เอเจนซี/เอเอฟพี - มานูเอล เซลายา ประธานาธิบดีฮอนดูรัสผู้ถูกขับไล่ ประกาศเมื่อวันจันทร์(21) ว่าได้เดินทางกลับสู่คืนสู่แผ่นดินเกิดแล้ว 3 เดือนหลังจากถูกรัฐประหารโค่นล้มอำนาจ แต่ทางรัฐบาลรักษาการณ์ปฏิเสธถ้อยแถลงนี้
“ผมอยู่ที่นี่ ในกรุงเตกูซิกัลปา ผมอยู่ที่นี่เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยและเรียกร้องการเจรจา” เซลายา ให้สัมภาษณกับสถานีโทรทัศน์ 36 ของฮอนดูรัส
ด้าน ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา เพื่อนซี้และพันธมิตรใกล้ชิดกับเซลายา รวมถึงทูตเอกอัครราชทูตฮอนดูรัสประจำนิการากัว ยืนยันว่าอดีตผู้นำรายนี้อยู่ในอาคารสำนักงานของสหประชาชาติในกรุงเตกูซิกัลปา ทว่าทางอีกรายงานข่าวหนึ่งกลับระบุว่าเซลายาอยู่ในสถานทูตบราซิล ประจำเมืองหลวงของฮอนดูรัส
ผู้สนับสนุนเซลายาราว 3,000 ถึง 4,000 คน รวมตัวกันบริเวณด้านนอกของอาคารสำนักงานสหประชาชาติในกรุงเตชิกัลปา พร้อมตะโกนว่า "ใช่ เราทำได้" หลังจากผู้ช่วยระดับสูงรายหนึ่งของ เซลายา บอกว่าอดีตประธานาธิบดีรายนี้อยู่ที่นั่น
ทว่า ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์และวิทยุฝ่ายซ้าย เซลายา ปฏิเสธยืนยันอย่างเฉพาะเจาะจงว่าเขาอยู่ที่ไหน ส่วนสหประชาชาติก็ปฏิเสธรายงานข่าวที่ระบุว่า เซลายา อยู่ในอาคารสำนักงาน ณ กรุงเตชิกัลปา
เซลายาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในนิการากัว นับตั้งแต่ถูกกองทัพเนรเทศออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ความเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากศาล และรัฐสภา
“เรารู้สึกประหลาดใจปนน่ายินดีที่ เมล (ชื่อเล่นของ เซลายา) อยู่ในเตกูซิกัลปาและเราร้องขอให้ผู้นำรัฐประหารให้ความเคารพต่อชีวิตและเกียรติภูมิของเซลายา และมอบอำนาจคืนแก่เขา” ชาเวซ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของเวเนซุเอลา
ชาเวซเปิดเผยต่อว่า เซลายาซึ่งเคยพยายามกลับคืนสู่แผ่นดินเกิดมาแล้ว 2 ครั้ง ได้เดินลัดเลาะข้ามภูเขาลักลอบเข้าไปยังอาณาเขตของฮอนดูรัส
อย่างไรก็ตาม ทาง โรแบร์โต มิเชเลตติ คู่ปรับสำคัญของเซลายา ซึ่งปกครองฮอนดูรัสนับตั้งแต่เหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว พร้อมระบุว่า เซลายา ยังคงพลัดถิ่นอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านนิการากัว
“มันไม่เป็นความจริง เขา(เซลายา) อยู่ในห้องสูทของโรงแรมแห่งหนึ่งในนิการากัว” มิเชเลตติ แถลงกับผู้สื่อข่าว ณ เมืองหลวงของฮอนดูรัส หลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลชั่วคราวที่นำโดย มิเชเลตติ ประกาศจับกุม เซลายา ทันที หากว่าเขาเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ
กระนั้นก็ดี ต่อมาเมื่อได้รับการยืนยันแล้วว่า เซลายา ลักลอบคืนสู่ประเทศและลี้ภัยอยู่ในสถานทูตบราซิลเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม ทางรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสจึงได้ประกาศเคอร์ฟิวเป็นเวลา 15 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่รายหนึ่งแถลงผ่านสื่อมวลชนท้องถิ่น
ทหารโค่นล้มอำนาจและเนรเทศ เซลายา ออกนอกประเทศ หลังเขาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่ออนุญาตให้เขากลับเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย
ศาลฎีกาของฮอนดูรัสได้มีคำสั่งจับกุมเซลายา ขณะที่รัฐสภาก็สนับสนุนรัฐบาลรักษาการ แต่เหตุรัฐประหารได้ก่อเสียงประณามจากรัฐบาลสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และบรรดาผู้นำทั่วทั้งละตินอเมริกา