เอเจนซี/เอเอฟพี - บรรดาผู้นำด้านการเงินของโลก ซึ่งเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนำร่อง ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เห็นพ้องต้องกันว่า พายุเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงชะลอตัวแล้ว แต่พวกเขาก็ย้ำว่าจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกคราวนี้ถึงจุดสิ้นสุดได้จริงๆ
“เราเผชิญกับปัญหาที่ร้ายแรง เรากำลังพูดคุยกันถึงมาตรการต่างๆ อย่างจริงจังมาก แต่สิ่งต่างๆ ก็กำลังเริ่มต้นดีขึ้น” เป็นคำแถลงของ ยูสเซฟ บูทรอส-กาลี ประธานของคณะกรรมการนำร่องชี้ทิศทางของไอเอ็มเอฟ ซึ่งมีชื่อว่า คณะกรรมการเงินตราและการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟซี)
“ด้วยความเอาใจใส่ ด้วยความระมัดระวังรอบคอบ เราสามารถพูดได้ว่าในเมฆร้ายแห่งพายุนั้นมีช่องแตกให้เห็นแล้ว” บูทรอส-กาลี กล่าว ซึ่งก็เป็นการสะท้อนความเห็นมองโลกแง่ดีแบบยังเต็มไปด้วยความระแวดระวัง ของพวกรัฐมนตรีคลังกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก(จี7) ที่ประชุมกันเมื่อวันศุกร์ (24)
เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ในปี 2010 แถลงการณ์ของไอเอ็มเอฟซีคราวนี้ ได้เรียกร้องให้ดำเนินมาตรการเพิ่มขึ้นอีกเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของพวกธนาคาร, ชุบชีวิตให้เกิดการกู้ยืมกันใหม่ รวมทั้งทำให้กระแสเงินทุนระหว่างประเทศมีการไหลเวียนขึ้นอีกครั้ง นอกจากนั้นยังเร่งให้ประเทศต่างๆ คงมาตรการกระตุ้นทางการคลังเอาไว้ต่อไป รวมทั้งช่วยกันพัฒนาแผนการในยามออกจากวิกฤต เพื่อที่จะเลิกใช้มาตรการพิเศษต่างๆ ในทันทีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้มั่นคงแล้ว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ กล่าวเสริมว่า เวลานี้ทุกๆ ฝ่ายต่างพอใจกับมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศต่างๆ นำออกมาใช้ ขณะเดียวกัน ต่างก็เห็นพ้องกันถึงความจำเป็นอย่างสูงสุดที่จะต้องสะสางบรรดาสินทรัพย์เน่าเสียออกจากระบบการเงินการธนาคาร
แต่เขาชี้ว่า สิ่งที่ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่อย่างสำคัญ ได้แก่เรื่องควรมีการเตรียมตัวเพื่อดำเนินการอะไรหรือไม่ เมื่อถึงเวลาที่เศรษฐกิจโลกก้าวพ้นวิกฤตแล้ว อาทิ สิ่งที่ควรจะต้องทำในระยะเวลา 3-4 ปีข้างหน้า
สเตราส์-คาห์น ซึ่งในอดีตเคยเป็นรัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศสยอมรับว่า เวลานี้มีบางฝ่ายต้องการให้หารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ในภายหลัง ทว่าจากมุมมองของไอเอ็มเอฟแล้ว ควรที่จะหารือเรื่อง "ยุทธศาสตร์ก้าวออกมา"จากวิกฤตนี้โดยเร็วที่สุด
**ไม่คืบหน้าเรื่องสิทธิออกเสียง**
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมไอเอ็มเอฟซีคราวนี้ ดูเหมือนแทบจะไม่มีความคืบหน้าอะไรในประเด็นปัญหาเรื่องการให้สิทธิออกเสียงในไอเอ็มเอฟแก่บรรดาประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ให้มากยิ่งขึ้น
แถลงการณ์หลังจากประชุมไอเอ็มเอฟซี กล่าวเพียงว่า การทบทวนที่จะกระทำในเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการออกเสียงของบรรดาสมาชิกไอเอ็มเอฟ จะ “ส่งผลเป็นการเพิ่มโควตาให้แก่บรรดาเศรษฐกิจที่มีพลวัต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเพิ่มส่วนให้แก่พวกประเทศตลาดเฟื่องฟูใหม่และประเทศกำลังพัฒนาโดยรวม”
ทั้งนี้ จีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ กำลังแสดงท่าทีว่า หากต้องการให้พวกเขาสมทบเงินให้แก่ไอเอ็มเอฟ ก็จะต้องให้อำนาจอิทธิพลในไอเอ็มเอฟแก่พวกเขามากขึ้นด้วย เรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อย เนื่องจากในจำนวนเงินทุน 500,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งที่ประชุมซัมมิตกลุ่มจี 20 ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ให้สัญญาว่าจะเพิ่มให้แก่ไอเอ็มเอฟนั้น เวลานี้ยังคงขาดอยู่ประมาณ 150,000 ล้านดอลลาร์
สหรัฐฯนั้นได้แสดงท่าทีหนุนหลังเสียงเรียกร้องให้เพิ่มสิทธิการออกเสียงมากขึ้นแก่พวกเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ทิโมที ไกธ์เนอร์ กล่าวกับที่ประชุมไอเอ็มเอฟซีว่า ถึงเวลาแล้วที่หลักการแห่งการบริหารของไอเอ็มเอฟ จะต้องสะท้อนถึงสภาพการณ์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
ไกธ์เนอร์ เรียกร้องให้เพิ่มสัดส่วนสิทธิในการออกเสียงในไอเอ็มเอฟ หรือที่เรียกกันว่าโควตา แก่บรรดาชาติเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ให้มากขึ้น เขายังเสนอลดจำนวนชาติสมาชิกที่เข้าอยู่ในคณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟ จาก 24 รายในปัจจุบัน ให้เหลือ 22 ราย ในปี 2010 และ 20 รายในปี 2012 ขณะที่ต้องรักษาจำนวนที่นั่งในคณะกรรมการของพวกประเทศกำลังพัฒนาเอาไว้ ทั้งนี้ เมื่อเวลาผ่านไป ก็ย่อมทำให้ประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนเป็นสมาชิกในคณะกรรมการเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเช่นนี้ย่อมทำให้พวกชาติยุโรปตะวันตกเป็นฝ่ายสูญเสีย โดยที่เวลานี้พวกยุโรปตะวันตกเป็นผู้ครองเก้าอี้ในคณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟถึง 8 ตัว
ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดเมื่อชาติยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ ต่างแสดงท่าทีไม่รับข้อเสนอของสหรัฐฯในระหว่างการประชุมไอเอ็มเอฟซีในวันเสาร์