xs
xsm
sm
md
lg

‘ฮาโตยามา’ได้โอกาสชิงชัยเป็นนายกฯญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: โคซูเกะ ทาคาฮาชิ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Hatoyama gets his chance
By Kosuke Takahashi
18/05/2009

พรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ได้เลือก ยูคิโอะ ฮาโตยามะ ขึ้นเป็นประธานคนใหม่ ภายหลังผู้นำพรรคคนก่อน อิชิโร โอซาวะ ประกาศลาออกท่ามกลางรอยเปรอะเปื้อนจากกรณีอื้อฉาว ฮาโตยามะนั้นไม่ใช่เป็นบุคคลที่สาธารณชนชื่นชอบที่สุดก็จริง แต่รากฐานแห่งเชื้อสายพงศ์พันธุ์ทางการเมืองของเขาก็ตระการตาพอฟัดพอเหวี่ยงกับนายกรัฐมนตรี ทาโร อาโซะ ทีเดียว การต่อสู้ของทั้งคู่ในการเลือกตั้งระดับชาติที่กำลังจะมาถึง จึงชวนให้เปรียบเทียบถึงการโรมรันกันระหว่างคุณปู่กับคุณตาของสองคนนี้ ในญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

โตเกียว – “ด้วยการที่พรรคเดโมแครติกปาร์ตี้ฯ แสดงบทบาทเป็นแกนนำ ขอให้พวกเราจงร่วมมือร่วมใจกันเพื่อเก็บกวาดสะสางญี่ปุ่นให้สะอาดหมดจดกันเถิด” ยูคิโอะ ฮาโตยามะ กล่าวเรียกร้องต่อบรรดาสมาชิกพรรคแบบสุดเสียง ภายหลังเขาได้รับการคัดเลือกอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์(16) ให้เป็นผู้พลิกฟื้นโชคชะตาของพรรคเดโมแครติกปาร์ตี้ออฟแจแปน (Democratic Party of Japan หรือ DPJ) ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น

ภารกิจสำคัญยิ่งในช่วงนี้ของเขาก็คือ การหาทางโค่นล้มรัฐบาลแนวอนุรักษนิยมที่นำโดยพรรคลิเบอรัลเดโมแครติกปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party หรือ LDP) โดยที่เขาจะต้องเป็นผู้ยืนผงาดอยู่ข้างหน้านำพาพรรคดีพีเจเข้าสนามการเลือกตั้งสมาชิกสภาล่าง ซึ่งตามวาระแล้วจะต้องจัดขึ้นภายในวันที่ 19 ตุลาคมปีนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้อาจส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจครั้งสำคัญในญี่ปุ่น ซึ่งกว่า 50 ปีที่ผ่านมาในทางพฤตินัยแล้วก็มีเพียงพรรคแอลดีพีเป็นผู้ครอบงำเวทีการเมืองอยู่พรรคเดียว โดยดีเจพีจะต้องพลิกเกม และทำให้ฮาโตยามะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ฮาโตยามะผู้มาจากตระกูลสูงศักดิ์ ไม่ได้มีฐานสนับสนุนที่เข้มแข็งและมีมวลชนห้อมล้อมแน่นหนาใดๆ เลย ดังนั้นเส้นทางข้างหน้าสำหรับเขาและพรรคของเขาจึงเป็นทางเดินที่ลำบากขรุขระ โดยเป็นไปได้ว่าแม้จะมีโอกาสได้ที่นั่งของสภาล่างมากกว่าพรรคแอลดีพี แต่ดีพีเจพรรคเดียวก็ยังอาจไม่ได้ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งในจำนวนทั้งหมด 480 ที่นั่งของสภาล่าง สภาพเช่นนี้ย่อมนำไปสู่สถานการณ์ที่ไร้เสถียรภาพสำหรับการเมืองญี่ปุ่นอีกคำรบหนึ่ง

เลขาธิการพรรคดีพีเจ ฮาโตยามะ ซึ่งปัจจุบันอายุ 62 ปี สามารถมีชัยเหนือคู่แข่งเพียงคนเดียวของเขา นั่นคือ รองประธานพรรค คัตสึยะ โอคาดะ ที่อยู่ในวัย 55 ปี ด้วยคะแนนเสียง 124 ต่อ 95 เสียง จากการโหวตของสมาชิกรัฐสภาของพรรคเดพีเจ

ชัยชนะนี้ทำให้ฮาโตยามะก้าวขึ้นตำแหน่งประธานพรรคแทนที่ อิชิโร โอซาวะ ผู้นำคนก่อนที่อยู่ในวัย 66 ปี และต้องยอมลาออกจากกรณีอื้อฉาวเรื่องเงินบริจาคทางการเมือง อันลุกลามถึงขั้นทำให้เลขานุการของเขาถูกตำรวจจับกุม

“สำหรับดีพีเจแล้ว ควรที่จะเลือกโอคาดะมากกว่า เพราะเขามีภาพลักษณ์ที่ดีมาก” มิโนรุ โมริตะ นักวิเคราะห์การเมืองผู้มีชื่อเสียงในกรุงโตเกียว บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ “เขาทำให้นึกถึงภาพของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ถ้าเขาขึ้นเป็นผู้นำก็น่าจะเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบเปลี่ยนรุ่นในคณะผู้นำพรรคกันทีเดียว”

โอคาดะผู้ปราชัยได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปยิ่งกว่าฮาโตยามะเป็นไหนๆ ทั้งนี้ตามผลสำรวจความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นหลายๆ สำนัก เป็นต้นว่า การสำรวจทางออนไลนห์ที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์นิกเคอิ ก่อนหน้าการเลือกตั้งจริงๆ เมื่อวันเสาร์(16) ปรากฏว่าโอคาดะได้คะแนน 61.4% ในคำถามที่ว่าใครควรจะเป็นประธานพรรค ขณะที่มีเพียง 18.9% เท่านั้นซึ่งชอบฮาโตยามะมากกว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะโอคาดะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะนักการเมืองผู้มีภาพลักษณ์อันใสสะอาด โดยเฉพาะเมื่อเป็นประเด็นเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ

ทว่าฮาโตยามะซึ่งเป็นนักการเมืองชาญศึก อีกทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคดีพีเจด้วย มีข้อเด่นเหนือกว่าในเรื่องสายสัมพันธ์ภายในพรรค จึงส่งผลให้ได้รับความสนับสนุนมากกว่าจากพวกสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติระดับชาติ ทั้งนี้เขาเป็นมือขวาและผู้ช่วยใกล้ชิดของโอซาวะอย่างแท้จริง โดยขึ้นนั่งตำแหน่งเลขาธิการพรรคมาเป็นเวลา 3 ปี เขายังพูดต่อสาธารณชนบ่อยๆ ว่า โอซาวะกับเขานั้น “อยู่ในเรือลำเดียวกัน” และไม่เปลี่ยนท่าทีในเรื่องนี้ แม้หลังจากที่กรณีอื้อฉาวเงินบริจาคทางการเมืองที่พัวพันทั้งเลขานุการของโอซาวะและบริษัทก่อสร้าง นิชิมัตสึ คอนสตรักชั่น จะถูกขุดคุ้ยออกมาเมื่อตอนต้นเดือนมีนาคม

แต่จากสัมพันธ์โยงใยอันเหนียวแน่นกับโอซาวะเช่นนี้แหละ ทำให้ฮาโตยามะได้รับความสนับสนุนจากมุ้งใหญ่ที่สุดในพรรคดีพีเจมากกว่าโอคาดะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาได้เสียงสนับสนุนอย่างเข้มแข็งมากเป็นพิเศษจากพวกสมาชิกสภาสูงหน้าใหม่ ซึ่งชนะได้ที่นั่งสมัยแรกของพวกเขาในการเลือกตั้งปี 2007 ในช่วงที่โอซาวะเป็นประธานพรรคแล้ว จวบจนทุกวันนี้ สมาชิกสภาสูงเหล่านี้ก็ยังถูกเรียกขานกันว่า “เด็กๆ ของโอซาวะ”

สำหรับสมาชิกสภาล่างหลายต่อหลายคน ซึ่งดูจะว่องไวในการจับกระแสความคิดเห็นที่กำลังเปลี่ยนแปลง สืบเนื่องจากความกังวลที่พวกเขาจะต้องลงเลือกตั้งครั้งใหม่กันภายในปีนี้ มีรายงานพากันไปโหวตให้โอคาดะ แต่จำนวนดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอหนุนส่งให้โอคาดะชนะเป็นผู้นำพรรคได้ มีข้อน่าสังเกตด้วยว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาล่างปี 2005 ซึ่งพรรคแอลดีพียังนำโดยนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ ผู้ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูง ทางพรรคดีพีเจต้องพ่ายแพ้สูญเสียมากที่สุดในเขตมหานครใหญ่ๆ อย่างโตเกียวและโอซากา ซึ่งตามประเพณีแล้วจะต้องเป็นที่มั่นของฝ่ายค้าน โดยวิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะมีผู้ออกเสียงที่มิได้ภักดีต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พากันเทคะแนนให้พรรคของโคอิซูมิในคราวนั้นกันเป็นจำนวนล้านๆ เสียง ด้วยเหตุนี้เอง สมาชิกสภาล่างของดีพีเจในปัจจุบันจึงมีที่มาจากเขตมหานครไม่มากนัก และเรื่องนี้ก็น่าจะส่งผลต่อคะแนนที่ลงให้แก่โอคาดะด้วย

ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองจำนวนไม่น้อยทีเดียวเชื่อว่า ถ้าหากคณะผู้บริหารพรรคดีพีเจ ซึ่งนำโดยโอซาวะและฮาโตยามะ กำหนดให้ผู้มีสิทธิโหวตเลือกประธานพรรคคนใหม่ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติระดับชาติเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงสมาชิกพรรคในระดับท้องถิ่นด้วยแล้ว โอคาดะก็จะต้องได้รับเลือกตั้งเป็นประธานคนใหม่แน่ๆ

ยิ่งกว่านั้น วันเวลาที่กำหนดจัดการเลือกตั้งประธานพรรคดีพีเจ เพิ่งมีการตัดสินกันเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม หรือเพียง 4 วันก่อนหน้าการเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 16 เวลารณรงค์หาเสียงที่สั้นมากๆ เช่นนี้น่าจะส่งผลให้ฝ่ายโอคาดะดำเนินกิจกรรมหาเสียงได้ไม่เต็มที่ ทำให้เขาเข้าไปไม่ถึงประชาชนคนสามัญ อย่างเช่นพวกที่เป็นเหยื่อของภาวะเศรษฐกิจถดถอย และดังนั้นจึงไม่อาจสร้างผลกระทบทางอ้อมเพื่อกดดันให้พวกสมาชิกรัฐสภาระดับชาติยอมเปลี่ยนใจในการโหวต

“โอคาดะได้รับความสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งมากเมื่อดูจากผลโพลต่างๆ” ชูอิชิ ดาเตะ สมาชิกสภาสูงสังกัดพรรคแอลดีพีฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเวลานี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการพรรคด้วย พูดเช่นนี้กับเอเชียไทมส์ออนไลน์ “สำหรับเราแล้วเป็นเรื่องดีกว่าและง่ายกว่าที่จะแข่งขันต่อสู้กับฮาโตยามะ ไม่ใช่โอคาดะ เมื่อมีการยุบสภาจัดการเลือกตั้งกันใหม่”

เหล่านักวิเคราะห์การเมืองทั้งหลายอย่างเช่นโมริตะ ยังคงคิดว่าพรรคดีพีเจในการนำของฮาโตยามะ ยังจะชนะได้จำนวนที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาล่างที่ขยับใกล้เข้ามาทุกขณะ

“แต่เฉพาะที่นั่งของดีพีเจพรรคเดียวคงไม่สามารถชนะได้เป็นพรรคเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งคราวนี้หรอก จำนวนที่นั่งของดีพีเจไม่น่าจะสูงกว่าที่นั่งของแอลดีพีกับที่นั่งของพรรคพันธมิตรอย่าง นิว โคเมอิโตะ (New Komeito) รวมกัน” โมริตะให้ความเห็น

จากการสำรวจของหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเพียง 16% ของผู้ตอบคำถามบอกว่าพวกเขารู้สึกประทับใจต่อพรรคดีพีเจมากขึ้นภายหลังฮาโจยามะขึ้นเป็นผู้นำพรรค ขณะที่ 75% กล่าวว่าพวกเขายังคงมีทัศนะต่อพรรคนี้อย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อถามว่าพวกเขามีความคาดหวังอย่างสูงต่อพรรคดีพีเจที่นำโดยฮาโตยามะใช่หรือไม่ 47%บอกว่าใช่ และอีก 43% ตอบว่าไม่ใช่ ทั้งนี้มีผู้สนับสนุนพรรคดีพีเจเพียง 24% เท่านั้นที่กล่าวว่า พวกเขามีความประทับใจต่อพรรคมากขึ้น เหล่านี้น่าจะเป็นการบ่งชี้ว่า ผู้ออกเสียงส่วนใหญ่กำลังใช้ท่าทีแบบรอดูไปก่อน ในเรื่องที่ฮาโตยามาะเข้ามาเป็นผู้นำพรรค

**นักการเมืองผู้สูงศักดิ์**

ฮาโตยาะเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของตระกูลการเมืองที่ทรงอำนาจที่สุดและมั่งคั่งที่สุดตระกูลหนึ่งของญี่ปุ่น

เขาเป็นหลานปู่ของอิชิโร ฮาโตยามะ ประธานพรรคคนแรกของแอลดีพี และดำรงตำแหน่งนายกรํฐมนตรี 3 ครั้งในช่วงระหว่างปี 1954 ถึง 1956 บิดาของเขา อิชิโร ฮาโตยามะ เป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และพี่ชายของเขา คูนิโอะ ฮาโตยามะ เวลานี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกิจการภายในและคมนาคม ในคณะรัฐบาลทาโร อาโซะ

ความได้เปรียบทางการเมืองอย่างมหาศาลจากรากฐานแห่งเชื้อสายพงศ์พันธุ์ของตระกูลฮาโตยามะ นับว่าเท่าเทียมคู่คี่กับของอาโซะ ตัวอาโซะนั้นสามารถนับญาติได้กับอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นถึง 7 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณตาของเขา ชิเกรุ โยชิดะ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนั้นน้องสาวของอาโซะก็สมรสกับโอรสองค์โตของเจ้าชายและเจ้าหญิงมิคาซะ พระปิตุลาและพระมาตุฉาของสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน

ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองจำนวนมากชี้ว่า การสู้รบครั้งสำคัญยิ่งที่กำลังจะระเบิดขึ้นระหว่างแอลดีพีของอาโซะ กับดีเจพีของฮาโตยามะ ชวนให้เปรียบเทียบถึงการศึกระหว่างคุณตา ชิเกรุ โยชิดะ และคุณปู่ อิชิโร ฮาโตยามะ ของพวกเขา ท่านทั้งสองต่างเป็นผู้นำกลุ่มอนุรักษนิยมที่เข้มแข็งกันคนละกลุ่มในยุคญี่ปุ่นหลังสงคราม

เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว โยชิดะสามารถที่จะสร้างรากฐานทางการเมืองอันมั่นคงเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพขึ้นมาได้ ก็เพราะในปี 1946 กองบัญชาการใหญ่กองทหารสัมพันธมิตร (General Headquarters of the Allied Forces หรือ GHQ) ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ได้จัดการเขี่ยทิ้ง อิชิโร ฮาโตยามะ ผู้นำทางการเมืองที่ทรงอำนาจมากในเวลานั้น โดยเป็นผู้ก่อตั้งพรรคแอลดีพีขึ้นในเดือนสิงหาคม 1945 อย่างไรก็ตาม อีก 5 ปีต่อมา ทางจีเอชคิวยุติการจำกัดบทบาทของฮาโตยามะ จากนั้นเมื่อถึงปี 1954 เขาก็สามารถเข้าควบคุมรัฐบาลญี่ปุ่นได้อีกครั้ง ด้วยการโค่นล้มนายกรัฐมนตรีโยชิดะ

“อิชิโร ฮาโตยามะ โค่น ชิเกรุ โยชิดะ” โมริตะชี้ “ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอย โดยที่ ยูคิโอะ ฮาโตยามะ ทำสิ่งเดียวกันกับ อาโซะ”

อย่างไรก็ดี เวลานี้ผู้คนจำนวนมากในโตเกียวกลับคับข้องใจกันว่า พรรคการเมืองชั้นนำทั้งสองพรรคของญี่ปุ่นลงท้ายก็จะหวนกลับไปหาแนวทางเก่าๆ ที่จะให้พวกทายาทผู้นำรุ่นก่อนๆ กลับมาทำสงครามกันในอีก 60 ปีต่อมากระนั้นหรือ พวกนักการเมืองตามกรรมพันธุ์และคิดอ่านอะไรแต่ในกรอบเดิมๆ เหล่านี้ สามารถหรือไม่ที่จะเข้าอกเข้าใจความคิดความเชื่อของประชาชน และเกิดความตระหนักรับรู้ถึงภารกิจต่างๆ ซึ่งประชาชนตามท้องถนนคาดหวังให้รัฐบาลกระทำในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยย่ำแย่ลงทุกทีเช่นนี้

ความรับผิดชอบในเรื่องนี้บัดนี้ตกเป็นของฮาโตยามะแล้ว เขาจะต้องผ่อนคลายบรรเทาความกังวลคับข้องดังกล่าวที่แผ่ลามไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ถ้าหากเขามีความปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และเข้ากุมบังเหียนคณะรัฐบาล

โคซูเกะ ทาคาฮาชิ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในกรุงโตเกียว สามารถติดต่อเขาได้ที่ letters@kosuke.net
กำลังโหลดความคิดเห็น