เอเอฟพี - นักวิเคราะห์ระบุว่า การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเพิ่มเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นรำไรๆ ต้องหยุดชะงักลง แต่ผลกระทบจะรุนแรงต่อไปแค่ไหนขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เสียชีวิตและความตื่นตระหนกต่อโรคที่จะเกิดขึ้น
ในเอเชีย ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวชะงักงันไปพร้อมกับที่เศรษฐกิจผันผวนมากขึ้น ทั้งนี้ ก็เพราะไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้มาปลุกความทรงจำเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดเมื่อปี 2003 จนมีผู้เสียชีวิตไปถึงราว 300 คน และล่าสุด เมื่อวันศุกร์ (1) มีการยืนยันว่าพบผู้ติดเชื่อไวรัสชนิดเอ (เอช1เอ็น1) สายพันธุ์ใหม่นี้เป็นรายแรกในฮ่องกง ซึ่งเคยเป็นจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส์นั่นเอง
“เศรษฐกิจโลกเผชิญกับปัญหาท้าทายครั้งใหญ่มากอีกแล้ว” นักวิเคราะห์ตลาดรายหนึ่งของบริษัทวิจัย มูดีส์ อีโคโนมิกดอตคอม (Moody's Economy.com) บอก “การแพร่ระบาดของไข้หวัดในเม็กซิโก และกระจายไปยังประเทศอื่นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้การค้าและการลงทุนต้องสะดุดลง และเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยต่อเนื่องไปอีกอย่างไม่รู้ว่าจะยาวนานแค่ไหน”
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์หลายราย เชื่อว่า หากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เกิดการระบาดในลักษณะเดียวกับซาร์ส์แล้ว ผลกระทบน่าจะรุนแรงมาก แต่คงกินระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน
“ความเสี่ยงจะอยู่ตรงที่ว่าถ้าหากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่รุนแรงกว่าซาร์ส อีกทั้งมาตรการควบคุมโรคไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็มีแนวโน้มว่าผลกระทบจะยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น” เลียงไวโฮ นักเศรษฐศาสตร์แห่งบาร์เคลย์ แคปิตอลประจำสิงคโปร์วิเคราะห์
ส่วน ซ่งเซ็งวุน นักเศรษฐศาสตร์แห่งซีไอเอ็มบี-จีเค รีเสิร์ช สิงคโปร์ เห็นว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 จะสกัดไม่ให้เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวใดๆ ได้ ทั้งๆ ที่ถ้ามองในแง่ของความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจแล้ว ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มการฟื้นตัวให้เห็นอยู่บ้าง หลังจากที่รัฐบาลหลายประเทศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และบริษัทหลายแห่งเริ่มได้รับคำสั่งซื้อสินค้ามากขึ้นแล้ว
“แต่ถ้าหากมีอะไรมาทำลายความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วในตอนนี้อีก เศรษฐกิจก็คงจะตายสนิทอีกรอบ” เขาบอก
ธนาคารเครดีต์สวิส ของสวิตเซอร์แลนด์ ก็ระบุว่า ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ ก็คือประเทศที่อาศัยภาคการท่องเที่ยว การค้าปลีก และการขนส่งอย่างมาก เช่น ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย
ขณะที่มูดีส์ ก็บอกว่า ประเทศยากจนซึ่งมีระบบการตรวจและรักษาผู้ติดเชื้อไม่ดีเพียงพอ จะได้รับผลกระทบอย่างหนักหากมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลต่อความพยายามแก้ปัญหาความยากจนไปด้วย ในขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวันนั้น “ความเชื่อมั่นที่ลดน้อยลงจะส่งผลกระทบอย่างมากกว่าตัวโรคเสียอีก”
และหากมีการแพร่ระบาดถึงขั้นที่ประชาชนจะต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ก็จะทำให้การบริโภคลดลง และกระทบต่อเศรษฐกิจแรงมาก เนื่องจากภาคการบริโภคนั้นเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจรองจากภาคการส่งออกนั่นเอง
“ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการที่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวต้องอยู่แต่ในบ้าน มีแนวโน้มว่าจะหนักหนาสาหัสกว่าค่าใช้จ่ายในการต่อสู้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ด้วยซ้ำไป” มูดีส์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าภูมิภาคเอเชียและประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ และยุโรปมีการเตรียมตัวรับมือกับภัยคุกคามนี้ดีกว่าเมื่อก่อน
ดังนั้น ความเสียหายต่อเศรษฐกิจเท่าที่พบในขณะนี้ “ส่วนใหญ่เกิดจากความตื่นตระหนกและการใช้มาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ มากกว่าเป็นผลกระทบจากตัวโรคนี้โดยตรง” นักวิเคราะห์ของบริษัท “แคปิตอล อีโคโนมิกส์” ในลอนดอนบอก