เอเจนซี - เจพีมอร์แกน, โกลด์แมนแซคส์, และแบงก์ขนาดใหญ่ของสหรัฐฯอีก 8 แห่ง ได้รับอนุมัติและรีบดำเนินการจ่ายคืนเงินจำนวนรวม 68,000 ล้านดอลลาร์ ที่กู้ยืมรัฐบาลตามโครงการกอบกู้ช่วยชีวิตภาคการเงินการธนาคารแล้ว นับเป็นสัญญาณแสดงว่าอุตสาหกรรมนี้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้หลายฝ่ายมองว่าการที่ธนาคารเหล่านี้เร่งจ่ายเงินคืน ก็เพราะต้องการจะออกไปให้พ้นการควบคุมของรัฐบาลที่มีการออกระเบียบตั้งเพดานการจ่ายเงินตอบแทนให้แก่พวกผู้บริหาร
การกำหนดเพดานการจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้บริหารนั้น เป็นเงื่อนไขข้อหนึ่งที่ทางธนาคารต้องยินยอม เมื่อขอกู้เงินจากทางการสหรัฐฯเข้ามาประคองการเงินของตนเองเอาไว้ตาม "โครงการบรรเทาสินทรัพย์ที่มีปัญหา" (Troubled Asset Relief Program หรือ TARP) ขณะที่การคืนเงินนี้ก็ถูกมองด้วยว่าเป็นฐานสำหรับเริ่มแยกธนาคารที่แข็งแกร่งออกมาจากธนาคารที่ยังคงอ่อนแอจากวิกฤตการเงินอยู่
หลังจาก เลห์แมน บราเธอร์ วาณิชธนกิจยักษ์รายหนึ่งของวอลล์สตรีท ประสบภาวะล้มละลายเมื่อกลางปีที่แล้ว ก็ส่งผลกระทบทำให้ธนาคารต่างๆ เกิดการขาดแคลนสภาพคล่องอย่างรุนแรง จนรัฐบาลสหรัฐฯในช่วงปลายสมัยคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ต้องตั้งโครงการ TARP ขึ้นมา เพื่อช่วยให้ธนาคารของสหรัฐฯไม่ล้มครืนลงมา และส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ
มาเมื่อต้นปีนี้ สถานการณ์ของธนาคารขนาดใหญ่เริ่มดีขึ้นมาก ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะขอคืนเงินกู้โดยเร็วเพื่อให้หลุดพ้นจากการควบคุมของรัฐบาล
ตามประกาศของกระทรวงการคลังที่ออกเมื่อวันอังคาร (9) มิได้ระบุชื่อธนาคาร โดยกล่าวเพียงแต่ว่าธนาคาร10 แห่งได้รับอนุมัติให้คืนเงินกู้แก่รัฐบาลแล้ว อย่างไรก็ตาม แบงก์ทั้ง 10 ต่างก็รีบเร่งแถลงข่าวว่าพวกตนปลอดพ้นจากการเป็นหนี้รัฐบาล
ในช่วงแรกๆ หลังข่าวนี้แพร่ออกมา ราคาหุ้นในตลาดวอลล์สตรีทได้เพิ่มสูงขึ้น แต่แล้วก็ถูกเทกลับลงไปอีก เนื่องจากนักวิเคราะห์พากันมองว่าเม็ดเงินเหล่านี้น่าจะนำมาใช้ปล่อยกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มากกว่าจะคืนให้รัฐบาล
"หากว่าธนาคารเป็นห่วงสาธารณชนบ้าง พวกเขาก็คงเก็บเงินสดเหล่านี้ไว้และเริ่มปล่อยเงินกู้ออกมา" คาร์ล เบอร์เคลบัค ประธานและซีอีโอของเบอร์เคิลบัค อินเวสเมนท์ ซีเคียวริตีส์ ในชิคาโก ให้ความเห็น
ในส่วนของรัฐบาลนั้น รัฐมนตรีคลัง ทิโมธี ไกธ์เนอร์กล่าวว่า การจ่ายเงินคืนเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าภาคการเงินสหรัฐฯเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ก็กล่าวว่าสหรัฐฯและประเทศอื่น ๆในกลุ่ม 8 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี8) ยังจะต้องเน้นหนักไปที่การจัดวางมาตรการต่าง ๆเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวต่อไปอีก
ก่อนหน้านี้เมื่อไม่กี่เดือนก่อน หน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารของสหรัฐฯ ได้เข้าตรวจสอบความแข็งแกร่งของธนาคารใหญ่ที่สุด 19 แห่ง ที่เรียกกันว่า "stress tests" เพื่อดูว่าธนาคารเหล่านี้ต้องการเงินทุนอีกเท่าไรจึงจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้หากว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเลวร้ายลงไปกว่านี้ และผลออกมาว่าธนาคาร 10 แห่งถูกสั่งให้เพิ่มทุน โดยที่หน่วยงานกำกับดูแลก็รอให้ธนาคารเหล่านี้เสนอแผนการเรื่องการเพิ่มทุนนี้เสียก่อน จึงจะรับรองให้จ่ายเงินคืนหนี้สินตามโครงการ TARP
เงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะทำให้รัฐบาลยอมรับคืนเงินกู้ก็คือ ธนาคารจะต้องแสดงให้เห็นว่า สามารถระดมทุนจากภาคเอกชนได้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะใช้วิธีการขายหุ้นและการออกตราสารหนี้ต่าง ๆ โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือให้ค้ำประกันจากบรรษัทประกันเงินฝาก (เอฟดีไอซี) นอกจากนั้น ยังจะต้องให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)เห็นพ้องด้วยว่าระดับเงินกองทุนของธนาคารเหล่านี้เพียงพอแล้วที่จะเอื้อการกู้ยืมเงินต่อไป
สำหรับทั้ง 10 ธนาคารใหญ่ที่แถลงว่าได้รับอนุมัติให้คืนเงินกู้แล้ว ได้แก่ อเมริกัน เอกซเพรส, แบงก์ ออฟ นิวยอร์ค เมลลอน กรุ๊ป, บีบีแอนด์ที คอร์ป, แคปิตอล วัน ไฟแนนเชียล คอร์ป, โกลด์แมนแซคส์ กรุ๊ป อิงค์, เจพีมอร์แกน เชสแอนด์โค, มอร์แกนสแตนลีย์, นอร์ธเทิร์น ทรัสต์ คอร์ป, สเตท สตรีท คอร์ป และยูเอส แบนคอร์ป
อย่างไรก็ตาม ธนาคารที่ใหญ่มากๆ อย่าง ธนาคารแห่งอเมริกา (แบงก์ออฟอเมริกา)และซิติกรุ๊ป ซึ่งได้รับเม็ดเงินอัดฉีดไปธนาคารละ 45,000 ล้านดอลลาร์ ยังไม่ได้รับอนุมัติให้จ่ายเงินคืน
กระทรวงการคลังกล่าวว่าธนาคารที่ใช้เงินคืนได้แล้วยังได้รับอนุญาตให้ซื้อคืนวอแรนท์ที่รัฐบาลถืออยู่ด้วย "ในราคาตลาด" และธนาคารที่ได้รับอนุมัติให้คืนเงินหลายแห่งก็บอกว่าตั้งใจจะทำเช่นนั้นอยู่แล้ว
วอแรนท์ที่รัฐบาลถือครองอยู่ ได้รับสิทธิ์ที่จะแปลงเป็นหุ้นสามัญ ในราคาที่ตกลงกันไว้ก่อนภายในระยะเวลา 10 ปี รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีซึ่งเป็นเจ้าของเงินที่รัฐบาลเอามาใช้อัดฉีดธนาคารต่าง ๆ ได้รับแบ่งปันกำไรด้วย ในกรณีที่ธนาคารเหล่านี้มีความแข็งแกร่งขึ้น โดยที่ไกธ์เนอร์กล่าวในวันอังคารว่า ตอนนี้วอแรนท์เหล่านี้บางส่วนมีมูลค่าสูงหลายพันล้านดอลลาร์ทีเดียว
เมื่อวันอังคารเช่นกัน ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการฟื้นฟูภาคการเงิน อลิซาเบธ วอร์เรน ก็ออกมาแถลงว่าคณะกรรมการมีแผนจะเข้าไปดูแลเพื่อให้มั่นใจว่า ผู้เสียภาษีจะได้ผลประโยชน์อย่างยุติธรรม
ไกธ์เนอร์กล่าวในการให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการรัฐสภาว่า การได้เงินกู้คืนมา 68,000 ล้านดอลลาร์ จะทำให้กระทรวงคลังไม่ต้องของเงินภาษีของราษฎรมาใช้อีกแล้วในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงยากลำบากนี้
ตอนนี้เม็ดเงินสำหรับฟื้นฟูภาคการเงินในกระเป๋ารัฐบาลนั้นเหลือเพียง 54,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น และล่าสุดเงินจำนวนล่าสุดที่ใช้ไปก็คือ 30,000 ล้านดอลลาร์เพื่อประคองสถานการณ์ของเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) เอาไว้
หลายฝ่ายคาดว่ากระทรวงการคลังจะออกระเบียบใหม่ในวันพุธ(10)นี้ เกี่ยวกับเรื่องค่าตอบแทนของผู้บริหารในธนาคารที่ยังคงมิได้คืนเงินกู้รัฐบาลมา นอกจากนี้ทางการสหรัฐก็ยังคงพยายามมองหาทางที่จะเข้าไปมีอิทธิพลเหนือระบบการกำหนดค่าตอบแทนของอุตสาหกรรมการเงินของประเทศ เพื่อมิให้เกิดปัญหาธนาคารจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารเป็นจำนวนมหาศาลแม้ธนาคารจะขาดทุนเพียงใดก็ตาม เหมือนในช่วงวิกฤตหรือก่อนหน้านั้น