xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯทำสับสนเรื่องเจตนารมณ์ด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US estimate muddied Iran’s nuclear intent
By Gareth Porter
17/02/2009

การที่เมื่อไม่นานมานี้ทำเนียบขาวและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯได้ออกคำแถลงที่มีเนื้อหาขัดแย้งกัน คือเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความสับสนที่ทิ้งเอาไว้โดย “รายงานประเมินข่าวกรองแห่งชาติ” ฉบับปี 2007 ในช่วงที่ว่าด้วยเจตนารมณ์ของอิหร่านในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ความไม่ต้องตรงกันเช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะหากประเมินว่าอิหร่านกำลังมุ่งแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯก็จะต้องเลือกเอาระหว่างการดำเนินการทูตแบบใช้กำลังบังคับ หรือไม่ก็ต้องยอมรับฐานะความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ของเตหะราน แล้วพยายามหาทางป้องปรามไม่ให้ใช้อาวุธเหล่านั้น

วอชิงตัน – ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ และ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ เดนนิส แบลร์ ดูเหมือนกับมีความคิดเห็นไม่ต้องตรงกันในสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างที่ทั้งคู่แยกกันแถลงในเรื่องเกี่ยวกับเจตนารมณ์ทางด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน โอบามานั้นพูดระหว่างการแถลงข่าวของเขาโดยพาดพิงถึง “การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือการมุ่งแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์(ของอิหร่าน)” ทว่าแบลร์กลับบอกว่า “เราไม่ทราบเลยว่าปัจจุบันอิหร่านมีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่”

ถ้อยแถลงเช่นนี้ของคนทั้งสอง เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความสับสนที่ทิ้งเอาไว้โดย “รายงานประเมินข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Estimate หรือ NIE) ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2007 ในช่วงที่ว่าด้วยเจตนารมณ์ของเตหะรานเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้การประเมินเรื่องนี้ที่ปรากฏในรายงานฉบับดังกล่าว ได้ถูกโจมตีโดยทันทีจากพวกฝ่ายขวา และก็ได้รับการปฏิเสธไม่ยอมรับจากคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช เนื่องจากได้ระบุเอาไว้ว่า อิหร่านนั้นได้ระงับการปฏิบัติงานในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ไปเมื่อปี 2003

อย่างไรก็ดี ปัญหาแท้จริงของรายงาน NIE กลับอยู่ที่ว่าเอกสารนี้บกพร่องล้มเหลว ไม่ได้พูดให้กระจ่างชัดเจนว่าสาธารณรัฐอิสลามแห่งนั้นมีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ หรือเพียงแค่ต้องการมีสมรรถนะที่จะสร้างอาวุธนี้ เพื่อไว้ใช้เป็น “เครื่องป้องกันความเสี่ยง” ไม่ให้เกิดพัฒนาการที่ไม่พึงปรารถนาในอนาคต

ความแตกต่างระหว่าง 2 ยุทธศาสตร์ที่อาจเป็นไปได้ของอิหร่านดังกล่าวนี้ ต้องถือว่ามีความสำคัญใหญ่หลวง เพราะหากประเมินว่าแท้ที่จริงแล้วอิหร่านกำลังมุ่งแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯก็อาจจะต้องเลือกเอาระหว่างการดำเนินการทูตแบบใช้กำลังบังคับต่ออิหร่าน หรือไม่ก็ต้องยอมรับฐานะความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ของเตหะราน แล้วพยายามหาทางป้องปรามไม่ให้ใช้อาวุธเหล่านั้น

แต่ถ้ามองว่าอิหร่านใช้ “ยุทธศาสตร์เพื่อการป้องกันความเสี่ยง” สหรัฐฯก็สามารถที่จะใช้จังหวะก้าวต่างๆ ทางการทูต เพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจสูงสุดแก่อิหร่านในการที่จะยังคงเป็นรัฐที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ไปตลอดกาล และไม่คิดที่จะเสี่ยงภัยกับการที่ต้องประจันหน้ากับนานาชาติ

ในตอนที่ “ว่าด้วยขอบเขต” (scope note) ของรายงาน NIE 2007 ได้บ่งชี้เอาไว้ว่า เป็นที่คาดหวังกันที่จะให้เอกสารนี้ให้คำตอบแก่คำถามที่ว่า “อิหร่านมีเจตนารมณ์อย่างไรในเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์” แต่แล้วตัวเนื้อหาของรายงานประเมินฯเองกลับไม่ได้ตอบปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ตามปากคำของแหล่งข่าวด้านข่าวกรองผู้หนึ่งซึ่งได้อ่านเอกสารความยาว 140 หน้านี้ทั้งฉบับ แหล่งข่าวรายนี้ไม่สามารถเปิดเผยระบุชื่อได้ เพราะเขาไม่ได้รับมอบหมายให้พูดเรื่องเกี่ยวกับรายงาน NIE

ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวผู้นี้ ช่วงตอนซึ่งเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของอิหร่านในเอกสาร NIE ฉบับดังกล่าว ในเบื้องต้นเลยร่างขึ้นโดยพวกผู้ชำนาญพิเศษเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ ที่อยู่กับสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) คนเหล่านี้เป็นพวกที่แทบไม่มีความสนใจหรือไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเจตนารมณ์ของอิหร่าน เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ด้านอิหร่านของกระทรวงการต่างประเทศและของซีไอเอ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว ถูกเรียกตัวเข้ามาร่วมอภิปรายถกเถียง ก็ภายหลังจากมีการร่างกันเรียบร้อยไปแล้ว

ถึงแม้ในตัวบทของรายงาน NIE ฉบับนี้ ไม่ได้มีการวิเคราะห์อย่างเป็นชิ้นเป็นอันอะไร แต่ในส่วน “ข้อวินิจฉัยหลักๆ” (key judgments) ของรายงานประเมินฯ ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ตอนต้นเดือนธันวาคม 2007 มีการพูดถึงคำถามเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของอิหร่าน เพียงแต่ว่าข้อความเหล่านี้กลับเปิดเผยให้ทราบว่า มีทัศนะความเห็นเป็น 2 ทางซึ่งขัดแย้งกันอย่างแรงและไม่สามารถที่จะรอมชอมกันได้

ในด้านหนึ่ง เอกสารนี้ระบุว่าการยุติโครงการอาวุธดังกล่าวนี้ไปเมื่อปี 2003 “บ่งชี้ให้เห็นว่าการตัดสินใจของเตหะรานนั้น ได้รับการชี้นำด้วยการวิเคราะห์ถึงค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ที่จะได้รับ ไม่ใช่เป็นการเร่งรีบที่จะได้อาวุธมาโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางการเมือง, เศรษฐกิจ, และการทหาร”

ข้อความซึ่งเป็นการตีความอย่างตรงไปตรงมาว่ายุทธศาสตร์ของอิหร่านอยู่ในลักษณะ “การป้องกันความเสี่ยง” นี้ ยังติดตามมาด้วยถ้อยคำที่เสนอแนะว่า อิหร่านจะยืดเวลาระงับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนต่อไปอีก หากพวกเขาได้รับข้อเสนอเกี่ยวกับโอกาส “อันน่าเชื่อถือ” ที่จะบรรลุ “ความมั่นคงปลอดภัย, เกียรติภูมิ, และบรรดาเป้าหมายต่างๆ เพื่อการมีอิทธิพลในภูมิภาค” ของตนได้

ทว่าทัศนะเช่นนี้จะถูกขัดแย้งด้วยข้อความในย่อหน้าถัดไป ซึ่งกล่าวว่า จะเป็นเรื่อง “ยากลำบาก” ที่จะทำให้คณะผู้นำของอิหร่าน “ยกเลิกการพัฒนาซึ่งอาวุธนิวเคลียร์ไปในที่สุด” เหตุผลที่ถูกหยิบยกมาอธิบายในเรื่องนี้ก็คือ ข้อกล่าวหาที่ว่า “ในคณะผู้นำอิหร่านนั้นมีหลายๆ คนทีเดียวที่น่าจะมองเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ว่ามีความเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์อันสำคัญยิ่งในด้านความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายการต่างประเทศ”

นอกจากไม่สามารถรอมชอมทัศนะทั้งสองนี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เอกสารนี้ยังแสดงท่าทีด้วยว่าไม่มีความมั่นใจว่าทัศนะอันไหนมีความถูกต้องแม่นยำกว่า “เราไม่มีข่าวกรองมากเพียงพอ” เอกสารนี้ระบุ “ที่จะตัดสินวินิจฉัยได้อย่างมั่นใจว่า เตหะรานกำลังมีเจตนารมณ์ที่จะคงการระงับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ในระหว่างที่ยังกำลังชั่งน้ำหนักทางเลือกต่างๆ ของตน หรือว่า อิหร่านจะกำหนดหรือกระทั่งกำหนดเส้นตายหรือหลักเกณฑ์อันเจาะจงชัดเจนกันไปแล้ว ซึ่งนั่นย่อมจะเป็นสิ่งที่เร่งรัดให้เตหะรานเริ่มโครงการนี้ขึ้นมาใหม่”

พวกนักวิเคราะห์ที่เขียนรายงานในช่วงนี้ของ NIE ยังมีวิธีในการประนีประนอมแบบอื่นๆ อีกหลายๆ อย่าง เริ่มต้นตั้งแต่ข้อความสรุปในย่อหน้านำของตอนที่เป็นการตัดสินวินิจฉัยหลัก ซึ่งได้เขียนประเมินเอาไว้ว่า “ด้วยความเชื่อมั่นในระดับปานกลางจนถึงระดับสูง ว่าเตหะรานนั้นอย่างน้อยที่สุดก็กำลังเปิดกว้างให้แก่ทางเลือกในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์” วิธีการเขียนเช่นนี้ก็คือความพยายามที่จะรวมเอาทัศนะทั้งสองอย่างเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของอิหร่านมาไว้ในประโยคเดียวกันนั่นเอง

นอกจากนั้น ข้อความที่บอกว่า “เราไม่ทราบว่าปัจจุบัน [อิหร่าน] มีความตั้งใจที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่” ก็เป็นตัวอย่างอีกอันหนึ่งที่แสดงถึงการเขียนแบบประนีประนอมในเอกสาร NIE

รายงานประเมินปี 2007 นี้ไม่ใช่เป็นฉบับแรกเลยที่ถูกทึกทักคาดหวังเอาไว้ว่าจะไขความกระจ่างในประเด็นเรื่องยุทธศาสตร์ของอิหร่าน แต่แล้วกลับได้มาแค่บทสรุปแบบประนีประนอมอย่างสับสนวุ่นวาย เรื่องแบบเดียวกันนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับรายงานประเมินปี 2001 ในช่วงว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และใน “หมายเหตุถึงผู้ถือครองรายงานประเมิน” (Note to Holders) ปี 2005 ซึ่งมุ่งหมายที่จะปรับปรุงรายงานประเมินปี 2001 ให้ทันสมัย ในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวนี้ รอเบิร์ต วอลโพล เจ้าหน้าที่ข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Officer หรือ NIO) ของโครงการด้านยุทธศาสตร์และด้านนิวเคลียร์ คือผู้รับผิดชอบในการร่าง โดยได้รับความช่วยเหลือจากพวกนักวิเคราะห์ด้านอาวุธ ซึ่งมาจากศูนย์กลางการไม่แพร่กระจายข่าวกรองด้านอาวุธและการควบคุมอาวุธ (Weapons Intelligence Non-Proliferation and Arms Control Center หรือ WINPAC) ที่เป็นหน่วยงานของซีไอเอ

การมีบทบาทนำเช่นนี้ทำให้พวกนักวิเคราะห์ด้านอาวุธเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบทางการเมืองอย่างสำคัญยิ่งในกระบวนการจัดทำรายงานประเมินนี้ ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของ พอล พิลลาร์ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองแห่งชาติ (NIO) ในด้านตะวันออกใกล้และเอเชียใต้ ในยุคสมัยเดียวกันนี้ “ใครคือผู้ที่มีบทบาทนำ เป็นสิ่งที่สามารถทำให้ผลลัพธ์ซึ่งปรากฏในรายงานประเมินมีความแตกต่างออกไปทีเดียว” พิลลาร์กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์

จากการที่พวกนักวิเคราะห์ด้านอาวุธเป็นผู้มีบทบาทนำเช่นนี้เอง ก็ได้ทำให้รายงานประเมินเกิดความเอนเอียง โดยที่จะไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่เรื่องเจตนารมณ์ของอิหร่าน เพราะพวกผู้ชำนาญการด้านอาวุธนั้นไม่ได้มีความเชี่ยวชาญที่จะวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวได้ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญพอๆ กันก็คือ พวกนักวิเคราะห์ด้านอาวุธชอบที่จะมองว่าลูกค้ารายหลักของพวกเขาในฝ่ายบริหารประเทศ ก็คือพวกหน่วยงานทางทหารและกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ตามปากคำของ เอลเลน ไลป์สัน ซึ่งเคยเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดทำ NIE มาแล้ว ในฐานะที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแห่งชาติ ในด้านตะวันออกใกล้และเอเชียใต้ และในฐานะเป็นรักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และการผลิตของซีไอเอในระหว่างปี 2001-2002

พิลลาร์ทบทวนความหลังระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า เขาเองมี “การประเมินเป็นการส่วนตัว” ว่า อิหร่านกำลังใช้ “ยุทธศาสตร์เพื่อการป้องกันความเสี่ยง” ไม่ใช่ว่ามีการตัดสินใจทางนโยบายแล้วที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ พิลลาร์บอกว่าเขาและนักวิเคราะห์ด้านอิหร่านคนอื่นๆ ซึ่งได้ติดตามโครงการนิวเคลียร์นี้มาเป็นแรมปี ไม่เชื่อเลยว่าโครงการนี้จะมีวัตถุประสงค์ทางด้านพลังงานเพียงอย่างเดียว ทว่าพวกเขาก็ไม่เชื่อเช่นกันว่าอิหร่านมีจุดมุ่งหมายที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง การตัดสินที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านนั้น เขาบอกว่า “จะขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ของช่วงเวลานั้นๆ และนั่นจึงยังไม่ใช่สิ่งที่อิหร่านได้ตัดสินใจไปแล้ว”

พิลลาร์และนักวิเคราะห์คนอื่นๆ ยังตระหนักว่า ภายในระบอบปกครองอิหร่านเองมีการยกเหตุผลทางด้านการปฏิบัติ มาทัดทานการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ตามคำบอกเล่าของพิลลาร์ พวกนักวิเคราะห์ด้านอิหร่านแทบทั้งหมดต่างเชื่อว่า อิหร่านจะตัดสินใจอย่างไรในเรื่องการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับอิทธิพลจากนโยบายของสหรัฐฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า สหรัฐฯมีความปรารถนาหรือไม่ที่จะค้ำประกันด้านความมั่นคงให้แก่อิหร่านอย่างหนักแน่น

พวกผู้ชำนาญการด้านอาวุธต่างไม่ยอมรับข้อเสนอเช่นนี้ พิลลาร์กล่าวทบทวนความหลังว่า “พวกเขาบางคนจะพูดว่า “อย่ามาบอกผมเลยเรื่องการมองประเด็นแบบที่ถือว่าอิหร่านยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างนี้ เพราะพวกเขาตัดสินใจกันไปเรียบร้อยแล้ว”

พิลลาร์กล่าวว่า ทัศนะสองอย่างที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของอิหร่านเหล่านี้ ได้ถูกทำให้รอมชอมกัน โดยผ่าน “ภาษาของการประเมินผล ซึ่งมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะกลายเป็นการประนีประนอมประเภทหนึ่ง”

ช่วง “ข้อวินิจฉัยหลักๆ” เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ ของ “หมายเหตุถึงผู้ถือครองรายงานประเมิน” เดือนพฤษภาคม 2005 ได้ถูกลดชั้นไม่ถือเป็นความลับ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ข้อวินิจฉัยหลักๆ” ของรายงานประเมินฉบับปี 2007 เนื้อหาของช่วงนี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงวิธีการในการใช้ภาษาอันดูคลุมเครือเหลวไหลดังกล่าว มารอมชอม 2 ความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของอิหร่าน

ช่วงตอนนี้เขียนเอาไว้ว่า พวกนักวิเคราะห์ “ประเมินด้วยความมั่นใจอย่างสูงว่า อิหร่านในเวลานี้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ถึงแม้อิหร่านยังคงมีพันธะผูกพันระหว่างประเทศตลอดจนถูกแรงกดดันจากนานาชาติ กระนั้นก็ตาม เราก็ไม่ได้ประเมินว่าอิหร่านจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้” การใช้ภาษาในลักษณะนี้เห็นชัดเจนว่าเอียงไปทางข้างนักวิเคราะห์ด้านอาวุธ มากกว่าข้างนักวิเคราะห์ด้านอิหร่าน

พิลลาร์ยอมรับว่า เขากับวอลโพล “ได้ทำงานชนิดที่น่าชิงชังในการพยายามเชื่อมทัศนะสองอย่างนั้นเข้าด้วยกัน” ในรายงานประเมิน 2005

ไม่เป็นที่กระจ่างว่าโอบามาได้รับฟังการบรรยายสรุปถึงข้อแตกต่างระหว่างยุทธศาสตร์ที่มุ่งผลิตอาวุธนิวเคลียร์ กับยุทธศาสตร์เพื่อการป้องกันความเสี่ยง แล้วหรือยัง ทว่าเมื่อพิจารณาจากการบิดเบนอย่างเป็นระบบของรายงานข่าวกรองเกี่ยวกับประเด็นนี้ในอดีตที่ผ่านมา ดูท่าว่าเขาจำเป็นจะต้องไปให้ไกลกว่าการพึ่งพา เดนนิส แบลร์ และ เลออน พาเนตตา ผู้อำนวยการซีไอเอคนใหม่ จึงจะเกิดความเข้าอกเข้าใจถึงประเด็นอันสำคัญอย่างยิ่งนี้ได้

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น