เอเอฟพี - การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการให้กำเนิดฝาแฝดแปดคนของหญิงวัย 33 ปี กำลังทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดกับการใช้เทคโนโลยีผสมเทียม จากแรกเริ่มเดิมทีตอนที่ทารกทั้งแปดคลอดออกมาเมื่อปลายเดือนที่แล้วนั้น มีแต่การชื่นชมยินดีจากบุคคลทั่วไป
ทั้งนี้ หลังจากสาธารณชนได้รับรู้มากขึ้น ในเรื่องเกี่ยวกับตัว นัตยา สุเลมาน และบทบาทของพวกบุคลากรทางการแพทย์ในการช่วยเหลือให้เธอตั้งครรภ์ ความชื่นชมยินดีก็เปลี่ยนเป็นความขุ่นเคือง เนื่องจากกลายเป็นว่า สุเลมาน ไม่มีสามี แถมยังมีลูกอยู่แล้ว 6 คน โดยคนโตอายุเพิ่ง 7 ขวบ
ปรากฏว่า เด็กทั้ง 14 คนเกิดจากเทคโนโลยีผสมเทียมในหลอดแก้ว (ไอวีเอฟ) โดยใช้สเปิร์มจากผู้บริจาค และนำไปฝังในมดลูกของสุเลมาน
ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์พากันตกตะลึงกับการตั้งท้องฝาแฝดถึง 8 คน เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดปัญหาการคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อแรกคลอด และความผิดปกติของระบบประสาท
ปีเตอร์ โบเวน-ซิมกินส์ โฆษกของราชวิทยาลัยสูติศาสตร์และนรีแพทย์ของอังกฤษ วิจารณ์ว่า นี่เป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบมากที่สุดเท่าที่ตนเคยได้ยินมาเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ อีกทั้งยังสะท้อนถึงความบกพร่องในการควบคุมของรัฐ
ขณะที่ ฌอน ทิปตัน โฆษกของสมาคมการแพทย์ด้านการเจริญพันธุ์แห่งอเมริกา (เอเอสอาร์เอ็ม) สำทับว่า กรณีลูกแฝดของสุเลมานไม่ควรถือเป็นความสำเร็จทางการแพทย์
ปัจจุบันหลายประเทศมีเพียงแนวทางปฏิบัติ แทนที่จะเป็นกฎระเบียบที่มีผลตามกฎหมาย ในการจำกัดจำนวนการฝังตัวอ่อนในมดลูก และหลายประเทศไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ
ขณะเดียวกัน อาจมีการควบคุมเรื่องอายุสูงสุดของแม่ ความพร้อมด้านจิตใจของพ่อแม่ ฯลฯ เพียงผิวเผินหรือไม่มีเลย
เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ผู้หญิงอายุ 70 ปีในอินเดียที่ใช้เทคโนโลยีไอวีเอฟ ให้กำเนิดทารกคนแรก ผู้หญิงอินเดียรุ่นราวคราวเดียวกันอีกคนใช้เทคโนโลยีเดียวกันจนได้ฝาแฝดก่อนหน้านั้นในปีเดียวกัน กรณีแบบนี้ยังเคยเกิดขึ้นในสเปนเมื่อปี 2007
เทคโนโลยีที่ได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ และต้นทุนที่ถูกลงในการตั้งคลินิกผสมเทียม ช่วยส่งเสริม “การท่องเที่ยวเพื่อผสมเทียม”
โบเวน-ซิมป์กินส์ ชี้ว่า ไซปรัสกลายเป็นศูนย์กลางวิธีการบำบัดที่น่าขนลุกนี้ ที่ซึ่งหญิงสาวรัสเซียสามารถบินไปรับฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ จากนั้นไข่เหล่านี้ก็จะถูกนำเอามาเก็บไว้ แล้วขายให้แก่ผู้หญิงซึ่งต้องการไข่บริจาคสำหรับทำทารกหลอดแก้ว
อย่างไรก็ดี ขณะนี้หลายประเทศเริ่มตื่นตัวเรื่องนี้ เช่น ที่อังกฤษ สำนักงานการสืบพันธุ์มนุษย์และคัพภวิทยามีการควบคุมเอฟไอวีเข้มงวด โดยจำกัดการฝังตัวอ่อนได้คราวละสองตัวเท่านั้น และจะลดเหลือเพียงตัวเดียวตั้งแต่ปี 2011
ที่ฝรั่งเศส จะไม่มีการปิดบังชื่อผู้ให้บริจาคสเปิร์ม ผู้หญิงโสดไม่ได้รับอนุญาตให้ผสมเทียมในหลอดแก้ว และมีเพียงสามีภรรยาที่เป็นหญิงชายปกติเท่านั้นที่สามารถรับการบำบัดนี้ได้
กระนั้น กฎระเบียบที่ต่างกันภายในสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้เกิดช่องโหว่ขนาดใหญ่ที่เอื้อสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อผสมเทียม ซึ่งกระตุ้นให้มีเสียงเรียกร้องให้ตั้งหน่วยงานที่มีขอบเขตอำนาจครอบคลุมชาติสมาชิกอียูทั้งหมด
ไม่มีใครรู้ว่ากรณีของสุเลมานไปรับบริการจากที่ใด
สหรัฐฯ นั้นไม่มีกฎระเบียบควบคุมไอวีเอฟระดับประเทศ มีแต่ระดับมลรัฐซึ่งแตกต่างกันไปและมีเพียงบางมลรัฐเท่านั้น
ตามแนวทางปฏิบัติที่เอเอสอาร์เอ็มวางเอาไว้ ผู้หญิงในวัยสุเลมานไม่ควรฝังตัวอ่อนเกินกว่าสองตัว และอาจเพิ่มเป็น 3 ตัวสำหรับผู้หญิงอายุ 35-37 ปี, 4 ตัวสำหรับอายุ 37-40 ปี และ 5 ตัวสำหรับอายุ 40 ปีขึ้นไป
อาร์เธอร์ แคปแลน ผู้รับผิดชอบศูนย์ชีวจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เสริมว่าคลินิกส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ค่อนข้างมีความรับผิดชอบ กระนั้นยังเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ชอบมาพากลขึ้น เช่น การขโมยตัวอ่อนจากโครงการช่วยเหลือผู้มีปัญหามีบุตรยากในแคลิฟอร์เนีย หรือการใช้สเปิร์มและตัวอ่อนจากผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นต้น ซึ่งล้วนบ่งชี้ว่าการบำบัดด้านการเจริญพันธุ์ในสหรัฐฯ กลายเป็นธุรกิจที่หวังผลกำไรมากเกินไปแล้ว