xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อทำเนียบขาวตกเป็นตัวประกันของจีน

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ นาวาร์โร

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

SPEAKING FREELY
China's White House hostage
By Peter Navarro
31/03/2009

(คอลัมน์ Speaking Freely เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเขียนรับเชิญได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี)

มันยังเป็นผลประโยชน์ของจีนเองที่จีนจะต้องรักษานโยบายการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การขาดดุลงบประมาณและดุลการค้าของสหรัฐฯ ในขณะที่ทำเนียบขาวยังต้องทุ่มเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ อย่างไม่อาจจะจบสิ้นได้ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างไม่สามารถเติบโตได้ในสถานภาพปัจจุบันนี้

ยิ่งรัฐบาลบารัค โอบามา ทุ่มเงินเพิ่มเข้าไปอีกหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน ท่านประธานาธิบดีก็ยิ่งแต่จะทวีความเสี่ยงให้แก่อนาคตของสหรัฐอเมริกาที่ไปจำนองประเทศไว้กับจีน เพราะอันที่จริงแล้ว ความสำเร็จขั้นสูงสุดของแผนโอบามามีแต่จะต้องไปอิงมากขึ้นเรื่อยๆ กับธนาคารกลางจีนว่าจะเต็มใจเดินหน้าให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การขาดดุลงบประมาณและดุลการค้าอันมหาศาลมโหฬารของสหรัฐฯ

ในช่วงของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุชนั้น รัฐบาลจีนเต็มใจเหลือเกินที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การขาดดุลแฝดของสหรัฐฯ โดยมุ่งหวังถึงผลข้างเคียงอันได้แก่การแทรกแซงค่าเงินหยวนซึ่งจำเป็นต้องอ่อนตัวไว้เสมอ ทั้งนี้ ในอันที่จีนจะรักษาอัตราค่าเงินหยวนที่ตรึงไว้กับเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าไว้อย่างที่ฝืนความเป็นจริงนั้น จีนจะต้องหมั่นรีไซเคิลเงินดอลลาร์ที่ได้จากภาคส่งออก ให้หมุนกลับสู่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากจีนเกิดปุบปับจะเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว ค่าเงินดอลลาร์ย่อมจะดิ่งเหวอย่างฮวบฮาบ อัตราดอกเบี้ยจะทะยานสูง ตลาดการเงินโลกจะพังทลาย และระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถลำลึกเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแน่นอน

ในระยะเฉพาะหน้า มันยังเป็นผลประโยชน์ของจีนเองที่จีนจะรักษานโยบายนี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าปัจจัยสำคัญนี้จะยั่งยืนพอใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นภายในของจีนเอง กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจของจีนไม่ได้ดำเนินอยู่อย่างราบรื่นเลย ขณะที่ประชากรจีนหลายสิบล้านรายล้วนแต่ตกอยู่ในภาวะว่างงาน ดังนั้น รัฐบาลจีนย่อมเชื่อมั่นต่อไปอีกนานว่าเงินหยวนราคาถูกจะช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยอิงอยู่กับความมั่นคงของภาคส่งออก

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขภายในของจีนก็ไม่ได้เอื้อให้แก่แนวนโยบายนี้อย่างเต็มที่อะไรนัก เพราะมีแรงกดดันทางการเมืองที่ทวีตัวมากขึ้นภายในจีนที่จะบีบรัฐบาลกลางให้ตัดการสนับสนุนทางการเงินแก่การขาดดุลแฝดของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในทางซ้าย พวกหัวรุนแรงในแนวทางท่านประธานเหมา มองวิกฤตขณะนี้เป็นโอกาสทองที่จะบดขยี้โลกตะวันตก ในอันที่จะกรุยทางให้จีนแจ้งเกิดเป็นอภิมหาอำนาจของโลกได้อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน ผู้หลักผู้ใหญ่ในระดับสูงของจีนในฝ่ายที่มองโลกจากความเป็นจริง ก็อยากให้จีนชิ่งออกจากความสัมพันธ์ทางการเงินนี้เช่นกัน สืบเนื่องจากความเสียวไส้ว่า หายนะของค่าเงินดอลลาร์ หมายถึงการที่ทรัพย์สมบัติที่สะสมไว้แรมปีจากกำไรที่ได้จากการวิริยะผลิตสินค้าส่งออกไปขายแก่สหรัฐฯ และเก็บงำอยู่ในรูปของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ จะพลอยมลายหายสูญไปกับความล่มจมของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งในไม่ช้าไม่นานเรื่องนี้ย่อมจะต้องเกิดขึ้น ในเมื่อทางการอเมริกันไม่สามารถประคองสภาพการณ์การขาดดุลอันมโหฬาร ตลอดจนการมีปริมาณเงินอยู่ในระบบจนท่วมท้น ได้ตลอดกาล

ในทางปฏิบัติ จีนไม่สามารถที่จะปุบปับยุติการสนับสนุนเงินกู้ให้แก่สหรัฐฯ ในเร็ววัน เพราะสายสัมพันธ์ที่พัฒนาร่วมกันมาเนิ่นนานนี้เป็นอะไรที่ต้องเรียกว่า “หายนะที่ต้องสร้างความมั่นใจให้แก่กันและกัน” มันเป็นลักษณะหนึ่งของการถ่วงดุลความกลัวที่เคยดำรงอยู่ในยุคสงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐฯ ที่สองอภิมหาอำนาจนี้ต้องเล่นเกมกันให้ดีในเรื่องของการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ สำหรับในเวอร์ชั่นจีน-สหรัฐฯ ก็ละม้ายกัน จีนจำต้องขายสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพื่อประคองศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่สหรัฐฯ ก็ต้องการเงินจากจีนไปสนับสนุนงบประมาณเพื่อรักษาไลฟ์สไตล์ของอเมริกันชน

ในท้ายที่สุดแล้ว อันตรายแท้จริงของแผนโอบามามิได้อยู่ในประเด็นว่าจีนยุติการสนับสนุนทางการเงินแก่การขาดดุลงบประมาณและดุลการค้าของสหรัฐฯ แต่มันจะค่อนไปในประเด็นที่ว่า จีนจะใช้ความร่วมมือตรงนี้ไปเป็นหมากในการต่อรองให้ได้มาซึ่งประเด็นสำคัญอื่นๆ สารพัดเรื่อง

สองประเด็นเด่นที่มองปราดเดียวก็รู้ใจจีน คือการขายอาวุธแก่ไต้หวัน และประเด็นสิทธิมนุษยชนในทิเบต อันที่จริงแล้ว ในปัญหาเกี่ยวกับทิเบตนี้ รมว.ต่างประเทศฮิลลารี คลินตัน ได้ไปจิ้มก้องรัฐบาลกลางจีนไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนัยยะแห่งรูปการณ์ก็คือว่า ไปรับปากรับคำกันแล้วว่าจะไม่ปริปากเทศนาว่ากล่าวจีนในเรื่องทิเบตให้เสียความรู้สึกกัน

ส่วนประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่านี้ อันมีผลต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาวคือ การปฏิรูปทางการค้าและผลักดันให้จีนยุตินโยบายแทรกแซงค่าเงิน ประเด็นนี้ถือว่าสำคัญขั้นอุกฤษฏ์ เพราะหากปราศจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว สหรัฐฯ ย่อมไม่สามารถฟื้นฐานอุตสาหกรรมของตน และจีนก็จะไม่สามารถมีช่องทางใหม่ๆ ที่จะเจริญรุ่งเรืองได้มากไปกว่ามุกเดิมๆ คือเร่งผลิตสินค้าส่งออกถูกๆ ไปขายแก่โลกตะวันตก ทั้งสองประเทศนี้ต่างไม่สามารถเติบโตได้ในสถานภาพปัจจุบันนี้

ในท้ายที่สุดแล้ว ผลข้างเคียงที่ร้ายกาจที่สุดที่อาจเกิดจากแผนเศรษฐกิจโอบามา อาจเป็นการสูญเสียอธิปไตยทางการเมือง พร้อมกับจำใจยอมรับสภาพการตกเป็นทาสของรัฐบาลจีน ซึ่งก็คือว่า แผน“ฟื้นฟูเศรษฐกิจ”ของโอบามา คือการตกเป็นตัวประกันให้แก่การเสพติดอยู่กับเม็ดเงินกู้จากจีนนั่นเอง

ปีเตอร์ นาวาร์โร เป็นศาสตราจารย์ภาควิชาธุรกิจของสถาบัน Merage School of Business มหาวิทยาลัย California-Irvine และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Coming China Wars นอกจากนั้นยังเป็นนักเขียนให้แก่สำนักข่าวซีเอ็นบีซี โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.peternavarro.com”

กำลังโหลดความคิดเห็น