xs
xsm
sm
md
lg

เค้าลางแห่งหายนะทางเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: จอห์น บราวน์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Economic catastrophe looms
By John Browne
19/02/2009

ความคึกคักอย่างมากมายของตลาดทองคำซึ่งเกิดขึ้นมาทั้งที่มีการดำเนินการเพื่อต้านทาน อาทิ การเทขายทองคำปริมาณมหาศาลโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชี้บ่งถึงความเกร็งกลัวในหมู่นักลงทุน ทั้งๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่โต ดังนั้น เมื่อรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกทยอยกันส่งคลื่นแห่งสภาพคล่องสาดลงมาตามท่อน้ำของระบบเศรษฐกิจ มูลค่าของสิ่งต่างๆ เกือบจะทุกสิ่ง ยกเว้นทองคำ จะถูกละลายหายกันไปหมด

ขณะที่สภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมายว่าด้วยมาตรการชุดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 787,000 ล้านดอลลาร์ในกลางเดือนกุมภาพันธ์นั้น ความมหึมาของแผนดังกล่าวทำให้ผู้สันทัดกรณีทั้งหลายลืมไปเลยกับสภาพคล่องที่เคยถูกสาดซัดให้ไหลผ่านไปก่อนหน้านี้ และจึงแทบจะไม่มีใครนึกสงสัยว่าเรื่องร้ายใดจะเกิดขึ้นมาได้อีกเมื่อสภาพคล่องนี้ไหลบ่าเข้าไปท่วมท้นแผ่นดิน

ล่าสุดนี้ การจับจ่ายภาครัฐรายการใหญ่ๆ เพื่อประคองอาการของระบบการเงินที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ลงนามให้เป็นกฎหมายเรียบร้อยแล้วได้แก่ ความช่วยเหลือแก่กลุ่มซิตี้กรุ๊ป มูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ กับอีก 7 แสนล้านดอลลาร์ที่จะไปยังการบรรเทาสินทรัพย์มีปัญหาโครงการหมายเลข 1 (Troubled Assets Relief Program 1) และอีก 3 แสนล้านดอลลาร์สำหรับสำนักงานการเคหะแห่งชาติ (Federal Housing Administration) และยังมีก้อน 2 แสนล้านดอลลาร์สำหรับโครงการประมูลสินเชื่อระยะสั้นเพื่อบรรเทาแรงกดดันในตลาดกองทุน (Term Auction Facility) ซึ่งเป็นโครงการของแบงก์ชาติสหรัฐฯ (เฟด) นอกจากนั้น เป็นก้อน 3 แสนล้านดอลลาร์สำหรับแฟนนี เม และเฟรดดี้ แมค สองสถาบันยักษ์ด้านการค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ก่อนหน้านั้น เมื่อราวหกเดือนที่ผ่านมา ก็เพิ่งมีงบฯช่วยเหลืออุตสาหกรรมการเงินมูลค่าเกือบ 5 ล้านล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลอเมริกันได้อนุมัติไป ซึ่งยังไม่รวมถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรุ่นแรกของรัฐบาลบุช กับการสนับสนุนที่ไม่ใช่การให้เม็ดเงินอัดฉีดแต่เป็นรูปแบบค้ำประกันโดยธนาคารกลางสหรัฐฯซึ่งประกาศออกมาหลายระลอก มูลค่ารุ่นละมหาศาลมากมาย ดังนั้น นักวิเคราะห์น่าจะสรุปไม่ผิดพลาดที่ว่า มาตรการของรัฐบาลเป็นแค่การโยนเงินใส่ปัญหาเท่านั้น

แม้ภาครัฐออกมาโปรยคำสวยหรูจนสามารถกล่อมนักวิเคราะห์มากมายให้เห็นงามกับโอกาสที่มาตรการอัดฉีดจะประสบความสำเร็จได้ แต่ความเคลื่อนไหวในตลาดทองคำดูว่าจะเข้าใจชัดเจนถึงนัยสำคัญของการจับจ่ายภาครัฐอันมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ความรู้สึกที่ว่ารัฐบาลหมดมุกที่จะหาวิธีแก้ปัญหา ได้สร้างความแตกตื่นกันไปทั่ว ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคือ นักลงทุนที่คร่ำหวอดแห่กันเสาะหาแหล่งพักทรัพย์ศฤงคารของพวกตัวที่ปลอดภัยเหนืออื่นใด ดังนั้น ในปี 2009 นี้จะมีปรากฏการณ์แบบที่เกิดขึ้นเสมอนับครั้งไม่ถ้วนตลอดช่วงประวัติศาสตร์ คือการแห่ไปเก็บสะสมทรัพย์ในรูปของทองคำ ด้วยเหตุนี้ การแทรกแซงระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ย่อมสามารถคาดการณ์ได้จากราคาซื้อขายทองคำ ซึ่งขณะนี้การที่ราคาทองคำมีแต่จะทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงเท่ากับว่าตลาดทองกำลังแผดเสียงสัญญาณความล้มเหลวฟ้องออกมานั่นเอง

ก่อนที่จะมาถึงการที่รัฐบาลอเมริกันสาดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงินครั้งล่าสุด รัฐบาลก็เพิ่งอัดฉีดอุดหนุน 4 ล้านล้านดอลลาร์เข้าไปช่วยเลื่อนเวลาการล่มสลายของระบบสถาบันธนาคาร พร้อมกับวางรากฐานให้แก่การปรับโครงสร้างกันสืบต่อไป กระนั้นก็ตาม การดำเนินการเหล่านี้ได้ช่วยกอบกู้ระบบการธนาคารได้จริงบ้างหรือไม่ และในเมื่อเค้าลางของปัญหาเศรษฐกิจถดถอยแสดงตัวแจ่มชัดลึกซึ้งมากขึ้น แล้วมันจะมีแนวโน้มได้แค่ไหนว่าแพ็กเก็จเสริมอีก 787,000 ล้านดอลลาร์เพื่อการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจก้อนนี้จะสามารถสร้างแรงใจให้เกิดความเชื่อมั่นได้เพียงพอแก่การกอบกู้พลังการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าไม่สำเร็จ ความเสียหายจากมาตรการอัดฉีดเหล่านี้จะกระทบต่อการฟื้นตัวระยะยาวไปประมาณใด

โดยทั่วไปแล้ว แพ็กเก็จกอบกู้สถานการณ์ของรัฐสภาไม่ค่อยจะได้ผลอยู่แล้ว กระนั้นก็ตาม สภาคองเกรสก็ยังไปโหมดีกรีร้อนของปัญหาด้วยการเพิ่มระดับหนี้ภาครัฐเพื่อไปสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดจนแพ็กเก็จกอบกู้ต่างๆ วุฒิสภาชิกจอห์น แมคเคน ให้ฉายาแก่กลยุทธ์ที่รัฐบาลใช้อยู่นี้ว่า “การปล้นทรัพย์ของคนรุ่นต่อไป” ทั้งนี้ แต่ละแพ็กเก็จล้วนแต่จะไปตกบนบ่าของคนรุ่นต่างๆ ในอนาคต ไปขัดขวางการปรับโครงสร้าง พร้อมกับไปคุกคามต่อเสถียรภาพในรูปของเงินเฟ้อแอบแฝงรุนแรง

ขณะที่คองเกรสอ้างว่าระบบเศรษฐกิจซึ่งไปสร้างภาระหนี้ไว้ล้นเกินอย่างแสนสาหัส ตกอยู่ในภาวะจนตรอก จำต้องได้รับการปรับโครงสร้าง แต่แล้วผู้นำแห่งรัฐสภาแห่งนี้กลับไปขวนขวายเสาะหาสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย พวกนี้เตือนถึงอัคคีภัย แต่แล้วก็กลับสาดน้ำมันไปบนกองเพลิง

ความรุนแรงของสถานการณ์ถูกกระพือเกินเลยเมื่อขนาดของปัญหาคอยแต่จะทวีตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ในสัปดาห์ที่สามของเดือนกุมภาพันธ์ บันทึกการประชุมของเฟดที่ได้รับการเปิดเผยล่าสุด ยืนยันว่าแม้แต่ฐานที่มั่นแห่งการฉายภาพด้านบวกตลอดกาลก็ส่อสภาวะตึงเครียดให้เห็น ทั้งนี้ ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หดตัว 3.8% ในไตรมาส 4/2008 และคาดกันว่าจะหดลง 5.5% ในไตรมาส 1/2009 นี้ การวิเคราะห์ของบางค่ายพบแล้วว่าอัตราว่างงานขยายไปถึงระดับเลขสองหลักทีเดียว แม้ภาครัฐจะมีการเร่งจับจ่ายอย่างมหาศาลเพื่อการกอบกู้เศรษฐกิจและการกระตุ้นการเติบโต แต่ผู้บริโภคอเมริกันได้แสดงออกมาชัดเจนแล้วว่านับวันแต่จะผวาวิตกหนักขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ตลาดสินเชื่อก็แทบจะไม่มีสัญญาณการพื้นตัว

ขณะที่กระแสข่าวร้ายมีแต่จะทวีความรุนแรง ตลาดการลงทุนก็มีแต่จะจมดิ่งลง ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงทดสอบสถิติต่ำระดับใหม่ๆ อยู่ไม่ได้ขาด ส่วนตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ก็แทบจะไม่มีสัญญาณชีพจรชีวิตเต้นให้เห็น จุดที่น่าสังเกตคือ ข้อมูลเชิงสถิติบ่งบอกว่าในยุคยามทำนองนี้ ราคาทองคำควรดิ่งไปพร้อมกับราคาสินทรัพย์และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ แต่ความเป็นจริงขณะนี้กลับเป็นตรงข้าม ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ตลาดทองคำแสดงความคึกคักอย่างโดดเด่น สถานการณ์นี้เกิดขึ้นได้ทั้งๆ ที่มีปัจจัยกดดันราคาแทรกแซงเข้าไปอย่างแข็งขัน อาทิ การเทขายทองปริมาณสูงโดยทางการอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

ไม่ใช่เพียงแค่ราคาทองซื้อขายสปอตจะดีดตัวขึ้นทั้งที่เผชิญแรงกดดันจากซีกขาย แม้แต่ราคาเทรดในร้านขายทอง ก็ทะยานขึ้นไปสูงกว่าราคาซื้อขายสปอต ราว 20-40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นี้แสดงว่านักลงทุนอยู่ในภาวะหวาดผวารุนแรงกระทั่งว่าพวกเขาต้องการถือทรัพย์ไว้ในมือให้อุ่นใจ

อย่าไปหลงทางเลย ระบบเศรษฐกิจจะไม่พลิกกลับมาเป็นปกติในเร็ววัน และเมื่อแรงส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวถูกพิสูจน์ว่าไม่สามารถเป็นจริงได้ ก็จงเตรียมเห็นรัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลในสหรัฐฯ ส่งสภาพคล่องอีกระลอกใหญ่เข้าไปสาดท่วมเจิ่งนองระบบเศรษฐกิจกันอีก ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นอย่างนั้น มูลค่าของสิ่งต่างๆ เกือบจะทุกอย่าง ยกเว้นทองคำ จะถูกละลายหายกันไปหมด

จอห์น บราวน์ เป็นนักยุทธศาสตร์การตลาดอาวุโส แห่งค่ายยูโร แปซิฟิก แคปิตอล
กำลังโหลดความคิดเห็น