xs
xsm
sm
md
lg

ระบุ “จีน-อินเดีย” สำคัญต่อ ศก.โลก แต่บารมีไม่พอฉุดโลกพ้น “ถดถอย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - นักวิเคราะห์ชี้แม้จีนและอินเดียจะเป็นชาติที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก แต่ยักษ์ใหญ่ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ทั้งสองยังไม่มีอิทธิพลมากพอที่จะฉุดเศรษฐกิจโลกให้พ้นจากภาวะถดถอยครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 ได้โดยลำพัง

มิเชล โฟแกง นักวิเคราะห์กิจการระหว่างประเทศในกรุงปารีสของฝรั่งเศส ออกมาระบุว่า ถึงแม้จีนจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 7.9 ในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ ขณะที่อินเดียก็มีเศรษฐกิจขยายตัวถึงร้อยละ 5.8 ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ เป็นเพียงแค่การส่งสัญญาณเชิงบวกท่ามกลางภาวะมืดมนของเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ และคงจะมีผลด้านจิตวิทยาในการช่วยเรียกความเชื่อมั่นในตลาดได้บ้างเท่านั้น แต่คงไม่อาจช่วยโลกให้หลุดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจระลอกนี้ไปได้ และทั้ง 2 ชาติเองก็ยังคงต้องรอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วก่อนเช่นกัน

ด้าน เอริก ชาเนย์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มบริษัทประกันภัยแอ็กซ่า ของฝรั่งเศส ระบุว่า ลำพังแต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของทั้งจีนและอินเดียนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะฉุดเศรษฐกิจโลกให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอยในขณะนี้ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของจีนและอินเดียยังไม่ฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ชาเนย์ยอมรับว่า การเจริญเติบโตของทั้ง 2 ประเทศ ได้ช่วยผลักดันให้เกิดความต้องการวัตถุดิบและสินค้าอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการผลิตมากขึ้น

ขณะที่ศาสตราจารย์อาวุโส เอสวาร์ ปราสาด นักวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำมหาวิทยาลัยคอร์เนล และเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ก็ออกมาระบุเช่นกันว่า เขาไม่เชื่อว่าจีนและอินเดียจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวได้

ศาสตราจารย์ปราสาดชี้ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและอินเดียน่าจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกในทางอ้อมเท่านั้น จากปริมาณความต้องการสินค้าของตลาดในประเทศ และการช่วยสร้างความรู้สึกเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะฟื้นตัว

นอกจากนั้น ปราสาดยังให้ความเห็นว่า ในระยะยาวแม้อิทธิพลทางเศรษฐกิจของ 2 ประเทศจะยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ต่อไป แต่ในขณะนี้จีนและอินเดียจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะแรงกดดันจากประเทศต่างๆ ที่ต้องการให้ชาติเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ทั้งสองเปลี่ยนรูปแบบทางเศรษฐกิจของตัวเองที่เคยแต่เน้นการสร้างรายได้จากการส่งออกเป็นหลัก

ริชาร์ด เฮิร์ด นักวิเคราะห์จากสำนักงานเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ในกรุงปารีส มองว่า ในความเป็นจริงแล้ว จีนมีส่วนร่วมในการช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการผลิตสินค้าต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจโลกค่อนข้างน้อย เนื่องจากจีนเป็นชาติที่เน้นการส่งสินค้าของตนออกสู่ตลาดโลกเป็นหลัก ไม่ใช่ชาติที่เน้นการนำเข้า และที่ผ่านมายังพบว่าจีนมีปริมาณการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ ไม่สูงนัก เนื่องจากจีนมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองได้ในการผลิตสินค้าหลายชนิด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสรุปว่าพลังทางเศรษฐกิจของจีนจะช่วยโลกให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอยครั้งนี้

เฮิร์ดระบุว่า ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเสียงวิจารณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ระบุว่าเศรษฐกิจของจีนอยู่ในภาวะอันตรายและสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง เนื่องจากพึ่งพารายได้จากการส่งสินค้าออกจำนวนมหาศาลเป็นหลักในการสร้างความเติบโตแบบก้าวกระโดดให้กับเศรษฐกิจของตน นอกจากนั้นยังมองว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจโลกเสียสมดุลอย่างร้ายแรงอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น