เอเอฟพี - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ครองตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ครบ 50 วัน เมื่อวันอังคาร (10) โดยมีผลงานยกเครื่องปรับเปลี่ยนนโยบายหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการต่างประเทศ สังคม เศรษฐกิจ การทหาร หรือด้านพลังงาน แม้ว่าประเทศซึ่งโดดเด่นด้วยเรื่องแนวคิดมองโลกในแง่ดีแห่งนี้ จะกำลังโซซัดโซเซกับภาวะการว่างงานครั้งใหญ่และดัชนีตลาดหุ้นทรุดแบบกราวรูดก็ตามที
“ตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ของเรา มีบ่อยครั้งทีเดียวที่คนอเมริกันบางชั่วอายุจะต้องแบกรับความรับผิดชอบในการนำพาประเทศให้รอดพ้นจากห้วงเวลาอันยากลำบาก และปกป้องความฝันของผู้ก่อตั้งประเทศไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไป” โอบามา กล่าวในวันอังคาร (10)
โอบามา ยืนยันด้วยว่า ในช่วงเวลาแห่งการทดสอบเช่นปัจจุบัน จะต้องตอบโต้ปัญหาอย่างกล้าหาญ โดยเขาเองสัญญาว่าจะใช้เงินกว่าล้านล้านดอลลาร์ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาให้ได้ รวมทั้งช่วยชีวิตอุตสาหกรรมการเงิน และให้เจ้าของบ้านที่ติดจำนองซึ่งมีความเดือดร้อน ยังคงรักษาบ้านไว้ได้
ใน 50 วันแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โอบามา ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้รัฐสภายอมลงมติผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 787,000 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าพรรครีพับลิกันจะไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ และทำให้ความหวังที่จะสร้างการเมืองแบบไม่แบ่งพรรคแบ่งพวกของเขาล่มสลายไปก็ตาม
นอกจากนั้น โอบามา ยังสั่งปิดค่ายกักกันนักโทษที่อ่าวกวนตานาโม ประกาศว่าสหรัฐฯ จะเข้าไปแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเต็มที่ และการปฏิรูปนโยบายอีกหลายด้าน โดยพุ่งเป้าไปที่ระบบการรักษาพยาบาล และการขาดดุลงบประมาณ
ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ (9) โอบามา ยังได้ยกเลิกคำสั่งจำกัดเงินสนับสนุนโครงการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด (สเตมเซลล์) ของรัฐบาลบุช และเผยแผนปฏิรูปการศึกษาในวันอังคารด้วย
ในด้านการต่างประเทศ โอบามา ได้กำหนดเส้นตายยุติสงครามอิรักในวันที่ 31 สิงหาคม 2010 และสั่งเพิ่มกำลังทหารสหรัฐฯ 17,000 นายเข้าไปในอัฟกานิสถาน เขาประกาศว่าจะเจรจากับประเทศที่เป็นศัตรู โดยจะเชิญอิหร่านเข้าร่วมประชุมที่อัฟกานิสถาน เขาส่งทูตเข้าไปที่ซีเรีย อีกทั้งยังดำเนินการผลักดันให้เกิดสันติภาพระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์รอบใหม่ด้วย
ผลงานที่ผ่านมาทำให้คะแนนนิยมของโอบามาจากการสำรวจของหลายสำนักอยู่ที่ราว 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับเฉลี่ยพอๆ กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนอื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยระดับสูงของโอบามายอมรับว่าผลงานในช่วง 50 วันแรกนี้เป็นเพียงภาพคร่าวๆ เท่านั้น และที่สำคัญ คือ สหรัฐฯ จะต้องระวังสัญญาณเตือนถึงอันตรายด้วย
โดยในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาธนาคารที่มีหนี้สินท่วมท้นจนกลายเป็นต้นตอของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งนี้ได้หรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการดึงธุรกิจธนาคารบางส่วนเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐ หรือทุ่มอัดฉัดเงินเข้าไปอีกหลายพันล้านดอลลาร์ หรือจะใช้วิธีการใดจัดการกับสินทรัพย์ที่เป็นปัญหา
ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ “บิ๊กทรี” ก็ยังวิตกกันว่าจะได้รับเงินอัดฉีดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ หรือรัฐบาลจะยอมปล่อยให้บริษัทรถทั้งสามแห่งล้มไปตามสภาพที่เป็นจริง
ยิ่งกว่านั้น วงเงินงบประมาณก้อนมหาศาลถึง 3.55 ล้านล้านดอลลาร์ก็ยังกระตุ้นให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ขาดการยั้งคิดในแง่วินัยด้านงบประมาณ
บางคนว่าโอบามาไม่ควรทำอะไรให้มากนักในช่วงเวลานี้ นอกจากกอบกู้เศรษฐกิจ ทว่าเขายืนกรานว่าการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีการปฏิรูปทางการเมืองอย่างกล้าหาญด้วย
“ผมรู้ว่าบางคนเชื่อว่าเราสามารถรับมือกับปัญหาได้ทีละอย่างเท่านั้น” โอบามา บอก ก่อนจะแย้งกลับว่าประธานาธิบดีคนสำคัญของสหรัฐฯ ไม้ว่าจะเป็น อับราฮัม ลินคอล์น แฟรงคลิน รูสเวลต์ หรือ จอห์น เอฟ.เคนเนดี ล้วนแต่ทำงานใหญ่มากมายทั้งๆ ที่อยู่ในภาวะวิกฤตเช่นกัน