เอเอฟพี - เจนเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) กลับไปขึ้นศาลต่ออีกวันพุธ (1) ในความพยายามขอให้ศาลอนุมัติแผนการเร่งรัดหลุดออกจากภาวะล้มละลายอย่างรวดเร็ว โดยวิธีการขายสินทรัพย์ส่วนที่ดีที่สุด ไปให้บริษัทที่จะตั้งขึ้นใหม่ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯจะเข้ามาถือหุ้นใหญ่
เมื่อวันอังคาร(30มิ.ย.) ซึ่งเป็นวันแรกที่ศาลเปิดการพิจารณาเกี่ยวกับแผนการนี้ ทางผู้พิพากษารอเบิร์ต เกอร์เบอร์ ได้รับคำร้องจากหลายๆ ฝ่ายซึ่งเกี่ยวพันถึงแผนการนี้ของจีเอ็ม ที่มุ่งหวังจะกลับมาเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งแต่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม และไม่มีภาระหนี้เก่า รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากสินเชื่อรัฐบาลหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
บรรดาเจ้าหนี้หลายสิบรายตั้งทนายความเป็นตัวแทนเข้ายื่นคัดค้านแผนการดังกล่าวนี้ ขณะที่ผู้พิพากษาเกอร์เบอร์พยายามผลักดันให้สิ่งต่างๆ เดินหน้าต่อไปได้ โดยกล่าวเตือนพวกทนายความเหล่านี้ว่า เขาจะตัดสินโดยมองว่าอะไรคือเรื่องสำคัญที่สุด
"ผู้คนมักจะลืมว่าทำไมเรามากันที่นี่ และเรากำลังต้องการจะบรรลุเป้าหมายอะไร" เกอร์เบอร์กล่าวในวันแรกของการพิจารณา ซึ่งคาดกันว่าน่าจะเสร็จสิ้นได้ภายใน 7 วัน
ทางด้าน ฟริตซ์ เฮนเดอร์สัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ของจีเอ็ม ถูกถามคำถามมากมายเกี่ยวกับปัญหาการเงินของบริษัทก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย, การช่วยเหลือของรัฐบาล, และบริษัทใหม่จะมีโครงสร้างการเงินเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่เฮนเดอร์สันจะเน้นคำตอบที่ว่าการขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลาย เป็นเพียงทางเลือกเดียวที่สามารถจะหลีกเลี่ยงการชำระบัญชีและขายสินทรัพย์ทั้งหมดเอามาชดใช้หนี้ อันเป็นการปิดกิจการบริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯไปตลอดกาล
"ตอนนี้ธุรกิจก็เริ่มดีขึ้น" เฮนเดอร์สันกล่าวในตอนหนึ่งของการให้ปากคำเป็นเวลา 5 ชั่วโมง "ยอดขายดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ยังต่ำอยู่มาก" เพราะเมื่อเทียบกับปีที่แล้วก็ยังลดลง 20-30%
เขาบอกว่าจีเอ็มมีรถยนต์ที่ได้รับความนิยมอยู่บ้าง และได้รับประโยชน์จากมาตรการด้านการตลาดที่แข็งแกร่ง รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ว่าจีเอ็มจะสามารถพ้นจากสภาพการล้มละลายในไม่ช้า
เกอร์เบอร์อาจจะสั่งให้จีเอ็มปรับแผนการของตน เพื่อตอบสนองเป็นบางส่วนต่อคำร้องคัดค้านราว 850 คำร้องของพวกเจ้าหนี้ หรือจีเอ็มเองอาจจะไปทำความตกลงกับพวกเจ้าหนี้กันนอกศาล เพื่อช่วยเร่งกระบวนการล้มละลายก็ได้
กระทั่งหากเกอร์เบอร์ปฏิเสธรับฟังคำค้านของเจ้าหนี้ และเปิดไฟเขียวให้จีเอ็มเดินหน้าต่อไป พวกผู้ให้กู้ก็ยังสามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ได้
แต่จากตัวอย่างกรณีไครสเลอร์ก่อนหน้านี้ ที่สามารถออกจากภาวะล้มละลายได้อย่างรวดเร็วมาก ทำให้เห็นกันโดยทั่วไปว่า พวกเจ้าหนี้ก็คงไม่สามารถจะขัดขวางแผนการนี้ของจีเอ็มเช่นกัน
จีเอ็มซึ่งยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายต่อศาลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน หลังจากที่สามารถตกลงกับสหภาพแรงงานแห่งหลัก และพวกผู้ให้กู้ส่วนใหญ่ได้แล้ว ได้รับการคาดหมายว่าน่าจะจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นได้สำเร็จในกลางเดือนนี้ ซึ่งก็จะเร็วกว่ากรอบเวลา 60-90 วันที่คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามาคาดการณ์เอาไว้
ทั้งนี้ในกรณีไครสเลอร์ที่มีขนาดหนึ่งในสามของจีเอ็ม ต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายเพียง 40 วัน และแม้กระทั่งพวกเจ้าหนี้พยายามอุทธรณ์ไปถึงขั้นศาลสูงสุด ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการขัดขวางการขายสินทรัพย์ดีๆ ของไครสเลอร์ ไปให้แก่ "ไครลเลอร์ใหม่" ที่มีบริษัทเฟียตแห่งอิตาลีเข้ามาเป็นแกนนำ
เช่นเดียวกับกรณีของไครสเลอร์ หลังแยกเอาสินทรัพย์ส่วนที่ดีมาขายให้แก่ "จีเอ็มใหม่" แล้ว สินทรัพย์ส่วนที่แย่ๆ ของจีเอ็มจะยังคงอยู่กับ "จีเอ็มเก่า" ซึ่งจะมีการชำระบัญชีและเอาออกมาขายเพื่อนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ โดยอยู่ในการพิจารณาของศาลล้มละลายแห่งนิวยอร์ก ทว่าจีเอ็มใหม่จะไม่ต้องรับภาระกับกระบวนการที่จะกินเวลายาวนานนี้
เฮนเดอร์สันกล่าวว่า กระทรวงการคลังสหรัฐคาดไว้ว่าการดำเนินขายสินทรัพย์เพื่อปิดบัญชีของจีเอ็มเก่า น่าจะต้องใช้ต้นทุนมากกว่า 950 ล้านดอลลาร์ หรืออาจจะสูงถึง 1,200 ล้านดอลลาร์ และเขาเน้นย้ำว่ารัฐบาลกำลังเร่งให้จีเอ็มกลับฟื้นคืนมาได้โดยเร็ว
"รัฐบาลน่าจะวิตกเกี่ยวกับเรื่องสถานะทางธุรกิจในระหว่างอยู่ในภาวะล้มละลาย" เขาบอกต่อศาล
ในจีเอ็มใหม่ รัฐบาลสหรัฐฯจะถือหุ้น 60.8% ของทุนดำเนินการเพื่อแลกกับเงินกู้ฉุกเฉิน 50,000 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลแคนาดาจะถือหุ้น 11.7% ส่วนกองทุนทรัสต์เพื่อสุขภาพของผู้เกษียณอายุแล้วของสหภาพแรงงานยูไนเต็ด ออโต เวิร์กเกอร์ส จะถือหุ้นอีก 17.5%
พวกเจ้าหนี้ที่ถือหุ้นกู้ของจีเอ็มอยู่จะสวอปสินเชื่อ 27,000 ล้านดอลลาร์มาเป็นหุ้น 10% บวกกับวอแรนท์เพื่อทำให้พวกเขาสามารถซื้อหุ้นเพิ่มเติมได้อีก 15% ในอนาคต
รัฐบาลสหรัฐฯออกมาแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าไม่มีความต้องการให้จีเอ็มเป็นธุรกิจของรัฐในระยะยาว และจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการดำเนินงานรายวันของบริษัทด้วย