xs
xsm
sm
md
lg

BISชี้เหตุตลาดการเงินกระเตื้องQ2 เตือนนักลงทุนวิตกหนี้สินรัฐที่พุ่งลิ่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานของเลห์แมนในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ประสบภาวะล้มละลายเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว
เอเอฟพี - ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ระบุในรายงานที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์(7)ว่า จากการที่ตลาดการเงินต่างๆ เกิดความหวังว่าช่วงเลวร้ายที่สุดของวิกฤตการเงินระลอกนี้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว จึงทำให้ตลาดต่าง ๆพากันดีดตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสสองของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในรายงานศึกษาทบทวนประจำไตรมาสฉบับล่าสุดของบีไอเอสชิ้นนี้ ชี้ด้วยว่าการดีดตัวสูงขึ้นของตลาดต่างๆ ดังกล่าว ยังไปไม่ถึงระดับของช่วงก่อนหน้าที่จะวานิชธนกิจยักษ์ใหญ่ เลห์แมน บราเธอร์ส จะประสบภาวะล้มละลายเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว นอกจากนั้นตลาดการเงินยังเริ่มมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความสามารถในการใช้หนี้ของรัฐบาลต่าง ๆ

ทั้งนี้ การล้มละลายอย่างน่าตื่นตะลึงของเลห์แมน บราเธอส์ ได้นำไปสู่ภาวะสินเชื่อตึงตัวอย่างรุนแรง รวมทั้งตลาดหุ้นทั่วโลกพากันดำดิ่งเหวด้วย

เพื่อแก้ไขปัญหาสินเชื่อตึงตัวดังกล่าว ซึ่งบังเกิดขึ้นสืบเนื่องจากพวกแบงก์และสถาบันการเงินไม่ไว้วางใจฐานะของกันและกันและจึงไม่ยอมปล่อยกู้ให้แก่กันและกัน ตลอดจนแก่กิจการอื่นๆ ทางธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จึงได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในตลาดอย่างมหาศาล ในขณะเดียวกันรัฐบาลต่าง ๆก็ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อส่งเสริมผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว และหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

บีไอเอสกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางและรัฐบาลต่างๆ เหล่านี้ "ทำให้เกิดสภาพการณ์ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุน"

"แสงแห่งความหวังที่ว่า ช่วงเลวร้ายที่สุดของวิกฤตการเงินและการทรุดตัวทางเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทำให้เกิดความต้องการที่จะเสี่ยงในการลงทุนเพิ่มขึ้นในหมู่นักลงทุนในช่วงระหว่างสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม" รายงานศึกษาทบทวนประจำไตรมาสชิ้นล่าสุดของบีไอเอสบอก

ทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดสินเชื่อต่างพากันพุ่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม บีไอเอสกล่าวว่าตลาดเหล่านี้ยังคงอยู่ในระดับที่มิอาจเทียบได้กับช่วงก่อนที่เลห์แมนล้ม

นอกจากนั้น พวกนักลงทุนยังเป็นกังวลเพิ่มมากขึ้นในเรื่องหนี้สาธารณะของภาครัฐ

บีไอเอสชี้ว่าพวกตราสารเครดิต ดีฟอลต์ สวอป (credit-default swap หรือ CDS) สำหรับตราสารหนี้ประเภทที่ได้เครดิตเรตติ้งต่ำกว่าระดับควรลงทุน ตลอดจนสำหรับตราสารหนี้ของภาครัฐ ต่างมีส่วนต่าง (spread) อยู่ในระดับที่ยังคงค่อนข้างสูง

ซีดีเอสนั้นเป็นเครื่องมือทางการเงินประเภทประกันภัยความเสี่ยงชนิดหนึ่ง โดยถ้าหากหนี้สินที่เจ้าหนี้/ผู้ถือ ได้ไปซื้อซีดีเอสประกันภัยเอาไว้ แล้วเกิดถูกลูกหนี้เบี้ยวหนี้เข้าจริงๆ ผู้ที่ขายซีดีเอส ก็จะต้องเป็นผู้จ่ายหนี้ก้อนนั้นให้เจ้าหนี้/ผู้ถือแทน ขณะที่ส่วนต่าง (spread) ก็คือค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อซีดีเอสต้องจ่ายให้แก่ผู้ขาย

การที่ซีดีเอสสำหรับตราสารหนี้ภาครัฐต้องจ่ายส่วนต่างในอัตราสูง จึงบ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงมากขึ้นที่รัฐบาลอาจจะเบี้ยวไม่จ่ายหนี้ก้อนนั้นนั่นเอง

ในทำนองเดียวกัน เวลานี้รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็กำลังต้องยอมจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้ยอมปล่อยเงินกู้ให้พวกตน (หรือในทางปฏิบัติแล้ว ก็คือยอมซื้อตราสารหนี้ของรัฐบาล)

"ยิ่งไปกว่านั้น การที่รัฐบาลต่างๆ เกิดการขาดดุลพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็นำไปสู่ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของฐานะการคลังของรัฐบาล รวมทั้งความสามารถของบางรัฐบาลในการจ่ายหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล" บีไอเอสกล่าว

"ผลที่ตามมาจากการที่สินเชื่อภาครัฐถูกมองว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสูงขึ้นจริงๆ หรือเป็นเพียงความรับรู้เข้าใจกันก็ตามที ในบางกรณีอาจทำหนักลงทุนเรียกร้องต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิม ในการเข้าไปลงทุนถือครองตราสารหนี้ของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ จึงกำลังผลักดันให้อัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ของพันธบัตรรัฐบาลต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นมา"

บีไอเอสยังได้ยกเอาอังกฤษและสหรัฐฯเป็นตัวอย่างของประเทศที่พันธบัตรรัฐบาลกำลังถูกกดดันให้ต้องจ่ายยีลด์แพงขึ้น

แต่บีไอเอสก็ชี้ด้วยว่า ส่วนต่างของตราสารหนี้ภาครัฐบองบรรดาประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ กลับกำลังเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือประเทศเหล่านี้ในปัจจุบันต้องจ่ายส่วนเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อก่อนเลห์แมนล้มละลายไม่มากนัก

"พวกนักลงทุน ... กลับมีความกระหายที่จะถือครองสินทรัพย์ของตลาดประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่กันอีกครั้งหนึ่ง ... สินเชื่อตลาดเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ยังมีแนวโน้มที่จะมีผลประกอบการดีกว่าพวกตลาดประเทศพัฒนาแล้ว" รายงานของบีไอเอสชี้
กำลังโหลดความคิดเห็น