธีที่แตกต่างจากทุกฝ่าย คือการแยกแยะระหว่างมาตรฐานมูลค่าที่เราใช้อยู่ขณะนี้ ออกจากสกุลเงินที่เราซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยมีการสร้างตัวอ้างอิงไว้เป็นมาตรฐาน
ประการแรก คือการสร้างหน่วยวัดพลังงานเป็นจำนวนที่กำหนดแน่นอน – เช่น มูลค่าพลังงานจำนวนหนึ่งลิตรน้ำมัน หรือ ค่าเทียบเท่าในการวัดพลังงานไฟฟ้าเป็นกิโลวัตต์-ชั่วโมง - นี้จะเป็นตัวอ้างอิงราคาได้เป็นอย่างดี คนส่วนใหญ่สามารถเชื่อมโยงกับตัวอ้างอิงนี้ได้ โดยที่ว่าตัวหน่วยจะใช้ชื่อว่าเพตโทร หรืออีเล็กโทร หรือ ดอลลาร์พลังงาน ก็ได้ทั้งสิ้น
ประการที่สอง จำเป็นจะต้องมีหน่วยสกุลเงินที่เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศเพื่อเป็นแหล่งสะสมมูลค่า ในการนี้ หน่วยเงินที่สามารถไถ่ถอนเป็นมูลค่าของค่าเช่าที่ดินอาจเป็นสกุลเงินที่ยอมรับได้ในระดับประเทศ แต่สำหรับหน่วยเงินที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนในระดับระหว่างประเทศควรจะเป็นหน่วยที่อ้างอิงอยู่กับพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานบริสุทธิ์ ตลอดจนหน่วยที่อ้างอิงอยู่กับเชื้อเพลิงจำพวกคาร์บอน เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าซ ฯลฯ
สำหรับในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจบนฐานของพลังงานทดแทน ผมขอเสนอว่าผู้ผลิตพลังงานควรออกหน่วยเงินที่ไถ่ถอนเป็นเชื้อเพลิงอิงบนคาร์บอน และอาจสร้างหน่วยเงินที่ยอมใช้กันทั่วโลกในรูปของหน่วยเงินที่ไถ่ถอนเป็นก๊าซธรรมชาติ และเบนซิน
หน่วยเงินที่ไถ่ถอนเป็นพลังงานไฟฟ้าจะมีราคาที่กำหนดกันเป็นอัตราแน่นอน โดยอิงอยู่กับมาตรฐานพลังงานของโลก สกุลเงินที่อยู่บนฐานของคาร์บอนอาจมีราคาที่ค่อนข้างชัดเจนและมั่นคงในรูปของมูลค่าพลังงาน และเพื่อให้กระจ่างชัด หน่วยเงินเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในรูปของเงินสกุลเพตโทรหรือเงินสกุลดอลลาร์พลังงาน แต่เป็นหน่วยเงินที่มีราคาที่ตราลงเป็นเท่านั้นเท่านี้เพตโทรหรือเท่านั้นเท่านี้ดอลลาร์พลังงาน
ดังนั้น ในตอนแรกเลย เราควรกำหนดราคาของดอลลาร์ ยูโร และหยวนในมูลค่าพลังงาน แทนที่จะเป็นการตีราคาพลังงานลงเป็นดอลลาร์ ยูโร และหยวน แล้วในอันดับที่สอง เราควรกำหนดมูลค่าพลังงานลงไปว่าหน่วยละเท่าไรผ่านการกำหนดมูลค่ากลางอย่างพื้นๆ ธรรมดาๆ ว่าผู้ผลิตพลังงานจะออกหน่วยมูลค่าได้เท่าไรเมื่อเทียบกับพลังงานที่ผลิตออกมา – โดยดำเนินการในกรอบของทรัสต์ที่มีกฎหมายรองรับอย่างเหมาะสม หรือในรูปของสหภาพการชำระบัญชีมูลค่าพลังงาน
**โคเปนเฮเกน**
เมื่อคิดจะใช้พลังงานเป็นตัวอ้างอิงมูลค่า ประเด็นว่าด้วยผลกระทบระหว่างการผลิตพลังงานกับสภาพภูมิอากาศจึงไม่อาจไม่เอ่ยถึง
ผลจากการเจรจาว่าด้วยการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ณ เวทีการประชุมที่กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ไม่สู้จะให้ความหวังอะไรนักแก่ข้อตกลงที่จะทำกันในการประชุมใหญ่ที่โคเปนเฮเกน สงครามจรยุทธ์ที่ดำเนินอยู่ในระหว่างชาติพัฒนาแล้วกับชาติกำลังพัฒนาในประเด็นว่าใครควรแบกภาระนั้น ชวนให้นึกถึงคนขาเดี้ยงสองคนที่ฟาดฟันกันในเรื่องของไม้ค้ำยัน
สิ่งที่ทุกคนมองข้ามคือ การประหยัดการบริโภคพลังงาน ซึ่งรวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ต้องทำกันไม่เฉพาะประเทศที่บริโภคเท่านั้น แต่ยังควรรวมถึงประเทศผู้ผลิตพลังงานด้วย ผู้ใดก็ตามที่อยากจะเห็นผลกระทบจากการที่น้ำมันมีราคาแค่ลิตรละ 10 เซนต์สหรัฐฯ จะต้องไปดูที่กรุงเตหะราน สถานที่ซึ่งแม้แต่นกกาก็ยังตีจากเนื่องจากสภาพอากาศนั้นย่ำแย่มาก อันที่จริงแล้ว ชาติที่ผลิตพลังงานทุกรายมีการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองอย่างมหาศาลสุดๆ เพราะมีพลังงานให้ใช้กันแบบถูกสตางค์เหมือนได้เปล่า โดยที่รัฐบาลก็มีการอุดหนุนเรื่องนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อมคิดเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไม่มีผู้ใดในประเทศนึกถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การสร้างหน่วยวัดมูลค่าให้แก่พลังงานอย่างถูกต้องจะช่วยแก้ปัญหาได้ ผู้ผลิตพลังงานสามารถที่จะค่อยๆ เพิ่มราคาหน่วยพลังงานคาร์บอนภายในประเทศขึ้นสู่ระดับราคาตลาดโลก พร้อมกับหลีกเลี่ยงการปฏิวัตินองเลือดโดยแจกจ่ายหน่วยเงินที่มีมูลค่าที่ไถ่ถอนเป็นพลังงานได้นี้ให้แก่ประชาชน พอถึงตรงนี้ ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยไปตามที่เคยชินและยอมแลกกับการเสียโอกาสที่จะนำหน่วยเงินพลังงานไปใช้ในทรัพย์ประเภทอื่น หรืออาจจะนำหน่วยพลังงานที่มีมูลค่านี้ไปแลกเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย อาหาร หรือกระทั่งทีวีดาวเทียมจอแบนจากไต้หวันที่เห็นข้างบ้านเขามีใช้กันก็ได้
ชาติผู้บริโภคพลังงานก็จะค่อยๆ เพิ่มราคาพลังงานคาร์บอนผ่านการเก็บภาษีศุลกากรคาร์บอน โดยอาจทยอยเพิ่มภาษีไปจนถึงระดับ 10 ดอลลาร์ต่อเบนซินหนึ่งแกลลอน ในเวลาเดียวกันก็อาจจะชดเชยผู้บริโภคด้วยหน่วยมูลค่าที่ไถ่ถอนเป็นพลังงานได้ ส่วนหนึ่งของภาษีศุลกากรจะนำมาตั้งกองทุน Carbon Pool (ผ่านเงินกู้เพื่อพลังงานซึ่งปลอดดอกเบี้ย) เพื่อใช้กับการลงทุนโดยตรงในการสร้างพลังงานทดแทน (megawatts) และในการประหยัดพลังงาน (negawatts) กองทุน Carbon Pool แบบนี้ ในไม่ช้าจะเป็นแหล่งสร้างเงินปันผลพลังงานให้แก่ทุกคน
คุณค่าของการให้ทุนสนับสนุนพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานโดยระบบสร้างหน่วยมูลค่าขึ้นมานี้ อยู่ในจุดที่ว่า มูลค่าที่ได้รับสะสมไว้นั้น เป็นหน่วยพลังงานที่ไม่ต้องเสียต้นทุนในวันนี้เพื่อการไถ่ถอนในวันหน้าเลย มันง่ายและทรงคุณค่าโดยไม่ต้องยุ่งยากเท่ากับการสร้างจรวดสำรวจดวงดาว
**จากโคเปนเฮเกน ถึงเตหะราน**
มันเป็นเรื่องขบขันกันมากในกรุงเตหะรานเมื่อตุลาคมปีที่แล้วที่ว่า การคว่ำบาตรทางการเงินต่ออิหร่านได้ส่งผลเป็นตรงกันข้ามกับเจตนารมย์ดั้งเดิม คือแทนที่จะเป็นการลงโทษอิหร่าน มันกลับเป็นการช่วยป้องกันอิหร่านจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกเสื่อมถอย และในอีกด้านหนึ่งคือการที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านเพื่อมุ่งปิดกั้นข้อมูลสารสนเทศและการติดต่อสื่อสารต่างๆ กลับกลายเป็นการช่วยกางกั้นผู้คนในอิหร่านจากพิษภัยของโลกภายนอก ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้สันทัดกรณีมองว่าเป็นประโยชน์แก่ทุกคน
สำหรับการคว่ำบาตรที่เสนอกันในปัจจุบันในด้านน้ำมันนั้น มันจะเอื้อแก่รัฐบาลอิหร่านในการลดการบริโภคน้ำมันภายในประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลอิหร่านก็เร่งรีบอยากดำเนินการอยู่ นอกจากนั้น มันจะเพิ่มกำไรแก่ผู้ที่มีสิทธิพิเศษที่จะเข้าถึงและควบคุมแหล่งน้ำมันได้ แน่นอนว่า เจ้าซาตานมหาวายร้ายและเหล่าพันธมิตรยุโรปจะตกเป็นเหยื่อถูกตำหนิติเตียน ทั้งนี้ การเล่นมุขชาตินิยมมีแต่จะให้ผลดีในทางการเมือง ซึ่งอิหร่านก็มิใช่ข้อยกเว้น
ในเชิงนโยบายแล้ว มาตรการคว่ำบาตรนับว่าออกจะบื้อทีเดียว และการคว่ำบาตรในประเด็นน้ำมันต่ออิหร่านเป็นเรื่องบื้อมหากาฬ และโอบามาก็มิได้บื้อถึงปานนั้น
นโยบายที่แสดงปัญญาให้ได้เห็นกันคือการช่วยอิหร่านผันตัวจากระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ และจากระบบเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับทรัพยากรคาร์บอน สู่ระบบเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับพลังงานทดแทน แนวทางสำหรับเรื่องแรกก็คือการเร่งขยายระบบการกระจายเสียงกระจายภาพแบบครบเครื่องครบวงจร และการสร้างความแพร่หลายในด้านอินเทอร์เน็ต ส่วนแนวทางสำหรับเรื่องหลังก็คื การสร้างหน่วยเงินที่อิงกับมูลค่าพลังงาน และทำให้สิ่งที่สูญเปล่าอย่างมหาศาลในขณะนี้ เกิดคุณค่าขึ้นมา
แต่ต้องไม่ลืมว่า แม้พลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานสามารถเป็นสิ่งมีมูลค่าเชิงการเงินเมื่อสร้างมาตรวัดพลังงานขึ้นมานั้น แนวทางแบบนี้ไม่เหมาะกับพลังงานนิวเคลียร์ เมื่อคำนึงถึงวงจรชีวิตของตัวเชื้อเพลิง ตั้งแต่การขุดเจาะหาแร่ยูเรเนียม ไปถึงระบบกำจัดกาก และขณะนี้ อิหร่านกำลังเรียนรู้บทเรียนอันสาหัสในเชิงเศรษฐกิจจากพลังงานนิวเคลียร์ ในเรื่องนี้ โลกควรช่วยอิหร่าน
ผมเชื่อว่าโอบามามีโอกาสที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่ตนได้รับมา โดยในสองสามเดือนข้างหน้าโอบามาต้องเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับระบบการเงินโลก กับการดำเนินนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างสันติภาพแก่โลก ซึ่งทั้งปวงนี้สามารถเป็นจริงได้ด้วยเครื่องมือสำคัญ นั่นคือ พลังงานนี่เอง
สหรัฐฯ ควรใช้การทูตผ่านพลังงานและองค์ความรู้ เพื่อเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจบนฐานพลังงานโลก ซึ่งองค์ประกอบสำคัญก็คือ การนำมาตรฐานพลังงานมาใช้นั่นเอง
คริส คุ้ก เป็นอดีตผู้อำนวยการตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า “International Petroleum Exchange” ปัจจุบันนี้ เขาเป็นที่ปรึกษากลยุทธ์ตลาด เป็นผู้ประกอบการ และเป็นนักวิเคราะห์