xs
xsm
sm
md
lg

จีนก็กำลังอยู่ตรงขอบปากเหว

เผยแพร่:   โดย: แพตริก โชวาเนก

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China on the brink
By Patrick Chovanec
11/02/2009

ตลาดหุ้นในเซี่ยงไฮ้ยังคงทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และภัตตาคารตลอดจนศูนย์การค้าในปักกิ่งก็เต็มแน่นด้วยผู้คน ราวกับจะบ่งชี้ให้เห็นว่า พลเมืองในประเทศจีนนั้นไม่ได้รับความเจ็บปวดอะไรจากภาวะเศรษฐกิจโลกทรุดฮวบ อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลึกเข้าไปตามดินแดนตอนในของประเทศ ตลอดจนอีกปลายหนึ่งของลำดับฐานะรายได้ ก็กลับได้พบกับความเป็นจริงที่กำลังเลวร้ายลงทุกขณะ

ภัตตาคารต่างๆ ในกรุงปักกิ่งถูกจองเต็ม บรรดาศูนย์การค้าก็เนืองแน่นไปด้วยนักช็อป ราคาอสังหาริมทรัพย์ในนครหลวงแห่งนี้ยังคงวิ่งโลดลิ่วสดใส ฝ่าฝืนแบบแผนธรรมเนียมซึ่งเคยเป็นมาในอดีตที่ว่า เมืองไหนเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก หลังมหกรรมกีฬาผ่านพ้นไป ราคาบ้านและที่ดินจะต้องตกฮวบฮาบ

พวกธนาคารของจีนต่างกำลังสาละวนกับการปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้าทุกรายที่ก้าวเข้ามา ช่างตัดแย้งอย่างเด่นชัดกับพวกแบงก์ในโลกตะวันตก แม้กระทั่งตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ซึ่งหล่นวูบลงมากว่า 70% จากตอนที่มีมูลค่าสูงสุดในปีที่แล้ว ปัจจุบันก็ยังเสมือนกับติดสปริงไว้ที่ฝ่าเท้า โดยที่ในปีนี้ดัชนีหุ้นคอมโพสิตของตลาดเซี่ยงไฮ้บวกเพิ่มขึ้นมา 24% แล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(6) จิม แครเมอร์ นักเฝ้าจับตามองวอลล์สตรีท ยังยกกรณีประเทศจีน ให้เป็นอันดับ 4 ใน “10 สุดยอดเหตุผลที่ทำให้เราควรต้องมองเศรษฐกิจโลกในแง่ดี”ของเขา

ประเทศจีนกำลังเกิดอะไรขึ้นหรือ ประเทศจีนจะสามารถรอดพ้นจากชะตากรรมเดียวกับที่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมากกำลังเผชิญอยู่อย่างหนักหนาสาหัสในเวลานี้ได้จริงๆ หรือ

พวกโฆษกรัฐบาลจีนนั้นต่างอยู่ในอาการสงวนท่าที จึงยังไม่มีแนวทางนโยบายอย่างชนิดที่ถือเป็นทางการ แต่สำหรับความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการนั้น (อย่างน้อยก็ในขณะนี้) ดูเหมือนจะอยู่ในลักษณะมุ่งคุยอวดว่า ระบบตลาดของจีนที่รัฐเข้าไปมีอิทธิพล กำลังพิสูจน์ตนเองให้เห็นแล้วว่า มีความเหนือล้ำกว่าโมเดลแบบตะวันตกที่ “ไร้ระเบียบกฎเกณฑ์”ยิ่งกว่าของจีน คำอวดอ้างนี้ยังไปถึงขั้นบอกว่า เนื่องจากแดนมังกรประสบความสำเร็จในการป้องกันตนเองอย่างฉลาดเฉลียว จนสามารถรอดพ้นจากภาวะตลาดปั่นป่วนผันผวน จีนจึงกำลังอยู่ในตำแหน่งที่จะพุ่งผงาดขึ้นไปข้างหน้า ในฐานะที่เป็นอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหม่ของโลก

อย่างไรก็ตาม โปรดอย่าเพิ่งรีบพูดเช่นนั้นเลย แรงกระเพื่อมที่ออกมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกคราวนี้ ในตอนแรกๆ อาจจะดูเหมือนเป็นระลอกน้อยๆ เวลาที่มันเดินทางไกลข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก แต่แท้ที่จริงแล้ว ระลอกเหล่านี้กำลังจะเข้าโจมตีเล่นงานประเทศจีนด้วยพลังรุนแรงเต็มเปี่ยมของคลื่นยักษ์สึนามิอยู่รอมร่อแล้ว และในบรรดาคณะผู้นำจีนก็มีความกังวลใจกันจริงๆ ว่าแรงกระทบกระแทกของมัน อาจจะล้ำเลยเกินกว่าอะไรที่เรากำลังเห็นอยู่ในสหรัฐฯหรือยุโรปเวลานี้เสียอีก นั่นก็เพราะวิกฤตทางเศรษฐกิจในประเทศจีน กำลังก่อรูปขึ้นด้วยความแตกต่างถึงระดับรากฐาน จากในประเทศซึ่งเป็นต้นกำเนิดของวิกฤตคราวนี้

วิกฤตที่ปะทุขึ้นในบรรดาตลาดตะวันตกนั้น เริ่มต้นที่ระดับยอด จากนั้นจึงส่งผลกระทบลงล่าง เมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯแตกระเบิดออก มันสร้างความเจ็บปวดให้แก่พวกเจ้าของบ้านบางราย ทว่าความเสียหายอันแท้จริงที่มันก่อให้เกิดขึ้นมา คือการไปทำลายความเชื่อถือในเครื่องมือทางการเงินอันซับซ้อน ตลอดจนพวกธนาคารที่ถือครองเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้เอาไว้ โดยเนื้อหาสาระแล้วมันจึงเป็นความแตกตื่นตกใจทางการเงิน และบุคคลแรกที่ถูกปลดออกจากงานก็คือพวกจบเอ็มบีเอที่ทำงานอยู่วอลล์สตรีท ในวาณิชธนกิจและกองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ

ภาคเศรษฐกิจแท้จริงกว่าที่จะได้รับผลสะเทือนสะท้าน ก็ต้องเป็นเวลาหลังจากนั้นระยะหนึ่ง กล่าวคือ ต่อเมื่อพวกแบงก์ชื่อดังๆ พากันเจ๊ง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดำดิ่งเหว และเมื่อธนาคารที่ยังอยู่รอดมาได้ต่างพากันมุ่งรักษาเนื้อรักษาตัว ทำให้สินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ จึงเหือดแห้งหายไปหมด จวบจนกระทั่งถึงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ซึ่งก็คือ 6 - 9 เดือนภายหลังแบงก์ใหญ่แห่งแรก อันได้แก่ แบร์สเติร์นส์ ได้ล้มครืนลงไป ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงสำแดงอิทธิฤทธิ์อย่างสำคัญในการทำให้ชนชั้นผู้ใช้แรงงานต้องกลายเป็นคนว่างงาน

กระบวนการที่กำลังคลี่คลายตัวอยู่ในประเทศจีนเวลานี้ กลับอยู่ในลักษณะกลับตาลปัตรเป็นตรงกันข้าม ภัยคุกคามไม่ได้เกิดขึ้นกับพวกที่อยู่ยอดสูงซึ่งเป็นผู้บงการเศรษฐกิจ หากแต่เป็นภัยคุกคามต่อระดับรากหญ้า ตลอดทั่วแนวชายฝั่งของจีน โรงงานเล็กๆ นับหมื่นนับแสนแห่งที่ต้องพึ่งพาการส่งออกไปสู่ตลาดสหรัฐฯและยุโรปอย่างสิ้นเชิง กำลังพากันตัดลดการผลิตหรือถึงขั้นปิดกิจการ ตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียว อัตราผลกำไรของพวกเขาก็บางเฉียบอยู่แล้ว และเวลานี้คำสั่งซื้อสินค้าก็กำลังหดเหี้ยน พวกแรกที่ได้รับความกระทบกระเทือน จึงไม่ใช่พวกมืออาชีพระดับโลกซึ่งพำนักอาศัยอยู่ตามตัวเมืองใหญ่ๆ ของจีน แต่คือคนงานอพยพย้ายถิ่นซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้โรงงานต่างๆ เหล่านี้เดินเครื่องจักรกันได้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พวกเจ้าหน้าที่จีนยอมรับว่าคนงานอพยพย้ายถิ่นอย่างน้อย 20 ล้านคน (หรือทุก 1 ใน 6 คน) ซึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงตรุษจีนนี้ จะไม่มีงานรออยู่ให้เดินทางกลับมาทำ เปรียบเทียบกับการสูญเสียตำแหน่งงานของคนอเมริกัน ซึ่งจวบจนถึงเวลานี้ก็มีจำนวนราวๆ 3.5 ล้านคนเมื่อพูดกันเป็นตัวเลขกลมๆ กองทัพคนว่างงานของจีนตอนนี้ ดูจะกำลังจมอยู่ในความรู้สึกท้อแท้มากกว่าโกรธกริ้ว พวกเขาจำนวนมากใช้เวลาช่วงเทศกาลตรุษอย่างยาวนานขึ้น อยู่กับครอบครัวที่บ้านเกิด และจนกระทั่งถึงตอนประมาณเวลานี้แหละ จึงค่อยหลุดคลายออกจากความสิ้นหวัง และหวนกลับมาพยายามหางานทำอย่างมุ่งมั่นจริงจัง ไม่มีใครทราบว่าความอดทนของพวกเขาจะยืนยาวไปได้นานแค่ไหน หรือกองทัพของพวกเขาจะขยายตัวไปอีกมากน้อยเพียงใดในช่วงหลายๆ เดือนต่อจากนี้

รัฐบาลของประเทศจีนนั้นตระหนักถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี และได้พยายามรับมือด้วยยุทธศาสตร์ลงมือกระทำใน 3 ด้านพร้อมๆ กัน ด้านแรก อำนวยการให้พวกธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อแบบเอื้ออาทร เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ส่งออกที่กำลังลำบากย่ำแย่ ด้านที่สอง ประกาศดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าสูงๆ จำนวนมาก เพื่อประคับประคองให้ยังมีการจ้างงานเอาไว้ ด้านที่สาม กำลังมีการใช้มาตรการต่างๆ หลากหลายเพื่อมุ่งกระตุ้นอุปสงค์ความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ เพื่อเป็นการชดเชยการส่งออกที่ตกต่ำลงไป

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่หวังกันว่าจะบังเกิดขึ้นนั้นยังคงอยู่ในลักษณะจำกัด มาตรการกระตุ้นที่เน้นไปยังเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะดำเนินการได้ อีกทั้งผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับอุตสาหกรรมบางแขนงเท่านั้น อาทิ เหล็กกล้า และการก่อสร้าง ปล่อยให้พวกสิ่งทอและกิจการที่เป็นผู้จ้างงานรายสำคัญๆ อื่นๆ ไม่ได้รับความช่วยเหลือ

สิ่งที่แย่ไปกว่านั้นอีกก็คือ พวกนักวิเคราะห์ดูจะกำลังให้น้ำหนักน้อยเกินไป ในเรื่องที่ว่าอุปสงค์ความต้องการภายในประเทศของจีนนั้น ได้รับการผลักดันมากน้อยแค่ไหนจากบรรดาเงินทองที่พวกคนงานอพยพย้ายถิ่นส่งกลับไปให้แก่ครอบครัวของพวกเขาในดินแดนตอนในของประเทศ โดยที่รายได้ดังกล่าวนี้ในขณะนี้จะต้องหดหายไปเมื่อมีการปิดงานงดจ้างกันมากขึ้น ตรงกันข้ามกับความเชื่อของผู้คนจำนวนมาก ความต้องการภายในประเทศของจีนกำลังอยู่ในกระบวนการของการถูกลดทอนอ่อนแอลงไป ไม่ใช่เข้มแข็งขยายตัวมากขึ้นเลย พวกเงินกู้ดอกเบี้ยถูกในโลกนี้ ถึงอย่างไรก็ไม่อาจทดแทนลูกค้าที่หายสูญไป ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าระดับในประเทศและต่างประเทศ

ข้อเท็จจริงที่ว่าการชะลอตัวของจีนกำลังมีจุดเริ่มต้นจากฐานรากแล้วแผ่ขยายขึ้นข้างบน แทนที่จะเป็นจากบนลงล่าง เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลสืบเนื่องสำคัญหลายๆ ประการแตกต่างออกไปจากโลกตะวันตก ประการแรกเลยคือความปรากฏชัดเจนของปัญหา ทุกวันนี้ พวกพื้นที่เขตเมืองใหญ่ที่มีระดับรายได้สูงของจีน กำลังรุ่งเรืองสดใสกันแบบหลอกๆ เนื่องจากพวกธนาคารต่างปล่อยเงินสดออกมาให้อย่างง่ายๆ เพื่อมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ทว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ อยู่เบื้องลึกลงไปก็คือ พวกบริษัทของจีนต่างกำลังปรับตัวเลขประมาณการผลกำไรให้ต่ำลง โดยมีการลดลงถึง 50% สำหรับปี 2008 ข่าวร้ายเช่นนี้ยังไม่ได้ปรากฏออกมาให้เห็นกันชัดๆ เท่านั้น

ความแตกต่างประการที่สองคือเรื่องของการแก้ปัญหา ไม่เหมือนกับในโลกตะวันตก ประเทศจีนไม่ได้เผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง ซึ่งพวกตลาดการเงินอยู่ในสภาพถูกแช่แข็งเป็นอัมพาต และรัฐบาลกำลังพยายามทำให้มันละลายด้วยการปล่อยเงินสดอัดฉีดเข้าไป ประเทศจีนนั้นประสบกับการทรุดฮวบของอุปสงค์แท้จริง สืบเนื่องจากที่ผ่านมามีการพึ่งพาอาศัยตลาดภายนอกมากเกินไป โดยที่การพึ่งพาตลาดภายนอกนี้แหละคือองค์ประกอบส่วนแกนหลักของโมเดลการเติบโตด้วยซ้ำไป จุดอ่อนข้อบกพร่องเช่นนี้เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจอย่างแรง จึงจะสามารถแก้ไขได้

เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในระยะเฉพาะหน้านี้ก็คือ ผลกระทบทางด้านสังคม การปิดงานงดจ้างกำลังเริ่มแสดงฤทธิ์เดชในสหรัฐฯและยุโรป แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีความรู้สึกพึงพอใจแบบทื่อๆ (แม้ว่าคงจะมีอยู่เพียงระยะสั้นๆ) ที่ได้เห็นพวกคนทำงานในภาคการเงินการธนาคาร ซึ่งเคยถูกเรียกขานกันว่าเป็น “เจ้านายผู้บงการจักรวาล” ต้องได้รับโทษทัณฑ์ก่อนคนอื่นๆ โดยที่ทั้งคนซึ่งอยู่สูงและอยู่ต่ำ ต่างก็ได้รับความเจ็บปวดกันถ้วนหน้า

ตรงกันข้าม การชะลอตัวของจีนกำลังมีอันตรายที่จะกลายเป็นการตอกลิ่มเพิ่มความแตกแยกระหว่างพวกยากไร้ในชนบทผู้ซึ่งกำลังกลายเป็นคนแบกรับผลกระทบอันหนักหน่วงไว้ทั้งหมด กับพวกมั่งมีในเมืองผู้ซึ่งยังคงใช้ชีวิตอย่างหรูหรา มันเป็นมุมมองอันน่ากังวลใจซึ่งดูจะกำลังทำให้บรรดาผู้นำระดับท็อปของจีนถึงขั้นนอนกันไม่หลับในบางคืน และก็สมควรที่จะเป็นที่สนใจของโลกให้มากขึ้นด้วย

แพตริก โชวาเนก เป็นรองศาสตราจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์และการบริหาร มหาวิทยาลัยชิงหวา ในกรุงปักกิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น