xs
xsm
sm
md
lg

โสมแดงโยกคลอนความเป็นนักสันติภาพของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: โคซูเกะ ทาคาฮาชิ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pyongyang shakes up pacifist Japan
By Kosuke Takahashi
29/05/2009

จากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นปัจจัยเร่งรัดรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนท้ายๆ ของการจัดทำแผนการ ซึ่งจะเปิดทางให้ฝ่ายทหารสามารถเปิดการโจมตีใส่ศัตรูก่อนที่จะถูกศัตรูเล่นงาน โดยแผนการดังกล่าวนี้จะบรรจุเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารสำคัญทางด้านกลาโหมฉบับใหม่ ที่เตรียมนำออกมาใช้กันภายในสิ้นปีนี้ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ยุคสมัยแห่งลัทธิสันตินิยมอย่างเข้มข้น ดังที่จารึกเอาไว้ใน “รัฐธรรมนุญฉบับสันติภาพ” ที่สหรัฐฯจัดร่างขึ้นมาให้ญี่ปุ่นใช้นั้น น่าจะกำลังถึงจุดอวสานแล้ว

โตเกียว – เกาหลีเหนือที่กำลังแสดงท่าทีความเป็นศัตรูมากขึ้นทุกที กำลังกลายเป็นตัวปลุกกระแสความรู้สึกแบบเหยี่ยวนิยมความรุนแรง ให้กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ในญี่ปุ่น ซึ่งยังคงมีฐานะเป็นประเทศผู้ทรงอำนาจที่สุดรายหนึ่งของโลก ตลอดจนมีอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยอย่างยิ่ง

จากการยั่วยุหลายต่อหลายครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ของทางการเปียงยาง เป็นต้นว่า การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดิน, การยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้, และการทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยไกล ได้กลายเป็นการเร่งรัดให้ญี่ปุ่นที่โดยปกติแล้วเป็นนักสันตินิยม ต้องพิจารณาถึงลู่ทางที่จะพัฒนาสมรรถนะทางทหารแบบที่สามารถเปิดการโจมตีศัตรูก่อนที่จะถูกศัตรูโจมตี (pre-emptive strike) เพื่อเข้าทำลายบรรดาฐานที่ตั้งทางทหารต่างๆ ของศัตรู เป็นต้นว่า พวกที่อยู่ในเกาหลีเหนือ

มีข้าราชการและสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อย ที่ยังคงมีข้อสงวนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่ถือเป็นการเปิดฉากก้าวกระโดดไปไกลเช่นนี้ เนื่องจากมันจะเป็นการถอยห่างสุดกู่จากนโยบายหลังสงครามโลกครั้งที่สองของญี่ปุ่น ซึ่งมุ่งเน้นที่การป้องกันประเทศเพียงอย่างเดียว ไม่มีการรุกรานคนอื่น ลัทธิสันตินิยม (pacificism) อันเข้มข้นซึ่งจารึกเอาไว้ใน “รัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพ” ที่สหรัฐฯร่างขึ้นมาให้ญี่ปุ่นใช้ตอนยึดครองแดนอาทิตย์อุทัยช่วงยุติสงครามโลก กำลังจะกลายเป็นเรื่องในอดีตไปเสียแล้ว

รัฐบาลญี่ปุ่นโดยพรรคลิเบอรัล เดโมแครติก ปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party หรือ LDP) ซึ่งเป็นแกนนำคณะรัฐบาลผสมชุดนี้ กำลังเดินหน้าร่างแผนการที่จะทำให้ฝ่ายทหารของญี่ปุ่นสามารถเปิดการโจมตีก่อนต่อรัฐศัตรู โดยที่อยู่ในขั้นตอนของการตกแต่งรายละเอียดเป็นขั้นสุดท้ายแล้ว แผนการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของ “คำชี้แนะด้านโครงการกลาโหมแห่งชาติ” (National Defense Program Guidelines) ฉบับใหม่ สำหรับปีงบประมาณ 2010 – 2014 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญด้านการป้องกันประเทศที่จะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้

ข้อเสนอเรื่องให้ฝ่ายทหารญี่ปุ่นสามารถเปิดการโจมตีก่อน เป็นหนึ่งในข้อเสนอต่างๆ หลายๆ ประการ ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารสรุปย่อความยาว 12 หน้าลงวันที่ 26 พฤษภาคมของคณะอนุกรรมการชุดหนึ่ง แห่งคณะกรรมการวางนโยบายด้านกลาโหมของพรรคแอลดีพี โดยในเรื่องการเปิดโจมตีก่อนนั้น เอกสารนี้เรียกร้องว่าญี่ปุ่นควรสามารถที่จะใช้ขีปนาวุธลาดตระเวนแบบยิงจากทะเล (sea-launched cruise missile) เปิดการโจมตีเล่นงานฐานที่ตั้งขีปนาวุธของชาติศัตรูเสียก่อน ตั้งแต่ที่ดาวเทียมตรวจการณ์สามารถตรวจพบเป็นครั้งแรกว่ามีการเตรียมการเพื่อยิงขีปนาวุธในรัฐปรปักษ์แห่งนั้น ทั้งนี้ เป็นที่คาดหมายกันว่า ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้จะจัดทำเสร็จสิ้นเรียบร้อยอย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 3 มิถุนายน

ญี่ปุ่นจะต้องไม่ถูกบังคับให้ทำได้ “เพียงแค่นั่งดูและเฝ้ารอคอยความตายของตัวเองที่กำลังจะมาถึง” นี่เป็นเนื้อความตอนหนึ่งของเอกสารนี้ซึ่งเอเชียไทมส์ออนไลน์ได้รับมา เอกสารนี้บอกว่ามาตรการในการโจมตีก่อนนี้ ยังคงต้อง “อยู่ภายในขอบเขตแห่งนโยบายที่มุ่งเน้นการป้องกันตัวเพียงอย่างเดียวของญี่ปุ่น” พร้อมกับเน้นย้ำว่า การเปิดการโจมตีก่อนสามารถนำมาใช้ได้ เมื่อศัตรูกำลังจะมาโจมตีแน่ๆ แล้ว

สมาชิกรัฐสภาผู้หนึ่งได้ตั้งกระทู้ถามว่า ญี่ปุ่นมีสิทธิหรือไม่ที่จะเปิดการโจมตีก่อนเข้าใส่ที่ตั้งขีปนาวุธของฝ่ายปรปักษ์ ภายหลังดาวเทียมจารกรรมตรวจพบการเตรียมการยิงขีปนาวุธในรัฐศัตรู ทางนายกรัฐมนตรีทาโร อาโซะ ตอบว่า “ตราบเท่าที่มีหลักฐานยืนยันว่าไม่สามารถใช้มาตรการอื่นๆ ได้แล้ว การโจมตีฐานขีปนาวุธของศัตรูคือสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มันเข้าข่ายเป็นการป้องกันตัวเอง มันแตกต่างไปจากการเข้าโจมตีคนอื่นก่อน”

อาโซะชี้ว่าปกติแล้วสิทธิในการป้องกันตัวเอง ย่อมต้องนิยามว่าเป็นสิทธิที่จะใช้กำลังในระดับหนึ่ง เพื่อป้องกันตัวเองจากการโจมตีด้วยอาวุธที่กำลังจะบังเกิดขึ้นแล้ว หรือจากการโจมตีด้วยอาวุธอย่างผิดกฎหมายชัดเจน เขากล่าวย้ำว่ารัฐบาลญี่ปุ่นยึดมั่นทัศนะเช่นนี้เสมอมา ในฐานะเป็นจุดยืนพื้นฐานของตน

จากความคิดเห็นเช่นนี้ของอาโซะดูจะบ่งชี้ว่า การที่ญี่ปุ่นจะปรับจุดยืนต่อเกาหลีเหนือให้แข็งกร้าวยิ่งขึ้นนี้ สามารถเดินหน้าได้โดยไม่จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพของญี่ปุ่นเลย เขายังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “...กองกำลังป้องกันตนเอง (Self-Defense Force หรือ SDF ซึ่งก็คือกองทัพญี่ปุ่นนั่นเอง) ยังไม่ได้มีอาวุธยุทโธปกรณ์ชนิดที่สามารถเข้าโจมตีฐานที่ตั้งของศัตรู” หากดูจากสมรรถนะที่มีอยู่ในปัจจุบัน

“สิทธิในการป้องกันตัวเองของประเทศชาติคือสิทธิตามธรรมชาติ และสิทธิในการป้องกันตัวเองของบุคคลก็เป็นสิ่งที่รับรองเอาไว้อย่างชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ” โตชิยูกิ ชิคาตะ นักวิเคราะห์ด้านการทหารญี่ปุ่น บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ “แต่ญี่ปุ่นก็ยังจะต้องมีการปรับตัวทำความเข้าใจกันบ้างกับสหรัฐฯ หรือกับพันธมิตรทางทหารของญี่ปุ่น”

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์รายวัน โรดง ของเกาหลีเหนือฉบับวันศุกร์(29) ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการที่ประณามการแสดงความคิดเห็นของอาโซะตลอดจนผู้นำญี่ปุ่นคนอื่นๆ ในช่วงหลังๆ มานี้ ว่าเป็นการเปิดเผยให้เห็นแผนกโลบายอันก้าวร้าวของญี่ปุ่น ซึ่งมุ่งที่จะจุดชนวนทำสงครามรุกรานเกาหลีเหนือ บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ทางการพรรคคอมมิวนิสต์โสมแดงชิ้นนี้คุยว่า เกาเหลีเหนือจะ “กวาดล้างพวกผู้รุกรานลัทธิทหารชาวญี่ปุ่นให้หมดสิ้น โดยเปิดการโจมตีตอบโต้อย่างไร้ความปราณี” ทั้งทางภาคพื้นดิน, ทางทะเล, และทางอากาศ

ในบรรดาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการของแอลดีพี ยังมีอีกข้อหนึ่งที่เสนอให้เปลี่ยนแปลงวิธีการตีความรัฐธรรมนูญที่ทางรัฐบาลใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งปฏิเสธไม่ให้สิทธิแก่ญี่ปุ่นที่จะดำเนินกิจกรรมด้านการป้องกันร่วมกับประเทศอื่นๆ และกำลังกลายเป็นการห้ามกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ไม่ให้ทำการคุ้มครองเรือรบสหรัฐฯในเวลาที่ออกปฏิบัติการร่วมกัน รวมทั้งไม่ให้ขัดขวางขีปนาวุธข้ามทวีปพิสัยไกลที่กำลังเคลื่อนเข้าใส่เป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ

ขัอเสนอเหล่านี้ยังมีทั้งเรื่องการแนะนำให้พัฒนาระบบดาวเทียมเตือนภัย ซึ่งจะตรวจจับการยิงขีปนาวุธนำวิถี อันเป็นสมรรถนะที่ปัจจุบันญี่ปุ่นยังต้องพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯ อีกข้อเสนอหนึ่งคือการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองผู้หนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการคนหนึ่งของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ญี่ปุ่นได้มีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่แต่งตั้งตำแหน่งนี้ โดยเกรงกันว่าจะถูกมองเป็นการหวนคืนสู่การสร้างคณะรัฐบาลบวกกองทัพ ที่เรืองอำนาจไร้การทัดทานตรวจสอบ

นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอที่เรียกร้องให้ทบทวนสิ่งที่เรียกกันว่า หลักการ 3 ประการแห่งการห้ามส่งออกอาวุธ ในปัจจุบันมีข้อยกเว้นไม่ใช้หลักการ 3 ประการนี้อยู่เพียงกรณีเดียว นั่นคือบริษัทญี่ปุ่นสามารถที่จะจัดส่งอาวุธไปให้แก่สหรัฐฯได้ในกรณีเป็นอาวุธซึ่งสร้างขึ้นจากโครงการพัฒนาร่วมกัน แต่ข้อยกเว้นนี้ก็ถูกนำมาใช้เฉพาะเรื่องโครงการริเริ่มระบบป้องกันขีปนาวุธนำวิถี (ballistic missile defense หรือ BMS) เท่านั้น ทั้งนี้หากมีการแก้ไขหลักการ 3 ประการจริงๆ ก็จะเปิดทางให้ญี่ปุ่นสามารถส่งออกอาวุธไปยังประเทศอื่นๆ ได้

ในบรรดาข้อเสนอเหล่านี้ ยังมีที่เสนอแนะให้จัดทำกฎหมายพื้นฐานว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และริเริ่มจัดตั้งหน่วยงานทำนองเดียวกับสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯขึ้นในญี่ปุ่น

ซาโตรุ มิยาโมโตะ นักวิจัยด้านกิจการทางทหารของเกาหลีเหนือ แห่งสถาบันญี่ปุ่นเพื่อกิจการระหว่างประเทศ (Japan Institute of International Affairs) บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์เมื่อวันศุกร์(29)ว่า เหตุผลข้อเสนอของพรรคแอลดีพีและอาโซะในช่วงหลังๆ มานี้ อันที่จริงแล้ว “ไม่มีอะไรนอกจากเป็นคำพูดบนกระดาษเท่านั้นเอง”

“กระทั่งว่าถ้าญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการไปโจมตีพวกฐานที่ตั้งของศัตรู แต่ญี่ปุ่นเองก็จะไม่สามารถป้องกันตัวเองจากการถูกโจมตีตอบโต้ได้หรอก” มิยาโมโตะแจกแจง “ญี่ปุ่นไม่ได้มีสมรรถนะทางทหารดังกล่าว มันเป็นเรื่องง่ายมากที่จะก่อสงครามขึ้นมา แต่มันจะเป็นเรื่องลำบากมากที่จะยุติสงคราม”

โคซูเกะ ทาคาฮาชิ เป็นอดีตนักเขียนประจำกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุง เวลานี้เขาเป็นผู้สื่อข่าวอิสระซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงโตเกียว สามารถติดต่อเขาได้ที่ letters@kosuke.net
กำลังโหลดความคิดเห็น