xs
xsm
sm
md
lg

สายสัมพันธ์‘จีน-อียู’ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์

เผยแพร่:   โดย: เจี่ยนจวินปอ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China-EU ties caught in vicious cycle
By Jian Junbo
19/08/2009

จีนและสหภาพยุโรปทำข้อตกลงกันเพื่อเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” แต่พวกนักวิจารณ์บอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย มันทั้งไม่รอบด้านและก็ยังไม่มีลักษณะทางยุทธศาสตร์ เวลานี้จีนยังคงโกรธกริ้วอยู่เนืองๆ เนื่องจากเข้าใจว่าอียูกำลังเข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในของตน ขณะนี้อียูก็ไม่สามารถซ่อนเร้นความรังเกียจที่มีต่อมรดกทางอุดมการณ์ของจีน ในสภาพแวดล้อมแห่งการไม่ไว้วางใจกันเช่นนี้ ก็เห็นมีแต่ความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่ยังคงผลิดอกออกผล

อัลบอร์ก, เดนมาร์ก – จีนพยายามธำรงรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรที่มีอยู่กับยุโรปตะวันตกเรื่อยมา ในปี 1975 ขณะที่จีนยังอยู่ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมด้วยซ้ำ ปักกิ่งก็ได้เปิดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community) ซึ่งเป็นสถาบันของประชาคมยุโรปก่อนหน้าที่จะกลายมาเป็นสหภาพยุโรป(European Union หรือ EU)ในปัจจุบัน

จีนมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศยุโรปตะวันตกจำนวนมาก และสายสัมพันธ์จีน-อียูก็ก้าวหน้าไปด้วยดีนับแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น ในปี 1998 มีการจัดการประชุมระดับสุดยอดจีน-อียูขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงลอนดอน โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างให้คำมั่นสัญญาที่จะสร้าง “ความเป็นหุ้นส่วนที่สร้างสรรค์, มีเสถียรภาพ, และยืนยาว”

ในปี 2003 ทั้งสองฝ่ายได้ยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีของพวกเขา จาก “ความเป็นหุ้นส่วนที่สร้างสรรค์” (constructive partnership) มาเป็น “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (comprehensive strategic partnership) ในการประชุมระดับสุดยอดจีน-อียูครั้งที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปรากเมื่อเดือนพฤษภาคมที่แล้ว ยังได้ให้คำมั่นสัญญาร่วมกันที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นี้

ความสัมพันธ์จีน-อียูที่ปรับปรุงดีขึ้นเช่นนี้ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับทั้งสองฝ่าย เนื่องจากก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพและเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทว่าโชคร้ายที่ในทางเป็นจริงแล้ว ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านจีน-อียู กลับไม่ได้มีความ “รอบด้าน” และก็ยังไม่ได้เป็นความสัมพันธ์ “ทางยุทธศาสตร์” แต่อย่างใด

อู่เจี้ยนหมิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกิจการต่างประเทศจีน และอดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำฝรั่งเศส อธิบายว่าความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างจีนกับอียูนั้น ถือว่ามีความ “รอบด้าน” เนื่องจากครอบคลุมด้านต่างๆ จำนวนมาก เป็นต้นว่า มีการติดต่อเชื่อมโยงกันทางการเมือง, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, เทคโนโลยี, การศึกษา, และทางทหาร

นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าของจีนก็ได้ให้การตีความในเรื่องนี้ซึ่งต้องถือว่ามีความเป็นทางการมากกว่าด้วย โดยระหว่างการเยือนกรุงบรัสเซลส์ในปี 2004 เวินกล่าวว่า คำว่า “รอบด้าน” หมายความว่าทั้งสองฝ่ายควรต้องร่วมมือกันในทางการเมืองและวัฒนธรรม เช่นเดียวกับทางด้านการค้าและเทคโนโลยี เขาบอกว่าการติดต่อเชื่อมโยงกันควรมีทั้งลักษณะทวิภาคีและพหุภาคี, ควรที่จะเป็นระยะยาวและมีเสถียรภาพ, และควรที่จะก้าวให้พ้นความแตกต่างในเรื่องอุดมการณ์และระบบสังคม

ทว่าการให้คำนิยามเช่นนี้ของเวิน เท่ากับยอมรับด้วยว่า “ความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ระหว่างจีน-อียูในปัจจุบัน โดยเฉพาะแง่มุมทางด้านความสัมพันธ์ “ทางยุทธศาสตร์” นั้น ยังคงเป็นเพียงเป้าหมายที่จะก้าวไปบรรลุ มากกว่าที่จะเป็นความจริงแล้ว สภาพเช่นนี้น่าจะเนื่องจากปัจจัยต่างๆ หลายๆ ประการ

ประการแรก ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอียู ยังไม่มี “เสถียรภาพ” อย่างแท้จริง ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายยังคงถูกท้าทายรบกวนได้อย่างง่ายๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ระดับระหว่างประเทศขึ้นมา ตัวอย่างเช่น การประชุมสุดยอดจีน-อียูในปีที่แล้ว ตอนแรกได้ถูกปักกิ่งขอเลื่อน ภายหลังจากประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส ซึ่งเวลานั้นเป็นประธานของสภายุโรปตามวาระหมุนเวียนด้วย ได้พบปะหารือกับทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวทิเบตที่อยู่ระหว่างการลี้ภัย

ประการที่สอง ความร่วมมือระหว่างจีนกับอียูยังแทบจะจำกัดอยู่แต่ในเรื่องทางเศรษฐกิจเท่านั้น ความร่วมมือกันในด้านสำคัญๆ อื่นๆ อยู่ในอาการชะงักงัน โดยมีจุดสำคัญที่ก่อให้เกิดการหยุดนิ่งเช่นนี้อยู่ 2 อย่าง ได้แก่ ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของจีน และการที่อียูห้ามขายอาวุธให้แก่จีน ถ้าหากความร่วมมือระหว่างจีน-อียูสามารถประสบความสำเร็จแต่เพียงทางด้านเศรษฐกิจแล้ว มันก็ไม่น่าที่จะสามารถพัฒนาไปสู่สายสัมพันธ์ “ระยะยาว” ได้

พิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว อนาคตแห่งความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์จีน-อียูจึงไม่น่าที่จะสดใสแต่อย่างใด การขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกันกลายเป็นอุปสรรคที่เห็นชัดที่สุดที่ขัดขวางไม่ให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ เรื่องนี้สามารถที่จะประณามว่า ความผิดบางส่วน –หรือกระทั่งทั้งหมดเลย—มาจากนโยบายเชิงลบบางอย่างของอียูและรัฐสมาชิกของอียู

รัฐสภายุโรปและรัฐสมาชิกอียูบางรายมักสร้างแรงกดดันจีน ด้วยการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของจีน ปักกิ่งมองแรงกดดันดังกล่าวว่าเหมือนกับนโยบายมุ่งปิดล้อมจำกัดจีนไม่ให้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจที่โดดเด่น การที่อียูและบางชาติสมาชิกของอียูเข้าแทรกแซงในกิจการภายในของจีนเช่นนี้ดูจะอยู่ในลักษณะมือถือสากปากถือศีลด้วย และเรื่องนี้จึงกำลังบ่อนทำลายรากฐานของความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

อียูและรัฐสมาชิกของอียูจะงัดเอาไพ่ทิเบต หรือไพ่สิทธิมนุษยชนมาเล่นเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะสม กระนั้นก็ดี จีนยังไม่ได้มีเครื่องมือหรือความปรารถนาที่จะตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน ในอดีตปักกิ่งเคยใช้พลังทางเศรษฐกิจของตนมา “ลงโทษ” อียู ทว่าจีนยังไม่เคยพยายามที่จะเข้าแทรกแซงในกิจการภายในของบรรดารัฐสมาชิกอียูเลย

ในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีการพูดบ่อยๆ ถึงเรื่องที่ว่า เมื่อมีการเผยแพร่คำทำนายพยากรณ์ออกไปมากๆ เข้า ก็เลยจะทำให้คำพยากรณ์กลายเป็นความจริงขึ้นมา ทฤษฎีนี้ชี้ว่ามิตรไมตรีที่รัฐหนึ่งๆ แสดงออกต่ออีกรัฐหนึ่ง จะส่งผลให้รัฐฝ่ายหลังต้องมีมิตรไมตรีตอบแทน ขณะเดียวกันเมื่อมีการนำใช้ไปในทางลบ มันก็จะเป็นจริงด้วย จนกระทั่งมีลักษณะกลายเป็นวงจรอุบาทว์ได้ทีเดียว

ถ้านำเอาทฤษฎีนี้มาตรวจสอบความสัมพันธ์จีน-อียูในปัจจุบัน ก็เห็นได้ชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายต่างกำลังเคลื่อนไหวผลักดันให้ไปสู่วงจรอุบาทว์ดังกล่าว เป็นคำพยากรณ์ในทางลบที่เมื่อแพร่ไปมากๆ ก็จะกลายเป็นความจริงขึ้นมา เป็นผลลัพธ์จากความเข้าใจผิดๆ ในขั้นพื้นฐานโดยแท้

เพื่อที่จะลบความไม่ไว้วางใจกันของทั้งสองฝ่าย ก่อนอื่นเลยจำเป็นที่จะต้องค่อยๆ ลดทอนความเข้าใจผิดๆ และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันขึ้นมา ถ้าหากทั้งสองฝ่ายต้องการที่จะสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ขึ้นมาอย่างแท้จริงแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ควรต้องอุทิศทั้งความพยายามและทั้งเวลาให้แก่เรื่องนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่าสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงแล้ว และการเมืองแบบมุ่งช่วงชิงอิทธิพลผลประโยชน์ก็ต้องถือว่าล้าสมัยไปเสียแล้ว โดยในบางระดับก็ด้วยการบังเกิดขึ้นของกระแสโลกาภิวัตน์ เวลานี้เมื่อมาถึงเรื่องการแก้ไขประเด็นปัญหาระหว่างประเทศแล้ว ธรรมาภิบาลกำลังมีความสำคัญและมีประสิทธิผลมากกว่าการแข่งขันกันสร้างเขตอำนาจอิทธิพล

โชคร้ายที่ทั้งจีนและอียูต่างมองอีกฝ่ายหนึ่งว่ากำลังเป็นคู่แข่งขันในทางอุดมการณ์ สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในจีนนั้นดีกว่ากว่าเมื่อก่อนแล้ว ดังนั้นจีนจึงมองนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของอียู (และของสหรัฐฯ) ที่ปฏิบัติต่อจีน ว่าไม่ได้มีเจตนาดีแต่เป็นการแทรกแซงอย่างมุ่งร้ายในกิจการภายในของตน

จีนและอียูควรที่จะพยายามและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ร่วมกัน โดยผ่านทางกลไกร่วมอันทรงประสิทธิภาพ เวลานี้ช่องทางในการติดต่อสื่อสารกันก็มีอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ทว่ายังดูจะไม่มีประสิทธิภาพอะไร เมื่อพิจารณาถึงอิทธิพลและความสำคัญของทั้งสองมหาอำนาจนี้ต่อโลกแล้ว ทั้งสองฝ่ายจำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่า ความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างและเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีธรรมดาๆ

เจี่ยนจวินปอ เป็นรองศาสตราจารย์แห่งสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ปัจจุบันเขาเป็นเมธีวิจัยรับเชิญอยู่ที่ภาควิชาประวัติศาสตร์, การระหว่างประเทศและสังคมศึกษา, มหาวิทยาลัยอัลบอร์ก ประเทศเดนมาร์ก
กำลังโหลดความคิดเห็น