เอเอฟพี - มาตรการด้านความปลอดภัยถูกเสริมเข้าไปในพื้นที่ชาวคริสต์ในกรุงแบกแดดและเมืองโมซุลทางภาคเหนือของอิรักเมื่อวันจันทร์(13) ตามหลังเหตุระเบิดรุนแรงที่สร้างความตื่นกลัวแก่บรรดาบาทหลวงคริสต์ศาสนจักรต่อการโจมตีและจุดมุ่งหมายของคนร้าย
"ทำไม?ทำไม? นี่คือสิ่งที่เราตั้งคำถามมาเสมอว่า ทำไม?" จากคำกล่าวของ เชลมอน วาร์ดูรี บาทหลวงผู้ช่วย ณ โบสถ์ Sacred Heart ในแถบอัล-มูฮันดีซันของแบกแดด ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 4 รายจากเหตุระเบิดเมื่อวันอาทิตย์(12)
"นี่คือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายอย่างที่สุด" บาทหลวงวาร์ดูรีระบุต่อ "มันเหมือนสงคราม แต่มันแย่กว่าสงคราม เพราะว่าในสงคราม คุณรู้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ คุณไม่รู้เลย"
สืบเนื่องจากกรณีมีผู้เสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บอีก 32 คน ในเหตุโจมตี 7 ครั้งในช่วงเวลาเพียง 48 ชั่วโมง นำไปสู่การประท้วงบนท้องถนนห้อมล้อมกรุงแบกแดด จนทางการต้องประกาศเคอร์ฟิวบริเวณเมืองของชาวคริสต์ใกล้กับโมซุลเป็นการชั่วคราว
ทางตะวันออกของกรุงแบกแดด พื้นที่รอบโบสถ์ Sacred Heart ถูกปิดล้อมโดยตำรวจและทหาร ขณะที่รถบรรทุกเริ่มลากซากรถที่ได้รับความเสียหายจากเหตุระเบิดออกไป
เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้รถคันใดจอดใกล้เขตปิดล้อม และตำรวจได้ไต่ถามทุกคนที่ต้องการเข้าสู่ถนน ทั้งนี้นอกจากชาวคริตส์จะเสียชีวิตในเหตุโจมตี 4 รายแล้ว ในจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ 21 ราย ยังเป็นชาวคริสเตียนถึง 15 คนด้วยกัน
ประกาศเคอร์ฟิวยังรวมไปถึงในฮัมดานิเยาะห์ ทางตะวันออกของโมซุลและทาลคีฟ "เราไม่อนุญาตให้รถหรือคนผ่านเข้าออก" เจ้าหน้าที่ความมั่นคงรายหนึ่งบอก
ในอีกเหตุโจมตีหนึ่งเมื่อวันอาทิตย์(12) เจ้าหน้าที่คริสเตียนรายหนึ่งถูกลอบสังหารในเคอร์คุก อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสาเหตุที่ อาซิซ ริซโก มิสซาน หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นถูกสังหารเพราะมีความเลื่อมใสในคริสต์ศาสนจักรหรือไม่
อเดล อับดุล มาห์ดี รองประธานาธิบดีได้เรียกร้องชาวคริสต์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในอิรักไม่ให้หนีออกจากประเทศและวอนให้ประชาคมนานาชาติช่วยปกป้องชาวคริสต์จากกลุ่มหัวรุนแรง
จากคำกล่าวอ้างของบาทหลวงคริสต์ศาสนจักร ระบุว่าเวลานี้มีชาวคริสต์ 250,000 คนจากทั้งหมด 800,000 ที่อาศัยอยู่ไหนอิรักก่อนหน้าปฏิบัติการรุกรานของสหรัฐฯเมื่อปี 2003 ได้หนีออกนอกประเทศไปแล้ว
เหตุโจมตีโบสถ์ด้วยระเบิดหลายระลอก มีขึ้นไม่ถึงสองสัปดาห์หลังจากทหารสหรัฐฯถอนตัวออกจากหลายเมืองของอิรักเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ภายใต้ข้อตกลงที่ลงนามโดยแบกแดดและวอชิงตันในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
ความรุนแรงได้ลดลงอย่างผิดสังเกตในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก่อนเหตุโจมตีจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งตามหลังปฏิบัติการถอนทหารของสหรัฐฯ โดยในเดือนมิถุนายนมีผู้ถูกสังหารถึง 437 คน สูงสุดในรอบ 11 เดือนเลยทีเดียว