xs
xsm
sm
md
lg

ความแค้นระหว่างตระกูลมาร์กอสกับอะกีโนในฟิลิปปินส์

เผยแพร่:   โดย: โจเอล ดี อาเดรียโน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Family feud in the Philippines
By Joel D Adriano
15/04/2009

การที่ประธานาธิบดีกลอเรีย มากาปากัล-อาร์โรโย ให้อภัยโทษแก่พวกทหารที่ถูกตัดสินว่าสังหารผู้นำฝ่ายค้าน เบนิญโญ อะกีโน เมื่อ 26 ปีก่อน กำลังถูกจับตามองว่าเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงคืนให้แก่ตระกูลมาร์กอส ขณะที่ภริยาและลูกๆ ของอดีตจอมเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ก็ประกาศความทะเยอทะยานทางการเมืองของพวกเขาออกมาแล้ว ดังนั้น เรื่องนี้จึงทำให้พวกนักธุรกิจระดับสูงบางคนต้องเกิดความรู้สึกวิตกกังวล

มะนิลา– ถึงแม้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างใหญ่โตถึง 2 ครั้ง, การดำเนินคดีในศาล 2 ครั้ง, รวมทั้งมีการตัดสินความผิดของพวกนายทหารชั้นผู้น้อยจำนวนหนึ่ง แต่กรณีการลอบสังหารอดีตผู้นำฝ่ายค้าน เบนิญโญ “นินอย” อะกีโน จูเนียร์ ก็ยังคงมีประเด็นจำนวนมากที่ยังไม่คลี่คลาย ถึงแม้เวลาผ่านเลยไปแล้ว 26 ปี

มาถึงเวลานี้เมื่อประธานาธิบดีกลอเรีย มากาปากัล-อาร์โรโย อาศัยอำนาจฝ่ายบริหารออกประกาศหลายๆ ฉบับ เพื่ออภัยโทษให้แก่ทหารซึ่งถูกตัดสินว่ากระทำอาชญากรรมคราวนั้น ก็ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองที่เบ่งบานขึ้นเรื่อยๆ เพื่อมุ่งกอบกู้ชื่อเสียงให้แก่ตระกูลมาร์กอส ตลอดจนสร้างความชอบธรรมทางกฎหมายให้แก่ความพยายามของตระกูลนี้ ที่จะเรียกคืนทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งได้ถูกยึดไปในระหว่างและภายหลังสมัยการเป็นประธานาธิบดีของ โคราซอน อะกีโน

ภายหลังการออกคำสั่งปล่อยตัวกันเป็นชุดเมื่อเดือนมีนาคม เวลานี้ก็เท่ากับว่าอาร์โรโยได้ให้อภัยโทษทหารทั้ง 16 คนที่ยังเหลือรอดชีวิตภายหลังถูกตัดสินว่ากระทำการฆาตกรรม “นีนอย” โดยที่การลอบสังหารเขาในตอนนั้นนั่นเอง ในท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นการจุดชนวนการลุกฮือที่มีชื่อเรียกขานกันว่า “พลังประชาชน” (People’s Power) ที่ได้โค่นเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ออกจากตำแหน่ง และขับไสเขาตลอดจนพวกผู้ช่วยระดับสูงของเขาไปลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ในจำนวนทหารที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดนั้น มีอยู่รายเดียวที่สารภาพ นอกนั้นยังคงยืนยันว่าตนเองบริสุทธิ์

การให้อภัยโทษของอาร์โรโย บังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สำนักงานอัยการแผ่นดินออกมาเรียกร้องให้ดำเนินการสอบสวนคดีลอบสังหารนี้กันใหม่ ด้วยเหตุผลว่าได้มีการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ ทางนิติเวชเกี่ยวกับลูกกระสุนที่เป็นตัวการจบชีวิตอะกีโน นอกจากนั้น การให้อภัยโทษเหล่านี้ ยังออกมาในขณะที่สมาชิกตระกูลมาร์กอสหลายคนกำลังผงาดขึ้นโดดเด่นในเวทีการเมืองอีกครั้ง โดยที่นักวิเคราะห์บางรายให้ความเห็นว่า พวกเขาทำได้ก็เพราะมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัฐบาลและครอบครัวของอาร์โรโยนั่นเอง

เฟอร์ดินานด์ “บองบอง” มาร์กอส จูเนียร์ ผู้เป็นบุตรชายของจอมเผด็จการมาร์กอส คือพันธมิตรเหนียวแน่นของอาร์โรโยในสภาผู้แทนราษฎร เขายังกำลังประกาศตัวที่จะลงแข่งขันชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในปี 2010 สำหรับอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง อิเมลดา มาร์กอส ก็แสดงท่าทีว่าเธอจะเข้าแข่งขันเพื่อเป็นนายกเทศมนตรีกรุงมะนิลาคนต่อไป ส่วน ไอรีน บุตรสาวคนเล็กสุดของอิเมลดา ได้แต่งงานกับนักธุรกิจ เกร็กกี อาราเนตา ลูกพี่ลูกน้องของสุภาพบุรุษหมายเลขหนึ่ง โฮเซ มิเกล อาร์โรโย ผู้เป็นสามีของประธานาธิบดีอาร์โรโย เป็นที่เชื่อกันว่าไอรีนก็มีความทะเยอทะยานทางการเมืองเช่นกัน

เห็นได้ชัดเจนว่าคณะรัฐบาลอาร์โรโยได้เลือกข้างแล้ว ในความบาดหมางอาฆาตอันเดือดพล่านมายาวนานระหว่างตระกูลมาร์กอสและตระกูลอะกีโน อันเป็นสองตระกูลทรงอิทธิพลทางการเมืองที่สุดของประเทศ พวกนักวิเคราะห์มองว่า เรื่องนี้สามารถส่งผลกระทบกระเทือนต่ออนาคตแห่งความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางการพาณิชย์และอสังหาริมทรัพย์รายสำคัญๆ ซึ่งพวกมาร์กอสกำลังพยายามช่วงชิงกลับคืนมา แต่พวกตระกูลทางธุรกิจทรงอำนาจอื่นๆ ซึ่งบางส่วนก็เข้าร่วมอยู่กับตระกูลอะคีโน ยังคงยืนกรานอ้างสิทธิ์ครอบครอง นอกจากนั้น ยังอาจจะมีส่วนต่อการลบล้างเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การเมือง ที่ได้บันทึกเอาไว้อย่างเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้ว

**ความตายและความหลอกลวง**

เบนิญโญ อะกีโน ผู้ถูกสังหารเมื่อ 26 ปีก่อน เป็นนักการเมืองฝ่ายค้านชั้นนำที่ต่อต้านเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้ปกครองฟิลิปปินส์จากปี 1965 – 1986 ด้วยความเหี้ยมเกรียมเด็ดขาด โดยบ่อยครั้งเป็นการอาศัยอำนาจจากการประกาศกฎอัยการศึก อะกีโนถูกฆ่าอย่างอุกอาจกลางวันแสกๆ ตรงลานจอดเครื่องบินของท่าอากาศยานระหว่างประเทศกรุงมะนิลา (โดยที่ในเวลาต่อมา ท่าอากาศยานแห่งนี้ก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ตามชื่อของเขา) ไม่นานนักภายหลังที่เขาเดินทางกลับจากการลี้ภัยนอกประเทศ ในเดือนสิงหาคม 1983

โรลันโด กัลแมน ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นมือสังหารของพวกคอมมิวนิสต์ ได้เข้าไปในเขตหวงห้ามของท่าอากาศยาน และถูกพวกทหารยิงเสียชีวิตภายหลังจากที่มีรายงานว่าเขายิงอะกีโน ทว่ากลุ่มฝ่ายค้านต่างๆ ได้ประณามกันมานมนานแล้วว่า มาร์กอสและพวกคนสนิทระดับสูงของเขาต่างหากคือผู้ที่บงการการสังหารคราวนี้ อันเป็นข้อกล่าวหาที่ทั้งอดีตจอมเผด็จการผู้ล่วงลับและสมาชิกในครอบครัวของเขาที่ยังมีชีวิตอยู่ต่างปฏิเสธเรื่อยมา

ภายหลังรับฟังคำให้การของพยานจำนวน 195 คน ทีมงานสอบสวนก็มีข้อสรุปว่า นายทหารหลายคน รวมทั้ง พล.อ.เฟเบียน เวอร์ ผู้บัญชาการทหารบกของมาร์กอสด้วย ได้สมคบกันฆ่าอะกีโน เวอร์นั้นถือเป็นบุคคลทรงอำนาจมากที่สุดเป็นอันดับสองในระบอบปกครองมาร์กอส และเขาก็ยังคงจงรักภักดีต่อจอมเผด็จการผู้นี้จวบจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในขณะลี้ภัยอยู่ต่างแดน

อย่างไรก็ตาม ศาลต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ กลับตัดสินแบบช็อกผู้คนจำนวนมากในเดือนธันวาคม 1985ว่าเวอร์และนายทหารระดับสูงอื่นๆ อีกหลายคนนั้นไม่มีความผิด ทำให้ฝ่ายต่างๆ มองว่านี่เป็นการปกปิดซ่อนความผิดทางการเมืองอย่างเลวทรามยิ่ง คำตัดสินดังกล่าวนี้มีส่วนทำให้มาร์กอสถูก “พลังประชาชน” โค่นลงจากตำแหน่งในปี 1986 และในที่สุดก็เป็นการแผ้วถางทางให้แก่การพิจารณาคดีกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ภายใต้ประธานาธิบดีโคราซอน อะกีโน ภริยาหม้ายของผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกสังหาร

มาร์กอสเสียชีวิตไปในระหว่างลี้ภัยอยู่ที่ฮาวายเมื่อปี 1989 และทหาร 16 คนซึ่งได้รับมอบหน้าที่ให้รักษาความปลอดภัยแก่อะกีโนในวันที่เขาถูกลอบสังหาร ก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกลงโทษให้จำคุกตลอดชีวิตกันสองรอบ ในช่วงเวลาระหว่างที่ภริยาหม้ายของอะกีโนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทางด้านเวอร์ก็ถูกฟ้องร้องเช่นกัน แต่เขาหลบหนีการถูกตัดสินลงโทษ ด้วยการเดินทางไปลี้ภัยในสหรัฐฯ

พวกทหารที่ถูกตัดสินลงโทษคราวนั้นจำนวนหนึ่งเสียชีวิตในที่คุมขัง ทว่าคนที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้ง 16 คนต่างได้รับการปล่อยตัวโดยอาศัยอำนาจการให้อภัยโทษของฝ่ายบริหารภายใต้ประธานาธิบดีอาร์โรโย สมาชิกของตระกูลอะกีโน อาทิ วุฒิสมาชิก เบนิญโญ “นอยนอย” อะกีโน ที่สาม ได้ออกมาประณามการอภัยโทษเช่นนี้อย่างดุเดือด โดยบอกว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่มีแรงจูงใจทางการเมือง สืบเนื่องจากมารดาของเขาผู้เป็นอดีตประธานาธิบดี (โคราซอน อะกีโน) กำลังกลายเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างแข็งขันและทรงพลังต่อบรรดาความโน้มเอียงไปในทางต่อต้านประชาธิปไตยของคณะรัฐบาลอาร์โรโย

**การต่อสู้ชิงอำนาจ**

การอภัยโทษดังกล่าวนี้ยังสามารถที่จะมองในมุมของการช่วงชิงธุรกิจระดับใหญ่ๆ ได้อีกด้วย จ่าสิบเอก ปาโบล มาร์ติเนซ ผู้ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในยุคอาร์โรโยเมื่อปี 2007 และก็เป็นทหารที่ถูกตัดสินความผิดเพียงคนเดียวที่ออกมาสารภาพว่าได้เข้าร่วมอยู่ในแผนลอบสังหารจริง ยังได้ออกมากล่าวหา เอดูอาร์โด “ดันดิง” โกฮวงโก ซึ่งเป็นนักธุรกิจทรงอิทธิพลและอดีตที่ปรึกษาของมาร์กอส ว่าเป็นผู้หนึ่งที่เป็นจอมบงการอยู่เบื้องหลังการสังหารอะกีโน

โกฮวงโกเวลานี้เป็นประธานบรรษัทซานมิเกล ซึ่งเป็นกิจการด้านอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถมยังเป็นลูกพี่ลูกน้องที่บาดหมางกันกับโคราซอน อะกีโน เวลานี้เขาผูกเป็นพันธมิตรอย่างมั่นคงกับคณะรัฐบาลอาร์โรโย และก็กำลังเปิดการต่อสู้เพื่อเข้าช่วงชิงการควบคุมบริษัทไฟฟ้ามะนิลา (Manila Electric Company หรือเรียกย่อๆ ว่า Meralco อันเป็นบริษัทที่มีกำไรงามมาก) จากตระกูลโลเปซ ซึ่งเป็นตระกูลทรงอำนาจอีกตระกูลหนึ่ง และเป็นที่รู้กันว่ามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพวกอะกีโน

รัฐบาลโคราซอน อะกีโน นั้นมีบทบาทสำคัญในการยึดทรัพย์จากพวกมาร์กอส และหลังจากโอนมาเป็นของรัฐแล้วก็ขายออกไปให้แก่พวกโลเปซ กระบวนการดังกล่าวทำให้พวกโลเปซได้ถือครองหุ้นเมราลโก ในระดับที่สามารถควบคุมบริษัท ความพยายามของโกฮวงโกที่จะแย่งอำนาจการควบคุมบริษัทไฟฟ้าแห่งนี้ ดูจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนบำนาญของภาครัฐที่มีชื่อว่า กัฟเวิร์นเมนต์ เซอร์วิส อินชัวรันซ์ ซิสเต็ม (Government Service Insurance System) อีกทั้งพวกนักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมจำนวนมากก็เชื่อว่า ได้รับการสนับสนุนแบบไม่เปิดเผยจากอาร์โรโยด้วย

สำนักงานคณะกรรมการว่าด้วยธรรมาภิบาลของฟิลิปปินส์ (The Philippine Commission on Good Government หรือ PCGG) อันเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลอะกีโน เพื่อทำหน้าที่ติดตามยึดผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งตระกูลมาร์กอสถูกกล่าวหาว่าได้ไปอย่างไม่สุจริต ก็ได้ถูกลากเข้ามาร่วมวงในการพิพาทขัดแย้งเรื่องเมราลโกด้วย พวกนักวิจารณ์ที่เป็นฝ่ายค้านต่างระบุว่า หน่วยงานนี้กำลังยอมประนีประนอมเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง เมื่อเข้าไปทำข้อตกลงในเร็วๆ นี้กับโกฮวงโก ซึ่งเป็นการเปิดทางให้เขาสามารถท้าทายเปิดศึกแย่งการควบคุมบริษัทไฟฟ้ามะนิลาได้

ทางด้าน นาร์ซิโซ นาริโอ ผู้อำนวยการใหญ่ของพีซีจีจี ได้ปฏิเสธว่าไม่มีการเล่นขี้โกงอะไรทั้งนั้น พร้อมกับย้ำว่าหน่วยงานของเขามีผลงานในการยึดทรัพย์เป็นมูลค่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากพวกมาร์กอสและเหล่าหุ้นส่วนร่วมทำธุรกิจของพวกเขา นับตั้งแต่ที่หน่วยงานนี้จัดตั้งขึ้นมาในปี 1986 เขายังบอกด้วยว่า การยึดทรัพย์คืนเป็นของชาตินั้นเป็นเรื่องที่ประสบอุปสรรคอย่างมาก เพราะทรัพย์สินที่ถูกกล่าวหาว่าได้มาอย่างไม่สุจริตนั้น ในเวลานี้จำนวนมากทีเดียวถูกถือครองโดยพวกอดีตหุ้นส่วนทางธุรกิจของมาร์กอส

พวกมาร์กอสใช้วิธีต่อสู้ด้วยการยืนยันว่าพวกเขาไม่เคยถูกตัดสินในศาลยุติธรรมว่ากระทำความผิดฐานฉ้อราษฎร์บังหลวงเลย พร้อมกับแสดงความกังขาข้องใจว่าการยึดทรัพย์ของพีซีจีจีที่อะกีโนก่อตั้งขึ้นมานั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ยิ่งในช่วงหลายๆ ปีหลังๆ มานี้ ที่ตระกูลของเธอสามารถฟื้นฟูสายสัมพันธ์และอำนาจบารมีทางการเมืองได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อิเมลดาก็มีท่าทีแข็งกร้าวยิ่งขึ้นในการอ้างสิทธิ์และแสดงออกซึ่งความทะเยอทะยานของเธอ อันควรถึงความตั้งใจของเธอที่จะสมัครรับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีกรุงมะนิลาคนต่อไป

มีคำพูดของเธอที่พูดเอาไว้ในปี 1998 และถูกอ้างอิงจนเป็นที่รู้จักโด่งดัง นั่นคือ “ในทางเป็นจริงแล้วเราเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างในฟิลิปปินส์” โดยอิเมลดาพูดเช่นนี้ในช่วงเวลาสองสามเดือนหลังจากที่ โจเซฟ เอสตราดา ซึ่งรู้จักกันเป็นพันธมิตรของมาร์กอส ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ และจากสายสัมพันธ์ที่ตระกูลของเธอมีอยู่กับรัฐบาลอาร์โรโย เธอก็ประกาศว่าจะเรียกคืนทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเธอบอกว่าเวลานี้ตกอยู่ในกำมือของพวกอดีตคนไว้วางใจทางด้านธุรกิจของสามีผู้ล่วงลับของเธอ อันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

เธอได้ระบุชื่อว่า ลูซิโอ ตัน เจ้าพ่อด้านเบียร์และบุหรี่, โฮเซ เหยา คัมโปส นักอุตสาหกรรม, และ เฮอมินิโอ ดิซินี นักวิ่งเต้นติดต่อทำข้อตกลงในอุตสาหกรรมพลังงาน คือส่วนหนึ่งของพวกที่กำลังถือครองทรัพย์สินที่เธออ้างว่าที่จริงแล้วต้องเป็นของตระกูลเธอ ถ้าหากเธอประสบความสำเร็จในการเรียกคืนสมบัติเหล่านี้ตลอดจนการอ้างสิทธิ์อย่างอื่นๆ ตระกูลมาร์กอสก็จะมีทรัพยากรอันมากมายมหาศาล ในการส่งเสริมสนับสนุนความทะเยอทะยานทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของพวกเขา รวมทั้งในการสร้างความสะดวกให้แก่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ที่พวกเขาไม่พึงพอใจ

โจเอล ดี อาเดรียโน เป็นที่ปรึกษาอิสระและเป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระที่เคยได้รับรางวัลมาแล้ว เขาเคยเป็นบรรณาธิการจัดหน้าและตรวจแก้ต้นฉบับสำหรับส่วนข่าวธุรกิจของหนังสือพิมพ์มะนิลาไทมส์ สำหรับในปัจจุบัน เขาเขียนเรื่องให้แก่ อาเซียน บิซไทมส์, เซฟ เดโมเครซี, และ พีเพิลส ทูไนต์
กำลังโหลดความคิดเห็น