xs
xsm
sm
md
lg

สมาชิกยูเอ็นรุมกดดันศรีลังกาเปิดทางเข้าช่วยเหลือผู้อพยพภัยสงคราม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ค่ายอพยพของพลเมืองที่ลี้ภัยจากสงครามระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกบฏทมิฬ
เอเจนซี - ศรีลังกาต้องยินยอมให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงพลเรือนราว 300,000 คนในค่ายอพยพ หลังคนเหล่านี้ลี้ภัยหนีจากสงครามที่เพิ่งยุติลงไม่นาน ประเทศสมาชิกบอกกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันอังคาร(26)

นอกจากนี้พวกเขายังเรียกร้องโคลอมโบ ทำงานเพื่อสร้างความปรองดองระหว่างชาวสิงหลซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่กับชาวทมิฬ รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยอื่นๆเพื่อสร้างสันติภาพในระยะยาว

นอร์เวย์ ซึ่งเป็นคนกลางเจรจาประนีประนอมระหว่างกบฏพยัคฆ์ทมิฬและรัฐบาลศรีลังกาก่อนการผลักดันทางทหารครั้งสุดท้าย ได้เรียกร้องสำหรับ "การได้รับอนุญาตเข้าช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่และไม่ถูกปิดกั้น" แก่ผู้รอดชีวิตจากสงครามทุกคน

"ประชาชนที่ได้รับผลกระทบควรได้กลับบ้าน ได้ใช้ชีวิตตามปกติและอย่างสันติเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้" บีเต สติโร ตัวแทนของออสโล บอกต่อที่ประชุม ณ กรุงเจนีวา ซึ่งจัดขึ้นตามคำร้องขอของชาติยุโรป

ศรีลังกาและชาติพันธมิตรประกอบด้วย รัสเซีย จีนและอียิปต์ ตำหนิการประชุมพิเศษหนนี้คือความพยายามเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของชาติอื่นและบอกว่าเวลานี้ควรพุ่งเป้าไปที่การฟื้นฟูประเทศจากความขัดแย้งที่กินเวลามานานกว่า 3 ทศวรรษ

นายมหินทา สมารสิงห์ รัฐมนตรีฝ่ายจัดการหายนะและสิทธิมนุษยชนของศรีลังกาบอกกับที่ประชุมพิเศษเมื่อวันอังคาร(26) ว่ารัฐบาลของเขาเบื่อหน่ายและอ่อนล้าจากแรงกดดันของนานาชาติ แต่มีเป้าหมายอนุญาตให้ประชาชนที่ไร้ที่อยู่อาศัยจากสงครามไดกลับบ้านเมื่อการฟื้นฟูและกิจกรรมก่อสร้างแล้วเสร็จ

ด้านสหรัฐฯกล่าวว่าที่ประชุมเห็นพ้องกันถึง "ช่วงเวลาที่สำคัญของศรีลังกา" และเรียกร้องโคลอมโบสร้างความเชื่อมั่นว่าประชาชนที่ต้องเรร่อนจากภัยความขัดแย้งจะสามารถกลับคืนสู่บ้านของตนเองได้ในช่วงสิ้นปีนี้

คณะกรรมการกาชาดสากลบอกว่าพวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงค่ายพักผู้ลี้ภัยซึ่งดำเนินการโดยทหารได้อย่างเต็มที่

นาย จาค็อบ เคลเลนเบอร์เกอร์ ประธานคณะกรรมการกาชาดสากล อ้างถึงความจำเป็นอย่างมหาศาลสำหรับความช่วยเหลือและการดูแลทางการแพทย์ต่อประชาชนผู้ลี้ภัยในศูนย์อพยพมานิก ฟาร์ม ซึ่งมีผู้อพยพราว 210,000 คน

มันยัง "ไม่เป็นที่ชัดเจน" ว่าศรีลังกาจะยอมให้เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เข้าถีงประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ เคลเลนเบอร์เกอร์กล่าว พร้อมระบุว่า "เรากำลังพิจารณากับพวกเขา" เขาบอกกับที่ประชุมในเจนีวา

สหประชาชาติคาดหมายว่ามีพลเรือนศรีลังกาถูกสังหารราว 80,000 ถึง 100,000 คน นับตั้งแต่สงครามปะทุขึ้นในปี 1983 ขณะที่กองทัพศรีลังกาบอกว่ามีทหารเสียชีวิต 6,200 นายและสามารถสังหารนักรบพยัคฆ์ทมิฬ 22,000 คน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันอาทิตย์(24) รัฐบาลศรีลังการะบุว่าว่าจะไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติเข้าไปช่วยเหลือพลเรือนที่อยู่ในค่ายผู้อพยพ จนกว่าจะแยกพวกกบฏพยัคฆ์ทมิฬที่ยังซ่อนตัวรวมอยู่ในกลุ่มผู้อพยพออกมาเสียก่อน ถึงแม้มีเสียงเรียกร้องจาก บันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติที่เดินทางเยี่ยมค่ายผู้อพยพในวันเสาร์(23) ก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น