xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อการถอนทหารออกจากอิรักกลับไม่ใช่การถอนทหารจริงๆ

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

When a withdrawal is not a withdrawal
By Gareth Porter
26/03/2009

การตัดสินใจของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่จะกระทำตามข้อเสนอของฝ่ายทหาร โดยจะให้มีทหาร “กองกำลังในระยะผ่าน” จำนวนระหว่าง 35,000 ถึง 50,000 คนอยู่ในอิรักต่อไป มีความหมายเท่ากับการละทิ้งนโยบายดั้งเดิมของเขาเองที่เรียกร้องต้องการให้มีการถอนทหารหน่วยสู้รบทั้งหมดออกมา แล้วหันไปยอมรับสิ่งที่ฝ่ายทหารต้องการมาตลอด นั่นก็คือ การยังคงมีหน่วยสู้รบหลายๆ กองพลน้อยอยู่ในอิรักภายหลังกลางปี 2010 แล้ว

วอชิงตัน – ถึงแม้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ จะได้แถลงที่ค่ายเลเจอเน มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ว่า เขาได้ “เลือกตารางเวลาสำหรับการถอนบรรดาหน่วยกองพลน้อยสู้รบของเราออกมา ในระยะ 18 เดือนต่อจากนี้ไป” ทว่าในความเป็นจริงแล้ว หน่วยสู้รบระดับกองพลน้อย (Brigade Combat Team หรือ BCT) ซึ่งเป็นหน่วยสู้รบพื้นฐานของกองทัพบกสหรัฐฯในอิรักตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จะยังคงอยู่ในอิรักต่อไปอีกจำนวนหนึ่ง ภายหลังวันเวลาที่โอบามาระบุ เพียงแต่จะมีการเปลี่ยนชื่อตีตราใหม่ว่าไม่ใช่กำลังทหารสู้รบ

พ.ท.แพตริก เอส ไรเดอร์ ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกให้แก่รัฐมนตรีกลาโหม รอเบิร์ต เกตส์ บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส(ไอพีเอส)เมื่อวันอังคาร(24)ว่า ภายหลังระยะเวลา 18 เดือน นั่นคือ ภายหลังเดือนสิงหาคม 2010 “กองพลน้อยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือ (advisory and assistance brigade) จำนวนหลายๆ กองพลน้อย” จะเป็นส่วนหนึ่งของกองบัญชาการทหารสหรัฐฯในอิรัก (US command in Iraq) โดยที่กองบัญชาการนี้ก็จะ “ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่” กลายเป็น “สำนักงานใหญ่กองกำลังในระยะผ่าน” (transition force headquarters)

แต่การที่ยังมี “กองพลน้อยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือ” เหล่านี้ คงอยู่ในอิรักภายหลังวันเวลาดังกล่าว ในทางเป็นจริงแล้วก็จะเหมือนกับการมีหน่วยสู้รบระดับกองพลน้อย (BCT) อยู่ต่อไปนั่นเอง ยกเว้นแต่จะมีการเพิ่มเติมนายทหารอีก 20-30 คนเข้ามา ซึ่งจะเป็นผู้ปฏิบัติภารกิจเรื่องการให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของนายทหารหลายๆ คนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวางแผนในเรื่องนี้

รัฐมนตรีเกตส์เองก็แสดงท่าทีเป็นนัยอยู่เหมือนกันว่า การถอนกองพลน้อยสู้รบหน่วยต่างๆ ออกไปจากอิรักนั้น จะกระทำกันในลักษณะเหมือนกับการเล่นกลทางการบริหาร ไม่ใช่การถอน BCT ทั้งหมดออกไปจริงๆ เป็นต้นว่า ระหว่างที่ไปปรากฏตัวในรายการ “มีท เดอะ เพรส” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม เกตส์บอกว่า “กองกำลังระยะผ่าน” จะมี “ภารกิจชนิดที่แตกต่างออกไปจากเดิมอย่างยิ่ง” และหน่วยทหารต่างๆ ที่ยังคงอยู่ในอิรักก็ “จะได้รับการกำหนดลักษณะให้แตกต่างออกไปจากเดิม”

“พวกเขาจะถูกเรียกว่ากองพลน้อยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือ” เกตส์กล่าว “พวกเขาจะไม่ถูกเรียกว่าเป็นกองพลน้อยสู้รบอีกแล้ว”

การตัดสินใจของโอบามาที่จะทำตามข้อเสนอของฝ่ายทหารในการคงให้มี “กองกำลังระยะผ่าน” จำนวนระหว่าง 35,000 ถึง 50,000 คนไว้ในอิรักต่อไป จึงมีความหมายเท่ากับการละทิ้งนโยบายดั้งเดิมของเขาเองอย่างสิ้นเชิง อันเป็นนโยบายที่จะให้มีการถอนทหารหน่วยสู้รบทั้งหมดออกมา แล้วกลับหันไปยอมรับสิ่งที่ฝ่ายทหารต้องการมาตลอด นั่นก็คือ การยังคงมีหน่วยสู้รบหลายๆ กองพลน้อยอยู่ในอิรักต่อไปภายหลังกลางปี 2010 แล้ว

พวกเจ้าหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติไม่ยอมให้ความเห็นใดๆ เมื่อถูกตั้งคำถามว่า ตามนโยบายที่โอบามาประกาศในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นั้น จริงๆ แล้วจะยังมีกองพลน้อยสู้รบเหลืออยู่ในอิรักภายหลังเดือนสิงหาคม 2010 หรือเปล่า

ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ภายในกองทัพบกเองนั้น ชื่อที่ใช้เรียกขานหน่วยต่างๆ ที่จะกลายมาเป็นกำลังกลุ่มใหญ่ของ “กองกำลังระยะผ่าน” นั้น ก็ไม่ใช่ “กองพลน้อยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือ” หากแต่เรียกกันว่า “กองพลน้อยเสริมกำลังเพื่อการปฏิบัติการสร้างเสถียรภาพ” (Brigade Enhanced for Stability Operations หรือ BESO)

พ.ท.แกรี ทอลล์แมน ผู้ทำหน้าที่โฆษกให้แก่คณะเสนาธิการทหารผสม ได้ยืนยันเมื่อวันจันทร์(23)ว่า BESO จะเป็นหน่วยของกองทัพบกที่เข้าประจำการอยู่ในอิรัก เพื่อทำตามจุดประสงค์ของกองกำลังระยะผ่าน ทอลล์แมนบอกด้วยว่า เวลานี้กำลังมีกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งทางกองบัญชาการกองทหารสหรัฐฯเขตกลาง (Central Command หรือ CENTCOM) และกองทัพบกเข้าร่วมด้วย เพื่อกำหนดกันให้ชัดเจนว่า BESO จะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม แท้ที่จริงแล้วในส่วนของกองทัพบกสหรัฐฯได้ดำเนินการพัฒนากรอบโครงคร่าวๆ ของ BESO มาเป็นเวลาสองสามเดือนแล้ว สิ่งที่กำลังวางแผนกันไว้นั้นจะทำให้โครงสร้างของ BCT ในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว นั่นคือ จะมีการเพิ่มให้หน่วยเหล่านี้มีทักษะด้านการให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือด้วย ทว่าจะไม่มีการลดระดับอำนาจในการสู้รบแต่อย่างไร

หน่วยสู้รบระดับกองพลน้อย หรือ BCT เป็นหน่วยที่ถือว่ากำลังหลักคือกองพันทหารราบยานยนต์ จำนวน 2 หรือ 3 กองพัน แต่ก็จะมีส่วนประกอบด้านการสนับสนุนอย่างครบครัน อาทิ มีการสนับสนุนด้านปืนใหญ่ของตนเอง ตามความจำเป็นเพื่อให้สามารถกระทำภาระหน้าที่ในการปฏิบัติการทางทหารด้านต่างๆ อย่างเต็มที่

ทั้งหมดเหล่านี้คือลักษณะถาวรพื้นฐานที่จะพบเห็นได้เสนอในหน่วย BCT ไม่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรูปลักษณะไปต่างๆ นานากันอย่างไร สำหรับในเวอร์ชั่นใหม่ที่จะถูกนำมาอยู่ใต้สังกัด “กองกำลังระยะผ่าน” ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะถาวรเหล่านี้เช่นกัน ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของผู้ชำนัญการในเรื่อง BCT หลายๆ คน ผู้ชำนัญการเหล่านี้ยังบอกอีกว่า ปัญหาที่กองทัพบกยังคงอยู่ระหว่างการหารือกับพวกผู้บังคับบัญชาภาคสนามนั้นมีอยู่เพียงประเด็นเดียว นั่นคือสำหรับภารกิจใหม่ครั้งนี้ จะต้องมีการเพิ่มเสริมอะไรให้แก่ BCT บ้าง

พ.ต.แลร์รี เบิร์นส์ แห่งศูนย์การกำลังผสมกองทัพบก (Army Combined Arms Center) ณ ค่ายฟอร์ต ลีเวนเวิร์ธ มลรัฐแคนซัส ได้บอกกับอินเตอร์เพรสเซอร์วิสว่า ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.จอร์จ ดับเบิลยู เคซีย์ ได้สั่งการให้ศูนย์การกำลังผสมแห่งนี้ ซึ่งชำนาญในเรื่องภารกิจและหลักนิยม (doctrine) ของกองทัพบก ดำเนินการเพื่อทำให้บรรดาหน่วย BCT มีสมรรถนะในการปฏิบัติภารกิจด้านการฝึกอบรมและการให้ความช่วยเหลือในลักษณะให้คำปรึกษา

ตามคำบอกเล่าของเบิร์นส์ จุดสำคัญที่สุดของ BCT ที่แปรไปเป็น BESO นั้นอยู่ที่ว่า พวกทีมงานถ่ายโอนทางการทหาร (Military Transition Team) ที่กำลังทำงานโดยตรงกับหน่วยทหารของอิรัก จะไม่ได้ปฏิบัติการอย่างเป็นอิสระอีกต่อไป แต่จะต้องผนวกรวมเข้าอยู่ในหน่วย BCT แปรรูปเหล่านี้

พัฒนาการเช่นนี้อันที่จริงก็จะเป็นการสืบต่อแนวโน้มที่บังเกิดขึ้นในอิรักอยู่แล้ว โดยที่หน่วย BCT ต่างๆ กำลังค่อยๆ เข้าควบคุมการปฏิบัติการของพวกทีมงานถ่ายโอนทางการทหาร ซึ่งเมื่อก่อนเคยทำงานอย่างเป็นอิสระ ทั้งนี้ตามการบอกเล่าของ พ.ต.รอเบิร์ต ธอร์นตัน แห่ง ศูนย์ร่วมเพื่อการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศและกองกำลังด้านความมั่นคง (Joint Center for International and Security Force Assistance) ณ ฟอร์ต ลีเวนเวิร์ธ

พล.อ.มาร์ติน เดมป์เซย์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการการฝึกอบรมและหลักนิยมของกองทัพบก (Army Training and Doctrine Command) ได้ออกคำแนะนำด้านการวางแผน (Planning Guidance) ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้ดำเนินการปรับปรุง BESO ต่อไปอีก หลังจากที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับข้อกำหนดในเรื่องบุคลากรเพิ่มเติมแล้ว ก็ได้มีการรายงานสรุปให้พล.อ.เคซีย์ทราบ ในเรื่องข้อเสนอการปรับปรุง BCT เพิ่มเติม ทั้งนี้ถือเป็นการรายงานครั้งที่สองแล้วในระยะเวลาเพียงเดือนเดียว โดยครั้งหลังนี้ เป็นการรายงานสรุป ณ การประชุมของนายพลระดับ 4 ดาวหลายๆ คน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของ พ.ต.เบิร์นส์

อันที่จริงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้มีการตั้งชื่ออื่นๆ ให้แก่หน่วย BCT ที่ปรับเปลี่ยนใหม่ชนิดนี้กันอยู่หลายชื่อ ทว่าในที่สุดก็ถูกทิ้งไปหมด กระนั้น จากนามเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้เป็นที่ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกว่า มันเป็นเพียง BCT ที่มีการเพิ่มเติมอะไรขึ้นเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ตามคำบอกเล่าของเบิร์นส์ ชื่อเหล่านี้ก็มีอาทิ “หน่วยสู้รบระดับกองพลน้อยทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแก่กองกำลังรักษาความมั่นคงปลอดภัย” (Brigade Combat Team – Security Force Assistance) และ “หน่วยสู้รบระดับกองพลน้อยเพื่อการปฏิบัติการสร้างเสถียรภาพ” (Brigade Combat Team for Stability Operations)

แผนการที่จะนำเอา BCT ที่ได้รับการปรับเสริมจำนวนหลายๆ หน่วยเข้าประจำการในอิรักเช่นนี้ เป็นเครื่องสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ “การเปลี่ยนชื่อเสียใหม่” หรือ “การปรับเปลี่ยนภารกิจเสียใหม่” ให้แก่หน่วย BCT ทั้งหลายในอิรัก ซึ่งพวกผู้นำทางทหารของสหรัฐฯคิดค้นพัฒนาขึ้น ในขณะที่บารัค โอบามา ซึ่งเวลานั้นแม้ยังเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่กำลังได้รับความนิยมแบบพุ่งพรวด จนบ่งชี้ว่าเขาจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2008 อย่างแน่นอน

ตอนปลายปีที่แล้ว พล.อ.เดวิด เพเทรอัส ผู้บัญชาการ CENTCOM และ พล.อ. เรย์ โอดิเอร์โน ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯในอิรัก ต่างรู้สึกไม่สบายต่อการรณรงค์หาเสียงของโอบามาที่ให้สัญญาว่าจะถอนกองพลน้อยสู้รบของสหรัฐฯทั้งหมดออกมาภายในเวลา 16 เดือน แต่แล้วพวกนักวางแผนของฝ่ายทหารก็ค้นพบอย่างรวดเร็วว่าสามารถนำเอาแผนกโลบายเปลี่ยนชื่อเสียใหม่มาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องถอน BCT ออกไปอย่างสิ้นเชิงในยุคของคณะรัฐบาลโอบามา

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้เคยเปิดเผยไว้ในรายงานข่าวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมว่า พวกนักวางแผนของเพนตากอนกำลังพูดคุยกันเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนชื่อเสียใหม่” ให้แก่บรรดาหน่วยสู้รบของสหรัฐฯ โดยจะเรียกว่าหน่วย “ฝึกอบรมและสนับสนุน” ทว่าไม่ได้ให้รายละเอียดอะไร พวกนักวางแผนของเพนตากอนนั้นกำลังคาดคำนวณว่า จะต้องให้มีกำลังทหารจำนวน 70,000 คนคงอยู่ในอิรัก “เป็นเวลานานพอดูกระทั่งหลังจากปี 2011 ด้วย”

ตามรายงานของนิวยอร์กไทมส์ในอีก 3 วันต่อมานั้นระบุว่า ในระหว่างเข้าพบโอบามาที่นครชิคาโกเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม เกตส์และประธานคณะเสนาธิการทหารผสม พล.ร.อ.ไมก์ มุลเลน ได้หารือถึงแผนการที่จะให้กองทหารสู้รบของสหรัฐฯเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกองทหารสนับสนุน

รายงานข่าวระบุว่า เกตส์และมุลเลนได้กะเก็งคาดเดาในระหว่างการเข้าพบหารือครั้งนั้น ในเรื่องที่ว่าอิรักจะยินยอมหรือไม่ที่จะให้กองกำลังสู้รบที่เปลี่ยนชื่อใหม่ดังกล่าว ยังคงอยู่ในเขตเมืองใหญ่และเมืองเล็กเมืองน้อยของอิรักต่อภายหลังเดือนมิถุนายนปีหน้า ถึงแม้มีข้อเท็จจริงว่า ข้อตกลงถอนทหารระหว่างสหรัฐฯกับอิรักที่ได้ลงนามกันไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2008 นั้น กำหนดให้กองกำลังสู้รบของสหรัฐฯทั้งหมดต้องถอนออกไปจากพื้นที่ซึ่งมีประชากรอาศัยหนาแน่น ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2010

จากรายงานข่าวชิ้นนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า โอบามานั้นตระหนักเป็นอย่างดีว่า การปล่อยให้ พล.อ.เพเทรอัส และ พล.อ.โอดิเอร์โน มีเสรีในการกำหนดส่วนประกอบของ “กองกำลังระยะผ่าน” จำนวนระหว่าง 35,000 ถึง 50,000 คนนั้น ย่อมหมายความว่ากองพลน้อยสู้รบเกือบทั้งหมดจะยังคงอยู่ในอิรักแทนที่จะกำลังถอนตัวออกไป เหมือนดังที่เขาได้ให้สัญญาอย่างชัดเจนต่อมหาชนชาวอเมริกันเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ซึ่งชำนาญในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯเป็นพิเศษ หนังสือฉบับปกอ่อนของหนังสือเล่มล่าสุดของเขา ที่มีชื่อว่า Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น