xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารโลก-แบงก์แห่งคอร์รัปชั่น(ตอน3)

เผยแพร่:   โดย: บี เอ็ดเวิร์ดส์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

World Bank generous to a fault
By Bea Edwards
27/05/2009

อินเดียและเวียดนามเป็นจ่าฝูงของประเทศจอมคอร์รัปชั่นที่โดดเด่นอยู่บนรายชื่อประเทศที่รับความช่วยเหลือของธนาคารโลกหรือที่เรียกกันติดปากว่าเวิลด์แบงก์ เรื่องนี้ เป็นข้อมูลที่ถูกฝังหมกไว้อย่างลึกอย่างลับมากๆ ภายในรายงานของหน่วยงานตรวจสอบใต้ชายคาของเวิลด์แบงก์ ในการนี้ นับจากที่นายเจมส์ วูลฟ์เฟนซอห์น อดีตประธานคณะกรรมการของธนาคารโลก เปิดฉากการรณรงค์ต่อต้าน “มะเร็งร้ายแห่งการคอร์รัปชั่น” เมื่อกว่าหนึ่งทศวรรษที่แล้ว สิ่งที่เวิลด์แบงก์ได้ดำเนินการก็ยังอยู่ในระดับแค่การพูดโดยปราศจากการกระทำ แม้ว่าในเวลาเดียวกันนั้นเอง แบงก์แห่งโลกยังเดินหน้าจัดสรรความช่วยเหลือนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ประเทศจอมอื้อฉาวด้านคอร์รัปชั่นไปตามที่ผู้บริหารระดับสูงเห็นสมควร โดยแทบจะไม่มีการตั้งคำถามใดๆ ขึ้นมา

*รายงานนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนสอง)

**แล้วจะร้องหาใครได้? **

แม้กลุ่มการประเมินผลอิสระไม่ได้บ่งบอกเรื่องนี้ไว้ แต่ความอ่อนด้อยภายในขั้นตอนที่ถูกเพิ่มเข้าไป ทำให้กองทุนของสมาคมเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศมีความเปราะบาง หมิ่นเหม่แต่จะต้องเผชิญกับการคอร์รัปชั่นกันอย่างง่ายดาย ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ใช่แต่เฉพาะกองทุนไอดีเอ หากยังเป็นเช่นนี้ในทุกกองทุนของธนาคารโลกถ้วนหน้า และธนาคารโลกก็ไม่สามารถจัดการทางกฎหมายกับบรรดาการดำเนินการที่เป็นอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยักยอก ติดสินบน หรือฉ้อโกง ทั้งนี้ ฝ่ายงานความซื่อสัตย์ของสถาบัน หรือไอเอ็นที ทำการสอบสวนพวกข้อกล่าวหาเกี่ยวเนื่องกับอาชญากรรมเหล่านี้ ด้วยประสงค์ที่จะกันไม่ให้บริษัทคดโกงอีกทั้งบุคคลขี้ฉ้อได้เข้ามีเอี่ยวในงานทั้งปวงของเวิลด์แบงก์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความเป็นไปได้ที่จะกอบกู้กองทุนของสมาคมเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศนั้น นับว่าห่างไกลความเป็นจริงอย่างยิ่ง และเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับชาติก็ต้องคอยพึ่งพิงข้อมูลจากธนาคารโลกและจากฝ่ายงานความซื่อสัตย์ของสถาบัน หากคิดจะเดินเรื่องดำเนินคดีกับรายใดๆ ขึ้นมา

ข้อกล่าวหาที่ผุดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าด้วยเรื่องของการประพฤติผิดในเชิงอาชญากรรมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกองทุนของเวิลด์แบงก์ ชี้ให้เห็นว่าเวิลด์แบงก์ไม่มีขั้นตอนที่เป็นรูปแบบมาตรฐานในการที่จะเสนอคดีขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ระดับชาติดำเนินการ ซึ่งถ้าขั้นตอนดังกล่าวมีอยู่จริง ฝ่ายบริหารของธนาคารโลกก็ไม่เต็มใจที่จะเปิดเผยให้ผู้คนได้ทราบถึงขั้นตอนเหล่านั้น และในเวลาเดียวกัน สาธารณชนก็ไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ด้วย

ดังนั้น ผลที่ตามมาก็คือกองทุนไอดีเอจึงมีความอ่อนไหวที่จะถูกบั่นทอนด้วยเรื่องฉ้อโกงและคอร์รัปชั่นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในประการแรกเลย ระบบป้องกันยังไม่เกิดขึ้นมาไม่ว่าจะในระดับประเทศหรือระดับโครงการ ทั้งนี้ กองทุนไอดีเอไม่ได้รับการปกป้องเพราะยังไม่มีมาตรการเชิงป้องกันที่จะสามารถเตือนแต่เนิ่นๆ ถึงสัญญาณของความไม่ถูกต้องความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายอย่างเป็นระบบ

ในประการต่อมา เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในทีมงานของเวิลด์แบงก์และมีหน้าที่ในโครงการที่มีความเสี่ยงสูงด้านการคอร์รัปชั่น มักที่จะกลัวหรือลังเลที่จะลุกขึ้นมาแจ้งข้อกล่าวหาพฤติการณ์ฉ้อโกงและคอร์รัปชั่น แม้เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะมีข้อสงสัยที่สมควรแก่การดำเนินการ ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ในโครงการหมั่นปล่อยให้การเบิกจ่ายเงินโครงการสามารถดำเนินสืบไปเรื่อยๆ มันก็จะไม่มีคำถามใดๆ ถูกเอ่ยถึงขึ้นมา แต่ถ้าพวกเขาดำเนินการเบิกจ่ายเงินโครงการให้ช้าหรือดึงเรื่องไว้ก่อนในยามที่มีข้อน่าสงสัยเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น พวกเขาก็จะต้องเจอกับภาระงานมหาศาลพอกพูนขึ้นเป็นภูเขาเลากาทั้งในแง่ของงานเอกสารและในแง่ของแรงกดดัน

สำหรับประการที่สาม เมื่อผู้มีหน้าที่ดำเนินการสืบสวนเห็นเบาะแสที่บ่งชี้ว่าอาจมีการกระทำผิดเกิดขึ้นมา บุคคลเหล่านี้รู้สึกลำบากใจที่จะทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบ ด้วยกลัวจะถูกแก้แค้นเอาคืน นอกจากนั้น ในท้ายที่สุดแล้ว เวิลด์แบงก์ไม่มีแววว่าจะให้ความร่วมมืออย่างเป็นระบบแก่หน่วยงานด้านการบังคับกฎหมายของประเทศเจ้าบ้าน

กลุ่มการประเมินผลอิสระได้แสดงข้อมูลให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่า เวิลด์แบงก์ไม่ได้เตรียมเขี้ยวเล็บให้พร้อมที่จะสร้างความมั่นใจว่า เงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกองทุนเพื่อความช่วยเหลือที่อยู่ในความรับผิดชอบของสมาคมเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ จะไม่ถูกผันผายผ่องถ่ายไปสู่บัญชีเงินฝากของใครต่อใครอย่างผิดๆ นอกจากนั้น หลังจากที่วางมาดเป็นนักต่อต้านคอร์รัปชั่น อีกทั้งเที่ยวพร่ำสอนถึงผลกระทบที่คอร์รัปชั่นสามารถบั่นทอนบ่อนทำลายการพัฒนาไว้ต่างๆ นานาเนิ่นนานมากกว่าหนึ่งทศวรรษ ฝ่ายบริหารของเวิลด์แบงก์ควรที่จะพุ่งเป้าไปที่การดำเนินการแก้ปัญหาแบบที่สามารถปฏิบัติเป็นจริงได้เสียที

**รุกคืบขึ้นหน้า**
ในการดำเนินการแก้ปัญหาแบบที่สามารถปฏิบัติเป็นจริงดังกล่าวนั้น เห็นได้ชัดว่ามีขั้นตอนหลายขั้นตอน(ทั้งที่เป็นแบบต้นทุนต่ำและแบบไร้ต้นทุน) ซึ่งฝ่ายบริหารสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ดังนี้:
◊ สร้างระบบป้องกันที่สามารถต้านการคอร์รัปชั่น โดยให้ระบบเหล่านี้เข้าไปอยู่ในส่วนต่างๆ ของงาน ไม่ว่าจะส่วนที่เป็นการออกแบบโครงการ ส่วนของการกำกับดูแล และส่วนงานการจัดซื้อจัดจ้าง
◊ ฝึกฝนผู้ปฏิบัติงานของโปรเจ็กต์ทั้งหลาย ให้สามารถรู้จักและเข้าใจสัญญาณที่บ่งบอกถึงการคอร์รัปชั่นในบรรดาโครงการนั้นนี้ของเวิลด์แบงก์
◊ ปกป้องผู้ตรวจสอบที่ทำหน้าที่เป่านกหวีดเตือนภัยคอร์รัปชั่น ให้ได้รับการคุ้มครองจากการถูกเล่นงานล้างแค้นในยามที่ผู้ตรวจสอบออกมาเปิดโปงการฉ้อโกงและความไม่ชอบมาพากลทั้งหลาย พร้อมกับสร้างระบบที่สามารถควบคุมฝ่ายผู้ถูกเปิดโปงไม่ให้สามารถแผลงฤทธิ์แก้แค้นผู้ตรวจสอบได้
◊ สร้างหลักประกันว่าผู้ทำหน้าที่ไต่สวนเจาะลึกข้อกล่าวหาจะได้รับการปกป้องจากการถูกล้างแค้นในยามที่บุคคลเหล่านี้สืบเสาะเจาะลึกเข้าไปในพวกข้อกล่าวหาเหล่านั้น นอกจากนั้น ในยามที่การไต่สวนคดีอาชญากรรมได้รับการยืนยันแล้ว ก็จะต้องมีการสร้างหลักความมั่นใจว่าผู้ทำหน้าที่ไต่สวนทั้งหลายได้รับการสนับสนุนให้มีอำนาจเพียงพอแก่การไปร่วมมือกับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไต่สวนคดีในสังกัดของทางการประเทศเจ้าบ้าน

ว่ากันอันที่จริงแล้ว ฝ่ายบริหารของเวิลด์แบงก์ไม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากภายนอกองค์กรเลยในเรื่องว่าจะทำอย่างไรเพื่อรับมือกับปัญหาคอร์รัปชั่น พวกผู้บริหารในธนาคารโลกรู้ดีอย่างเหลือเฟือในเรืองนี้มากมายกว่าใครๆ ใดๆ ทั้งหมด ทั้งนี้ อันที่จริงแล้ว ในเกือบจะทุกกรณีแห่งการคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเรื่องฮั้วประมูล การสมรู้ร่วมคิด รวมถึงการติดสินบน ไม่มีเรื่องใดยากเกินกว่าที่พวกคนเวิลด์แบงก์จะจับเจอ

ปัญหาแท้จริงที่ดำเนินอยู่ในธนาคารโลกคือ ความล้มเหลวในส่วนของบรรดาผู้บริหารระดับบนที่จะตั้งใจเอาจริงกับเรื่องล้างคอร์รัปชั่น ตัวอย่างเช่น ในหน่วยงานที่ข้าพเจ้าทำงานอยู่ด้วยคือ โครงการสอบบัญชีกลางของรัฐบาล (Government Accountability Project) มีการตรวจพบว่าวูลฟ์เฟนซอห์น ซึ่งทำหน้าฉากว่าเร่งดำเนินมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่ในหลังฉากกลับปิดปากคนในทีมงานไม่ให้เตือนนักลงทุนให้รู้เท่าทันว่า พวกอาชญากรข้ามชาติกำลังปล้นโครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในอาเซอร์ไบจัน

นอกจากนั้น ตอนที่วูลฟ์เฟนซอห์นตระเวนเดินสายในอัฟริกา เที่ยวไปเทศนาสอนสั่งในเรื่องต่อต้านคอร์รัปชั่น เขาได้เอื้ออวยให้มีการขโมยงบของธนาคารโลกเพื่อที่กิ๊กสาวคนโปรดจะมีเงินไปตกแต่งที่พักของคุณเธอขึ้นใหม่อย่างอู้ฟู่ แล้วก็แอบไปบีบบังคับห้ามปรามไม่ให้รายงานของกลุ่มการประเมินผลอิสระ บังอาจไปนำเสนอเรื่องที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงว่า ประธานาธิบดีโจเซฟ คาบิลา แห่งสาธารณรัฐคองโก คือผู้ที่ไฟเขียวให้คุณนายกิ๊กนางนี้เม้มงบดังกล่าวไปดำเนินการดังกล่าวนั่นเอง ในการนี้ คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอะไรที่การตรวจสอบพบว่างบที่คุณเธอเอาเงินไปในเรื่องส่วนตัวนั้น แท้จริงแล้วมีวัตถุประสงค์ที่จะให้การสนับสนุนโครงการขนย้ายเด็กๆ ชาวคองโกให้หนีออกจากพื้นที่สงครามด้วยวิธีพาขึ้นเครื่องบินเพื่อที่จะหลบออกได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย

ธนาคารโลกมีความเชี่ยวชาญในระดับสูงที่จะส่งเสริมให้เกิดความตระหนักว่า การคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่จะต้องถูกดำเนินการแก้ไขโดยทันที แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ตัวประเด็นหลัก เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า โดยพื้นฐานแล้ว นับจากที่ธนาคารโลกเริ่มรณรงค์ด้วยวาจาในเรื่องกวาดล้างคอร์รัปชั่นมาจนปัจจุบัน ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงให้ได้ประจักษ์กันเลย หนำซ้ำยังมีการเพิ่มขั้นตอนการ“ทบทวน”เข้าไปในระบบการเดินเรื่องเดินเอกสาร ขณะที่การสำแดงโวหารอันน่าประทับใจก็พร่ำพูดกันไป นอกจากนั้น ภายในเวิลด์แบงก์มีการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานและมีการจัดทำระบบที่ปรึกษาเพื่อส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูล กระนั้นก็ตาม ยังไม่มีการสร้างตัวระบบระเบียบ ยังไม่มีระบบป้องกันคอร์รัปชั่นได้อย่างแท้จริง อีกทั้งไม่มีการกำหนดระบบลงโทษในเรื่องของการกระทำการอันเป็นอาชญากรรม และที่น่าสังเกตมากกว่าอื่นใด และเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักมากว่าเรื่องใดคือ รายงานของกลุ่มการประเมินผลอิสระที่เปิดโปงการคอร์รัปชั่น กลับกลายเป็นว่าแทบไม่ได้รับความสนใจจากผู้ที่สามารถดำเนินการกับเรื่องนี้เลย

หมายเหตุ: รายงานของกลุ่มการประเมินผลอิสระ หรือ World Bank Independent Evaluation Group report

บี เอ็ดเวิร์ดส์ เป็นผู้อำนวยการโครงการระหว่างประเทศ ในสังกัดโครงการสอบบัญชีกลางของรัฐบาล (International program director of Government Accountability Project) และเป็นผู้เขียนบทความให้แก่นิตยสาร Foreign Policy In Focus

  • ธนาคารโลก-แบงก์แห่งคอร์รัปชั่น(ตอน1)
  • ธนาคารโลก-แบงก์แห่งคอร์รัปชั่น(ตอน2)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น