เอเจนซี - โอบามา ชี้ ภาคการเงินของสหรัฐฯในอนาคต จะมีขนาดเล็กลงในระบบเศรษฐกิจแดนอินทรี เมื่อมีการนำกฎระเบียบใหม่ๆ มาปราบปรามพฤติกรรมความเสี่ยงที่มากเกินขนาด
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ให้สัมภาษณ์นิวยอร์กไทมส์ แมกกาซีน ฉบับวันเสาร์ (2) ว่า บทบาทของอุตสาหกรรมการเงินในสหรัฐฯ จะแตกต่างไปเมื่อภาวะถดถอยปัจจุบันสิ้นสุดลง
“สิ่งที่จะเปลี่ยนไป คือ สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นความผิดปกติ นั่นคือ สถานการณ์ที่ซึ่งผลกำไรในภาคการเงินเป็นส่วนใหญ่มากในศักยภาพการทำกำไรโดยรวมของเราในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
“ส่วนหนึ่งนั้นเกี่ยวข้องกับผลของกฎระเบียบ ที่จะห้ามการก่อภาระผูกพันทางการเงิน และการเสี่ยงอย่างมโหฬารที่กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว”
ผู้นำสหรัฐฯ เสริมว่า ผู้หางานทำบางส่วนที่มักเลือกเข้าสู่ภาคการเงิน จะหันไปหาส่วนอื่นๆ เช่น วิศวกรรมแทน
“วอลล์สตรีทจะยังคงเป็นส่วนสำคัญในเศรษฐกิจของเราเหมือนเช่นทศวรรษ 1970 และ 1980 แต่จะไม่ได้มีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งอีกต่อไป เราไม่ต้องการให้บัณฑิตใหม่ทุกคนที่มีศักยภาพด้านคณิตศาสตร์กลายเป็นเทรดเดอร์ตราสารอนุพันธ์”
เดือนมีนาคม คณะรัฐบาลของโอบามาเสนอแผนปฏิรูปเพื่อควบคุมพฤติกรรมความเสี่ยงในวอลล์สตรีท และอุดช่องว่างด้านกฎระเบียบเพื่อป้องกันพฤติกรรมสุดโต่งที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตการเงินที่รุนแรงที่สุดนับจากภาวะถดถอยรุนแรงในทศวรรษ 1930 และถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามแก้ไขวิกฤตการเงินปัจจุบัน
โอบามา สำทับว่า กฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบการเงินสหรัฐฯ พร้อมแสดงความหวังว่าผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน น่าจะกำลังฟื้นตัว แม้อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งก็ตาม
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กำลังสนับสนุนตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคและภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านกองทุนสินเชื่อที่อาจมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชน โดยมีจุดประสงค์เพื่อปลดปล่อยตลาดสินเชื่อที่ชะงักงันและกระตุ้นการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน
ผู้ถือตราสารหนี้ที่ค้ำประกันโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยและตราสารหนี้ที่ค้ำประกันโดยสินทรัพย์ จะสามารถขอรับสินเชื่อจากเฟดโดยนำตราสารเหล่านั้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
“เราจะต้องตัดสินใจว่าผลจากมาตรการต่างๆ ของเฟดและกระทรวงคลังจะทำให้ผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน จะฟื้นตัวได้หรือไม่”
“ผมเชื่อมั่นว่าที่สุดแล้วภาคการเงินส่วนดังกล่าวจะกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง แต่เราต้องใช้เวลาในการฟื้นความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ”
ส่วนหนึ่งของมาตรการปฏิรูปของโอบามา คือ การสร้าง “ผู้คุมกฎความเสี่ยงเชิงระบบ” ที่มีอำนาจกว้างขวางในการยึดบริษัทขนาดใหญ่นอกภาคการเงิน เช่น บริษัทประกันภัย เฮดจ์ฟันด์ หรือบริษัทลงทุนในหลักทรัพย์เอกชน หากพิจารณาเห็นว่าคุกคามต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน
นอกจากนี้ บริษัทที่มีความสำคัญเชิงระบบอย่างมากยังต้องเพิ่มทุนสำรองมากขึ้น
โอบามา ยังกล่าวอีกว่า กฎทางการเงินจะต้องถูกร่างขึ้น ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของสถาบันการเงินจริงๆ เพื่อป้องกันช่องโหว่ทางกฎหมาย เช่นในส่วนของวาณิชธนกิจและการธนาคารเพื่อลูกค้าประเภทธุรกิจ โดยอ้างอิงว่าบางประเทศที่ไม่มีปัญหาทางการเงินแบบสหรัฐฯ เช่น แคนาดา ไม่ได้แยกวาณิชกิจกับการธนาคารเพื่อลูกค้าประเภทธุรกิจออกจากกัน สะท้อนว่า กฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพและเข้มแข้งที่ไม่ใคร่ให้ความสนใจในรูปแบบกฎหมายควบคุมสถาบันมากนัก แต่เน้นหนักที่ฟังก์ชันการดำเนินการ อาจเป็นแนวทางที่สมควรนำมาใช้