เอเอฟพี - รัฐบาลศรีลังการะบุวันนี้ (24) ว่าจะไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติเข้าไปช่วยเหลือพลเรือนที่อยู่ในค่ายผู้อพยพ จนกว่าจะแยกพวกกบฏพยัคฆ์ทมิฬที่ยังซ่อนตัวรวมอยู่ในกลุ่มผู้อพยพออกมาเสียก่อน ถึงแม้มีเสียงเรียกร้องจากเลขาธิการสหประชาชาติที่เดินทางเยี่ยมค่ายผู้อพยพเมื่อวันเสาร์(23)
ทั้งนี้ในวันเสาร์ (23) บันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติได้เดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพมานิค ฟาร์ม ซึ่งมีผู้อพยพชาวทมิฬอยู่ถึงราว 200,000 คน บันกล่าวถึงบรรยากาศในค่ายดังกล่าวว่ามีผู้อพยพอยู่รวมกันอย่างแออัด และพวกเขา "ต้องการอาหาร น้ำ และระบบสุขอนามัยอย่างมากอย่างยิ่ง"
"ผมรู้สึกสะเทือนในอย่างยิ่งกับสิ่งที่ได้เห็น มีคนบาดเจ็บมากมายเหลือเกิน" บันกล่าวภายหลังเดินเยี่ยมค่ายเมนิค ฟาร์ม ได้เพียง 20 นาที ค่ายแห่งนี้อยู่ห่างจากกรุงโคลัมโบไปทางเหนือราว 250 กิโลเมตร สภาพค่ายเป็นเหมือนกับท้องทะเลที่มีแต่เพิงที่พักสังกะสีและเต็นท์ที่สร้างขึ้นอย่างหยาบๆ
นอกจากนั้น บันยังได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสภาพพื้นที่สู้รบทางตะวันออกเฉียงเหนือของศรีลังกาด้วย และพบเห็นภาพภูมิประเทศอันน่าเศร้าสลดเนื่องจากเต็มไปด้วยหลุมกระสุนปืนใหญ่ ยานพาหนะและบ้านเรือนที่ถูกเผาจนกลายเป็นเถ้าถ่าน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่บันได้พบกับประธานาธิบดีมหินทา ราชปักษี ที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองแคนดี เขาก็ระบุด้วยว่า "รัฐบาลกำลังทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดแล้ว แต่พวกเขาก็ขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็น" อีกทั้ง "ยังมีช่องว่างกว้างใหญ่อยู่ระหว่างสิ่งที่จำเป็นต้องจัดหาอย่างเร่งด่วนกับสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้"
บันยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลศรีลังกาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติเข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่พลเรือนที่พลัดถิ่นเหล่านั้นด้วย ทว่า รัฐบาลศรีลังกากลับตอบว่าจะ "ยอมรับความช่วยเหลือดังกล่าวโดยไม่มีเงื่อนไข หากสถานการณ์ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคง"
ส่วนประธานาธิบดีมหินทา ราชปักษ์ ได้ออกแถลงการณ์เตือนถึง "แนวโน้มที่ยังคงมีกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬแฝงตัวรวมอยู่กับผู้อพยพจำนวนมากที่เข้ามาพื้นที่ของรัฐบาล" นอกจากนั้น รัฐบาลยังระบุว่าค่ายผู้อพยพมีสภาพเป็น "หมู่บ้านสวัสดิการ" และรัฐบาลจะโยกย้ายพลเรือนพลัดถิ่นเหล่านี้ไปอยู่ในที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่นักเคลื่อนไหวฝ่ายกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬระบุว่าค่ายผู้อพยพเป็น "ค่ายกักกันนักโทษ" มากกว่าเพราะมีรั้วลวดหนามล้อมรอบ
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาที่การสู้รบระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวทมิฬทวีความรุนแรงขึ้นและส่งผลให้มีผู้อพยพหนีภัยสงครามหลายแสนคน สหประชาชาติได้เรียกร้องหลายต่อหลายครั้งให้สองฝ่ายหยุดยิง แต่กองทัพรัฐบาลเห็นว่าฝ่ายตนกำลังเป็นต่อจึงรุกคืบกดดันจนเอาชนะฝ่ายกบฏได้
พวกกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างประณามทั้งฝ่ายรัฐบาลที่ยิงถล่มฝ่ายตรงข้ามโดยไม่ละเว้นชีวิตพลเรือน และกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬเองที่ใช้วิธีจับพลเรือนเป็นตัวประกันและยิงพวกเขาทิ้งหากคิดหลบหนี ขณะที่หน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่างก็ร้องเรียนว่าไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่
เมื่อวันพฤหัสบดี (21) คณะกรรมการกาชาดสากลบอกระบุว่าถูกรัฐบาลสั่งระงับการจัดส่งอาหารซึ่งเป็นของที่จำเป็นอย่างยิ่งเข้าไปในค่ายเมนิค ฟาร์ม ซึ่งยังมีผู้อพยพเข้ามาเพิ่มอีกอย่างไม่ขาดสาย
ส่วนศพของเวฬุพิไล ประภาการัน ผู้ก่อตั้งกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬก็ได้ถูกเผาในบริเวณใกล้เคียงกัน หลังจากที่เขาถูกสังหารในวันสุดท้ายของการสู้รบ
"เราเผาศพของเขาในละแวกใกล้เคียงกับจุดที่เขาถูกยิงเสียชีวิต และได้นำอัฐิไปโปรยในทะเล" พลเอกสารัธ ฟอนเซกา ผู้บัญชาการกองทัพระบุวันนี้