เอเอฟพี – เจน กู๊ดดัล นักวิทยาศาสตร์ระดับแถวหน้าแห่งศตวรรษที่ 20 และผู้เชี่ยวชาญด้านลิงชิมแปนซีชี้ชัด ความกระหายไม่จบสิ้นในทรัพยากรแดนกาฬทวีปของจีนกำลังเป็นตัวการทำลายป่าไม้ และแหล่งอาศัยแห่งสำคัญของลิงชิมแปนซี ขณะที่โครงการอนุรักษ์ของเธออาจต้านไม่ไหว เพราะพิษวิกฤตการเงินโลก ทำให้เงินช่วยเหลือหดหาย
ในการแถลงต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งมีนาย บาร์ต กอร์ดอน ประธานคณะกรรมาธิการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสภาผู้แทนราษฎรเข้านั่งฟัง นักวิทยาศาสตร์หญิงชาวอังกฤษ วัย 74 ปี เตือนว่า ขณะนี้รัฐบาลจีนกำลังกดดันให้รัฐบาลชาติต่าง ๆ บนแอ่งคองโกในภูมิภาคแอฟริกากลาง อนุมัติให้สัมปทานป่าไม้แก่จีน เพื่อตอบแทนที่จีนให้ความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณสุข
กระบวนการดังกล่าวมีส่วนในการฆ่าล้างผลาญประชากรลิงชิมแปนซี และกอริลลา ที่อาศัยอยู่ในป่าแถบนี้มากที่สุดในโลก โดยผืนป่าในแถบแอ่งคองโกยังมีความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นที่พึงปรารถนาของจีน ที่กำลังจนตรอกในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
“โดยพื้นฐานแล้ว พวกเขาสูบวัตถุดิบ (ไม้และสินแร่) ของตัวเองจนแทบหมดเกลี้ยง ก็เลยไปยังแอฟริกา เสนอเงินก้อนมหาศาล หรือเสนอสร้างถนน สร้างเขื่อนให้ โดยแลกเปลี่ยนกับสัมปทานป่าไม้ หรือสิทธิ์ในเหมืองแร่ และน้ำมัน” เธอระบุ
“ดิฉันกำลังหวังอย่างแท้จริงว่า วิกฤตเศรษฐกิจ จะทำให้(อัตราเติบโตของจีน) ชะลอลงเล็กน้อย” เพื่อจะได้สกัดกั้นการตัดไม้ทำลายป่า
จากปากคำของกู๊ดดัลนั้น หลายบริษัทของพญามังกรได้เหยียบย่างเข้าไปยังประเทศคองโก-บราซซาวิล และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก การตัดไม้และการบุกรุกป่าที่นั่นได้ทำลายประชากรลิง แม้สถาบันเจน กู๊ดดัล (Jane Goodall Institute) และองค์กรอื่น ๆ พยายามทวนกระแสแล้วก็ตาม
“บ้านของพวกลิงกำลังจะหมดไป” เธอกล่าว
กู๊ดดัลเสนอแนะให้รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลแห่งชาติทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อขยายโครงการอนุรักษ์ขึ้นในชุมชน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาหนทางหนึ่ง
การศึกษาเกี่ยวกับลิงชิมแปนซี ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2503 ของกู๊ดดัล นับเป็นการปฏิวัติงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ ปัจจุบัน สถาบันเจน กู๊ดดัล มุ่งทำงาน เพื่อเพิ่มที่อยู่ให้ลิงชิมแปนซีในเขตอุทยานแห่งชาติกอมบ์ ในแทนซาเนีย
นอกจากนั้น ยังทำงานร่วมกับหมู่บ้านในท้องถิ่น เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า และช่วยสร้างเส้นทางเชื่อม อันเขียวชอุ่มระหว่างอุทยานแห่งชาติกอมบ์กับพื้นที่อื่น ที่ชิมแปนซีอาศัยอยู่ภายในแอ่งคองโกอันกว้างใหญ่
ปกติกู๊ดดัลเป็นคนพูดเสียงนุ่มนวล แต่มาคราวนี้ เธอเริ่มการแถลงด้วยการเลียนเสียงร้องอย่างคลุ้มคลั่งของชิมแปนซี ซึ่งอาจตีความหมายได้ว่าเป็นเสียงร้องขอความช่วยเหลือให้กับชิมแปนซี และองค์กร ที่ทำงานเพื่อปกป้องพวกมัน เพราะกู๊ดดัลยอมรับว่า ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป งานอนุรักษ์อาจถูกตัดกำลัง เนื่องจากวิกฤตการเงินโลกทำให้การระดมเงินทุนสำหรับโครงการของเธอ และรัฐบาลท้องถิ่นมีความยากลำบากกว่าเดิม