xs
xsm
sm
md
lg

จีนมองเห็นโอกาสที่ญี่ปุ่นจะแสดงความสำนึกผิด

เผยแพร่:   โดย: เจี่ยนจวินปอ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China sees chance of Japanese remorse
By Jian Junbo
31/08/2009

การเปลี่ยนแปลงทางอำนาจอย่างน่าตื่นใจที่กำลังเกิดขึ้นในญี่ปุ่น ทำให้จีนมีความหวังขึ้นมาว่า จุดยืนของรัฐบาลชุดใหม่ในโตเกียวที่มีความเป็นมิตรกับปักกิ่งมากขึ้น จะช่วยเอาชนะอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ยังขัดขวางไม่ให้สายสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นเข้มแข็งขึ้นมาได้ ซึ่งก็คือ ความพยายามอยู่เป็นประจำของพวกฝ่ายขวาและพวกอนุรักษนิยมในญี่ปุ่นที่จะลบล้างปิดบังประวัติศาสตร์การรุกรานจีนของญี่ปุ่น

อัลบอร์ก, เดนมาร์ก – พรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน (Democratic Party of Japan หรือ DPJ) กำลังจะกลายเป็นพรรคการเมืองผู้ปกครองประเทศญี่ปุ่น ภายหลังได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปที่เพิ่งเสร็จสิ้นลง เรื่องนี้ทำให้นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญในประเทศจีนจำนวนหนึ่งพากันคาดหมายว่า ทั้งสองประเทศจะเคลื่อนเข้าใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

ดีพีเจชนะได้ 308 ที่นั่งในสภาล่าง ขณะที่พรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party หรือ LDP) ได้เพียง 119 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์(30) ทั้งนี้ดีพีเจมักแสดงท่าทีเป็นมิตรต่อจีนมากกว่าแอลดีพีเสมอมา

อย่างไรก็ดี จุดยืนของพรรคการเมืองตอนที่พวกเขายังเป็นฝ่ายค้านย่อมเป็นเรื่องหนึ่ง สิ่งที่พวกเขากระทำเมื่อได้อำนาจเป็นรัฐบาลแล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

พวกผู้นำจีนตลอดจนสามัญชนชาวจีนจำนวนมากมาย ต่างลงความเห็นกันมานานแล้วว่า อุปสรรคใหญ่ที่ขัดขวางไม่ให้สายสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นกระเตื้องดีขึ้นกว่านี้ ก็คือ ทัศนะของรัฐบาลญี่ปุ่นนั่นเอง ว่าจะมองข้อเท็จจริงในเรื่องที่ญี่ปุ่นได้รุกรานจีนและประเทศเอเชียอื่นๆ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองกันอย่างไร

จากมุมมองของจีนแล้ว รัฐบาลชุดต่างๆ ของญี่ปุ่นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ซึ่งล้วนมีพรรคแอลดีพีเป็นแกนนำแทบจะต่อเนื่องโดยตลอด ไม่เคยเลยที่จะแสดงความจริงใจในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น โทชิโอะ ทาโมงามิ (Toshio Tamogami) ผู้เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศในยุครัฐบาลแอลดีพี ได้พูดเอาไว้ครั้งหนึ่งว่า สงครามที่ญี่ปุ่นทำในเอเชียตะวันออกในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่แล้ว เป็น “การรณรงค์ต่อสู้เพื่อปลดแอกทางเชื้อชาติจากการปกครองของพวกผิวขาว จึงมีประเทศต่างๆ จำนวนมากมองเห็นเป็นแง่บวก”

ความคิดเห็นเช่นนี้ย่อมไม่มีคุณค่าที่จะถือเป็นจริงเป็นจัง กระนั้นก็ตาม ทัศนะต่อประวัติศาสตร์ทำนองนี้เอง คือมุมมองที่นิยมชมชอบกันนักในหมู่ฝ่ายขวาและพวกอนุรักษนิยมของญี่ปุ่น ผู้ชมชอบแต่งแต้มใส่สีใส่ไข่ทำให้การที่ญี่ปุ่นรุกรานพวกประเทศเพื่อนบ้านทางเอเชียในศตวรรษที่ 20 กลายเป็นเรื่องสวยสดงดงาม และความคิดเห็นแบบฝ่ายขวาดังกล่าวนี้ยังดูเหมือนกำลังจะได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ เป็นต้นว่า หนังสือเล่มที่เพิ่งตีพิมพ์จำหน่ายเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีเนื้อหาเป็นการเล่าสรุปประวัติศาสตร์ตามแบบฉบับของทาโมงามินั้น ปรากฏว่าสามารถขายได้กว่า 100,000 เล่มแล้ว

เมื่อปีที่แล้วทาโมงามิได้เขียนบทความที่ใช้ชื่อว่า “ญี่ปุ่นเป็นชาติก้าวร้าวรุกรานใช่ไหม?” (Was Japan an Aggressor Nation?") บทความนี้ถูกส่งไปที่กลุ่มอาปา (Apa Group เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่เจ้าของเป็นพวกฝ่ายขวา) เพื่อร่วมการประกวดความเรียงในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และปรากฏว่าได้รางวัลชนะเลิศ จากนั้นบทความนี้ก็ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มในเดือนธันวาคม 2008 โดยปรับชื่อเสียใหม่เป็น “ญี่ปุ่นไม่ใช่ชาติก้าวร้าวรุกราน” (Japan Is Not an Aggressor) แต่ดูเหมือนว่าผู้อ่านชาวญี่ปุ่นจะไม่ค่อยให้ความสนใจกับหนังสือเล่มนี้กันเท่าไรนัก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้ลงมือดำเนินการใดๆ เพื่อขัดขวางการตีพิมพ์หนังสือนี้เลย ถึงแม้ทาโมงามิจะถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศ ซึ่งก็คือผู้บัญชาการกองทัพอากาศนั่นเอง

ถึงแม้สงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลงกว่า 60 ปีแล้ว แต่ญี่ปุ่นก็ยังไม่เคยออกมาแสดงการขอโทษอย่างเป็นทางการต่อประเทศต่างๆ ที่ตนเองรุกราน หรือต่อประชาชนของประเทศเหล่านั้นเลย

นิกโกโล แมคเคียเวลลี นักปรัชญาการเมืองชื่อดังชาวอิตาลีในยุคกลาง ได้เขียนในผลงานชิ้นเอกซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายของเขา คือเรื่อง “เจ้า” (The Prince) เอาไว้ว่า ตราบเท่าที่จุดประสงค์เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เราก็สามารถทำอะไรได้ทั้งสิ้นเพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ “จุดมุ่งหมาย” ทำให้ “วิธีการ”บังเกิดความถูกต้องชอบธรรม คำสอนของแมคเคียเวลลีได้กลายเป็นกฎกลายเป็นข้อแก้ตัว ที่ทำให้พวกผู้ปกครองทั้งหลายในช่วงระยะก่อนที่จะเข้าสู่ยุคใหม่ ไม่รู้สึกว่าตนเองทำความผิดอะไรเลย ทว่าทฤษฎีอันล้าสมัยทฤษฎีนี้ก็ไปไม่รอดเสียแล้วในโลกยุคสมัยใหม่

ทั้งนี้ในปัจจุบันรัฐทั้งหลายย่อมไม่สามารถปล่อยให้ปัจเจกบุคคลใดๆ หรือกลุ่มใดๆ ใช้วิธีการอันเลวทรามต่ำช้าเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ไม่ว่าจุดมุ่งหมายดังกล่าวจะดูสูงส่งหรือดูยิ่งใหญ่เพียงใด การมีเจตนารมณ์ที่ดีแต่กลับก่อให้เกิดผลลัพธ์อันเลวร้ายนั้น ใครก็ย่อมไม่สามารถที่จะอ้างเอาเจตนารมณ์ที่ดีดังกล่าวเป็นข้อแก้ตัวอันชอบด้วยกฎหมาย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่สิ่งที่เขาหรือเธอกระทำลงไป แล้วจะได้ไม่ต้องรับโทษจากการกระทำนั้นๆ การพูดเช่นนี้เป็นทั้งหลักสามัญสำนึกซึ่งคนทั้งหลายยึดถือกัน และก็ทั้งนำไปประยุกต์ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย กล่าวคือ ไม่มีประเทศใดเลยที่ควรใช้ความรุนแรงอย่างผิดกฎหมายมาเล่นงานอีกประเทศหนึ่ง โดยอ้างว่ากระทำลงไปเนื่องจากตนเองมี “เจตนารมณ์ที่ดี”

เมื่อพิจารณาถึงเรื่องนี้แล้ว ก็เป็นที่น่าประหลาดใจยิ่งที่ยังมีชาวญี่ปุ่นบางคนยอมรับนับถือทฤษฎีว่าด้วย “จุดมุ่งหมาย” ทำให้ “วิธีการ”บังเกิดความถูกต้องชอบธรรม กันอยู่อีก และใช้ทฤษฎีนี้มาสร้างความชอบธรรมให้แก่การที่ญี่ปุ่นรุกรานจีน, เกาหลี, และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ถ้าหากจีนในเวลานี้เข้ายึดครองเกาะโอกินาวาด้วย “เจตนารมณ์ที่ดี” บ้าง ญี่ปุ่นจะยอมรับหรือไม่?

กระนั้นก็ตามที ทั้งที่การปฏิรูปเมจิ (อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการก้าวสู่ความทันสมัยของญี่ปุ่นที่เปิดฉากขึ้นในปี 1868) ก็ผ่านพ้นมาถึง 140 ปีแล้ว ยังมีบางคนในญี่ปุ่นเชื่อว่า ถ้าหากญี่ปุ่นมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เอเชียตะวันออกดีขึ้นแล้ว สิ่งที่ประเทศนี้ได้กระทำไปในทศวรรษ 1930 ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้องตามกฎหมาย

หากมองจากมุมมองของจีนบ้างแล้ว ทาโมงามิและผู้สนับสนุนตลอดจนสานุศิษย์ทั้งหลายควรต้องเข้าใจว่า ก่อนอื่นใดเลย ไม่ว่ารัฐบาลจีนหรือประชาชนจีนก็ไม่เคยเชื้อเชิญหรือขอร้องให้กองทหารญี่ปุ่นเข้าไปยึดครองดินแดนมาตุภูมิของพวกเขาในช่วงระหว่างปี 1931 จนถึงปี 1945

อาจจะมีสิ่งที่เรียกกันว่า “จักรวรรดิแมนจูเรีย” แสดงความยินดีต้อนรับญี่ปุ่นที่รุกรานภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนอยู่เหมือนกัน แต่ทุกๆ คนก็ทราบกันดีว่า อ้ายซิน-กิโอโร ปูยี (Aisin-Gioro Puyi) จักรพรรดิของจักรวรรดิดังกล่าว คือหุ่นเชิดของนักลัทธินิยมทหารชาวญี่ปุ่น แท้จริงแล้ว สิ่งที่ควรถือเป็นตัวแทน “การต้อนรับ” ของจีนต่อการรุกรานของญี่ปุ่น กลับเป็นการที่ประธานาธิบดีเจียงไคเช็คของสาธารณรัฐจีนในเวลานั้น ออกมาประกาศสงครามกับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ แล้วจากนั้นประชาชนจีนก็ดำเนินการสู้รบกับพวกผู้รุกรานเหล่านี้

ในทางเป็นจริงแล้ว ตอนที่กองทหารญี่ปุ่นเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ชั้นในของจีนในทศวรรษ 1930 (เวลานั้นญี่ปุ่นก็ยังคงควบคุมไต้หวันเอาไว้เป็นอาณานิคมของตน หลังจากที่ยึดเอาไปจากจีนตั้งแต่ปี 1895) พวกนักล่าอาณานิคมชาวยุโรปกลับกำลังล่าถอยออกจากจีนกันแล้ว ยกเว้นแต่ฮ่องกงซึ่งอังกฤษยังคงยึดครองเอาไว้ และมาเก๊าที่ควบคุมโดยโปรตุเกส

ทาโมงามิใช้คำว่า “การปลดแอกทางเชื้อชาติจากการปกครองของพวกผิวขาว” แต่สงครามที่ญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นมาและยืดเยื้ออยู่นาน 8 ปี โดยที่มีชาวจีนตายไปราว 20 ล้านคนนั้น จะเรียกว่าเป็น ‘การปลดแอก’ ไปได้อย่างไร? ความเป็นจริงก็คือก่อนที่ชาวจีนจะสามารถ “ได้รับการปลดแอก” จากการปกครองของพวกผิวขาวนั้น พวกเขากลับต้องถูกปกครองโดยคนญี่ปุ่นจวบจนกระทั่งถึงปี 1945

ทาโมงามิและสานุศิษย์ของเขาควรทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และความคิดเห็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาติๆ หนึ่งจะสร้างประวัติศาสตร์ของตนขึ้นใหม่โดยอิงอาศัยแนวความคิดแบบฉบับของตนเองบางประการ นักวิชาการชาวอังกฤษ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เสนอความเห็นว่า อันที่จริงแล้วชาติเป็น “ประชาคมที่อยู่ในจินตนาการ” ในทางเป็นจริงแล้ว ทุกๆ ชาติและทุกๆ รัฐต่างมีสิทธิที่จะสร้างประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาใหม่โดยอิงอาศัยแนวความคิดต่างๆ ของตนเอง ชาติและรัฐที่แตกต่างกันมักจะมีคำอธิบายที่ผิดแผกกันไป ต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การขัดแย้งกับชาติอื่นๆ กระทั่งต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เหตุการณ์เดียวกันด้วยซ้ำ

ญี่ปุ่นมีสิทธิที่จะสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติและประวัติศาสตร์แห่งชาติของตนขึ้นใหม่ ทว่าญี่ปุ่นไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เมื่ออธิบายความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1930 และ 1940 ทาโมงามิอ้างว่าสงครามที่ญี่ปุ่นเริ่มขึ้นมาในเอเชียนั้นมีหลายประเทศมองเห็นเป็น “แง่บวก” นี่เป็นข้อเท็จจริงหรือ?

สำหรับจีนแล้ว ข้อเท็จจริงก็คือในระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่นปี 1937-1945 ญี่ปุ่นได้รุกรานจีน ส่งผลให้พลเรือนชาวจีนเสียชีวิตไปประมาณ 9.1 ล้านคน, ผู้หญิงจีนนับหมื่นนับแสนถูกข่มขืน, และทรัพย์สมบัติของจีนก็ถูกปล้นชิง นับเป็นความเจ็บปวดที่ยังคงอยู่จวบจนถึงวันนี้

เห็นชัดเจนทีเดียวว่า ทาโมงามิและผู้สนับสนุนเขาไม่ยอมรับข้อเท็จจริงเหล่านี้

ย่อมเป็นการดีกว่าสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกทั้งหมด รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย ที่จะมองไปข้างหน้า และไม่เข้าไปพัวพันยุ่งเกี่ยวกับเขาวงกตทางประวัติศาสตร์อันสลับซับซ้อน ทว่าในเวลาเดียวกัน แต่ละประเทศก็ย่อมไม่สามารถตัดความเกี่ยวพันระหว่างปัจจุบันกับอดีตของตนออกไปอย่างเด็ดขาดสิ้นเชิง และญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น ดังนั้น ญี่ปุ่นจะทำได้ดีกว่านี้แน่ๆ ถ้าหากเผชิญหน้ากับประเด็นปัญหาต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ด้วยความกล้าหาญมากกว่านี้, ด้วยความตรงไปตรงมาและด้วยความจริงใจมากกว่านี้ เหมือนดังที่เยอรมนีกำลังกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

จากการที่ ยูกิโอะ ฮาโตยามะ กำลังจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนต่อไป เขาและพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน ของเขา จึงมีโอกาสที่จะกระทำสิ่งนี้ ภายหลังจากช่วงเวลาหลายๆ ปีแห่งการปกครองของแอลดีพีได้ล้มเหลวไม่ยอมแก้ไขประเด็นปัญหานี้

เจี่ยนจวินปอ เป็นรองศาสตราจารย์แห่งสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ปัจจุบันเขาเป็นเมธีวิจัยรับเชิญอยู่ที่ภาควิชาประวัติศาสตร์, การระหว่างประเทศและสังคมศึกษา, มหาวิทยาลัยอัลบอร์ก ประเทศเดนมาร์ก
กำลังโหลดความคิดเห็น