xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯทำตัวเป็นเด็กเลี้ยงแกะในเรื่องแสนยานุภาพของจีน

เผยแพร่:   โดย: เดวิด ไอเซนเบิร์ก

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US cries Chinese wolf
By David Isenberg
30/03/2009

รายงานประจำปีว่าด้วยแสนยานุภาพทางทหารของจีน ที่จัดทำโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ถึงแม้จะให้ความรู้เป็นอย่างดี ทว่ากลับไม่ทำให้รู้สึกจำเป็นต้องเพิ่มการระวังเตือนภัยใดๆ แม้กระทั่งข้อความในรายงานฉบับนี้ที่กล่าวเตือนการคุกคามจากพัฒนาการทางการทหารของจีน ก็ยังไม่อาจจูงใจให้คล้อยตามเลย ดังนั้น จึงน่าจะสร้างความผิดหวังให้แก่ภาคการเมือง-การทหาร-อุตสาหกรรม ของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังแสวงหาเหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การใช้จ่ายประจำปีทางด้านการทหารและด้านความมั่นคงอันมหึมายิ่ง

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯได้เผยแพร่ฉบับที่ไม่มีข้อมูลลับของรายงานประจำปี 2009 ว่าด้วย “แสนยานุภาพทางทหารของสาธารณรัฐประชาชนจีน” ซึ่งทางกระทรวงยื่นเสนอต่อรัฐสภาอเมริกัน

หากถือเป็นรายงานเล่าเรื่องพัฒนาการของกำลังทหารของจีนแล้ว มันก็สมควรถือเป็นเอกสารที่ให้ความรู้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเห็นว่ามันเป็นสัญญาณเตือนภัยในเรื่องภัยคุกคามจากกำลังทหารของจีนแล้ว รายงานฉบับนี้ก็ประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า แม้ว่าความล้มเหลวดังกล่าวเป็นเรื่องสมควรที่เราจะกล่าวคำขอบคุณก็ตามที

นับแต่อวสานต์ของสหภาพโซเวียตแล้ว สมาชิกจำนวนมากของภาคการเมือง-การทหาร-อุตสาหกรรม ของอเมริกา ก็เที่ยวสาละวนมองหาประเทศอื่นๆ สักประเทศหนึ่งที่สามารถเข้ามาใช้แทนที่โซเวียตได้ โดยขอเพียงให้สามารถใช้สร้างความชอบธรรมให้แก่รายจ่ายด้านการทหารและด้านความมั่นคงอันมหาศาลที่สหรัฐฯจัดสรรให้ในแต่ละปีก็พอแล้ว

เมื่อพิจารณาจากขนาดอันใหญ่โตโอฬาร, จำนวนประชากร, และความสำคัญทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องอัตโนมัติอยู่แล้วที่จีนจะถูกมองว่าเป็นตัวการสร้างภัยคุกคามตัวใหม่ อันที่จริงแล้ว เวลานี้จีนกลายเป็นเหตุผลความชอบธรรมให้แก่งบประมาณของเพนตากอนอย่างน้อยก็ราวหนึ่งในสี่ทีเดียว

กระนั้นก็ตาม ยังคงไม่เหมือนกับช่วงปีท้ายๆ ของยุคสงครามเย็น ซึ่งเมื่อเพนตากอนยุคเรแกนเผยแพร่รายงานประจำปีว่าด้วยแสนยานุภาพทางทหารของโซเวียต ก็จะมีการให้ภาพผลการประเมินอันขึงขังเกี่ยวกับแสนยานุภาพและยุทธศาสตร์ทางทหารของสหภาพโซเวียต แต่ในเวอร์ชั่นเกี่ยวกับจีนซึ่งของปีนี้มีความหนา 66 หน้านั้น กลับมีความน่าตื่นใจน้อยกว่ากันมาก และก็เลยด้อยความสามารถกว่ากันเป็นอย่างยิ่งในเรื่องบทบาทการเป็นนักเตือนภัย แม้กระทั่งข้อความในรายงานนี้ที่กล่าวเตือนภัยคุกคามจากพัฒนาการทางการทหารของจีน ก็ยังไม่อาจจูงใจให้คล้อยตาม

ถึงแม้รายงานของปีนี้ถูกนำออกเผยแพร่หลังจากเกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นมากระหว่างสหรัฐฯกับจีน ภายหลังที่เมื่อต้นเดือนนี้ เรือของจีนหลายลำได้เข้าไปก่อกวนเรือตรวจการณ์ของกองทัพเรือสหรัฐฯที่ชื่อ ยูเอสเอ็นเอส อิมเพคคะเบิล ในบริเวณน่านน้ำสากลในเขตทะเลจีนใต้ แต่เอกสารชิ้นนี้ก็ยังไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการท่องจำให้ฟังเกี่ยวกับการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่องของจีน ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว มหาอำนาจใหญ่ๆ รายไหนๆ ก็จะต้องดำเนินการกันอย่างเป็นเรื่องปกติ

อันที่จริงแล้ว ตอนที่เพนตากอนทำการบรรยายสรุปต่อสื่อมวลชนเพื่อแนะนำรายงานฉบับนี้ เจ้าหน้าที่กลาโหมระดับอาวุโสคนหนึ่งได้พูดเอาไว้ว่า “จีนดูเหมือนกำลังดำเนินการไปตามลำดับความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ค่อนข้างตายตัวมานานแล้วชุดหนึ่ง ซึ่งเรานำมาระบุในรายงานฉบับนี้เอาไว้ว่า ประการแรก ธำรงรักษาบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปตลอดกาล, ดำเนินการเพื่อให้เกิดเสถียรภาพภายในประเทศ, พิทักษ์อธิปไตยแห่งชาติและบูรณภาพแห่งดินแดน, และดำเนินการให้ได้มาซึ่งฐานะความเป็นมหาอำนาจ”

นอกเหนือจากเรื่องปกป้องรักษาพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว อย่างอื่นๆ ที่เหลือก็คือเป้าหมายอย่างเดียวกันกับของสหรัฐฯ ซึ่งระบุเอาไว้ในบรรดาเอกสารทางยุทธศาสตร์ประจำปีของสหรัฐฯนั่นเอง

เกี่ยวกับเรื่องไต้หวัน รายงานชี้ว่าจีนยังคงผลิตอาวุธเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่อเกาะแห่งนี้ อีกทั้งมีการเพิ่มจำนวนขีปนาวุธพิสัยใกล้ที่ตั้งประจันอยู่ตรงข้ามกับเกาะไต้หวัน ทว่ารายงานก็ชี้เช่นกันว่า สถานการณ์ด้านความมั่นคงโดยรวมในช่องแคบไต้หวันนั้น กระเตื้องดีขึ้นกว่าในปีที่แล้ว

ขณะที่รายงานอ้างอิงถึงเรื่องการพัฒนาสมรรถนะในการปฏิบัติการไกลๆ มากขึ้นของจีน แต่ก็ยอมรับว่าสมรรถนะเหล่านี้บางส่วนทำให้จีนสามารถมีบทบาทร่วมส่วนแสดงความรับผิดชอบของประชาคมระหว่างประเทศ ในเรื่องอย่างเช่น การรักษาสันติภาพ, การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, การบรรเทาภัยพิบัติ, และการต่อต้านปราบปรามโจรสลัด

เกี่ยวกับการใช้จ่ายทางทหาร รายงานนี้บอกว่างบประมาณทางทหารอย่างเป็นทางการของจีนเติบโตขึ้นในอัตราเกือบเท่ากับ 18% ในปี 2008 จนอยู่ในระดับ 60,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงแม้ตัวเลขนี้ยังไม่ใช่รายจ่ายทางทหารทั้งหมดของจีน เพนตากอนประมาณการว่า การใช้จ่ายทางทหารของแดนมังกรจริงๆ แล้วจะอยู่ในระหว่าง 105,000 ถึง 150,000 ล้านดอลลาร์

รายงานฉบับนี้ชี้ว่า จีนได้หวนกลับมารายงานเรื่องรายจ่ายทางทหารของตนต่อสหประชาชาติใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทว่าการที่จีนเลือกที่จะใช้รูปแบบการรายงานที่สั้นๆ ง่ายๆ เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าคณะผู้นำจีนยังไม่ได้ผูกพันมั่นหมายอย่างเต็มที่กับแนวความคิดที่ว่า การมีความโปร่งใสทางการทหารคือมาตรการในการสร้างความเชื่อมั่นประการหนึ่ง กระนั้นก็ตาม ข้อมูลของจีนที่เผยแพร่กันในที่สาธารณะนั้น กลับแสดงให้เห็นว่า รายจ่ายทางทหารโดยรวมของจีน ยังต่ำเตี้ยนักเมื่อเทียบกับของสหรัฐฯ

ตามการศึกษาเมื่อปี 2007 ของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสต็อกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute) รายจ่ายทางทหารทั้งหมดของจีนประมาณการเอาไว้ว่าอยู่ในระดับ 506,000 ล้านหยวน หรือ 58,200 ล้านดอลลาร์ นั่นหมายความว่า ในปี 2006 จีนใช้จ่ายด้านการทหารเพียงเท่ากับ 2.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

สำหรับของสหรัฐฯนั้นตัวเลขจะเป็น 578,000 ล้านดอลลาร์ หรือเมื่อคำนวณกันเป็นค่าเงินดอลลาร์แบบคงที่ ก็จะเป็น 546,000 ล้านดอลลาร์ นั่นเท่ากับ 4% ของจีดีพีของสหรัฐฯทีเดียว แน่นอนว่าตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายทางทหารในสงครามที่สหรัฐฯกำลังสู้รบอยู่ในอิรักหรืออัฟกานิสถาน ตลอดจนไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายทางทหารในเรื่องความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ

ระหว่างการบรรยายสรุปต่อสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่กลาโหมผู้นั้นกล่าวด้วยว่า “จีนเวลานี้กำลังใช้จ่ายเพื่อการทหารของตนเป็นจำนวนมากมายกว่าคนอื่นๆ ทุกๆ คนในภูมิภาคนั้น” เรื่องนี้ควรต้องชี้ให้เห้นว่า รายจ่ายด้านการทหารของจีนเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของจีดีพีแล้ว จะมากกว่าของไต้หวันเพียง 0.1% นอกจากนั้นจีนยังใช้จ่ายด้านการทหารน้อยกว่าอินเดียถึง 0.6%

สิ่งที่รายงานฉบับนี้พบว่าเป็นภัยคุกคามที่มีอันตรายที่สุด ดูเหมือนจะเป็นเรื่องความสามารถในอนาคตของจีนที่จะแผ่แสนยานุภาพเพื่อให้แน่ใจว่า จะสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ หรือบังคับให้เป็นไปตามข้ออ้างของตนในดินแดนที่เป็นกรณีพิพาทกันอยู่ รายงานนี้ชี้ว่า “เมื่อพิจารณาจากแง่นี้แล้ว เราเห็นว่ามีการเน้นย้ำอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการสร้างสมรรถนะเพื่อต่อต้านการเข้าถึงทั้งประเภทใช้ทะเลเป็นฐานและใช้ภาคพื้นดินเป็นฐาน ตลอดจนปฏิบัติการมุ่งขัดขวางทางอากาศ ตัวอย่างหนึ่งที่สามารถหยิบยกขึ้นมาชี้ให้เห็น ก็คือในปริมณฑลทางทะเล สมรรถนะในการต่อต้านการเข้าถึงทางทะเลและการขัดขวางทางอากาศของจีนดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นโดยมีทิศทางมุ่งไปสู่การปฏิบัติการแบบประสานร่วมมือกัน เพื่อขัดขวางพวกเรือบรรทุกเครื่องบินตั้งแต่ระยะไกลๆ หรือส่งกลุ่มกำลังโจมตีเคลื่อนที่เร็วเข้าไปทางภาคตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก”

ถ้อยคำเช่นนี้แทบจะไม่ได้ปิดบังเลยว่า หมายถึงความสามารถที่ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของจีน ในการต่อต้านตอบโต้กำลังทหารของสหรัฐเมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี การที่จะสู้รบได้อย่างทรงประสิทธิภาพนั้น อาวุธอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ประสบการณ์ของอเมริกันนับตั้งแต่ปี 2001 แสดงให้เห็นแล้วว่า อาวุธยุทโธปกรณ์อันก้าวหน้าทันสมัย แม้กระทั่งเมื่อนำมาใช้เล่นงานพวกศัตรูที่ไม่มีกองทัพเรือ, กองทัพบก, กำลังทางอากาศ และกองกำลังป้องกันทางอากาศใดๆ เลย ก็ยังก่อให้เกิดผลสืบเนื่องทางยุทธศาสตร์ราคาแพงแบบไม่ตั้งใจขึ้นมาได้

การจัดองค์กรและการฝึกอบรมกองกำลังของตนนั้น อย่างน้อยก็มีความสำคํญพอๆ กัน หรือกระทั่งสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำ

กระนั้นก็ตาม วิธีตอบคำถามๆ หนึ่ง ณ การบรรยายสรุปต่อสื่อมวลชน ดูจะบ่งชี้ให้เห็นว่าศักยภาพทางทหารในอนาคตของจีนนั้น ยังไม่ใช่เป็นความกังวลอย่างร้อนรุ่มของเพนตากอนในเวลานี้

“คำถาม”: เมื่อดูกันทั้งภูมิภาคแล้ว พวกคุณมีการพิจารณาในเรื่องอย่างเช่น อีกสักกี่ปีหรือกี่สิบปีกว่าที่จีนน่าจะสามารถท้าทายสหรัฐฯในทางทหารได้ ?

“เจ้าหน้าที่กลาโหมระดับอาวุโส”: เราไม่ได้ดำเนินการประเมินกันจริงๆ ในรายงานฉบับนี้ ดังนั้นเราจึงยังไม่สามารถให้คำวินิจฉัยในคำถามนี้ได้

อันที่จริงแล้ว รายงานฉบับนี้ได้ระบุเอาไว้ว่า “ศักยภาพด้านการแผ่แสนยานุภาพของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน(พีแอลเอ) จะยังอยู่ในระดับจำกัดต่อไปในช่วง 10 ปีข้างหน้า ขณะที่ พีแอลเอ ดำเนินการเปลี่ยนถ่ายเครื่องบินและเรือเดินทะเลที่ล้าสมัย ตลอดจนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักนิยมทางการปฏิบัติการให้ครอบคลุมศักยภาพใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จำเป็นจะต้องได้อุปกรณ์การส่งกำลังบำรุงและการฝึกอบรมที่ได้รับการดัดแปลงให้สอดคล้องกับความต้องการจริงๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จะต้องใช้เวลาและเงินทุนในการพัฒนา ถึงแม้อุปกรณ์และส่วนของการบำรุงรักษานั้นอาจหาได้มาจากต่างประเทศหรือจากภาคพลเรือน ซึ่งน่าจะช่วยอุดช่องโหว่ลงได้ในระยะใกล้ๆ แต่การต้องคอยพึ่งพาอาศัยทรัพย์สินที่มาจากภายนอกเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมจะกีดกั้นศักยภาพในการปฏิบัติการขนาดใหญ่ๆ อย่างยาวนานของพีแอลเอ”

เดวิด ไอเซนเบิร์ก เป็นนักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศ ออสโล เขาเป็นนักวิจัยสมทบของสถาบันคาโต, เป็นนักวิจัยที่สถาบันอินดิเพนเดนต์ , เป็นทหารผ่านศึกของกองทัพเรือสหรัฐฯ, และเป็นผู้เขียนหนังสือเล่นใหม่ชื่อ Shadow Force: Private Security Contractors in Iraq. ทัศนะในที่แสดงในที่นี้เป็นของเขาเอง ที่อยู่อีเมล์ของเขาคือ sento@earthlink.net.
กำลังโหลดความคิดเห็น