เอเอฟพี - มะห์มุด อะห์มาดิเนจัด เตรียมตัวเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของอิหร่านเป็นสมัยที่ 2 ในวันพุธนี้ (5) หลังจากได้รับแรงหนุนอย่างเต็มที่จากผู้นำสูงสุด ขณะที่กลุ่มนักปฏิรูปแค้นเคือง เพราะระบุว่า ชัยชนะของเขาได้มาจากการคดโกง
พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งจะจัดขึ้นที่รัฐสภาในกรุงเตหะราน หลังจากอิหร่านเจอกับการจลาจลครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 1979 การปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงคัดค้านผลการเลือกตั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 30 คน และยังสร้างรอยร้าวในกลุ่มการเมืองต่างๆ ด้วย
อะห์มาดิเนจัด วัย 52 ปี ก็ยังเผชิญกับการโจมตีจากความแข็งกร้าวของเขา ซึ่งทำให้เกิดคำถามเรื่องความจงรักภักดีต่อ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อย่างไรก็ตาม อะห์มาดิเนจัด ปฏิเสธว่า ไม่ได้มีความแตกแยกใดๆ กับผู้นำสูงสุด และความสัมพันธ์ระหว่างกันก็เป็นเหมือน “พ่อและบุตรชาย”
ชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่้อวันที่ 12 มิถุนายนของอะห์มาดิเนจัด สร้างความขัดแย้งเกิดขึ้น เนื่องจากคู่แข่งอย่าง ฮอสเซน มูซาวี ผู้นำฝ่ายค้านแนวคิดปฏิรูป และ เมห์ดี คาร์รูบี ออกมากล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลช่วยโกงการเลือกตั้ง และตราหน้าว่า รัฐบาลของอะห์มาดิเนจัดไม่ชอบธรรม ทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงตามท้องถนนจนเกิดเหตุรุนแรงนานนับเดือน
อย่างไรก็ตาม คาเมเนอีประกาศรับรองอำนาจประธานาธิบดีของอะห์มาดิเนจัดอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ (3) จากนั้นอะห์มาดิเนจัดก็จะได้เข้าพิธีสาบานตนในวันพุธ
ผู้นำอิหร่าน กล่าวหาว่า รัฐบาลตะวันตกยั่วยุ โดยเฉพาะอังกฤษให้เกิดการประท้วง ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับตะวันตกย่ำแย่ลง ตั้งแต่สมัยเข้ากุมอำนาจสมัยแรก เพราะเขากล่าวโจมตีอิสราเอลบ่อยครั้ง และก็ยังคงท่าทีแข็งข้อในการเดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งสหรัฐฯและพันธมิตรกล่าวหาว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงคือการพัฒนาอาวุธ
อย่างไรก็ตาม หลังจากความสัมพันธ์ย่ำแย่ลงมานานหลายสิบปี สหรัฐฯกลับเปลี่ยนท่าทีเมื่อไม่นานมานี้ โดยการเสนอการเจรจากับอิหร่านในด้านต่างๆ รวมถึงเรื่องนิวเคลียร์ ขณะที่อิหร่านยังสงวนท่าที่และยังไม่ตอบรับการเจรจานี้
ด้านนักวิเคราะห์วิจารณ์ว่า หากอิหร่านยังคงท่าทีแข็งกร้าวต่อไป ความสัมพันธ์กับตะวันตกก็ยิ่งจะตึงเครียดมากขึ้น รวมถึงอิสราเอลด้วย หลัง อะห์มาดิเนจัด กล่าวว่า อิสราเอลควรจะถูกลบออกจากแผนที่