xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่ว่านักเศรษฐศาสตร์ทุกคนจะเห็นด้วย

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ชิฟฟ์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Not all economists agree
Peter Schiff
20/04/2009

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีโมงยามที่สามารถมองวิกฤตการเงินด้วยญาณทัศน์อันกระจ่างใส กระนั้นก็ตาม โอบามาถอยออกมาจากการลงมือทำสิ่งที่ยากเข็ญ ซ้ำยังเข้าใจผิดอย่างร้ายที่กล่าวอ้างว่านักเศรษฐศาสตร์ล้วนเห็นด้วยกับแนวทางที่รัฐบาลจะใช้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย

ในการปราศรัยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งประธานาธิบดีบารัค โอบามาทำการสรุปนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลตน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้พูดเวอร์ไปมากทีเดียวว่านโยบายเหล่านี้ได้รับเสียงตอบรับท่วมท้นจากเหล่านักเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้ โอบามากล่าวว่า “นักเศรษฐศาสตร์ทั้งฟากซ้ายและฟากขวาต่างเห็นด้วยว่า สิ่งสุดท้ายที่รัฐบาลควรทำในช่วงเศรษฐกิจหดตัว คือการหั่นลดค่าใช้จ่าย” อันที่จริงแล้ว มีนักเศรษฐศาสตร์เยอะเชียวรู้สึกประหลาดใจที่ได้ทราบว่า พวกตนไปเห็นดีเห็นงามกับท่านประธานาธิบดีเสียแล้ว

ด้วยการอ่านจากคู่มือเล่นเกมเศรษฐกิจของสำนักเคนเซียน โอบามาสร้างความชอบธรรมให้แก่การเดินนโยบายขาดดุลงบประมาณหลายล้านล้านดอลลาร์ ด้วยการประกาศว่ารัฐบาลจะต้องเติมเต็มเงินแผ่นดินสำหรับงบค่าใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งติดลบไปสืบเนื่องจากการหดตัวในการจับจ่ายของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

แต่สำหรับผมซึ่งเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ได้เห็นงามกับประธานาธิบดีโอบามา ผมขอแย้งว่า ด้วยหัวคิดกระโหลกกะลาแบบนี้เปี๊ยบเลยล่ะที่พาสหรัฐฯ เข้าสู่ความเละเทะในขณะนี้ และมันเป็นเหตุที่ทำให้เรามุ่งหน้าสู่ภาวะเศรษฐกิจหดตัวผสมเงินเฟ้อ ณ ปัจจุบัน

เราไม่จำเป็นจะต้องหาสิ่งชดเชยให้แก่อุปสงค์ที่ขาดหายไป มันก็เป็นดั่งที่โอบามาเองก็บอกไว้ในการปราศรัยอันเดียวกันนี้ว่า คนอเมริกันสร้างหนี้และจับจ่ายมากเกินไป และทำให้เกิดอุปสงค์เทียมขึ้นมากมายบนการหนุนเนื่องของภาพความมั่งคั่งเก๊ๆ ที่มาพร้อมกับราคาหุ้นแพงเกินจริง ราคาอสังหาริมทรัพย์เฟ้ออย่างสุดเวอร์ โอบามาช่างไม่สังเกตเห็นเลยว่ามีความขัดแย้งกันเองอยู่ในตรรกะของตน

ขณะที่โอบามาบอกให้ครอบครัวอเมริกันนับล้าน กัดฟันเลือกเส้นทางอันยากเข็ญคือการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ล้างหนี้สิน และเร่งทวีเงินออม แต่ที่ผ่านมา โอบามากลับพาให้รัฐบาลใช้แนวทางที่จะฉุดครัวเรือนอเมริกันถลำลงลึกเข้าไปในกองหนี้ บ่อนทำลายสิ่งดีๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นจากการสร้างวินัยในการใช้ชีวิต

โอบามานั้นมีวิสัยทัศน์อันกระจ่างใสที่เล็งเห็นว่า ฐานรากของระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะสั่นคลอน ซึ่งจะต้องมีการวางรากฐานกันใหม่ให้มั่นคง ยิ่งกว่านั้น ยังบอกด้วยว่าสหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออก ซึ่งนี่นับได้ว่าเป็นประเด็นขั้นพื้นฐานทีเดียว ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขาดความมั่นคง เพราะไปสร้างบนพื้นฐานแห่งหนี้ของผู้บริโภค แทนที่จะจับจ่ายเพื่อวันนี้ คนเราควรจะลงทุนเพื่อวันพรุ่งนี้ อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถเพิ่มการออมได้ ถ้าเราไม่ลดการใช้จ่าย ภาคการผลิตต้องมีเงินทุน ซึ่งจะมีมาได้ก็ต่อเมื่อทรัพยากรไม่ได้ถูกบริโภคไปหมด

ด้วยการเข้าแทรกแซงผ่านกระบวนการนี้ โอบามาสกัดกั้นความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ตัวเขารู้ว่าต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลนำเงินออมของประชาชนไปใช้ มันเป็นการเบียดบังและกดดันทรัพยากรที่เอกชนต้องนำไปใช้เพื่อการลงทุน สังคมก็เสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการที่เงินออมตรงนั้นควรถูกนำไปลงทุนที่จะงอกเงยเป็นผลตอบแทนกลับมา ประเทศจะวางรากฐานอันแข็งแกร่งได้อย่างไร ถ้ารัฐบาลเอาซีเมนต์ไปใช้จนหมด

เรื่องนี้นำไปสู่ประเด็นที่เกิดซ้ำๆ แต่ก็ถูกลืมซ้ำๆ เสมอ คือ รัฐบาลนั้นไม่มีเงินเป็นของตนเอง รัฐบาลมีเพียงสิ่งที่เก็บภาษีอากรไปจากประชาชน ดังนั้น ขณะที่ภาคครัวเรือนเร่งล้างหนี้สินของพวกตน แต่รัฐบาลคอยแต่จะเดินหน้าสร้างหนี้เพิ่ม สังคมก็ย่อมอยู่ในภาวะว่ายทวนน้ำ ความก้าวหน้าทั้งหลายกลายเป็นมลายหายไปหมด เพราะหนี้เอกชนถูกแทนที่ด้วยหนี้ภาครัฐซึ่งเป็นหนี้ที่ก็ต้องมาเก็บภาษีประชาชนไปชำระคืนอยู่ดี ในการนี้ รายได้ใดๆ ที่คนเราหวังว่าจะได้รับงอกเงยจากน้ำพักน้ำแรง ก็มีแต่จะถูกลดทอนไปในรูปของอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น หรือภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสืบเนื่องจากการที่จะต้องมีส่วนร่วมในภาระหนี้ภาครัฐที่ขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ

โอบามาอ้างว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นมานั้นส่วนมากแล้วไม่ได้นำไปสนับสนุนการบริโภค แต่จะไปเป็น“การลงทุนที่สำคัญ” แต่นี่เป็นความหวังที่ยากจะหวังได้ ในประการแรก สิ่งที่โอบามาจัดชั้นว่าเป็นการลงทุนนั้น (เช่น การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในด้านการศึกษา) ส่วนมากแล้วไม่ใช่การลงทุนเลย แน่แหละว่าแรงงานที่มีระดับการศึกษาสูงเป็นเรื่อยสำคัญ แต่การหว่านเงินงบประมาณเพิ่มเข้าไปในการศึกษาไม่ใช่อะไรที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ การใช้เงินไปกับการศึกษาแล้วเรียกว่าเป็นการลงทุนนั้นช่างสิ้นเปลืองทรัพยากรที่ควรนำไปใช้กับสนับสนุนการลงทุนจริงๆ ประการที่สอง เมื่อภาครัฐนำเงินไปลงทุน การลงทุนเหล่านั้นมักที่จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าการลงทุนของภาคเอกชน ยังไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่ยืนยันว่ารัฐบาลใดจะมีญาณทัศนะหรือแรงจูงใจที่จะทำการลงทุนซึ่งเอื้อแก่การเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง โครงการ“แผน 5 ปี” ของสหภาพโซเวียตไม่เป็นผลสำเร็จอย่างไร มันก็ไม่มีทางจะมาสำเร็จได้ที่สหรัฐฯ ถ้ารัฐบาลแค่สร้างสะพานเชื่อมที่ไม่ได้นำไปสู่สิ่งใด สังคมก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์อะไรเช่นกัน

ถ้าเราจะสร้างระบบเศรษฐกิจขึ้นใหม่บนรากฐานที่แข็งแกร่ง จะต้องเป็นตลาด มิใช่ภาครัฐ ที่ทำหน้าที่วางแผน เวลาที่เอกชนลงทุน ผู้ที่ลงทุนอย่างฉลาดจะได้รับรางวัลคือผลกำไร ส่วนการลงทุนที่ไม่ได้เรื่อง จะถูกทอดทิ้ง เม็ดเงินจะผละหนีไปหาการลงทุนอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จได้มากกว่า

ในทางตรงข้าม เมื่อรัฐบาลลงทุน จะไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลแบบนี้ จะไม่มีสิ่งใดไปลงโทษการลงทุนที่ไม่เอาไหน เพราะส่วนที่ขาดทุนสูญหายไปในที่สุดก็ได้รับการอุดด้วยเงินของผู้เสียภาษี อันที่จริงแล้ว ยิ่งแผนลงทุนของภาครัฐล้มเหลว มันก็ยิ่งจะได้รับอัดฉีดเพิ่ม ด้วยหวังว่าทรัพยากรส่วนที่เติมเข้าไปนั้น ในที่สุดจะส่งผลเป็นความสำเร็จ

การตัดสินใจของโอบามาเป็นเครื่องพิสูจน์เรื่องนี้ผ่านการจัดสรรงบเพิ่มให้แก่โรงเรียนรัฐบาลและงบปล่อยกู้แก่นักเรียนนักศึกษา ตัวอย่างอื่นๆ ไดแก่ กรณีของบริษัทแอมแทร็ก (Amtrak), การขนส่งมวลชนมหานครนิวยอร์ก (New York Metropolitan Transportation Authority), บริษัทบริการไปรษณีย์สหรัฐฯ (US Postal Service) สองบริษัทยักษ์ด้านการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย แฟนนี เม และ เฟรดดี้ แมค (Fannie Mae และ Freddie Mac) ตลอดไปถึงธุรกิจอื่นๆ ของรัฐบาลจำนวนนับไม่ถ้วนล้วนแต่เป็นเครื่องพิสูจน์ในเรื่องนี้ได้อย่างไม่จบสิ้น

เมื่อเผชิญกับการที่ต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ โอบามาพูดได้ดีเหลือเกิน แต่มักจะปฏิเสธที่จะดำเนินการตามนั้น อย่างไรก็ตาม ทันทีที่เม็ดเงินเริ่มแสดงถึงหายนะ โอบามาจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการทำให้ภาคปฏิบัติเป็นไปตามถ้อยคำที่โปรยปรายไว้อย่างสวยหรู นับว่าโชคร้ายที่เราไม่สามารถแข็งใจเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องแต่ยากเข็ญด้วยแรงใจของตนเอง และต้องรอจนกว่าเจ้าหนี้เข้ามาบีบคอให้ต้องลนลานทำ

ปีเตอร์ ชิฟฟ์ เป็นประธาน Euro Pacific Capital และเป็นผู้เขียน The Little Book of Bull Moves in Bear Markets. สามารถติดตามอ่านข้อคิดเห็นของ Euro Pacific Capital และข่าวเกี่ยวกับตลาดได้จาก http://www.europac.net. เว็บไซต์นี้มีจดหมายข่าวการลงทุนที่ส่งให้ออนไลน์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น