xs
xsm
sm
md
lg

โอบามาอ้อนคองเกรสให้อำนาจปิดสถาบันการเงินหลังเหตุฉาว AIG

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โอบามา ระหว่างหารือกับ เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย
เอเอฟพี/เอเจนซี - คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามาเรียกร้องเมื่อวันอังคาร(24) ขอให้รัฐสภาสหรัฐฯเพิ่มอำนาจรัฐบาล เพื่อให้สามารถปิดสถาบันการเงินที่มีปัญหาอย่างเช่นเอไอจี จะได้ไม่ต้องเอาเงินมหาศาลเข้าไปช่วยชีวิตกันอีกในเวลาต่อไป

โอบามา ถูกผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีคำเรียกร้องจากกระทรวงการคลังและประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ สำหรับอำนาจที่ไม่เคยมีมาก่อนในการเข้ายึดบริษัททางการเงินในความพยายามค้ำยันเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หลังจากหารือกับ เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย

 "ขอได้โปรดระลึกไว้ด้วยว่า เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีอำนาจเรื่องนี้ในกรณีเอไอจี จึงทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก" โอบามากล่าว "รัฐบาลควรจะมีอำนาจนี้มานานแล้ว เพราะสถาบันการเงินใด ๆที่จะทำให้ระบบการเงินมีความเสี่ยงย่อมสมควรจะถูกปิดไป รัฐบาลสามารถจะป้องกันปัญหามิให้ลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่น ๆได้"

          เมื่อถูกถามว่าหน่วยงานใดควรจะมีอำนาจที่จะปิดสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่ธนาคารได้ โอบามาตอบว่าบรรษัทประกันเงินฝากสหรัฐฯ (เอฟดีไอซี) น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี
         
"ถ้าคุณดูตัวอย่างในเรื่องที่เอฟดีไอซีจัดการกับสถานการณ์อย่างเช่นเรื่องของอินดี้แบงก์ ก็ย่อมเห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้วเอฟดีไอซีสามารถแก้ไขปัญหาประเภทเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากถ้าหากได้เครื่องมือสำหรับทำงานอย่างนี้ แต่ว่าตอนนี้เรายังไม่มีเครื่องมือที่ต้องการไว้ใช้เลย" โอบามากล่าว

ทั้งนี้ในปัจจุบันเอฟดีไอซีมีอำนาจที่จะแก้ปัญหาธนาคารที่ล้มครืนลงมาอย่างอินดี้แมค แบงก์ได้ ทว่าไม่มีอำนาจที่จะปิดสถาบันการเงินชนิดอื่น ๆที่ไม่ใช่ธนาคาร

“รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างร่างรายละเอียดข้อเสนอและหารือกับสมาชิกสภาคองเกรส” โอบามากล่าวถึงโครงร่างกฎระเบียบอย่างกว้างที่ถูกวางเอาไว้เพื่อปกป้องไม่ให้วิกฤตเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง

คำร้องขอของโอบามา มีขึ้นพร้อมกับที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการเงินของสหรัฐฯ บอกกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้โกรธกริ้วต่อการจ่ายโบนัสผู้บริหารเอไอจี ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีอำนาจในการปิดสถาบันการเงินที่มีปัญหา อย่างเช่น บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่แห่งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ต้องให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกในอนาคต

ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลัง เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องขออำนาจใหม่ที่สามารถเข้าควบคุมบริษัททางการเงินที่อยู่นอกภาคธนาคารซึ่งประสบปัญหา

ด้าน เบน เบอร์นันเก ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สนับสนุนความเห็นของ ไกธ์เนอร์ อย่างแข็งแกร่งและยังยกปัญหาของบริษัท อเมริกันอินเตอร์เนชันแนลกรุ๊ป คือ แบบอย่างถึงความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงกฎระเบียบทางการเงินให้ทันสมัยมากขึ้น

นอกจากนี้ ทั้งสองคนแล้ว วิลเลียม ดัดลีย์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก ก็ให้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินของสภาผู้แนราษฎรสหรัฐฯเช่นกัน โดยเขาแสดงความมั่นใจว่า ท้ายที่สุดแล้ว ผู้บริหารและพนักงานเอไอจีจะคืนเงินโบนัส 165 ล้านดอลลาร์ที่พวกเขาได้รับไป
 
  ระหว่างให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการในวันอังคาร ไกธ์เนอร์กล่าวว่ารัฐบาลต้องการเครื่องมือเพื่อเข้าจัดการกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารที่กำลังจะล้มลงมา เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้เช่นเดียวกับธนาคาร ที่รัฐบาลมีเครื่องมือพร้อมอยู่แล้ว ภายใต้ข้อเสนอของไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเข้าแทรกแซงในสถาบันการเงินได้เมื่อไร ด้วยการหารือกับธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง
         
          "ดังที่เราได้เห็นแล้วในกรณีของเอไอจี สถาบันการเงินที่ไม่ได้รับฝากเงินแต่มีการเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่น ๆสามารถทำให้เกิดความเสี่ยงในเชิงระบบได้เช่นเดียวกับธนาคาร" เขาบอก
         
          ในขณะนี้รัฐสภาสหรัฐฯได้เริ่มเดินหน้าแก้ไขระเบียบกำกับดูแลด้านการเงิน ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาอำนาจในการปิดสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารไปด้วย และผู้ช่วยส.ส.หลายคนกล่าวว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้จะลงมติเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ อย่างเร็วที่สุดก็ราววันที่ 31 มีนาคม
         
          ถึงแม้ จอห์น โบเนอร์ ผู้นำรีพับลิกันในสภาล่างกล่าวว่า คำขอของกระทรวงการคลังให้เพิ่มอำนาจปิดสถาบันการเงินนอกเหนือจากธนาคารนั้ นดูเหมือนเป็น "การรวบอำนาจ" แต่ก็มีสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนกระทรวงการคลัง
         
          "ผมสนับสนุนร่างดังกล่าว" คริสโตเฟอร์ ดอดด์ ประธานคณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภากล่าว "แต่เรายังคงต้องมาดูว่าจะทำกันยังไง"
         
          เอไอจีซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลถึง 180,000 ล้านดอลลาร์ กำลังกลายเป็นกรณีตัวอย่างที่รัฐใช้เพื่อเรียกร้องการปฏิรูประบบกำกับดูแลภาคการเงิน
         
          ก่อนหน้านี้ไกธ์เนอร์, เบอร์นันกี, และวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ต่างก็มาอธิบายต่อรัฐสภาไปแล้วว่า สถานการณ์จะย่ำแย่ลงเพียงไรหากว่าปล่อยให้เอไอจีล้มละลายไป
         
          "เป็นที่เข้าใจได้ว่า ความล้มเหลวของไอเอจีอาจทำให้เกิดการหลอมละลายทางด้านเศรษฐกิจและด้านการเงินทั่วโลกเหมือนกับช่วงทศวรรษ 1930 โดยที่จะส่งผลที่เป็นความหายะทั้งต่อการผลิต, รายได้ และตำแหน่งงาน" เบอร์นันกีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น